ชาวบ้านริมแม่น้ำ
อ่าน: 6590ได้รับอีเมลจากตัวแทนชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนที่อยุธยาซึ่งอยู่ติดแม่น้ำ และอยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมครับ
เรียน ท่านผู้มีจิตศรัทธาและมีน้ำใจ
เรื่อง ขอความช่วยเหลือจากผลกระทบน้ำท่วมหนัก
ผมเป็นตัวแทนชาวบ้าน จะของบประมาณในการสร้างสะพาน เนื่องจากน้ำท่วมสูง และกระแสน้ำแรง ประชาชนในหมู่บ้านต้องเดินทางไปทำงานหรือติดต่อกับ ภายนอกด้วยความยากลำบาก เพราะหลายคนทำงานโรงงาน ต้องใส่ชุดอยู่บ้านลุยนำ ออกไปเปลี่ยนชุดข้างนอก ที่ถนนใหญ่ทั้งชายและหญิง เพื่อขึ้นรถไปทำงาน พายเรือก็เป็นความเสี่ยงที่เรือจะล้ม เพราะกระแสน้ำแรงมากต้องพายทวนกระแสน้ำ และเรือมักจะล้มอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจากสภาพปีที่แล้ว (2553) เป็นความลำบากมาก และเมื่อมาถึงปีนี้น้ำก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และน่าจะคงสภาพความลำบากเช่นนี้อีกนาน เพราะอีกฝั่งกั้นขั้นดินไม่ให้น้ำเข้าพื้นที่ เพราะเป็นพื้นที่ส่วนนา ซึ่งระยะทางในการออกไปถนนใหญ่ประมาณ 3-4 ร้อยเมตร จึงเรียนมาเพื่อขอคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือ ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 14 ต.ปากกราน อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา ส่วนรายละเอียดต่างๆสามารถติดต่อผมได้ ที่ 089-xxxxxxx ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ด้วยความเคารพและขอบคุณ
อับดุสสลาม xxxxxxxx
ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากผลกระทบน้ำท่วม
จดหมายไม่ได้เจาะจงแต่ส่งมาถึงมูลนิธิ เช้านี้ผมติดต่อกลับไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันประมาณ 15 นาที และได้ความว่าอยู่ติดกับวัดไชยวัฒนาราม อยุธยา ตรงนั้นมีสภาพเป็นคุ้งน้ำ ทำให้น้ำพัดเข้าพื้นที่ด้วยความแรง จนเรือพายล่มได้บ่อยๆ ชาวบ้านต้องลุยน้ำออกมาหลายร้อยเมตร ผู้หญิงลำบาก น่าเห็นใจมากครับ
สำหรับเรื่องสะพานไม้ยาวหลายร้อยเมตรที่ขอมานั้น เกรงว่าจะเกินกำลังของมูลนิธิ หากทำให้หมู่ 14 ชาวบ้านหมู่อื่นก็คงตั้งคำถามว่าทำไมเขาไม่ได้บ้าง จะเป็นเหตุให้ชุมชนแตกแยกได้ และระดับน้ำในปัจจุบัน ก็ยังไม่ใช่ระดับน้ำสูงสุดเนื่องจากน้ำเหนือยังมีปริมาณอีกมาก แล้วยิ่งกว่านั้น การออกจากบ้านมาขึ้นสะพาน ก็ยังเปียกอยู่ดี
เรื่องนี้มีสามประเด็นครับ
- ด้วยสภาพของพื้นที่ ทำกำแพงเบี่ยงเบนกระแสน้ำได้ยาก เนื่องจากแนวกระสอบทรายเบี่ยงเบนน้ำ ตัดทับซอยที่เป็นทางเข้าออกหลายซอย
- กระแสน้ำมีความแรงมาก เรือของชาวบ้านที่พอมีอยู่ ล่มได้
- สืบเนื่องจากกำลังของน้ำ พายเรือทวนน้ำกระแสน้ำไม่ไหว
แค่แสดงความเห็นใจนั้น ไม่พอแล้วครับ ต้องหาทางช่วยเหลือด้วย ตอนนี้เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าแล้ว
ผู้อ่านท่านใดมีข้อเสนอไหมครับ ข้อเสนอของทางออกควรจะใช้ได้กับพื้นที่ริมน้ำซึ่งมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือน้ำแรง
สำหรับกรณีนี้ ผมคิดว่าดัดแปลงเรือแจวให้เป็นคาตามารัน (รูปทางขวา) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของเรือไม่ให้ล่มง่าย แทนที่จะมีแขนเดียว เราอาจทำสองแขนเลยได้ (รูปข้างล่าง) โดยเพิ่มทุ่น (ท่อพีวีซที่เอาถุงพลาสติกปิดหัวปิดท้าย) โยงด้วยแป๊บเหล็กข้ามลำเรือ มัดด้วยเชือกติดกับลำเรือ และโผล่ออกไปทั้งสองด้านของลำเรือ เรือก็จะไม่พลิกคว่ำ; ส่วนเรื่องเครื่องยนต์ ใช้เครื่องตัดหญ้าสะพายบ่า เปลี่ยนใบตัดหญ้าเป็นใบพัดแบบที่อาจารย์ทวิชเคยบอกไว้ก็ได้ครับ ราคาไม่เกินสี่พันบาทก็ซื้อได้ เปลี่ยนใบตัดหญ้าเป็นใบพัด ก็จะเป็นเครื่องเรือวิ่งทวนน้ำได้ ส่วนการดัดแปลงเรือ ราคาคงไม่เกินพันบาท แถวนั้นทำนา บางทีอาจจะมีเครื่องตัดหญ้าแบบนี้อยู่แล้วก็ได้
แถวนั้นมี “เด็กที่ไม่ได้ทำอะไร” คอยช่วยอยู่บ้าง ก็ให้เด็กขับเรือ “ทำธุรกิจ” นี้เลยครับ โดยขอให้เก็บค่าโดยสารวันละไม่เกิน 5 บาท (ขาออก จ่ายเงินแล้วให้คูปองไว้ใช้ขากลับ) เงินที่เก็บมา ก็เอาไปเติมน้ำมัน และแบ่งให้เจ้าของเรือ เจ้าของเครื่องตัดหญ้า อะไรทำนองนั้น… ที่ให้เก็บเงินถูกๆ ก็เพราะมีค่าใช้จ่ายครับ เงินจำนวนนี้ ถือว่าช่วยค่าน้ำมันกัน
« « Prev : ถังหมักของเสียจากส้วม
Next : ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่เนคเทคครบรอบ 25 ปี » »
3 ความคิดเห็น
ขออนุญาตเสนอความคิดเห็นที่ออกจะกว้างๆไปหน่อยนะครับ
1. หากผมเป็นชาวบ้านมีทางไหนที่จะส่งข่าวขอความช่วยเหลือได้บ้างผมก็จะทำ
2. แต่หากส่งไปสิบแห่ง ตอบกลับมาสี่แห่ง และการช่วยเหลือซ้ำกัน ก็จะเป็นการช่วยที่ขาดการบูรณาการ หรือสะเปะสะปะ
3. การช่วยเหลืออาจไม่ตรงกับความต้องการ ตามลำดับความสำคัญ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย..
4. ปกติทางจังหวัดมีศูนย์ประสานงานเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงขาดทีมงานที่มีประสิทธิภาพ (เดาเอานะครับ) เงินช่วยเหลือก็มีจากรัฐบาล มากน้อยแล้วแต่
5. แต่ละจังหวัดมี 50 ล้านบาทในกระเป๋า ตลอดเวลา ซึ่งผมทราบมานานแล้ว ว่าจังหวัดมีงบแก้ปัญหาภัยพิบัติใช้ได้ทันที 50 ล้านบาท เพราะตอนอยู่มุกดาหารก็ของบตัวนี้มาแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทำงาน ผ่านอำเภอ แต่นั่นเป็นกรณีเล็กน้อย แต่ลุ่มเจ้าพระยานั้นสาหัสกว่ามากนัก
6. ผมเสนอแบบทุบกำปั้นว่า ต้องมีอาสาสมัคร ลงไปคุยกับพื้นที่ แล้ววิเคราะห์ว่าอะไรควรทำก่อนหลัง มากน้อยแค่ไหน จำนวนเท่าไหร่ แล้วเอาไปเสนอต่อศูนย์การแก้ปัญหาของจังหวัดที่มีงบประมาณมากกว่า 50 ล้านแล้วผมว่ารัฐคงส่งไปเพิ่มแล้วครับ
7. หากทำเช่นนี้ จะตรงจุดมากกว่า และเห็นสภาพจริง คุยกับผู้เดือดร้อนจริง สรุปความต้องการจากของจริง แล้วใช้ระบบ Triage คือ ความเดือดร้อนนั้นมากมาย แต่เมื่อจัดลำดับความสำคัญโดยผู้เดือดร้อนเองมีส่วนร่วมก็น่าที่จะเข้าใจกันดี และต้องยอมรับว่า มีหลายความเดือดร้อนที่อาจไม่สามารถแก้ได้ในทันที การลงไปพูดคุยจะเกิดความเข้าใจ ยอมรับกันมากกว่า
8. หากทำไม่ได้ ไม่มีคน ไม่มีอาสาสมัคร ไม่มีเวลา ความเห็นข้างบนก็แค่ความเห็นที่เก็บเอาไปใตร่ตรองในเวลาอันเหมาะสมได้ แล้วก็ช่วยแบบผู้อยู่ทางไกลช่วยผู้ประสบภัย ซึ่งก็ทำได้ เหมือนที่ทำกันทั่วไป ซึ่งขอย้ำว่าดี ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยครับ
ได้ข่าวว่าบ้านผมที่วิเศษชัยชาญที่น้องสาวครอบครองอยู่ก็ปริ่มๆน้ำแล้ว เตรียมขนย้าย อพยพไปไว้บ้านหลังใหญ่เหมือนกันครับ
สำหรับยานพาหนะ หรือเรือนั้น ต้องเป็นเรือใหญ่ แต่เรือใหญ่ก็ใช้พลังงานมากในการค้ำถ่อ แต่มั่นคงกว่า แต่คงหายากที่จะได้มาบริการ
สำหรับน้ำแรงๆนั้นอันตราย ผมนึกถึงเรีอ hovercraft ที่ทหารไอ้กันใช้ในสงครามเวียตนาม ซึ่งช่างชาวบ้านที่วิเศษชัยชาญเคยประดิษฐ์ขึ้นใช้เอง และใช้ได้ดี บ้านเรามี เครื่องร่อนที่เรียก พาราชู๊ท ที่ใช้เครื่องดันข้างหลัง เครื่องนี้ดัดแปลงเอาไปติดเรือเบาๆก็น่าจะใช้รับส่งคนได้อย่างรวดเร็วและไปได้ทุกทีไม่ว่าน้ำตื้นน้ำลึก แน่นอนเรือแบบนี้เอาไว้ใช่ช่วยคนฉุกเฉิน เช่นคนป่วยต้องไปโรงพยาบาล เพราะมีความเร็วมาก แต่ก็อาจไม่เหมาะกับท้องถิ่นในลักษณะ ต้นทุนถูก ใครๆก็ทำได้ เพราะเครื่องมีราคาเป็นแสน ในกรณีน้ำแรงนั้น เกรงว่า เครื่องตัดหญ้าอาจสู้ไม่ไหว ผมก็คิดไปเรื่อยโดยไม่มีความรู้ด้านนี้นะครับ