นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 5

โดย Logos เมื่อ 5 March 2012 เวลา 17:22 ในหมวดหมู่ ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ #
อ่าน: 6845

นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 5 เรื่อง ตระกูลไทยที่มั่นคง นี้ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หลวงสำเร็จวรรณกิจเรียบเรียงขึ้น เพื่อใช้เป็นหนังสือสอนอ่านภาษาไทย สำหรับชั้น ป.6 เมื่อปี พ.ศ.2506

ภายในหนังสือ มี 5 เรื่อง ประกอบไปด้วย

  • บวชเรียนเมื่อถึงวัย
  • รักษาไว้ซึ่งชื่อเสียง
  • เลี่ยงบาปด้วยการบุญ
  • ห่วงสกุลเกรงจะกลาย
  • เพาะเชื้อสายไว้ให้ชาติ

นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “บวชเรียนเมื่อถึงวัย”

เทศกาล เข้าพรรษา จะมาถึง
มารดาอ้อย ครุ่นคำนึง เรื่องที่หวัง
จะบวชลูก ลุงอ่วม ร่วมกำลัง
สมที่ตั้ง ใจแต่เดิม เริ่มเข้าวัย

“เออ! แม่ใหญ่ นัดพ่ออ่วม แม่น่วมมา
ร่วมปรึกษา พร้อมพร้อมกัน นั้นเมื่อไหร่
ได้เตรียมการ เสียเนิ่นเนิ่น ช้าเกินไป
จะขลุกขลัก นึกอะไร ไม่ค่อยทัน

แว่วแว่วว่า พระครูปลัด วัดนานอก
อ้างว่าท่าน เคยบอก ไว้เหมาะมั่น
ว่าบวชเรียน ขอให้จัด ที่วัดนั้น
ตามรอยบรรพ บุรุษเขา ก่อนเก่ามา

บวชปู่ พ่อ แล้วขออวด บวชถึงหลาน
ดูก็น่า ถวายท่าน ดั่งปรารถนา
ทางฝ่ายแม่ น่ะไม่ด้อย ถอยศรัทธา
เพียงสมที่ ปวารณา ก็อิ่มใจ

เจ้าตัวคง ไม่ขัด ศรัทธาท่าน”
อ้อยว่า​”เรื่อง จะคัดค้าน ไม่เป็นได้
เมื่อคุณแม่ คิดเห็น ควรเช่นไร
พ่อดำไม่ ขัดแน่ แท้ทีเดียว

แกกังวล อยู่ก็ เฉพาะเรื่อง
ที่ชาวบ้าน จะสิ้นเปลือง ไม่ยอมเหนียว
ในการจัด งานฉลอง จองกันเกรียว
จะรั้งเหนี่ยว อย่างไร เห็นไม่ฟัง

เพียงทำขวัญ ไม่พอ ขอฉลอง
ให้เอิกเกริก ด้วยฆ้องกลอง ต้องตามหวัง
ที่ได้เห็น ชายผ้าเหลือง เมลืองมลัง
อนุโม ทนาครั้ง คราวสำคัญ”

มารดาอ้อย นิ่งนั่ง ฟังลูกสาว
ขยายข่าว เป็นตัวแทน แสนขยัน
“ประเพณี มีมา แต่เบื้องบรรพ์
ยังพากัน ศรัทธา ก็น่าชม

จ่ายทรัพย์เพื่อ ประเพณี ไม่มีติ
ดีว่าริ แบบใช่ไทย ไม่เหมาะสม
เสียเท่าไร เสียไป ไม่ปรารมภ์
หน่อยก็เสีย สิ้นนิยม ลืมแบบไทย

ลืมแบบเก่า เท่ากับลืม บรรพบุรุษ
ในที่สุด จะไม่รู้ ชาติอยู่ไหน
ต้นตระกูล แสนจะดี มีอะไร
มอบไว้ให้ ลืมกันเล่น เช่นนั้นรึ

นั่นพ่ออ่วม ใช่ไหม ไยเร่อร่า”
อ่วมเข้ามา รีรีรอ หัวร่อหึ
ยกมือไหว้ “วันนี้ ผมทีครึ
เนื้อตัวกลิ่น ตึตึ น่ารำคาญ

จากไร่แต่ หัวไก้โห่ โอ!ท่านครับ
นั่งบ่มอับ บ่มรา มาแต่บ้าน
จนอาทิตย์ จะเลี้ยวรถ ไม่หมดงาน
นี่หากว่า เกรงท่าน จะเฝ้าคอย

มิฉะนั้น จะดั้น ตรงกลับไร่
ลงแช่น้ำ ขัดเหงื่อไคล ไม่ยอมถอย
ใครจะว่า หรือจะหา ว่าตะบอย
แกล้งลอยคอ เหมือนเด็กถ่อย ก็ตามที”

มารดาอ้อย หัวเราะรับ บ่มอับเหงื่อ
ไม่เกิดเชื้อ โรคอะไร ที่ไหนนี่
เหงื่อสร้างงาน แล้วสร้างเงิน เพลินตาปี
เกือบจะเป็น เศรษฐี แล้วกระมัง

ที่อยากพบ เพราะใคร่ ได้ปรึกษา
จะบวชลูก ตามที่ว่า ไว้แต่หลัง
หรือจะให้ มีโห่ร้อง กลองระฆัง
อย่างชาวบ้าน เขาหวัง ที่บ้านนา

ฉันเห็นว่า ควรได้ ตามใจเขา
ท่านพระครู อีกเล่า ก็ปรารถนา
อยากจะใคร่ ได้เป็น อุปัชฌาย์
ล้วนศรัทธา กันทั้งสิ้น น่ายินดี

ส่วนตัวฉัน มุ่งมั่น เพียงได้เห็น
ชายผ้าเหลือง พอเป็น องค์สักขี
สมดั่งใจ ได้กอปร กรณี
ในหน้าที่ อุปฐาก สิ้นยากใจ”

อ่วมว่า “ชอบ แล้วครับ นับว่าท่าน
สนับสนุน พวกชาวบ้าน ไม่สงสัย
ให้รักษา ประเพณี ดีกระไร
บุญย่อมได้ เต็มที่ ดีแล้วครับ”

มารดาอ้อย โมทนา “ถ้าเช่นนั้น
เรื่องของสงฆ์ เป็นของฉัน ทุกสิ่งสรรพ
วันสุกดิบ จะส่งไป ให้คอยรับ
ส่วนฉันกับ แม่ใหญ่ ไปวันงาน

ได้บวชเรียน เจ้าหนู ดูประหนึ่ง
หายห่วงถึง พ่อเล็ก เอกทุกด้าน
ไปเมืองนอก เป็นอย่างไร ไปเสียนาน
เกรงลืมบ้าน ไม่ก็พา แหม่มมาเรือน”

อ้อยรับรอง ง่า “น้องเล็ก แกเอกแน่
ลูกคุณแม่ เอกทางดี ใครมีเหมือน
ลูกรับข่าว จากแก แต่ละเดือน
ล้วนถ้อยคำ ตักเตือน สติคน

อย่างไรเสีย ต้องได้บวช อวดคุณแม่
ได้แต่งงาน กับไทยแท้ ไม่ปี้ป่น
แกคะนอง อยู่ใรคลอง เยาวชน
ไม่ซุกซน เลยขีด จารีตรอย

อ่วมสนอง ว่า “คุณหนู เธอรู้แน่
ด้วยเห็นใจ น้องมาแต่ วิ่งต้อยต้อย
ท่านคงไม่ เสียที ที่เฝ้าคอย
ต้องได้ชม บุณคุณน้อย อย่างแน่นอน

สิ้นธุระ กระผมจะ กราบลาท่าน
อ้อ ! คุณหนู ผมฝากงาน สักหน่อยก่อน
ด้วยเจ้าหนู ดูใจเย็น ไม่เห็นร้อน
ใครใครต้อน ก็ไม่ไหว ได้เหมือนคุณ

รับปากไว้ ว่าจะไป พบหลวงพ่อ
ล่วงวันคืน ท่านก็รอ ผมก็วุ่น
จะเอาวัน เวลาไหน แล่นไปรุน
เมื่อเขามา คุณกระตุ้น ต้องได้การ”

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๑


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “รักษาไว้ซึ่งชื่อเสียง”

มารดาอ้อย อายุได้
รอบที่ห้า มาบรรจบ ด้วยสุขศานติ
ในวันเกิด ต่างชื่นชม อุดมวาร
ทั้งลูกหลาน พร้อมหน้า มาทำบุญ

มีสวดมนต์ เลี้ยงพระ ภาระถ้วน
ให้อานิสงส์ เป็นส่วน สนับสนุน
ผลอำนวย ด้วยอำนาจ ศาสนคุณ
สิ่งค้ำจุน ไทยแต่บรรพ์ ไม่ผันแปร

อ้อยหน้าที่ แม่งาน บงการทั่ว
ไม่เหน็ดเหนื่อย มีแต่หัว กับยิ้มแต้
นำทุกฝ่าย ทะมัดทะแมง แข่งกันแจ
อ้อยว่า “งาน คุณแม่ เหมือนนิมิต

สั่งอะไร เสร็จสมใจ ไปทั้งนั้น
ประหนึ่งว่า วาจาฉัน นั้นศักดิ์สิทธิ์
ที่แท้ก็ เพราะเรารวม ร่วมอุทิศ
ทั้งแรงกาย แรงจิต ให้แก่งาน

การทำบุญ ให้ผู้ใหญ่ วัยคุณแม่
ย่อมอิ่มเอิบ ไม่แต่ วงลูกหลาน
แม้ญาติมิตร ใครใครอื่น พลอยชื่นบาน
เพราะวัยวุฒิ เป็นสัญญาณ บ่งความดี

คุณแม่ท่าน ว่าวันนี้ ยินดียิ่ง
เห็นลูกหลาน ไม่ทิ้ง แบบก่อนกี้
คงมั่นรัก ไม่ละ ประเพณี
มุ่งเทิดศรี สกุลไทย ให้ไทยคง

แน่ะ! ท่านออก จากห้องพระ แล้วละนั่น”
ต่างชวนกัน เผยพจี พรสี่ส่ง
“อายุวัณณะ สุขะพละ” แล้วกราบลง
เป็นเสร็จสม เจตจำนง ในวันนั้น

มารดาอ้อย อิ่มใจ ในลูกหลาน
ทั้งมิตรสหาย เพื่อนบ้าน พร้อมที่นั่น
“ขอจงรับ ความขอบใจ ไปทั่วกัน
พร้อมทั้งพร ที่ให้ฉัน เมื่อกี้นี้

ถึงตอนเย็น แม่ใหญ่ ไหนบอกว่า
จะเลี้ยงดู ข้าวปลา กันเต็มที่
บนหอกลาง กว้างขวาง สบายดี
แม่ไม่เห็น อะไรมี ตระเตรียมไว้”

อ้อยว่า “เพื่อน ร้องกันสอ ขอเปลี่ยนที่
เป็นสนาม สะดวกดี เรือนหลังใหญ่
ถึงเวลา ข้าวปลา ยกออกไป
ให้เลือกกิน ตามชอบใจ อย่างกันเอง”

ทั้งตุ้มตุ๊ อึตส่าห์ มาแต่เหนือ
เพื่อนนักเรียน มาแต่เมื่อ เป็นเด็กเก่ง
ทั้งเพื่อนเย้า เพื่อนแหย่ มาแต่เพรง
ก็มาร่วม ครื้นเครง อย่างมากมาย

ที่ใกล้ชิด ก็มีเอื้อน เพื่อนหงิมหงิม
ครูเคยยั่ว ว่าไม่ยิ้ม ขาดสหาย
ใครจะหัว จะเฮฮา วางหน้าตาย
แต่บัดนี้ เอื้อนกลาย เป็นนิ่มนวล

พวกเพื่อนเพื่อน ไม่ต้องเย้า ถึงเซ้าซี้
เอื้อนถ้อยที สนทนา พาเสสรวล
ยกเรื่องเก่า ขึ้นมาเล่า หลายกระบวน
แต่ละล้วน ความหลัง ที่ฝังใจ

ที่ถูกคอ จับกลุ่ม รุมเป็นหมู่
ยกเอาเรื่อง ร่วมรู้ ขึ้นมาไข
ถึงข้อขำ ขบขัน ฮาลั่นไป
ไม่เลือกใคร ออกชื่อ ไม่ถือกัน

อ้อยคงเป็น พี่เอื้อย เหนื่อยสนุก
เฝ้าลุกลุก นั่นงนั่ง เวียนสังสรรค์
กับทุกคน คงสนิท มิตรสัมพันธ์
กระชับมั่น เหมือนเมื่อครั้ง แรกสังคม

“พอตุ้มตุ๊ ตัวดี ลี้ไปไหน
เห็นไวไว เมื่อครู่ คูขรม
ดูรึชั่ว แวบเดียว เปรียวดั่งลม
ชะรอยเทพ อุ้มสม ไปเสียไกล”

พลางกวาดตา ไปรอบ ขอบสนาม
แล้วดุ่มดุ่ม ไปดูตาม เงาไม้ใหญ่
บริเวณ จะเข้าสวน ล้วนทิวไม้
พอเข้าไต้ เข้าไฟ ไม่เห็นกัน

เสียงร้องถาม “นั่นคุณใหญ่ หาใครครับ”
อ้อยขานรับ “อ้อ! พ่อดำ ทำไรนั่น”
ดำว่า “ผม เข้ามานั่ง แต่ยังวัน
หน้าที่ปัน การรับรอง เจ้าของงาน

เพราะในนี้ ก็มี เข้ามามาก
กินเสร็จแล้ว ทีจะอยาก สนุกสนาน
ที่สนาม ไม่หนำ คงรำคาญ
ด้วยมากท่าน ใครต่อใคร ใช่กันเอง”

เสียงหัวเราะ กันคิกคิก ระริกระรี่
อ้อยให้เสียง “พ่อตัวดี ล้วนเก่งเก่ง
ยังซุกซน ไม่รู้เลือน เหมือนเมื่อเพรง
แน่ะ! พ่อตุ๊ คุณแม่เร่ง เรียกหาตัว

อ้อ! แม่เอื้อน มากับพี่ ทานนี้ก่อน
ไยมาซ่อน สนุกกับเขา เอ้า! ยังหัว”
เอื้อนว่า “เรา เพื่อนเพื่อนกัน สิ้นหวั่นกลัว
ใครใครก็ รู้ทั่ว จะเกรงไย”

อ้อยว่า “น้อง อยู่ในวัย ไม่ใช่เด็ก
เมื่อเล็กเล็ก คลุกคลีกัน นั้นก็ได้
แต่บัดนี้ เป็นสาว ก้าวสู่วัย
จักต้องไว้ วางตัว กลัวมลทิน

ความบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ครองไม่ยาก
แต่ชื่อเสียง ครองลำบาก เร่งถวิล
เพียงพลั้งนิด พลาดหน่อย รอยราคิน
ก็พากัน ติฉิน ให้ฉาวไป

ความบริสุทธิ์ จริงใจ เขาไม่เห็น
แต่ชื่อช้ำ สิรอยเด่น เขาเห็นได้
ประาพณี ไทยเก่าก่อน ร่อนชะไร
ไม่ยอมให้ ลูกหลานสาว ร้าวราคิน

อย่าเอาอย่าง เยี่ยงเขา เหล่าฝรั่ง
ประเพณี เขาขลัง ตามเทศถิ่น
เราคนไทย เกิดใน ไทยแผ่นดิน
ขืนหลงตาม จะต้องสิ้น สกุลไทย”

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๒


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “เลี่ยงบาปด้วยการบุญ”

ระฆังวัด รัวเร่ง ขานเหง่งหง่าง
ก่อนฟ้าสาง เตือนให้ตื่น ฟื้นวันใหม่
รีบหุงหา อาหาร ก่อนงานใด
เตรียมพร้อมไว้ ตักบาตร ไม่ขาดวัน

มารดาอ้อย ช่างประดอย ประดิดจัด
พร้อมคาวหวาน สารพัด พอขบฉัน
อานิสงส์ เป็นอามิส นิจนิรันดร์
กิจวัตร ผูกพัน แต่โพ้นมา

“เมื่อแม่ยัง รุ่นรุ่น คุณยายสอน
ว่าทำบุญ สร้างอาภรณ์ ไว้ภพหน้า
อยากรวยทรัพย์ รูปสวย รวยปัญญา
ต้องได้สม ปรารถนา อย่าปรารมภ์

ใครทำบาป อกุศลกรรม นำวิบาก
ต้องตกทุกข์ ได้ยาก อย่างสาสม
รูปก็ชั่ว ตัวก็ดำ สิ้นขำคม
อันเป็นปม ด้อยด่าง อย่างสำคัญ

อันรูปชั่ว กลัวนักหนา กว่าทุกข์ยาก
เพราะลำบาก เท่าไร ไม่นึกพรั่น
เราอุตส่าห์ กล้าผจญ พอสู้กัน
แต่อัปลักษณ์ สุดปั้น ให้แปรดี

แน่! แม่น่วม มา มาฟัง กำลังเล่า
ถึงบาปกรรม ที่พวกเรา เฝ้าหลีกหนี
กลัวชาติหน้า จะอาภัพ รูปอัปรีย์
คุณแม่คอย เซ้าซี้ ให้ทำบุญ”

น่วมว่า “จริง ค่ะ คุณหนู ดูดิฉัน
ท่านที่เสีย ท่านปั้น เหมือนปั่นนุ่น
จนเกรงบาป หยาบช้า ร้ายทารุณ
พอตื่นเช้า วิ่งวุ่น เข้าก้นครัว

รีบหุงหา ไว้ตักบาตร ไม่ขาดได้
เสร็จสรรพแล้ว โล่งใจ ได้พ้นชั่ว
ท่านกวดขัน ไม่ละเลย จนเคยตัว
เรื่องบาปกรรม เกลียดกลัว จนบัดนี้”

อ้อยนั่งยิ้ม ฟังผู้ใหญ่ ไขเรื่องหลัง
“คุณยายฝัง ฝากอาลัย ไว้เต็มที่
ฝ่ายคุณแม่ กับป้าน่วม ร่วมกันมี
ซึ่งกด เวที น่าชื่นใจ

ประเพณี ก่อนเก่า จักเนาเนิ่น
ตะกูลไทย ใครไม่เกิน หน้าไปได้
แบบฝรั่ง มังค่า มาเท่าไร
รบแบบไทย ไม่ชนะ ฉันประกัน

ที่ป้าน่วม แวะเข้ามา เพลานี้
ของสดสด คงจะมี มาฝากฉัน”
น่วมตอบรับ “ค่ะ คุณหนู รู้เชิงชั้น
มีข้าวโพด เผือกมัน สรรเอามา

ส่งเข้าครัว ครบแล้ว แน่วมานี่
ก็พอดี คุณท่านคุย คุ้ยขึ้นว่า
ไปชาติใหม่ ไม่ทำบุญ บาปจะพา
ไม่ให้สวย เหมือนเมื่อห้า สิบปีโน้น”

มารดาอ้อย ว่า “แม้จะ หาสะใภ้
ยึดแม่ผัว เป็นแบบได้ ไม่ผาดโผน
อย่าให้เจอ สวยแต่รูป จูบไปโดน
กลิ่นน้ำโคลน ใช่น้ำหอม จะตรอมตาย

เออ! เจ้าหนู เขาดู ใครไว้บ้าง
ได้บวชเรียน แล้วทุกอย่าง สมใจหมาย
หากได้คู่ สู่สม ที่คมคาย
ฉันจะสุข ไม่เสียดาย แรงเลี้ยงมา”

น่วมว่า “เห็น เขาดูดู อยู่แล้วค่ะ
แต่จะจะ แล้วไม่จริง หญิงเขาว่า
ชอบไม่เชิง ชังไม่ใช่ ลวงนัยน์จา
ลูกคนนี้ ทีท่า เขาชอบกล”

มารดาอ้อย ร้อง “อ้อ! ก็เขานั่น
คือใครกัน เคยคบหา มาแต่หน
เป็นลูกเต้า เหล่าใคร ในตำบล
หรือว่าคน แปลกหน้า เพิ่งมาพบ”

น่วมว่า “เด็ก รุ่นสาว ลูกชาวไร่
ต่อจากเขต ของเราไป จนบรรจบ
ถนนใหญ่ ถัดไป ถึงทำนบ
ไร่เขาลง พืชครบ ค่าพอตัว

ลูกเขาขยัน ขันแข็ง หัวแรงไร่
ไม่ว่าใคร ยิยม ชมกันทั่ว
กับลูกดำ นั้นดิฉัน เห็นพันพัว
ฐานสาวหนุ่ม แต่ใช่ชั่ว เชิงเกินเลย

ทั้งแม่พ่อ ก็ถูกใจ ไม่ขัดข้อง
ที่จะเป็น เกี่ยวดอง ได้ลูกเขย
เพียรไปมา หาสู่ ดูยิ่งเคย
ฝ่ายเราก็ ไม่เฉยเมย มุ่งสัมพันธ์

ส่วนลูกดำ อมพะนำ ดูอ้ำอึ้ง
คนไม่พูด รักหรือซึ้ง มักขอดมั่น
เมื่อถามคำ ตอบคำ ซ้ำซ้ำกัน
พูดทั้งวัน ก็ไม่ได้ นัยเนื้อความ

ถ้ามอบให้ คุณหนู ดูจะคล่อง
ดีไหมคะ คุณลอง เรียกมาถาม
คุณอยากทราบ สิ่งประสงค์ คงตอบตาม
เพราะทั้งขาม ทั้งรัก มั่นภักดี”

อ้อยว่า “คน อย่างพ่อดำ นิ่งน้ำลึก
อะไรอะไร ย่อมตรึก ตรองถ้วนถี่
เขาฟังมาก พูดน้อย ต้องถ้อยที
ถ้อยปราศรัย อย่าเซ้าซี้ ส่อรำคาญ

หากฉันทราบ ข้อเค้า เล่าเมื่อกี้
คงถามได้ ข่าวดี มาไขขาน
ถึงวันไหน ป้าเห็นเขา พอเบางาน
บอกให้เขา มาบ้าน หน่อยเป็นไร”

มารดาอ้อย ว่า “เจ้าหนู ดูเขายาก
ความลึกลับ เขามักฝาก กับแม่ใหญ่
ถึงกับฉัน ก็พูดน้อย คอยเกรงใจ
เก็บเอาไว้ บอกผู้แทน แผนเขาดี

เรื่องลูกเมีย ฉันก็ใคร่ ได้ปลูกฝัง
ได้เขาเป็น ฝาฝั่ง สมกับที่
ได้เลี้ยงดู จนเป็นตัว แต่หัวที
ถึงแม่ใหญ่ ก็เหมือนพี่ เขาแท้แท้”

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๓


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “ห่วงสกุลเกรงจะกลาย”

พองานเบา ในไร่ ดำไม่ช้า
รีบเข้ามา ตามนัด ไม่ขัดแม่
พบกับอ้อย เคยผูกพัน เหมือนลูกแอ
มาตั้งแต่ เล็กเล็ก เด็กในเรือน

“แม่ว่าคุณ ออกปาก อยากพบผม
แกเร่งเร้า เสียงขรม ไม่เคยเหมือน
เช้าขึ้นเร่ง เย็นลงเร้า เฝ้าแต่เตือน
ราวกับว่า วันเดือน จะหมดไป

ธุระร้อน เรื่องใหญ่ หรือไรครับ”
อ้อยยิ้มพลาง ตอบรับ ว่า “เรื่องใหญ่”
ดำหน้าตื่น สนเท่ห์ “เอ๊ะ! เรื่องไร”
อ้อยว่า “อย่า ตกใจ เรื่องใหญ่ดี

ป้าน่วมแก ว่าพ่อดำ ทำกรุ้งกริ่ง
ติดผู้หญิง ริเจ้าชู้ แอบสูสี
ครั้นซักถาม อมพะนำ ทำเป็นที
ไม่ชอบให้ เซ้าซี้ เท่านี้ละ

ฉันผู้มี หน้าที่ เหมือนพี่สาว
ไมื่อได้ข่าว ก็ดีใจ ใช่เอะอะ
หวังจะได้ ตะใภ้ดี มีฐานะ
ทั้งสวยสะ สมสตรี เป็นศรีเรือน

เอาแต่ฟัง นั่งนิ่ง จริงหรือไม่”
ดำว่า “ผม หนักใจ ใครจะเหมือน
รักชะล่า ใกล้จะพา ให้ฟั่นเฟือน
ได้สติ คอยเตือน ค่อยตื่นตัว

แต่เวียนรัก เวียนรื้อ มื้อแล้วเล่า
ซ้ำแม่เฝ้า เค้นความจริง ยิ่งเวียนหัว”
อ้อยว่า “รัก แล้วรื้อรัก ไม่พักกลัว
เหมือนพันหัว กับรักร้าง ถึงปางตาย

ก็รื้อรื้อ รักรัก ต้องชักลาก
ทนยุ่งยาก อยู่ทำไม ไม่ขยาย
แน่ะ! คุณแม่ ดูเหมือนคอย พลอยวุ่นวาย
เข้าพบท่าน แล้วอย่าอาย อุบความจริง”

แล้วนำหน้า เข้าไปรอ ที่หอนั่ง
ดำเลลัง ไม่สมัคร ชักอ้อยอิ่ง
“จะรบกวน ท่านมากไป ผมใคร่ติง”
อ้อยว่า “จะ เกรงกริ่ง ด้วยกลใด”

พอดีถึง เวลา มารดาอ้อย
ล่วงสายหน่อย ก็ออก นอกห้องใหญ่
“อ้อ! เจ้าหนู มารอท่า นึกว่าใคร
เจอคู่รัก แล้วใช่ไหม ใคร่จะรู้

เป็นฝั่งฝา เสียที ก็ดีนี่
เขาคนดี ดอกหรือ หือเจ้าหนู
พอไปวัด ไปวา น่าเอ็นดู
สมบัติหญิง มีเชิดชู ก็เอาละ

จริงหรือไม่ แม่ใหญ่ ที่แม่ว่า”
อ้อยมองตา ดำเข้าใจ ได้จังหวะ
“ผมกำลัง ถูกรักเร้า เอาชนะ
คิดจะผละ ก่อนรักซัด พลัดบันได

เขาดีพอ แต่ถือไสย จิตใจแน่ว
คนละแนว กับกระผม ชมไม่ไหว
ประเพณี แบบอย่าง ต่างกันไกล
เพ่งภาวะ แห่งจิตใจ ใช่มิตรแท้”

มารดาอ้อย ฟังถ้อย คำแถลง
“ช่างจะแจ้ง ดีกระไร ชื่นใจแม่
มิเสียที ที่รักเลี้ยง เพียงดวงแด
ตระกูลไทย รักแน่วแน่ ไม่แปรปรวน

เออ! เอาละ เจ้าจะผละ อย่างไรเล่า”
ดำว่า “นี่ แหละครับเฝ้า กระอักกระอ่วน
จะทิ้งไร่ ที่ทำไว้ หลากกระบวน
ดูก็ไม่ บังควร เครื่องนินทา

มารดาอ้อย นิ่งตรอง มองลูกสาว
“แม่ใหญ่ล่ะ ถึงคราว ต้องปรึกษา”
อ้อยนิ่งฟัง นั่งนึก ตลอดมา
“ลูกคิดว่า ทิ้งก็ควร สงวนงาม

ที่ทำไว้ มอบให้ ธุระลุงอ่วม
กับป้าน่วม คุ้มครอง ไม่ต้องขาม
พอทรงไว้ กับให้ พยายาม
คอยติดตาม ดูลูกไร่ ไม่ให้รา”

ดำว่า “ผม มิเป็นคน รนลี้งาน
มานอนเหยียด อยู่กับบ้าน น่าขายหน้า
ครั้นจะละ กิเลสสลัด เข้าวัดวา
ก็กำลัง วังชา ยังมีพอ”

อ้อยมองหน้า มารดา ทำท่าแพ้
มารดาอ้อย บอกว่า “แก มีงานต่อ
ที่ดินว่าง มีให้ทำ กำลังรอ”
อ้อยร้อง “อ้อ! จริงซิคะ ท่าจะดี

เขาขอเช่า แล้วบอกเลิก กลัวเบิกบุก
แต่พ่อดำ คงสนุก ไม่นึกหนี
เกษตรกร ขั้นปริญญา วิชามี
ไม่ถึงปี ไร่สะพรั่ง ดั่งนิมิต

ที่แปลงนี้ เคยกะไว้ ใช่ไหมคะ
ลูกคิดว่า คงจะ เดาไม่ผิด
เรื่องจะยก กรรมสิทธิ์ ให้พ่อดำ”

มารดาอ้อย ตอบรับ “นับว่าเหมาะ
สลัดรัก สิ้นเคราะห์ ดูก็ขำ
มาได้ลาภ ที่แปลงใหญ่ ไว้ก่นทำ
เกษตรกรรม เป็นของตัว ไม่กลัวจน

ให้เป็นสิน รับไหว้ ไว้ล่วงหน้า
เรื่องลูกเมีย มองหา ดูอีกหน
จะช่วยเลือก แม่ใหญ่ด้วย ช่วยอีกคน
คงจะค้น ได้คนดี ที่ถูกใจ

ถ้าตกลง ก็จงกลับ ไปบอกแม่
ปรึกษาพ่อ เสียให้แน่ สิ้นสงสัย
ที่ค้างคั่ง ยังมี งานอะไร
ก็สั่งเสีย ลูกไร่ ให้เรียบร้อย

ถ้าพ่อแม่ เขาติดใจ อะไรอีก
ก็ให้ปลีก เวลา มาพบหน่อย
อย่าอิดออด ทอดธุระ มัวตะบอย
เพราะโรครัก มันคอย ตะครุบตัว”

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๔


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “เพาะเชื้อสายไว้ให้ชาติ”

สืบจากนั้น วันวิวาห์ ก็มาถึง
วันเดือนเก้า ฤกษ์ดีหนึ่ง นิยมทั่ว
ว่าหนุ่มสาว รกยั่งยืน ชื่นชมชัว
สร้างครอบครัว ได้มั่นคง สืบวงศ์วาน

นายดำรง หรือดำ คำขายชื่อ
ตัวเจ้าบ่าว คนเชื่อถือ ทั่วทั้งย่าน
ส่วนเจ้าสาว คือเอื้อนสาว ขาวสคราญ
เป็นเพื่อนบ้าน รุ่นราว คราวคราวกัน

ชายสำเร็จ เกษตรศาสตร์ สามารถสม
เคยได้พลิก ดินอุดม ผลิตพืชสรรพ์
ด้วยมานะ ขันแข็ง แรงสำคัญ
ทั้งมุ่งมั่น ว่าในดิน คือสินไทย

แปรวิชา ปริญญา เป็นปฏิบัติ
เกียรติประวัติ อยู่ที่ทำ เทิดคำไข
ปริญญา อยู่ในบัตร วัดอะไร
นอกจากอวด ใครใคร ให้รำคาญ

หญิงสำเร็จ การเรือน เหมือนเขาเขา
ที่สนใจ ในเหย้า เอางานบ้าน
ส่วนงานอื่น ก็ไม่ละ รู้ประมาณ
ยึดโบราณ ว่าแม่เรือน เหมือนท้ายเรือ

ถ้าคัดวาด ไม่ดี ตะรีเตลิด
เหมือนหญิงปล่อย ผัวเพริด ผลร้ายเหลือ
ไม่สามารถ ดำรง วงศ์วานเครือ
ให้สืบเชื้อ สืบสกุล หนุนเนื่องไป

นายดำรง ลูกนายอ่วม นางน่วมแม่
อยู่ในกรุง มาตั้งแต่ เล็กจบใหญ่
ไม่เคยลืม ว่าทรัพย์สิน แผ่นดินไทย
ฝังอยู่ใน ทุ่งกว้าง อย่างกับคลัง

พอสำเร็จ เกษตรศาสตร์ เปรื่องปราดแล้ว
มุ่งหน้าแน่ว สู่ไร่ ไม่เหลียวหลัง
ใช้วิชา อย่างรอบคอบ กอปรพลัง
เป็นมนต์ขลัง ขุดค้น ผลในดิน

คราวบวชเรียน ก็เพียร บำเพ็ญพรต
ครบไตรมาส มีกำหนด ไม่กล้าหมิ่น
คำผู้ใหญ่ ว่าไว้ ในระบิล
ว่าสึกก่อน พรรษาสิ้น เขานินทา

มีสาวสวย ถือไสย ผูกใจรัก
ก็ตัดใจ ไม่สมัคร กลัวรักคร่า
ไปเข้ารีด ผิดไทย แต่ไรมา
มันรักษา ประเพณี เสริมศรีไทย

ต้องจำจาก ไร่บ้านนา มาทั้งรัก
ทั้งห่วงพรรณ พืชหลัก แลไสว
กำลังผลิ ผลให้ชม สมดั่งใจ
เกษตรกร หน้าใหม่ วัยกำยำ

มอบผู้ใหญ่ ให้ขอสู่ คู่ชีวิต
ไม่เลือกเอง เกรงผิด พลาดถลำ
เพราะว่ารัก ราคเร้า ตัวเจ้ากรรม
พอรักหนำ ชวนหน่าย กลายเป็นชัง

เอื้อนคู่เคียง เรียงหมอน ก็สอนง่าย
ผู้ใหญ่ชอบ ก็มอบกาย ให้ปลูกฝัง
เชื่อว่ารัก คนดี นั้นจีรัง
จนแก่เถ้า รักก็ยัง คงยั่งยืน

ชายที่เพียง รูปสวย สำรวยร่าง
หลงให้ชม แล้วมักร้าง ไปหาอื่น
เหลือบแมลง เคล้าเกสร เมื่อค่อนคืน
พอได้ชื่น สมอยาก แล้วจากไป

อันเสน่ห์ ยอดดี ที่ผูกรัก
ท่านว่าอยู่ ปลายจำหวัก ไม่สงสัย
รักจดจอด ทอดสนิท เพราะติดใจ
รสจำหวัก รสอื่นใด ไม่เทียมทัน

เอื้อนได้รับ การอบรม บ่มนิสัย
ตั้งแต่เล็ก จวบใหญ่ อย่างกวดขัน
โดยนัย ดั่งที่ว่า สารพัน
ไม่ไฝ่ฝัน ผ่าประยูร ตระกูลไทย

ฝ่ายผู้ใหญ่ ข้างดำรง ผู้ส่งเสริม
ประเพณี ดั้งเดิม แต่ไหนไหน
ทราบประวัติ ละเอียดละออ ก็พอใจ
อยากได้เอื้อน เป็นตะใภ้ เพิ่มเผ่าพันธุ์

ประจวบเหมาะ ดำรง ปลงใจด้วย
สมที่คิด ชุบช่วย ไม่เดียดฉันท์
รักเหมือนลูก รับเป็นภาร งานสำคัญ
มีไร่นา ให้ปัน ไปเป็นทุน

เมื่อทุกฝ่าย สบอารมณ์ สมหมายมาด
ทั้งมิตรญาติ ก็เอออวย ช่วยกันหนุน
เป้นนิมิต ว่าครู่ครอง สองสกุล
ได้สมสู่ เพราะสร้างบุญ ร่วมกันมา

อ้อย พี่เอื้อย อิ่มใจ ใครจะเท่า
ปลูกเรือนหอ ให้เป็นเหย้า อย่างสมหน้า
แม้ทั้งสอง จักต้องไป อยู่ไร่นา
เตรียมไว้ท่า ลูกเต้า รวมเผ่าพันธุ์

มารดาเอื้อน ยกสมบัติ พัสถาน
มีที่ดิน ที่บ้าน ทุกสิ่งสรรพ์
เป็นกองทุน สมทบ ให้ครบครัน
ลูกคนเดียว ไม่ต้องปัน ไปให้ใคร

ส่วนลุงอ่วม ป้าน่วม ไม่น้อยหน้า
มีออมสิน สะสมมา หาน้อยไม่
เงินก้นถุง เป็นสิน เหลือกินใช้
ถอนออกมา รับไหว้ ในวันนั้น

มารดาอ้อย ประธาน แม่งานใหญ่
ชมตะใภ้ ว่า “หนูเอื้อน โชคเหมือนฉัน
เมื่อแต่งงาน ญาติผู้ใหญ่ ต่างให้ปัน
ทรัพย์สมบัติ สารพัน เป็นสินเดิม

‘ผัวหาบ เมียคอน’ ท่านสอนซ้ำ
เกรงจะคร้าน งานไม่ทำ ร่ำฮึกเหิม
มั่งมีแล้ว มือตีนงอ ไม่ต่อเติม
ไม่มีเพิ่ม มีแต่ลด ค่อยหมดไป

จำไว้นะ เจ้าทั้งสอง ต้องขยัน
ทุนทรัพย์ จึงจะปั้น เป็นก้อนใหญ่
ถึงลูกหลาน มรดก ตกทอดไกล
สกุลไทย จึงจะคง ยิ่งยงนาน

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๕


« « Prev : นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 4

Next : นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 6 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 5"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.49708199501038 sec
Sidebar: 0.12669086456299 sec