ทิ้งเมือง
อ่าน: 5108ไม่ใช่เรื่องลับอะไรที่จะบอกว่า ในเวลาที่ผมไม่ได้ทำงานประจำแล้ว ไม่อยากอยู่กรุงเทพหรอกครับ คงไม่เกิน 10 ปี แต่ไม่ใช่ช่วงที่ยังมีงานสำคัญอยู่นี้
การทิ้งเมืองไม่ได้เป็นการถอยหลังเข้าคลอง หรือว่าต่อต้านสิ่งที่เป็นอยู่ เพียงแต่ความเป็นเมืองไม่ได้ให้คำตอบที่น่าพอใจเมื่ออยู่ไปยาวๆ ครับ — เมืองเป็นผลของการที่คนมาอยู่รวมกัน เมืองให้โอกาสแก่คนที่เข้าใจโอกาส ให้การศึกษาวิธีการเรียนรู้กับผู้แสวงหา ให้การดูแลในยามที่เจ็บป่วย แต่ชีวิตในเมืองสับสนวุ่นวาย
อาจจะเหมือนลัทธิคลั่งศาสนาอะไรสักอย่าง หรือคนพิเรนที่ฝันไม่จบ หรือว่าจะเป็นนิยายที่แต่งไม่จบ พาลทำให้อารมณ์ค้างก็ไม่รู้ — อยากบอกว่าความคิดไม่เห็นต้องสมบูรณ์แบบ ไม่ต้องมีเหตุผล ไม่เห็นจะเป็นต้องเป็นไปได้ทุกเรื่องเลย ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่าความคิดหรือครับ
ผมเห็นว่ารัฐพยายามทำอะไรเยอะแยะแต่ประสิทธิผลต่ำ รัฐบาลยิ่งแย่ใหญ่ มี agenda ส่วนตัวตลอดเวลา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักการเมือง ส่วนหนึ่งคือจัดการไม่ดีเนื่องจากข้อจำกัดของขนาด (ใหญ่เกินไปจนจัดการไม่ได้) อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเรื่องการศึกษาที่สร้างคนลักษณะฉาบฉวย+ผิวเผินออกมาเป็นจำนวนมากจนเละไปหมด
ที่อยู่ในอุดมคติ (แบบของผม)
- เป็นส่วนของราชอาณาจักรไทย อยู่ใต้กฏหมายไทย เป็นส่วนของสังคมไทย และเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร
- มีศาสนสถานที่ประกอบศาสนกิจตรงๆ ไม่กระทำเรื่องแอบแฝง
- เป็นพื้นที่ของเอกชน
- มีน้ำ — น้ำไหลดีกว่าน้ำนิ่ง เพราะน้ำไหลปั่นเป็นพลังงานได้ดีกว่าน้ำนิ่ง ซึ่งต้องใช้ความสูง
- net energy เป็นบวก หมายความว่าสร้างพลังงานขึ้นมาเกินการใช้งานภายในชุมชน เมื่อเหลือใช้ก็ขาย (ไฟฟ้า) ออกสู่ระบบ นำกำไรมาพัฒนาท้องถิ่น
- ทำกินแทนซื้อกิน จะซื้อก็ไม่ห้ามหรอกครับ ซื้อมากๆ ไม่เบื่อบ้างหรือไง
- มีการบริการสุขภาพที่ดี ถ้าจะสร้างศูนย์การแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ควรเป็นเรื่องโรคผู้สูงอายุ และทันตกรรม
- ระบบการศึกษาแห่งการเรียนรู้ (ที่ไม่ใช่รับรู้เพื่อสอบ) + จริยธรรมของโรงเรียนวิถีพุทธ
- มีการเชื่อมต่อสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดี ทำงานผ่านเน็ตได้ ไม่ตัดขาดจากโลก
การจัดการ
- รูปแบบที่น่าจะเหมาะคือ อบต. แต่เผอิญ อบต. บางส่วนนั้นคือผู้รับเหมาที่มาหาประโยชน์
- ถ้า อบต. ไม่เหมาะ อาจใช้รูปสหกรณ์นารวมเป็นนิติบุคคล: คอมมูน คิบบุช (นิคมสร้างตนเอาที่มีความชำนาญเฉพาะทาง) โมชาฟ (คิบบุชทางการเกษตร)
- เนื้อที่ไม่เกิน 1 ตร.กม. (625 ไร่) ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะกระจายน้ำไปอย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น เดินจากศูนย์กลางไปยังขอบได้ใน เวลา 10 นาที และมีพื้นที่มากพอที่จะแปลงพลังงานธรรมชาติมาใช้ในชุมชน
- เห็นบันทึกของท่านอัยการ เรื่อง สปก. ก็รู้สึกหวาดเสียวพิกล ถ้าจะตั้งสหกรณ์เอาที่มาลงเป็นทุน เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ไม่มีที่ทำกิน กลายเป็นนายทุนได้ไปหมด ครั้นจะตั้งสหกรณ์การเกษตรไปบุกรุกป่า จะขอสปก. เราก็ไม่ทำ — แต่ไม่เป็นไร ออกแรงคิด ไม่เสียอะไร ถ้ายังไม่ดีก็คิดใหม่ได้
รายได้ชุมชน
- สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานพักฟื้นระยะยาว อยู่ยาว แต่ไม่ยอมให้อยู่เฉยๆ และการออกไปอยู่กลางแจ้งบ้าง น่าจะดีกว่าแห้งเป็นจิ้งจกในห้องแอร์
- ขาย Carbon Credit ตามปฏิญญาเกียวโต
- รายได้จากต้นไม้ หรืออะไรที่มาจากดิน ในส่วนที่เหลือจากการบริโภค เป็นรายได้ของชุมชน; ส่วนหนึ่งแบ่งไปลงทุนพัฒนาเป็นเงินส่วนกลาง อีกส่วนหนึ่งแบ่งสมาชิก ตามที่ดิน(ทุน)ที่ลง ซึ่งจะกำหนดให้แต่ละคนมี community service ขั้นต่ำ จึงจะได้ส่วนแบ่งนี้ ถ้าไม่ได้รับส่วนแบ่ง ให้โปะลงไปเป็นเงินส่วนกลาง; ส่วนเล็ก จ่ายให้สมาชิกแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นเงินปันผล
- รายได้ของสิ่งที่ไม่ได้มาจากดิน เป็นรายได้ส่วนตัว หมายความว่าอยากทำอะไรก็ทำไป
- ชุมชนให้ปัจจัย ๔ ที่เกินจากนั้น จะมาก จะน้อย จะสะสมไว้ ก็ไม่เป็นไร แม้มันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเท่าไหร่
« « Prev : ความรู้อาจเรียนทันกันหมด
Next : อภัย » »
14 ความคิดเห็น
เมื่อกี๊นี้เอง คุณซูซานส่ง ศีรษะอโศก เป็นอย่างไร ? มาให้อ่านครับ น่าสนใจมาก
ในเมื่อชุมชนนี้ยั่งยืน ก็อาจแปลว่าหลักการน่าจะปฏิบัติได้จริง
ชัดเจนจะแจ้ง
เอาด้วย เห็นด้วย ช่วยทำ
สไตล์เรา คิดเอา ทำเอา เพื่อเอาใจของเรา
รวมใจ รวมกิจ รวมขัน แบ่งปันความดี
เป็นที่มนุษยชาติ จะอยู่ได้ อยู่ดี มีความปกติสุข
ช่วยกันบริหาร ความคิด ความสุข ความพอเพียง
ให้เกิดประจุ ประกายความงดงามแห่งชีวิต
ค้นหาคำตอบ..มนุษย์ยุคนี้ ควรจะคิดและทำอะไรให้พอเหมาะพอควร
เป็นที่เผยแพร่..วิธีการฝึกหัดตัวเอง ด้วยคำถาม..เจ้าเป็นไผ
ขอบอกว่าดีใจ..ที่บรรลุการตัดสินใจ ที่โดนใจพวกเราทุกคน
ลานปัญญา..ไม่ใช่นามธรรมอีกต่อไป
ลานปัญญา จะเดินหน้าแสวงหาเมล็ดพันธุ์แห่งสติ
เพื่อนำไปเพาะ ไปปลูก ไปดูแล ให้เกิดพื้นที่แห่งสติปัญญา
เรื่องอโศก มีจุดดีมาก แต่จุดจนมุมก็มี เอาไว้เล่ารายละเอียดภายหลัง เรื่องมันยาว
ขออนุญาตเอาแนวคิดไปขยายบางส่วน เพื่อปูพื้นฐานให้ชาวแซ่เฮ
เคยได้สัมผัสคุณขวัญดิน เป็นสาวแกร่งเอาเรื่องทีเดียว มีความมุ่งมั่นและนักต่อสู้ชั้นดีทีเดียว ส่วนภาพอโศกที่เคยเห็น มีอะไรสะกิดใจกับเบื้องหลัง น่าศึกษาลึกๆอย่างที่พ่อครูว่ามานะค่ะ ภาพรวมดูเผินๆดูดี ดูดีค่ะ
ชีวิตถ้ามีแผนมากนักมันก็ทำให้ตัดสินใจช้า มายินดีในเรื่องของการตัดสินใจค่ะ วาระที่เคยเล่ามาเร็วกว่าที่คิดเน้อ อิสระที่ได้คืนมันหอมหวนใช่มั๊ยน้อง ชีวิตคือนิยายที่มีเราเป็นคนพลอตเรื่อง แล้วพลอตนี้มันเปลี่ยนได้ตลอด จึงไม่มีพลอตเรื่องที่สมบูรณ์ ความคิดอุดมคติเป็นแนวเรื่องที่คาดหวังเชิงหลักการ ส่วนพลอตจะเป็นเรื่องจริง ณ เมื่อไรอยู่ที่ใจ รายละเอียดเป็นอย่างไรก็อยู่ที่เงื่อนไขรอบตัวของเวลาหนึ่งๆ
สงสัยอยู่อย่างเดียว ไม่ทำงานประจำแล้ว เวลาในแต่ละวันเอาตัวไปสิงสถิตย์อยู่ที่ไหนน้อ
วันนี้เจ็บคอ ไม่มีเสียงเลย แต่เม้าธ์กระจายครึ่งค่อนวันถึงเรื่องหมู่บ้านชาวเฮ อิอิ รู้สึกจะไอเดียบันเจิดไปหน่อย… แต่จะเอาไปคุยต่อตอน เฮฯ หก ต้นเดือนธันวาคมครับ
ระบุพื้นที่ตัวอย่างไว้สองที่
แวะมาเก็บเกี่ยวครับ น่าสนใจเหมือนกัน
ทำกินแทนซื้อกิน จะซื้อก็ไม่ห้ามหรอกครับ ซื้อมากๆ ไม่เบื่อบ้างหรือไง
นี่แหละครับถูกใจผม ทำกินแค่ 1/4 ก็ยังดี
อ่านแล้ว ดีๆๆค่ะ จะคอยติดตาม ให้กำลังใจค่ะ
พี่เอง คงจะอยู่ในเมือง ตามเคยค่ะ แต่ ปลูกผักสวนครัวมานานแล้ว และยังปลูกอยู่ มีวิถีชีวิตที่ธรรมชาติ ค่อนข้างมาก แม้ไม่ได้อยู่ต่างจังหวัด มีแนวคิด สมถะ และไม่เคยเกินตัว
อีก 2 ปี คงจะไปปลูกบ่านอยู่ใกล้ๆที่คุณบอกค่ะ ตอนนี้ ก็มีอยู่ แต่หลานยังเล้ก ไม่ค่อยสะดวกจะไปบ่อยๆค่ะ
http://gotoknow.org/blog/goodliving/205154
http://gotoknow.org/journals/sasinanda/entries/12657
[...] อนุสนธิจากบันทึกทิ้งเมือง เรื่องนี้กลายเป็นบทสนทนาสั้นๆ ในการพบปะสังสรรค์ที่บ้านป้าจุ๋มเมื่อคืนวันที่ 7 พ.ย. [...]
[...] เรื่องนี้ มีคนถามผมเยอะ แล้วผมก็เอาจริงนะเนี่ย [...]
ตามมาอ่านอย่างตื่นตาตื่นใจ…หมู่บ้านชาวเฮ ฯ เป็นหมู่บ้านในอุดมคติเลยค่ะ
ความจริงทุกชุมชน ทุกสังคมต่างมีปัญหาของตัวเอง การวางแผน คาดเดาไว้ก่อนจากผู้มีความรู้ในสหวิชาชีพ ย่อมได้เปรียบ ส่วนผู้อยู่อาศัยก็เลือกเองว่าเหมาะกับตนเองหรือไม่
ปัญหาที่มีก็ยังเกิดจาก “ภายนอก” และ “ภายใน” ชุมชนเอง ส่วนตัวศึกษาชุมชนศีรษะอโศกมาระยะหนึ่ง ก็พบว่าปัญหาที่ทำให้เกิดชุมชนศีรษะอโศกเริ่มจากปัญหาภายนอกที่มากระทบภายใน ชาวอโศกมีแนวคิดและการปฏิบัติต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคมและเลือกที่จะไม่ยอมประนีประนอมกับความต่างนั้น (ตอนเริ่มแรก แต่ระยะหลังปรับมากขึ้น) จึงแยกตัวและสร้างชุมชนเพื่อเป็น “สังคม” ที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตตามความเืชื่อค่านิยมของตน (มีสมณะโพธิรักษ์เป็นผู้นำทางความคิด) กว่าสามสิบปีที่ชุมชนของชาวอโศกผ่านการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน ปรับตัวมากมาย ทั้งคดีความที่ยืดเยื้อ การตีตราจากสังคมว่าคิดต่าง ทำแปลก เป็นพวก “นอกรีต”
ศีรษะอโศกเองก็ยเคยถูกลอบเผาวางเพลิงร้านค้า ถูกยึดถูกทวงคืนที่ดินบางส่วน ซึ่งเดิมเคยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ดินเสีย นำมาพัฒนา ปลูกต้นไม้ และถูกเรียกคืน รื้อถอนอาคารรวมทั้งตัดต้นไม้ที่ปลูกไว้กว่า 20 ปีออกด้วย (ตัดทำไมยังไม่เข้าใจ) ฯลฯ
คนที่เข้าไปศึกษาไม่นานเช่นตัวเอง ได้เรียนรู้ ได้พูดคุย ได้สัมผัส … ความคิดก็ต่างไปบ้าง แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่เ่ท่าที่เห็นชาวอโศกพึ่งตนเองได้ 99.99% และที่สำคัญยังช่วยเหลือเจือจานชุมชนและสังคมที่อยู่โดยรอบอย่างไม่มีเงื่อนไข ในหลาย ๆ ด้านทั้งพืชผลเกษตรปลอดสารเคมี การให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสุขภาพ การกสิกรรมไร้สารพิษ การขายสินค้าในราคา “บุญนิยม” มีป้ายบอกต้นทุน/ราคาขาย มีเทศกาลลด แลก แจก แถม ให้ฟรีในวันสำคัญของชาติ …. มีโรงเรียนเป็นของตนเอง มีวิถีที่ไม่เบียดเบียนตนเอง คนรอบข้าง และธรรมชาติ …
และไม่เคยเห็นชาวอโศกเรียกร้องอะไรจากสังคม มีแต่แจกจ่ายและให้…
อ้อ…มีการเรียกร้องด้านการเมืองค่ะ… ^_^
เลยคิดต่อไปเองว่า… กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตทั้งการกินการอยู่การคิดการพูดต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม (Majority)… มักถูกมองว่าแปลก มีปัญหา และไม่น่าไว้วางใจนั้น เป็นเพราะอะไร เพราะเราไม่ไว้วางใจในความดีงามของมนุษย์ด้วยกันหรือเปล่า…หรืออะไรกันแน่?
ประมาณ 17 ปีที่แล้ว เคยสัมผัสกับชุมชนอโศก เป็นสังคมที่มีแต่การให้ เอื้อเฟื้อ เผื่่อแผ่ น่านับถือค่ะ เมื่อปีที่ผ่านมาได้กลับไปพบกับชาวชุมชนโศกอีกครั้ง พบว่ายังเหมือนเดิมค่ะ