นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 6
อ่าน: 7017นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 6 เรื่อง ประชาธิปไตยที่ถาวร นี้ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หลวงสำเร็จวรรณกิจเรียบเรียงขึ้น เพื่อใช้เป็นหนังสือสอนอ่านภาษาไทย สำหรับชั้น ป.7 เมื่อปี พ.ศ.2507
ภายในหนังสือ มี 5 เรื่อง ประกอบไปด้วย
- ทุกคนรู้หน้าที่
- ต่างไม่ลี้หน้าที่ตน
- มุ่งมั่นผลส่วนรวม
- รวมกันรับความสุข
- ทุกฝ่ายพอใจในโชคตน
ทั้ง 5 เรื่องนี้ครูปูพิมพ์ให้ครับ
นิทานเรื่องที่ ๑ - ทุกคนรู้หน้าที่
เด็กชายแดง ลูกดำรง อ้อยคงรัก
แน่ตระหนัก เหมือนวงศ์วาน เป็นหลานป้า
เฝ้าปรุงปั้น ไม่รามือ รื้อระอา
เพราะรู้ว่า เป็นหน้าที่ หนีไม่พ้น
เด็กของชาติ หากขาด ผู้ใหญ่ปั้น
อนาคต นับวัน จะปี้ป่น
จะเติบโต เพียงเห็น เป็นรูปคน
ส่วนจิตใจ จะมืดมน ไม่เป็นการ
อันพ่อแม่ ครูบา อาจารย์ทั่ว
รวมผู้ใหญ่ ต้องเป็นรั้ว อยู่รอบด้าน
คอยตะล่อม มิให้ ไปทางพาล
จนจวบกาล รู้ดีชั่ว ด้วยตัวเอง
หน้าที่บ้าน กับโรงเรียน เวียนเหมือนจักร
หมุนไม่พัก รักษาวง ไว้ตรงเผง
ช่วยกันขัด ช่วยกันเกลา ให้เข้าเพลง
เสมือนเร่ง ตีเหล็ก กำลังร้อน
จะเอารูป อย่างไร ได้ทั้่งนั้น
หากขยัน ไม่ย่อท้อ ระย่อหย่อน
เด็กจะต้อง ดีแท้ อย่างแน่นอน
เป็นทุนรอน สืบไป ไม่ขาดมือ
โรงเรียนปิด แดงก็ติด อยู่กับป้า
ถึงเวลา ก็ไม่คร้าน อ่านหนังสือ
ตามที่อ้อย กำหนดให้ ได้ฝึกปรือ
แดงไม่ดื้อ พูดจา ก็น่าฟัง
“คุณป้าครับ คุณครูใหญ่ ใหญ่สมชื่อ
เขาเลื่องลือ กันว่า วิชาขลัง
เป็นปู่ครู ศิษย์หา บรรดายัง
นับก็ตั้ง ร้อยพัน นั่นทีเดียว
แดงสงสัย ว่าทำไม ท่านไม่เบื่อ
สอนซ้ำซ้ำ พร่ำเพรื่อ ใช่ประเดี๋ยว
คุณป้าสอน แดงนานนิด บิดเป็นเกลียว
เฝ้าแต่เหลียว หาคนนวด ว่าปวดร้าว”
อ้อยว่า “ถูก แล้วป้า มีหน้าที่
งานแม่บ้าน มากมี มาแต่สาว
มานั่งสอน เป็นส่วนตัว แม้ชั่วคราว
ก็ทบท่าว หนักเหนื่อย ชวนเมื่อยล้า”
แดงว่า “งาน แม่บ้าน งานไม่ใหญ่
มอบเด็กเด็ก คนใช้ ทำดีกว่า
คุณป้าว่าง ก็เบา เอาเวลา
มาสอนแดง ดูท่า จะเข้าที
ไม่ต้องไป โรงเรียน เพียรตื่นเช้า
ไม่ต้องฟัง ระฆังเร้า ขวัญแทบหนี
กำลังเล่น ระฆังราน เหมือนมารมี
ที่แดงว่า อย่างนี้ ดีไหมครับ”
อ้อยร้องว่า “ไม่ได้ ! ไม่เข้าเรื่อง
พูดให้เปลือง เวลา เดี๋ยวป้าปรับ
ให้นั่งเขียน นั่งอ่าน นานไม่นับ
ให้สมกับ ค่อนระฆัง ว่าดั่งมาร
เป็นนักเรียน มีหน้าที่ หนีไม่ได้
ต้องเคร่งครัด ต่อวินัย ใช่อยู่บ้าน
เสียงระฆัง คืออาณัติ ดัดสันดาน
ให้รู้เล่น รู้งาน ไม่ปะปน
เสร็จศึกษา ออกมา เป็นพ่อบ้าน
จะกอปรกิจ การงาน ไม่สับสน
มีระเบียบ วินัย ไว้ครองตน
ให้เป็นคน รู้หน้าที่ มีสำคัญ
อันจะเกณฑ์ ให้ป้า มาเป็นครู
งานแม่บ้าน ไม่ต้องดู ปล่อยไว้นั่น
มีเด็กเด็ก คนใช้ ให้ช่วยกัน
ปล่อยอย่างนั้น ไม่กี่วัน เป็นนรก
แดงรู้ไหม ว่าทำไม ป้าตื่นเช้า
ไม่ซบเซา อยู่ในมุ้ง มัวนอนหมก
เรียกเด็กเด็ก ดูเรือนชาน บ้านที่รก
ขจัดสิ่ง สกปรก ให้หมดไป
บ้านของเรา ใครเขา จะอินัง
เด็กรับใช้ ไม่คอยสั่ง ก็ไถล
ต้องทั้งสั่ง ทั้งกำกับ จึงฉับไว
มิฉะนั้น งานได้ ไม่เรียบร้อย
พวกคนครัว หุงหา อาหารเช้า
ก็ทำให้ ใช่เขา จะท้อถอย
แต่ก็ต้อง คอยเตือนให้ ไม่ตะบอย
เดี๋ยวคนกิน ต้องคอย ก็เสียงาน
แดงได้ไป เรียนทุกวัน ทันเวลา
ท่านเรือนใหญ่ ได้ข้าวปลา พร้อมอาหาร
ตักบาตรพระ ได้ขบฉัน ทุกวันวาร
ก็เพราะป้า แม่บ้าน คอยนำพา
แดงกับเพื่อน เด็กเด็ก ทั้งเล็กใหญ่
มีที่เรียน เรียนได้ สมปรารถนา
ก็เพราะครู น้อยใหญ่ ไม่ระอา
ต่างตั้งหน้า ทำหน้าที่ ที่ผูกมัด
อันพระสงฆ์ องค์เจ้า ที่เคารพ
สุขสงบ ภาวนาธรรม นำปฏิบัติ
เสริมพระศาสน์ เป็นนิตย์ กิจวัตร
ได้โปรดเว- ไนยสัตว์ เพราะพวกเรา
ร่วมใจกัน ทำบุญ อุดหนุนท่าน
จตุปัจจัย ไทยทาน ใช่งานเปล่า
เพียรอุปถัมภ์ บำรุง ไม่ดูเบา
ศาสน์รุ่งเรือง รัฐเนา นิราภัย
ด้วยปกครอง สะดวกดาย วายวิตก
เพราะทุกฝ่าย หยิบยก เป็นข้อใหญ่
ว่ารู้จัก หน้าที่ มีจิตใจ
รักประชา- ธิปไตย นั่นสำคัญ
ทุกทุกคน ไม่ต้องให้ ใครบังคับ
ด้วยหน้าที่ คอยกำกับ เป็นคำขวัญ
“รักเป็นใหญ่ ต้องเอออวย ช่วยเหลือกัน
ใครถนัด อะไรปัน แบ่งกันทำ
ตัวจักรใหญ่ ได้งาน เพราะตัวย่อย
ทำหน้าที่ ตามมากน้อย ไม่ถลำ
ให้ผิดพลาด เสียการ งานประจำ
นั่นแหละกรรม วิธี ที่ถาวร”
จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๑
นิทานเรื่องที่ ๒ - ต่างไม่ลี้หน้าที่ตน
ปิดภาคเรียน แดงเพียร ไปหาพ่อ
ได้ติดต่อ มิให้ร้าง อย่างอ้อยสอน
พ่อแม่ลูก ต้องผูกพัน มั่นอาทร
ลูกจักได้ สังวร ซึ่งความจริง
ว่าที่รัก สองสถาน โบราณระบุ
คือพ่อแม่ กับคุรุ อย่ามัวนิ่ง
มั่นระลึก มั่นบูชา อย่าชังชิง
จักเป็นมิ่ง มงคล ดลแก่ตัว
แดงต้องพราก จากพ่อแม่ มาแต่น้อย
มาพักพิง อยู่กับอ้อย ใช่เรื่องหัว
ว่าเอาลูก เขามาเลี้ยง เสี่ยงสิ้นกลัว
หลงขมขัว จะต้องช้ำ ระกำใจ
ซึ่งความจริง ช่วยเลี้ยง เพียงช่วยชี้
มิให้ลี้ หน้าที่เรียน เปลี่ยนนิสัย
เป็นเกียจคร้าน เกลียดหนังสือ ดื้อตามวัย
ด้วยพ่อแม่ วุ่นกับไร่ ใครจะปราม
ครูอบรม ไว้ดี ที่โรงเรียน
กลับมาบ้าน พาเหียร ใคร่ไม่ห้าม
เหมือนตบมือ ข้างเดียวไหน จะได้ความ
เด็กจะทราม ต้องเสียดาย เมื่อปลายมือ
เช้าวันนั้น แดงพลอด นั่งออดพ่อ
ว่า “แดงกลัว คุณป้ารอ กวดหนังสือ
สั่งให้รีบ กลับไป ได้ฝึกปรือ
ถ้าอยู่ช้า จะว่าดื้อ เด็กไม่ดี
แต่แดงอยาก ใกล้คุณพ่อ ต่ออีกหน่อย
สัปดาห์เดียว ดูจะน้อย ไม่สมที่
ตั้งใจไว้ แน่วแน่ แต่ต้นปี
ว่าภาคปลาย ปีนี้ ได้อยู่นาน”
ดำรงว่า “แดงใช่เด็ก เล็กเหมือนก่อน
ไยจะต้อง ให้สอน เช่นเด็กด้าน
อยู่ใกล้ป้า หรือใกล้พ่อ ดีพอการ
ได้รับรัก และสงสาร เสมอกัน
อยู่กับพ่อ มีบกพร่อง ตรงที่พ่อ
หาเวลา ไม่พอ มากวดขัน
ต้องหมกตัว อยู่ในไร่ ตลอดวัน
ด้วยหน้าที่ สำคัญ ลี้ไม่ลง
จะพึ่งแม่ ของแดง ช่วยแบ่งเบา
งานในไร่ ส่วนของเขา ก็ต้องส่ง
มาให้พ่อ เหมือนซ้ำเติม เพิ่มพะวง
แดงไม่สง- สารบ้าง หรืออย่างไร
แดงนั่งนิ่ง ฟังพ่อ พ้อให้ทราบ
ถึงงานไร่ ที่ปรับปราบ มาแต่ไหน
ตามที่ป้า เคยพรรณนา ว่าใครใคร
ที่ชอบเป็น ชาวไร่ ต้องกรากกรำ
เคยซักป้า ว่าทำไม ชอบลำบาก
ป้าว่าคน ลี้งานยาก ความคิดต่ำ
มัวลี้ยาก ก็ไม่มี หน้าที่ทำ
เพราะงานส่ำ สบลำบาก ยากทั้งนั้น
“แดงสงสัย ว่าทำไม คุณพ่อชอบ
มาทำงาน ที่มีขอบ มีเขตกั้น
ไม่ให้ลูก ได้ร่วมเหย้า สมเผ่าพันธุ์
เป็นชาวไร่ ไม่มีวัน ได้สุขใจ”
ดำรงว่า “แดงไม่รู้ จึงดูผิด
ว่าไยพ่อ ไม่คิด หางานใหม่
เพราะว่างาน นอกจากนี้ มีถมไป
แต่พ่อทำ ไม่ได้ ดอกลูกรัก
พ่อเรียนมา ทางเพาะปลูก ถูกใจพ่อ
เรียนสำเร็จ แล้วก็ ยังสมัคร
จะปลูกพืบ พันธุ์ไม้ ให้พร้อมพรัก
ไว้เลี้ยงกัน ไม่พัก ต้องขาดแคลน
แดงว่า “พืชผลไม้ ในตลาด
แดงเเคยเห็น ดื่นดาษ นับตั้งแสน
ไม่เห็นใคร ต้องประสบ พบแร้นแค้น
แม้ยากจน อยู่แกนแกน ก็มีกิน”
ดำรงว่า “เอาละ ถ้ากระนั้น
พ่อจะเลิก ปลูกพืชพันธุ์ เสียให้สิ้น
ที่ปลูกแล้ว ก็จะรา ปล่อยคาดิน
ทุกทุกไร่ ในท้องถิ่น ทำเหมือนกัน
ต่างไปหา งานใหม่ หวังให้สุข
อย่างแดงเดิน แต้มหมากรุก เมื่อกี้นั่น
พืชผลไม้ ที่ว่าดื่น นับหมื่นพัน
คงเหลือพอ แมลงวัน กระมังแดง
เข้าใจแล้ว หรือยัง ดั่งที่ว่า
พ่อไม่กล้า ทำอะไร ให้แผลงแผลง
พ่อรักลูก ดั่งดวงใจ ไม่คลางแคลง
แค่รักไร่ นั้นแรง ยิ่งใดใด
ถึงลูกแดง ก็เหมือนกัน มั่นรักพ่อ
อยากจะคลอ เคลียอยู่ ให้ใกล้ใกล้
แต่โรงเรียน ต้องรัก กว่าใครใคร
ขืนทิ้งไป มันก็ถ่อย ทรลักษณ์
ครูของแดง ก็เหมือนกัน มั่นรักศิษย์
มิได้คิด เป็นอื่นไป ให้ผิดหลัก
เมื่อแดงดื้อ เถลไถล ก็ไม่รัก
ต้องประจักษ์ ว่าไม้เรียว เหนี่ยวลงไป
เพราะหน้าที่ ครูดี ต้องตีศิษย์
แต่แดงคิด ว่าท่านขึ้ง ถึงจะไส
หัวหูส่ง ไม่พักสอน เหมือนก่อนไร
เลยน้อยเนื้อ ต่ำใจ ไม่อยากเรียน
พอเติบโต คิดได้ ก็สายโร่
โอ้อกโอ้ ! มัีวทะนง หลงพาเหียร
เมื่อยังเล็ก ท่านรักใคร่ สอนให้เพียร
กลับมืดมน วนเวียน ว่าท่านชัง
ยิ่งเติบโต ยิ่งโง่ มีทิฐิ
ใครมาทัก ใครมาติ ต้องหมดหวัง
แม้พ่อแม่ จะโศกเศร้า เฝ้าอินัง
ก็หันหลัง ให้ตะพึด ยึดแต่ทราม
จงรีบเตรียม หีบห่อ อย่ารอช้า
โธ่ ! ป่านนี้ คุณป้า คงพร่ำถาม
นอนไม่หลับ ไม่มีสุข ทุกโมงยาม
จะหักห้าม อย่างไร ไม่บรรเทา”
จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๒
นิทานเรื่องที่ ๓ - มุ่งมั่นผลส่วนรวม
ที่บ้านนา วันนั้น พากันโจษ
ว่าในหลวง จะมาโปรดฯ ให้หายเหงา
ทั้งลูกเด็ก เล็กแดง แต่งตัวเพรา
เตรียมรับเจ้า อยู่หัว ทุำกตัวคน
บ้างอุ้มลูก จูงหลาน ผ่านอำเภอ
หอบร่าเร่อ แฟงแตงโม โตโตผล
มาประกวด อวดกัน ใครไม่จน
จักถวาย จุมพล วางนองเนือง
ที่แก่เฒ่า ถือไม้เท้า ก้าวงันงก
ถึงเหงื่อตก ก็ไม่ฟก ไม่คางเหลือง
เดินมาตั้ง ไมล์ไมล์ ไกลตัวเมือง
แรงหมดเปลือง เท่าไร ไม่นำพา
พวกอำเภอ กำนัน พากันช่วย
ผู้เจ็บป่วย ถึงสันทัด ขัดแข้งขา
ที่เต็มหง่อม เป็นลม ให้ดมยา
ทุกถ้วนหน้า ต่างฟื้น ยืนตาโพลง
ชะเง้อชะแง้ แลหา พระร่มเกล้า
เขาร้องเร้า เสด็จแล้ว เขย่งโขย่ง
ยืนไม่เห็น เกาะตะกาย เป็นสายโยง
เหมือนเล่นโพง พางเอย เอ่ยชโย
พอเสด็จ พระราชดำเนิน เดินมาใกล้
หมอบกราบไหว้ ประณตน้อม พร้อมกันโห่
เป็นไทยแท้ แน่นิยม พระร่มโพธิ์
เพื่อภิญโญ พระยศยิ่ง เป็นมิ่งเมือง
ทรงทักทาย ถามทุกข์สุข ทุกถ้วนหน้า
ยิ่งแก่เฒ่า คลานเข้ามา เฝ้าชิดเบื้อง
บาทยุคล พระจุมพล มิให้เยื้อง
ทรงถามเรื่อง ทำกิน ในถิ่นตน
ทั้งลุงอ่วม ป้าน่วม ก็มาด้วย
แดงเข้าฉวย มือปู่ย่า พาดั้นด้น
“ถ้าปู่ย่า่ มัวชักช้า สาละวน
ประเดี๋ยวก็ เสด็จพ้น ต้องเศร้าใจ”
อ่วมบอกว่า “ใกล้แค่นี้ ก็ดีแล้ว
แสนผ่องแผ้ว ชื่นตา จะหาไหน
ที่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยร้า มาแต่ไกล
ก็หายหมด กลับไปไร่ ได้เรี่ยวแรง
“โอ้พระร่ม โพธิ์ทอง ของทวยราษฎร์
ทรงมุ่งมาด ปลุกใจ ให้เข้มแข็ง
สมเป็นเจ้า แผ่นดิน สิ้นระแวง
รักตำแหน่ง หน้าที่ ดีสุดใจ
ทรงสละ พระสำราญ เพื่อบ้านเมือง
เพื่อรุ่งเรือง เทียมหน้า เทียมบ่าไหล่
เขาชาวโลก ที่มั่งคั่ง ทั้งใกล้ไกล
เพื่อประชา- ธิปไตย อันถาวร
พระนิราศ แรมร้าง ห่างประเทศ
ทุกขอบเขต ประกาศเกียรติไทย ให้กระหม่อม
ว่าไทยคือ ไทยท้าว เจ้านคร
สุโขทัย เก่าก่อน ดึกดำบรรพ์
ไทยเจริญ รุ่งเรือง สมเมืองทอง
รวมพวกพ้อง ตั้งเป็นชาติ สามารถขัน
แข่งกับใคร ที่จู่โจม มาโรมรัน
ไทยยึดมั่น สุขศาสติ์ ไม่รานใคร
กรณียกิจ ดั่งว่า ถ้าประมวล
ก็แล้วล้วน งานใหญ่ ไม่สงสัย
พระวรกาย แม้แบบบาง อย่างอไภยฯ
แต่ดวงหทัย นั้นเหล็กแท่ง แข็งไม่ปาน
ทรงรอนแรม อ้างว้าง กลางอากาศ
ประชาราษฏร์ ผะผ่าว ฟังข่าวสาร
ประกาศถ้วน มงคลล้ำ ทรงสำราญ
ต่างชื่นบาน บนบวง ด้วยห่วงใย
มหาอำนาจ ทุกประเทศ ประเวศทั่ว
อำนาจน้อย แต่ก็กลั้ว กับเขาได้
เพราะปราชญ์เปรื่อง เรืองปัญญา อาชาไนย
ทุกชาติใหญ่ ถ่อมตัว ด้วยกลัวบุญ
อันสมเด็จ พระบรมรา- ชินีนาถ
พระฉวี ผุดผาด โอภาสหนุน
เหมือนแสงโสม ส่องนภา คราอรุณ
ช่วยเจือจุน รัศมี ด้วยศรีเพ็ญ
ชาวฝรั่ง หญิงชาย ทั้งหม้ายสาว
พร้อมกันกล่าว เยินยอ พอได้เห็น
ว่าสมเด็จ ฯ ทรงโฉม โลมตาเย็น
ต่างตื่นเต้น หมายว่าจันทร์ ดั้นมาดิน
ฉลององค์ ทรงสรรพ รับพระโฉม
อนุโลม ทั้งเทศไทย มิให้ฉิน
ไทยก็ชอบ เทศก็ขม สมระบิล
เทิดไทยถิ่น กำเนิดหญิง มิ่งนารี
ตามข่าวสาร รายงาน ว่าพระแม่
ทรงกังวล วุ่นแต่ เพิ่มศักดิ์ศรี
ของชาติไทย สตรีไทย ไว้ด้วยดี
สมกับที่ เป็นไทย แต่ไรมา
ทั้งค่ำเช้า ชำงาย ไม่วายว่าง
ต้องแรมร้าง บรมสุข ทุกสิ่งสา
เสียสละ เพื่อหน้าที่ พลีเพื่อพา
ชาตินานา นอบน้อม ยอมเป็นเกลอ
อันราชา ราชินี เมาลีราษฏร์
ทรงอำนาจ ยิ่งใหญ่ ใครเสมอ
ควรเสวย สุขสรรพ รับบำเรอ
ใครใครเผลอ เพลินคิด ผิดทำนอง
สมเด็จพระ ปิยะ มหาราช
พระราชทาน โอวาท รู้ทั่วผอง
ให้พระราช โอรส ปลดลำพอง
ว่า “พ่อเกิด มาต้อง รับบาปกรรม
จะนอนนั่ง ไม่มีสุข ทุกข์ถึงราษฎร์
เขาคือแรง ของชาติ ผิวะส่ำ
ประสบทุกข์ ขุกเข็ญ เป็นประจำ
ก็เหมือนทำ ลายชาติ วินาศเทียว
อันยศศักดิ์ อัครฐาน เหมือนม่านหลอก
บังซึ่งกล กลับกลอก สิ้นเฉลียว
ว่าเขาคน เราคน ชนเช่นเดียว
ไม่ยึดเหนี่ยว ว่าใช่คน ล้นมนุษย์”
จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๓
นิทานเรื่องที่ ๔ - ร่วมกันรับความสุข
ดำว่างงาน ในไร่ ได้โอกาส
ก็เข้าเมือง มิได้ขาด ตามวันหยุด
บางวันค้าง อ้างแรม ไม่รีบรุด
นอนกับบุตร คุยกับอ้อย ปล่อยอารมณ์
วันหนึ่งแดง ขอให้ พาไปเที่ยว
ตลาดนัด กราวเกรียว เสียงขรม
มีส้มสูก ลูกไม้ ขายอุดม
ทั้งได้ชม ภูมิฐาน ลานพระเมรุ
สองหลานป้า ดำพา ไปขึ้นรถ
ไม่เหมือนเที่ยว ในชนบท แบบเดินเล่น
ซึ่งดำรง สันทัด อย่างจัดเจน
มานั่งขด รถตระเวน อึดอัดใจ
แดงว่า “นั่ง รถอย่างนี้ ดีไหมพ่อ
เหมือนวิ่งห้อ จากหัว สุดหางไร่
แดงกับพ่อ ลงวิ่งเล่น จะเป็นไร
ปล่อยให้รถ พาป้าไป แค่คนเดียว”
อ้อยว่า “อ๊ะ ! อะไร จะให้ป้า
รถเขาพา ไปไหนไหน แดงไม่เหลียว
ที่ว่ารัก ป้าเหมือนแม้ แน่แท้เทียว
คงโป้ปด ลดเลี้ยว ให้หลงรัก
แดงว่า “เปล่า ครับ ! คุณป้า อย่าหลงผิด
แดงจะวิ่ง ตามติดติด ไม่หน่วงหนัก
ดำำว่า “แดง เป็นเด็ก ยังเล็กนัก
จึงหาญหัก วิ่งแซง แข่งกับรถ
ถึงมีสิทธิ์ ขืนใช้สิทธิ์ ผิดเทศะ
กลายเป็นวิ่ง เกะกะ เกินกำหนด
ไม่ใช้รถ อยากเดินเท้า เขาแทนทด
วางเป็นกฎ จราจร ผ่อนตามควร
แบ่งทางรถ ทางเท้า ไม่ก้าวก่าย
พาทุกฝ่าย ยึดมั่น ไม่ผันผวน
การสัญจร สอดคล้อง ต้องกระบวน
แต่ละส่วน สุขรวม เพราะร่วมใจ”
พอรถถึง ท้องสนาม ตามประสงค์
ทั้งสามลง ตากวาด ตลาดใหญ่
มีของสด ของแห้ง เป็นแผงไป
ใครต่อใคร รุมล้อมซื้อ เสียงอื้ออึง
แดงร้องว่า “นั่นฟักแฟง แตงโมนั่น
จากไร่เรา แทบทั้งนั้น นำมาถึง
ตลาดนัด โก่งราคา วางค่าตรึง
ขึ้นตั้งครึ่ง ค่อนตัว ทั่วทั้งนั้น
ทำไมพ่อ ไม่นำมา ค้าเสียเอง
ปล่อยนักเลง ค้ากำไร ไม่ผ่อนผัน
ควรจะลด ค่าครองชีพ รีบป้องกัน
อย่าให้ทัน คนยากร้อง ว่าของแพง”
ดำร้องว่า “อ้า ! ลูกแดง แผลงอีกแล้ว
พวกแม่ค้า ที่มาแกร่ว อยู่ที่แผง
เขาเหนื่อยยาก ลงทุน หนุนด้วยแรง
ไปขนผัก ฟักแฟง มาจากนา
ต้องลงแรง แล้วต้องหา ค่าขนส่ง
เอามาลง เสริมทุน เป็นมูลค่า
คิดกำไร บวกเข้าไป เป็นราคา
ที่บอกขาย ใช่ว่า เรียกตามใจ
นี่แหละหลัก การค้า ถ้าวิปลาส
ร้านตลาด จะต้องหยุด สุดแก้ไข
เมื่องานชะงัก เงินก็งัน ตามกันไป
จะบันดาล อย่างไร สุขไม่มี
ถ้าพ่อปลูก ขน ขายเอง เล็งผลเลิศ
ทนเหนื่อยหน่อย ผลเกิด เป็นเศรษฐี
แต่พ่อค้า แม่ค้า ที่เคยพี
รถรับจ้าง เห็นเมื่อกี้ จะผอมโซ
เหตุเพราะพ่อ เห็นแต่ แก่ตัวพ่อ
มีพอกิน แล้วไม่พอ อยากจะโก้
ได้ขึ้นชื่อ ลือว่ารวย หน่วยก้านโต
แต่พุทโธ่ ! เพื่อนวอดวาย เพราะตายเย็น
ภาษิตจีน มีมา ว่าดังนี้ :
คนเราเกิด มามี ที่เห็นเห็น
กินเท่าแมว นอนเท่าหมา น่าลำเค็ญ
แต่ก็เป็น ความจริง สิ่งควรจำ
ที่ละโมบ โลภหลง พะวงกอบ
ถึงทำชอบ ก็เข้าเชิง เหลิงถลำ
ผิดวิธี สะสมทรัพย์ รับระกำ
บาปเพราะทำ ให้กลุ่มชน อลเวง
อ้อยว่า “แดง ฟังพ่อ พอกระมัง
ถ้าหากยัง ป้าจะไข ให้ตรงเผง
บ้านเราอยู่ ไยเปรียบคู่ ที่ครื้นเครง
ตัวแดงเอง ก็เป็นสุข สนุกสบาย
หันไปดู คนรับใช้ ผู้ใหญ่เด็ก
งานใหญ่เล็ก มีประจำ ทำเหลือหลาย
งานทั้งบ้าน ป้าไม่แบก แจกกระจาย
เพื่อทุกฝ่าย มีงาน การหาเงิน
อันความสุข เกิดเพราะงาน ในบ้านสรรพ
ดำเนินดี ตามลำดับ รับสรรเสริญ
ทุกทุกคน ไม่รู้ทุกข์ เสพสุขเพลิน
ความเจริญเนานาน เป็นบ้านแท้
นี่เข้าเค้า เราร่วม รับความสุข
แม้บ้านเมือง ทุกทุกยุค พากเพียรแก้
กำจัดคน เห็นแต่แก่ตัว มั่วรังแก
เบียนเพื่อนเพื่อน เสียจนแย่ แทบย่อยยับ”
แดงฟังพ่อ ฟังบ้า พาพ้นโง่
ร้อง “พุทโธ่ ! เรื่องง่ายง่าย ไม่ถึงกับ
มุ่งวิมาน เหนือแผ่นดิน ดิ้นหาทรัพย์
ไปไม่รอด ว่าโชคอับ น่าอายแทน”
อ้อยกับดำ เห็นแดง แจ้งรหัส
โสมนัส ที่ผู้เยาว์ เข้าถึงแก่น
เมื่อเติบโต คงไม่เมา เอาแบบแปลน
อันเป็นแผน มีแต่ลม จมไม่ลง
อันเมืองไทย ใช่ว่าไร้ ซึ่งขุมทรัพย์
หากคนไทย ไม่สับปลับ เพียรประสงค์
ให้ประชา- ธิปไตย ได้ยืนยง
จะมั่นคง คู่หล้า ชั่วฟ้าดิน
จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๔
นินาทเรื่องที่ ๕ - ทุกฝ่ายพอใจในโชคตน
โรงเรียนหยุด พักกลางวัน วันนั้นเหมาะ
แดงจำเพราะ ขาดเพื่อนเล่น เช่นนิจสิน
ออกจากห้อง อาหาร เสร็จการกิน
ก็ได้สิน เสียงตาเพิก หลังเลิกงาน
“นี่แน่ลุง ฉันเห็นลุง ยุ่งแต่กวาด
เก็บกระดาษ ตั้งหอบ เกลื่อนรอบด้าน
ทั้งเช้าเย็น เก็บกันเรื่อย คงเหนื่อยอาน
ตั้งนมนาม ทำอย่างนี้ ไม่มีซา
เพิกว่า “อ้าว ! งานซา เงินก็ทรุด
ทั้งลูกเมีย คงต้องขุด กินต้นหญ้า
ขอคุณคุณ ช่วยกันหนุน เรื่องขว้างปา
ให้กระดาษ เต็มตะกร้า ทุกทุกวัน
เมื่อเช้าวาน นึกว่า ชะตาขาด
คุณครูใหญ่ เก็บกระดาษ จ้าละหวั่น
ปากก็บ่น ว่า “นายเพิก ต้องเลิกกัน
ทำสะอาด ไม่ทัน กับเวลา”
“ผมบอกท่าน ว่าก่อนค่ำ ผมทำเสร็จ
พอเช้ามืด ฝนลงเม็ด ลมพัดกล้า
พากระดาษ ปลิวเกลื่อนกลาด ดาษดา
เผอิญท่าน ด่วนมา ไม่เหมือนเคย
เป็นเคราะห์ดี ที่ท่านยั้ง ฟังเหตุผล
มิฉะนั้น คงไม่พ้น ต้องอยู่เฉย
ถึงงานอื่น พอหาได้ ไม่ชอบเลย
เป็นภารโรง ละคุณเอ๊ย ผมพอใจ”
แดงจดจำ คำลุงเพิก พอเลิกเรียน
ไม่แวะเวียน ตรงไปหา ป้าผู้ให้
คำแนะนำ เป็นความรู้ หูตาไกล
จนครูใหญ่ ชมว่าหาญ ชาญวิชา
“คุณป้าครับ งานรับใช้ สมัยนี้
ชนิดไหน ถึงจะดี มีคุณค่า
เป็นภารโรง เก็บกวาด สะอาดตา
จะนับว่า เหมาะสมัย ได้หรือยัง”
อ้อยว่า “ได้ ซิ ! ทำไม แดงต้องถาม
เพราะทำงาน เงินตาม เป็นที่หวัง
ทุกสมัย ใช้เงิน เป็นเครื่องยัง
อาชีพแท้ ชอบ ชัง มิบังควร
ทางที่ดี ควรที่ แล้วแต่โชค
อุปโลก เป็นนี่นั่น นั้นเรื่องสรวล
โชคที่แท้ ของใคร ต้องใคร่ครวญ
แล้วรับเอา ตามกระบวน ไม่เบาความ
หากใครใคร พอใจ เช่นตาเพิก
งานภารโรง ไม่ยอมเลิก ดั่งแดงถาม
งนทุกส่วน จะดำเนิน เดินไปตาม
ที่บ้านเมือง พยายาม ให้เป็นไป
แล้วความสุข จะประสบ พบทั่วผู้
จงเร่งรู้ แบบนี้ ที่ท่านไข
ว่าระบอบ ประชา- ธิปไตย
ความเป็นใหญ่ เป็นของชน คนทั้งเมือง
โรงเรียนแดง เป็นโรงเรียน จำเนียรมา
ก็เพราะว่า คนทั้งกลุ่ม ต่างคุมเครื่อง
จักรทุกตัว ให้ทำการ งานหมดเปลือง
ไม่เอาเรื่อง ใช่ของตน มาปนเป
รัฐบาล กลุ่มชนใหญ่ ใช่จะแปลก
ก็แบ่งแยก งานใหญ่ ไม่ไขว้เขว
แต่ละหน่วย งานไม่ซ้ำ ทำจำเจ
คนกับงาน คะเน พอสมกัน”
แดงว่า “ผม พอเข้าใจ ได้ละครับ
แต่สำหรับ การก้าวหน้า ถ้ามัวมั่น
ทำแต่หน้า- ที่ตน จนครบครัน
ไม่แข่งขัน เลื่อนฐานะ จะถูกทาง”
อ้อยว่า “ถูก แล้วแดง ต้องแข่งขัน
แต่แข่งกัน ให้งานได้ ใช่ขัดขวาง
อย่างที่ว่า ขัดแข้งขา ข้อระคาง
เกิดบาดหมาง มุ่งทำลาย ใส่ร้ายกัน
เกิดว้าวุ่น แข่งบุญ วาสนา
เพราะถือสิทธิ์ บ้าบ้า อย่างน่าขัน”
เป็นหิ่งห้อย เผยอแข่ง แสงตะวัน
อธิปไตย ที่ใฝ่ฝัน ไม่บรรลุ
ธรรมนูญ วางกระบวน ล้วนดีเลิศ
ผลที่เกิด ไม่เหมือนหวัง ดังระบุ
เพราะความรู้ เราทั่วไป ยังไม่ลุ
มาตรฐาน เลยเหมือนยุ ให้ลืมตัว
เมื่อยื่นดาบ ให้คนเขลา เอาไปใช้
พอย่ามใจ ฟันไม่ละ โมหะกลั้ว
หลงสิทธิ เสรี หมดที่กลัว
ยิ่งเหนี่ยวรั้ง ยิ่งยั่ว ไม่ยอมโง
เมื่อประชา- ธิปไตย ใช้ผิดที่
เหมือนเปิดช่อง คนดี มิให้โผล่
ด้วยพวกเขลา มากกว่า พาเฮโล
ลากประเทศ พุทโธ่ ! สู่อบาย
แดงว่า “คน ดีดี ก็มีมาก
ไยยอมปล่อย พวกเขลาลาก ให้เสียหาย
คงนอนหลับ ทับสิทธิ์ ผิดอุบาย
จึ่งนอนรอ วันตาย น่าอายครัน
อย่างพ่อค้า ของแดง ก็แกร่งพร้อม
เชี่ยววิชา ไยจึงออม ไม่เข้าขัน
ไพล่ไปอยู่ สู้กับแดด แผดทั้งวัน
หรือเคร่งสัน- โดษแน่ ไม่แปรปรวน”
อ้อยว่า “อ้าว ! เอาอีกแล้ว เจ้าหลานรัก
พ่อเขาบอก แล้วไม่ยัก จะสงวน
เขาว่าโชค ของเขา เข้ากระบวน
ทำนาสวน เกิดประโยชน์ โสดสำคัญ
คนดีดี มีดื่น พื้นฉลาด
ถึงสามารถ ทำทุกอย่าง ทางสร้างสรรค์
แต่สุดสู้ พวกมืดมน คนดื้นดัน
ทั้งพวกมาก ร้อยพัน ไม่พรั่นใคร
พวกเมาสิทธิ์ ควรคิดเห็น เช่นตาเพิก
งานใดเหมาะ ไม่ยอมเลิก เพราะโชคให้
ทุกทุกคน มุ่งสร้างผล เป็นกลไก
ของประชา- ธิปไตย ที่ถาวร”
จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๕
« « Prev : นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 5
Next : ที่พักในหมู่บ้านโลก แบบที่ 2 » »
3 ความคิดเห็น
ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ เพิ่งเคยเห็น
น่าที่จะนำมาเป็นบทเรียนของเด็กนักเรียนในปัจจุบันนะคะ บ้านเมืองจะได้วุ่นวายน้อยลงบ้างค่ะ
บรรทัดสุดท้าย ของเรื่องที่ 1 น่าจะวรรคใหม่เป็น
นั่นแหละกรรม วิธี ที่ถาวระ
สระ ะ เกินมาจากไหน ???