แนวคิด permaculture ในหมู่บ้านโลก

อ่าน: 5113

ทีแรก จะเขียนเรื่องแนวคิด permaculture ในสวนป่าครับ แต่สวนป่าเป็นอย่างนี้อยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านโลก เนื่องจากจะมีการทดลองอะไรแปลกๆ ที่นี่ด้วย เพื่อเสริมให้ให้สวนป่ายืนอยู่บนวิถีที่พึ่งพาตัวเองได้ยิ่งกว่านี้ ถ้าไปถึงขั้นไม่ต้องซื้ออะไรเลย ก็จะยอดมาก

คำว่า permaculture นี้ อ.วิทยากร เชียงกูลแปลไว้ว่า “ระบบการวางแผนและออกแบบการเพาะปลูก การจัดการผลผลิตและชุมชนที่มุ่งให้เกิดการใช้แรงงาน ทรัพยากรและพลังงานอย่างเหมาะสม เพื่อความยั่งยืนและเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการทำลายความสมดุล หรือก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมเป็นพิษ คำนี้เป็นคำย่อมาจาก permanent agriculture (การเกษตรแบบถาวร) และ permanent culture (วัฒนธรรมแบบถาวร)”… ครั้นจะใช้คำว่าการเกษตรแบบถาวร หรือวัฒนธรรมแบบถาวร ก็ขัดกับความเชื่อส่วนตัวว่าไม่มีอะไรถาวรหรอกครับ เลยใช้คำภาษาอังกฤษไปก่อน

Permaculture ใช้ 7 หลักการ ซึ่งโดยรวมแล้วคือ ทรัพยากรเป็นสิ่งมีค่าที่มีอยู่อย่างจำกัด ใช้ได้แต่ใช้ให้คุ้มค่าที่สุด และไม่มีของเหลือครับ

  1. ใช้อย่างอนุรักษ์ - ใช้เฉพาะที่จำเป็น ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น การใช้อย่างอนุรักษ์ไม่ได้หมายถึงการไม่ใช้ แต่เป็นการ
  2. ใช้ให้เกิดประโยชน์หลายทาง - เช่นน้ำอาบแล้วแทนที่จะทิ้งไปเฉยๆ ก็นำไปรดต้นไม้ หรือลงบ่อน้ำเพื่อเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ ให้ร่มเงา รักษาดิน ใบไม้นำไปหมักเป็นปุ๋ย ให้ผล ให้เนื้อไม้
  3. ไม่พึ่งทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ - ไม่ให้ระบบใดระบบหนึ่งเป็นจุดตาย เช่นแหล่งน้ำ ก็มีน้ำประปา น้ำผิวดิน น้ำบาดาล และน้ำฝน ถ้าประปาหยุดไหล ก็ยังพึ่งแหล่งน้ำอื่นๆ ได้
  4. แทรกอยู่ในธรรมชาติ - ในธรรมชาติทุกสิ่งพึ่งพากันและกันทั้งนั้น วิถีชีวิตมนุษย์ก็ทำได้เช่นกัน เช่นเศษอาหารนำไปหมักเป็นปุ๋ย ปุ๋ยนำไปบำรุงต้นไม้ ต้นไม้ให้อาหาร อาหารหลังจากบริโภคแล้ว นำเศษอาหารไปหมักเป็นปุ๋ย; เศษใบไม้ ถ้าคิดว่ามันไม่สวย อย่าเก็บกวาดเพื่อเผาทิ้ง แต่นำเศษใบไม้ไปหมักเป็นปุ๋ย เพื่อไปบำรุงต้นไม้อีกที
  5. ทำในขนาดที่เหมาะสม - สามารถทำงานได้ ด้วยเวลา ทักษะ และเงินที่มี ไม่ทำมากเกินไป หัดพอเสียบ้าง ไฟฟ้าถึงจะใช้ไฟจากการไฟฟ้าได้ แต่ก็ควรหาทางปั่นไฟเอง ถ้าไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าที่ปั่นเองเพียงพอสำหรับอะไรบ้าง เราก็จะพบว่าเราจะใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งก็ควรมองกลับว่าแล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
  6. มีความหลากหลาย - ธรรมชาติพึ่งพากันเสมอ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงเกษตรเชิงเดี่ยว; แม้แต่สวนดอกไม้ ก็ยังไม่มีดอกไม้ชนิดเดียว แล้วทำไมจึงควรจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นเรื่องที่นายทุนเค้าผลักดันเพื่อที่จะสะดวกในการมากว้างซื้อผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง; โลกร้อน ลมฟ้าอากาศแปรปรวน ปีแล้งมีศัตรูพืชชนิดหนึ่งรบกวน แต่ปีที่น้ำฝนมาก กลับมีศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่ง ดังนั้นการปลูกพืชที่มีความหลากหลายจะช่วยให้มีผลผลิตออกมาสม่ำเสมอ
  7. ถ้าผลผลิตดี มีเหลือ ก็แจกจ่าย - แม้แต่ต้นไม้ ถ้าเพาะมาเผื่อจนเกินเนื้อที่ปลูก ก็อาจจะนำไปปลูกในชุมชน เป็นการปรับปรุงชุมชนนั้นให้ดีขึ้น

Permaculture จึงต้องใช้การช่างสังเกต ช่างคิด ช่างทำ และใช้ความรู้ครับ

ในห่วงโซ่ของสวนป่าตอนนี้ มีหลากหลาย ส่วนหมู่บ้านโลก ก็จะค่อยๆ เริ่มไปตามแนวทางนี้

  1. ใบไม้ร่วงหล่นลงดิน ก็ปล่อยให้คลุมดินไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ คือทำอย่างอื่นไม่ไหวหรอกครับ การเก็บใบไม้ใช้แรงงานมาก แต่ว่าการปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาตินั้น จะเกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายแรง; กระบวนการตรงนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ โดนเชิญผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ ไปเดินเก็บใบไม้ออกกำลังกายช่วงก่อน 7น. สักครึ่งชั่วโมง เก็บเศษใบไม้มาใส่รถเข็น น่าจะได้คนละสักสองสามรอบ ใบไม้ที่เก็บมานี้ ก็จะนำมาหมักในบ่อน้ำที่เติมน้ำหมักอีเอ็มช่วยเร่งการย่อยสลาย (โดยไม่ปล่อยก๊าซมีเทน) เป็นกระบวนการสร้างดินก้นคลองเลียนแบบธรรมชาติ เก็บใบไม้เสร็จแล้ว จึงไปเดินเรียนรู้ในแปลงเกษตรประณีตกับครูบาก่อนกินข้าว
  2. เศษกิ่งไม้ที่ร่วงหล่นในสวนป่า เป็นกิ่งไม้ที่หักหล่นตามธรรมชาติ ไหนๆ ก็ไปเก็บใบไม้แล้ว ถ้าเจอเศษกิ่งไม้ที่ลากไหว ก็ช่วยกันลากมาด้วย บรรดากิ่งไม้ จะเอาไปเผาเป็นถ่าน และต้องการก๊าซที่เกิดจากกระบวนการ carbonization หรือ gasification ก๊าซนี้ติดไฟได้ ค่าพลังงานน้อยกว่าน้ำมัน แต่เมื่อกรองให้ดีแล้ว สามารถใส่เข้าไปในเครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็กได้ (จำพวกเครื่องตัดหญ้า) เมื่อติดเครื่องยนต์ได้ เราก็ได้กำลังกล แต่ผมคิดว่าเอามาปั่นไฟฟ้าจะดีกว่าเพราะว่าสามารถเก็บไว้ได้สักพัก ไม่ต้องใช้ทันทีครับ ไฟฟ้าที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ เอามาปั่นเป็นไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับปั๊มน้ำบาดาล หรือว่าใช้เป็นไฟกระแสตรงสำหรับแสงสว่างได้ — ถ่านที่เผาได้ หรือไฟฟ้าที่ปั่นได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของสวนป่า ซึ่งถ้าไม่พิจารณาละเอียดแล้ว ก็จะมองข้ามเรื่อยไปครับ
  3. จะต้องเก็บกักน้ำฝน ยิ่งเก็บกักได้เท่าไหร่ ก็จะทดแทนน้ำบาดาลซึ่งมีค่าสูบน้ำได้เท่านั้น (แพง) เมื่อใช้น้ำแล้ว ไม่ปล่อยทิ้งไปเฉยๆ น้ำทิ้งไปรวมกันในบ่อพัก บ่อสร้างดิน บ่อเลี้ยงกบเขียด แล้วเอาน้ำนี้ไปรดต้นไม้ สร้างความชุ่มชื้นให้แก่แผ่นดิน น้ำที่รดน้ำต้นไม้นี้ ควรจะส่งน้ำไปหยดด้วยแรงโน้มถ่วง แต่เนื่องจากบ่อพักอยู่ที่ระดับผิวดินดังนั้นจะไม่มีแรงดันสูงจนระบบน้ำหยดที่มีขายทั่วไปอาจจะมีปัญหาได้ แทนที่จเพิ่มแรงดัน ควรจะทดลองหาวิธีส่งน้ำหยดที่ head ต่ำมากแต่ยังส่งน้ำได้เป็นระยะไกลโดยไม่ใช้พลังงานน่าจะดีกว่า
  4. บ่อน้ำที่ตากแดดและเตาเผาถ่านมีความร้อนสูงกว่าบรรยากาศโดยรอบ ทำให้ไอน้ำเหนือบ่อและอากาศร้อนลอยขึ้น ความเย็นจะพัดเข้ามาแทนที่ แต่ไม่น่าจะพอเอาไปปั่นไฟฟ้าหรือปั่นได้น้อยมาก แต่ยังไงก็จะลองคิดดูอีกที บางทีแค่ลมสำหรับระบายอากาศ ก็อาจจะทำแล้ว
  5. Opensource Ecology GVCS ต้องเลือกทำไปตามสมควร
  6. เรื่องภัยพิบัติ ไม่ควรแตกตื่น อย่าหลง แต่เตรียมพร้อมไว้สำหรับหลายๆ กรณี เนื่องจากเมื่อภัยเกิดขึ้นแล้ว เตรียมตัวไม่ทัน การเตรียมพร้อมต้องเตรียมล่วงหน้าเสมอ มีคำเตือนสติที่ดีของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ดังนี้

เบญจวิถีเอาชนะคำพยากรณ์ ๒๕๕๕

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มกราคม 2555

ปีใหม่ขอให้คนไทยมีความสุขสวัสดีและโชคดี

แม้นักโหราศาสตร์ทั้งหลายจะพยากรณ์ภัยพิบัติต่างๆ รุนแรงสุดขั้วในปี พ.ศ.๒๕๕๕ แต่ก็ไม่จำต้องเป็นไปตามนั้น เพราะผลทุกชนิดย่อมมาแต่เหตุ ถ้าเราทำเหตุที่ทำให้ไม่เกิดเหตุร้าย เหตุร้ายก็ไม่เกิด ถ้ากลัวจะเกิดเหตุร้ายตามคำพยากรณ์ เราก็ต้องเอาชนะคำพยากรณ์ให้ได้ ต่อไปนี้เป็นวิถีทาง ๕ ประการ คือเบญจวิถีที่จะเอาชนะคำพยากรณ์ ๒๕๕๕

๑. การเป็นสังคมที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท สังคมไทยเป็นสังคมที่ตั้งอยู่ในความประมาทเพราะที่ตั้งของประเทศ เราอยู่ในภูมิประเทศที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ไม่มีใครตายเพราะอากาศหนาวจัด มีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อย คนไทยจึงไม่ค่อยตื่นตัว มักคิดว่า “คงไม่เป็นไรมั้ง” “คงไม่เกิดกับเราหรอก” “แล้วแต่ดวง” ไม่สนใจความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ไม่เตรียมตัว ตัวใครตัวมัน ไม่สนใจส่วนรวม ไม่รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ความประมาทคือหนทางแห่งความตาย ปัจฉิมโอวาทของพระบรมศาสดาก็ทรงเตือนให้ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท แสดงว่าความประมาทเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุด ความเป็นสังคมที่ตั้งอยู่ในความประมาท ทำให้ประเทศประสบปัญหาต่างๆ จนวิกฤต เป็นวิกฤตใหญ่ประเทศไทย ที่วิกฤตทุกชนิดมาบรรจบกัน ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม วิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตการเมือง และเชื่อมกับวิกฤตโลก สังคมไทยจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นสังคมที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท มีความตื่นตัว เตรียมตัวเตรียมพร้อมใช้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร มีความสามัคคี มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ สร้างพลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังของความถูกต้อง ความไม่ประมาทคือการมีสติ

๒. สร้างจิตสำนึกใหม่ จิตสำนึกเก่าของเราเป็นจิตสำนึกที่เล็กและแคบ เห็นและทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง จิตสำนึกเล็กไม่สอดคล้องกับสังคมใหญ่ จิตต้องใหญ่ตามความใหญ่ของสังคมจึงจะรักษาบูรณภาพและดุลยภาพของประเทศไว้ได้ ประเทศไทยแตกแยกและเสียดุลยภาพอย่างรุนแรงทำให้เจ็บป่วยและวิกฤต เพราะความมีจิตเล็ก คนไทยต้องมีจิตสำนึกใหม่ที่เป็นจิตใหญ่ เห็นคนทั้งหมดและธรรมชาติทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน จะคิดหรือทำอะไรต้องคำนึงถึงทั้งหมด จึงจะสามารถรักษาบูรณภาพและดุลยภาพของประเทศไว้ได้ มหาอุทกภัยเป็นตัวอย่างของการเสียดุลยภาพอย่างหนึ่ง จิตสำนึกใหม่เท่านั้นที่จะทำให้ไทยพ้นวิกฤต ต้องท่องคาถา “จิตสำนึกใหม่ไทยพ้นวิกฤต”

๓. เปลี่ยนจากสังคมอำนาจเป็นสังคมความรู้ สังคมไทยเป็นสังคมนิยมอำนาจมากกว่าเป็นสังคมนิยมความรู้ ในสังคมปัจจุบันที่มีความซับซ้อนและมีเรื่องยากๆ การใช้อำนาจได้ผลน้อยลงๆ หรือไม่ได้ผลเลย ดังจะสังเกตว่าเราแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การขาดความเป็นธรรม การทำลายสิ่งแวดล้อม ความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาคอร์รัปชั่นของข้าราชการและนักการเมือง ปัญหามหาอุทกภัย กลไกของรัฐล้วนเป็นกลไกการใช้อำนาจไม่ใช่กลไกใช้ความรู้ เรามีระบบการศึกษาปัจจุบันมาได้ ๑๐๐ ปีเศษ ก็ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมความรู้ได้ เพราะระบบการศึกษาเอา “วิชา” เป็นตัวตั้งแบบลอยตัว ไม่ได้เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การจะปฏิบัติอะไรให้ได้ผลนั้นต้องใช้ทั้งความรู้และการเรียนรู้ เมื่อได้ผลดีจากการปฏิบัติ ผู้คนก็จะติดใจในการเรียนรู้และการใช้ความรู้ ควรปฏิรูปการศึกษาให้ไปเน้นการเรียนรู้ในการทำงาน (Work-based learning = WBL หรือ Work-integrated learning = WIL) ทุกหนทุกแห่งควรจะรวบรวมสังเคราะห์ “ความรู้เพื่อการใช้งาน” ความรู้แบบลอยตัวนั้นง่ายๆ ท่องจำเอาโดยไม่ต้องใส่ใจว่ามันจะถูกต้องแม่นยำและสอดคล้องกับการใช้ ประโยชน์หรือไม่ มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรจะตั้ง “ศูนย์ความรู้” ทำการวิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้ที่ตรงกับการใช้งานของสังคม เมื่อสังคมได้รับประโยชน์จากการใช้ความรู้ก็จะติดใจและนิยมใช้ความรู้

การสำรวจข้อมูลเป็นการเริ่มต้นของการใช้ความรู้ ในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง ถ้ามีการสำรวจข้อมูลและใช้ข้อมูล ทุกอย่างจะดีขึ้น เช่น ข้อมูลบัญชีครัวเรือน ข้อมูลชุมชน ข้อมูลตำบล ข้อมูลจังหวัด ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ ขณะนี้มีคนหนุ่มสาวที่จบปริญญาตรี โท เอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากที่ไม่รู้จะทำอะไรได้ คนเหล่านี้อาจเลือกไปทำงานความรู้เพื่อชุมชนท้องถิ่น โรงเรียน วัด หรือข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติ

การเหะหะ ด่าทอ หยาบคาย ในวงการเมืองนั่นแหละเป็นตัวอย่างของการเป็นสังคมใช้อำนาจ แต่ไม่ใช้ความรู้ สังคมแบบนี้ดำรงอยู่ไม่ได้นานในอนาคต ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นสังคมเรียนรู้และใช้ความรู้

๔. ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ จากสังคมทางดิ่งไปเป็นสังคมทางราบ โครงสร้างอำนาจที่ไม่ถูกต้องทำให้สังคมขาดพลัง คือพลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังของความถูกต้อง ดังที่ปรากฏเป็นสังคมที่ขาดสมรรถนะและขาดความสุจริต สังคมอย่างนี้ไม่สามารถเผชิญวิกฤตได้ วิกฤตการณ์จะเกิดขึ้นซ้ำซากและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ จากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและข้างบน ไปเป็นอำนาจที่กระจายไปสู่ส่วนปลายและข้างล่าง กล่าวคือให้ • บุคคลจัดการตนเอง • ชุมชนจัดการตนเอง • ท้องถิ่นจัดการตนเอง • จังหวัดจัดการตนเอง • กลุ่มจังหวัดจัดการตนเอง • ประชาชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มประชาสังคมจัดการพัฒนาเรื่องต่างๆ เกิดเป็นสังคมทางราบ สังคมทางราบจะมีพลัง ทั้งพลังทางสังคม พลังทางปัญญา และพลังของความถูกต้อง

ตราบใดที่ยังไม่ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจะแก้ ปัญหาการที่ระบบราชการและระบบการเมืองมีสมรรถนะต่ำแต่คอร์รัปชั่นสูงไม่ได้ การที่กลไกของรัฐมีสมรรถนะต่ำแต่คอร์รัปชั่นสูง เป็นต้นเหตุแห่งการนำหายนะมาสู่ประเทศไทย

ทางปฏิบัติในข้อนี้คือ ประชาชนอย่ารอให้กลไกของรัฐแก้ไขปรับปรุงตัวเอง หรือทำหน้าที่ตามลำพัง แต่ควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มประชาสังคมทำการขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ

การเลือกตั้งเท่านั้นไม่ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงแก้ปัญหาของประเทศชาติไม่ได้ ความเป็นประชาสังคมทำให้ประชาธิปไตยอำนวยอัตถประโยชน์ คำว่าประชารัฐในเพลงชาติที่ว่า “…เป็นประชารัฐ ผไทของไทยทุกส่วน…” หมายถึงรัฐที่มีความเป็นประชาสังคมหรือการที่ประชาชนกับรัฐร่วมกันทำงาน

การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเผชิญและพ้นวิกฤตได้

๕. มหาวิทยาลัยกับระบบการสื่อสารในการอภิวัฒน์ทางปัญญาของสังคม สังคมที่เติบโตซับซ้อนและเผชิญปัญหายากๆ ถ้ามีปัญญาไม่พอ จะไม่สามารถรักษาบูรณภาพและดุลยภาพของประเทศไว้ได้ จะเจ็บป่วย ขัดแย้ง แตกแยก วิกฤต และรุนแรง ประเทศไทยเป็นโรคพร่องทางปัญญา จำเป็นต้องสร้างสังคมอุดมปัญญาให้เกิดขึ้นโดยรวดเร็วให้ทันกาล การอภิวัฒน์ทางปัญญาเป็นหน้าที่ของทุกคนทุกฝ่ายทุกองค์กร มหาวิทยาลัยเป็นขุมกำลังทางปัญญาใหญ่ มีคณาจารย์ นักวิชาการ นิสิตนักศึกษาจำนวนมากและมีเสรีภาพที่การเมืองเข้าแทรกแซงและควบคุมได้ยาก การที่มหาวิทยาลัยไม่เป็นพลังทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤตได้ เพราะคุ้นเคยกับการทำแบบเดิมๆ ที่เอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง มหาวิทยาลัยควรตั้งคำถามใหม่ว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นพลังทางปัญญาเพื่อพาชาติ ออกจากวิกฤตได้อย่างไร ในการนี้มหาวิทยาลัยคงไม่สามารถทำได้เป็นเอกเทศด้วยตัวเอง ควรจะทำร่วมกับภาคีจากภายนอกมหาวิทยาลัย คนไทยมีศักยภาพในวงการต่างๆ ควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ เป็น “สถาบันยุทธศาสตร์ชาติ” ทำการศึกษายุทธศาสตร์ชาติในเรื่องต่างๆ แล้วนำความรู้ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในระดับต่างๆ องค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนการสร้างความรู้ควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด “เครือข่ายสถาบันยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นเครื่องมืออภิวัฒน์ทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต

ขณะนี้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ สามารถเชื่อมโยงคนทั้งประเทศให้ติดต่อสื่อสารถึงกันได้โดยรวดเร็ว ในขณะที่ระบบสื่อขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ “สาร” ที่สร้างสรรค์ทางปัญญาที่จะเดินไปตามช่องทางสื่อยังไม่พอ สื่อยังถูกข่าวสารขยะหรือบริภาษวิทยาเข้ามาใช้งานทางลบ ควรมีกลุ่มหรือสถาบันยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวกับระบบการสื่อสารกับการสร้าง ปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต เข้ามาทำงานเพื่อให้ระบบการสื่อสารเป็นพลังแห่งการอภิวัฒน์ทางปัญญาของสังคม ไทยให้ได้

วิถีทางทั้ง ๕ หรือเบญจวิถีจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีพลังทางสังคม พลังทางปัญญา และพลังทางความถูกต้อง และไปพ้นวิกฤตการณ์ได้ เบญจวิถีเป็นเรื่องยากเพราะฝืนวิสัยเดิมของสังคมไทย ถ้าทำไม่ได้วิกฤตการณ์จะซ้ำซากๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดมิคสัญญีกลียุค จนกระทั่งสังคมไทยสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นสังคมที่ไม่ตั้งอยู่ในความ ประมาท คนไทยเกิดจิตสำนึกใหม่ สังคมไทยเป็นสังคมนิยมความรู้ไม่ใช่สังคมนิยมอำนาจ มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ และมีการอภิวัฒน์ทางปัญญา

เบญจวิถีเป็นกฎธรรมชาติที่จะต้องเกิดขึ้น สุดแต่ว่าจะเกิดทันป้องกันหลังมิคสัญญีกลียุคหรือหลังจากนั้น

ขอให้สังคมไทยสามารถเอาชนะคำพยากรณ์ปี พ.ศ.๒๕๕๕

« « Prev : ที่พักในหมู่บ้านโลก แบบที่ 2

Next : ปรับปรุงพื้นที่บริเวณหมู่บ้านโลก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 nuntawun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 March 2012 เวลา 0:40

    นี่คือทางออกของประเทศไทย ชาตินี้จะทันเห็นหรือป่าว คงต้องลุ้นไปตลอดชีวิต

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 March 2012 เวลา 0:56
    ถ้าเมืองไทยมีปัญหาทุกจุด ก็ต้องแก้ทุกจุดครับ แต่ปัญหาใหญ่ของวันนี้คือมีคนพูด มีคนคิด มีคนชี้นิ้ว แต่ไม่มีคนทำ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.26136803627014 sec
Sidebar: 0.1637179851532 sec