เพราะมองข้ามความปลอดภัย
เมื่อตอนหัวค่ำ คุยกับ ผอ.ศูนย์ข้อมูลและการจัดการความรู้ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (@MunicipalLeague) บนทวิตเตอร์ ร้อยข้อความเป็นเรื่องให้แล้ว ถ้าห้วนไปบ้าง ก็เพราะข้อจำกัดของความยาวแต่ละข้อความนะครับ
@iwhale: เรื่องเศร้าคือยังไม่ได้ถุงยังชีพ เรื่องเศร้ากว่าคือได้ถุงยังชีพจนล้น ดีที่สุดคือป้องกันให้ไม่ต้องส่งถุงยังชีพอีก #thaiflood
@superconductor: ปัญหา last miles? ชาวบ้านกระจัดกระจายอยู่ตรงไหนบ้างก็ไม่รู้ ขนส่งลำบาก เรือ-รถไม่มี ขนส่งของลำบาก #thaiflood ถ้าไม่รู้ ทำไมไม่รู้
@MunicipalLeague: @superconductor @iwhale ชาวบ้านกระจัดกระจายอยู่ตรงไหนบ้างก็ไม่รู้ขนส่งลำบาก #thaiflood / ติดต่อเทศบาล อบต.สิคะรู้ทุกหลืบของพท.(มีเบอร์โทรค่ะ)
@superconductor: ควรจะเป็นอย่างนั้นล่ะครับ แต่เห็นเรียกชาวบ้านมารับแจกของ+ซองทุกที… เฮ้อ ว่าจะไม่บ่นแล้วเชียว
@MunicipalLeague: แล้วแต่พท.นะคะ ท้องถิ่นก็คนเหมือนกับเรา มีดีบ้างเลวบ้างเป็นธรรมดา แต่ส่วนมากจะโอเคนะคะ เรื่องไหนเป็นประโยชน์ก็ประสานกันนะ
@superconductor: ถนนขาด-ท่วม-เสีย เข้าพื้นที่ลำบาก เรือทานแรงน้ำไม่ไหว ชาวบ้านออกมาลำบาก เสบียงส่งเข้าพื้นที่ลำบากเหมือนกัน คอปเตอร์ไม่พอ — ถ้าจะให้ความช่วยเหลือกระจายได้ แก้ปัญหาโลจิสติกส์+คมนาคมก่อนครับ หรืออพยพชาวบ้านไปที่ปลอดภัย (ที่ไหน? พอไหม?)
@MunicipalLeague: ปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือชาวบ้านไม่ยอมย้ายออก หลายพท.ท้องถิ่นแจ้งเตือนหรือเอาเรือเข้าไปรับ ชาวบ้านรวมถึงพระตามวัด — ไม่ยอมอพยพออกมาเพราะห่วงข้าของ พอตกดึกน้ำขึ้นสูงและเชี่ยว ไฟดับ ไปช่วยเพราะอันตรายมาก ปัญหาออกสื่อว่าไม่มีหน่วยไหนไปช่วย — บางแห่งทางขาดชาวบ้านออกมาลำบาก นายกอบต.หรือผู้ใหญ่เป็นตัวแทนออกมารับ แต่คนบริจาคก็อยากเอาไปมอบให้ถึงมือ #ละเหี่ยใจ — ถุงยังชีพมากมาย ต่างคนต่างเอาไปให้ใครๆก็อยากเอาไปให้ถึงมือชาวบ้าน บางแห่งมี500หลัง300หลังแรกได้หลายรอบอีก200ได้1รอบจากเทศบาล
@superconductor: จริงครับ แต่ชาวบ้านเดือดร้อนก็ต้องเข้าไปช่วย ชิมิ สังคมไทยยึดแต่มุมมองของตัวเอง จึงขาดความเข้าใจความจริงจากอีกมุมหนึ่ง
@MunicipalLeague: จริงค่ะ ตอนนี้ที่น่าสงสารที่สุดคือเทศบาลหรืออบต.ที่ไม่รู้จักใคร ขอกาชาดหรือ ปภ.ก็รอขั้นตอน แทบไม่มีถุงยังชีพมาเลย — บางแห่งคอนเนกชั่นดี มีทั้งช่องนู้นนี้ขนมาให้กันเพียบ อย่างทันท่วงที/ ไม่รู้จักคนโทรไปเบอร์กลางก็รอแล้วรออีก
ผมไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านคิดอย่างไรหรอกนะครับ เริ่มต้น @iwhale ตั้งข้อสังเกตว่าถุงยังชีพ ไปกองกันอยู่ตรงที่ของลง การแจกจ่ายไปยังผู้ประสบภัยล่าช้า ที่ได้แล้วก็ได้อีก ดีที่สุดคือชุมชนพึ่งตัวเองได้บ้าง ไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอกมากนัก @superconductor (ผมเอง) เสนอว่าเรื่องการแจกจ่ายถุงยังชีพ เป็นปัญหา logistics หรือเปล่า เข้าใจว่ายังมีน้ำท่วมสูง ถนนบางเส้นขาด หรือน้ำท่วมสูงรถเล็กผ่านไม่ได้ หรือถนนเสียบรรทุกของหนักไม่ได้ ขนส่งทางบกไม่ได้ ทางน้ำไม่ได้ ทางอากาศก็ไม่ได้ @MunicipalLeague บอกว่าเทศบาล อบต.รู้จักพื้นที่ดี แต่มีปัญหาการช่วยเหลือหลายอย่าง
เท่าที่ติดตามสถานการณ์จากหลายแหล่งหลายมุม เห็นปัญหาพื้นฐานหลายอย่างครับ
- เมื่อทางการเตือนภัย ชาวบ้านไม่เชื่อ ไม่อพยพ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เคยเกิดอย่างนี้มาก่อน แต่เหตุอุทกภัยครั้งนี้ ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกในหกวัน มากเท่ากับที่ตกครึ่งหนึ่งของปีที่แล้ว ข้อมูลการตัดสินใจสำคัญตกหล่นหายไป
- “เครือข่าย” ในพื้นที่ประสบภัยยังพัฒนาได้อีก จำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาฉุกเฉิน บ้านของท่าน บ้านพี่น้องของท่าน อย่ารอการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางเลยครับ ยิ่งภัยยังไม่เกิด ยิ่งน่าพิจารณา; เรื่องการไม่มีเส้นแล้วไม่ได้รับความสนใจ เป็นเรื่องที่ผิดปกติที่กลายเป็นความธรรมดาไปแล้ว บ่นไปก็ไม่ได้อะไรหรอกนะครับ ขอบเขตอำนาจของ อปท.อยู่ในพื้นที่ ออกนอกพื้นที่ก็มีปัญหาทันที แต่คำว่าเพื่อนนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในละแวกเดียวกันนะครับ — สื่อไปได้แถวขอบๆ ของเขตภัยพิบัติ ลึกกว่านั้น เขาก็เข้าไม่ถึงเพราะไม่ใช่คนในพื้นที่
- โดยรวม ผมเห็นว่าชุมชนยังจัดการความเสี่ยงของตนได้ไม่ดี เรื่องเหล่านี้ต้องคุยกันทั้งชุมชน น่าจะมี
- มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงของชุมชนร่วมกัน
- มีการเตรียมแผนไว้ล่วงหน้า
- มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับให้คนทั้งชุมชนอาศัยชั่วคราวได้ มีแหล่งน้ำจืด หรือเก็บกักน้ำฝนจากหลังคาได้
- มีวิธีขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่นวิทยุ เรือพร้อมเครื่องเรือและน้ำมันพอไป-กลับ ฯลฯ
- มีแหล่งอาหาร น้ำ และพลังงาน พอจะพึ่งตนเองได้สักพัก — ไม่ต้องเว่อร์จนขนาดสร้างหลุมหลบภัยนิวเคลียร์ แล้วกักตุนอาหารสำหรับทุกคนไว้สามเดือน
- เมื่อมีการเตือนภัยแล้วจำเป็นต้องอพยพ จริงอยู่ที่ว่าการตัดสินใจว่าจะอพยพหรือไม่ เป็นสิทธิ์ของชาวบ้านแต่ละคน แต่ทุกคนควรจะรู้ว่าสถานที่ปลอดภัยของชุมชนอยู่ที่ไหน จะเดินไปได้ทางไหนอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่
- มีการฝึกซ้อมหนีภัย ตลอดจนแบ่งหน้าที่สำหรับการพึ่งตนเองของชุมชน ในระหว่างที่ความช่วยเหลือยังไม่เข้ามา
- ที่สำคัญคือให้ทุกคนรู้ว่าสถานที่ปลอดภัยนั้น เป็นจุดที่ความช่วยเหลือจากภายนอกจะมาลงก่อนที่อื่น (มีตำแหน่งที่แน่นอนในแผนที่ และจังหวัด-อำเภอ-ปภ.-กาชาด รู้ว่าอยู่ตรงไหน) สถานที่ปลอดภัยของชุมชนจะ “ได้ก่อน” เพราะเป็นศูนย์กระจายความช่วยเหลือสำหรับพื้นทืี่
- อปท.ควรย้อนกลับไปดูการจัดสรรงบประมาณของตัวท่านเองบ้างเหมือนกัน ว่าใช้งบซ่อมสร้างเท่าไหร่(กี่เปอร์เซ็นต์) แล้วงบป้องกันเท่าไหร่(น้อยเป็นกี่เท่าของงบซ่อมสร้าง) ภัยพิบัติไม่ได้เกิดบ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว มีคนในเขตของท่านหมดตัวกันหลายครอบครัวนะครับ เงินเยียวยาจากรัฐแทบไม่มีความหมายเลย (แต่ยังดีกว่าไม่ได้)
- ในเวลาวิกฤต อปท.จะมีงานหนักเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าหากชาวบ้านพึ่งตนเองไม่ได้เลย จะมีคนไม่พอใจมากมาย เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน พวกนี้คงไม่เคออ่าน [คนหลังบ้าน] หรือคิดว่าเรื่องของตนสำคัญที่สุด — อันนี้อย่าทำใจนะครับ ควรเข้าใจมากกว่า — ที่จริงก็เข้าใจได้อยู่แล้วล่ะ เพราะบ้านของเจ้าหน้าที่ อปท.ก็โดนเหมือนกัน! แต่มันเป็นทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบนะครับ สถานการณ์สร้างวีรบุรุษฉันใด คนจริงที่ยืนหยัดทำหน้าที่ฝ่าฟันความยากลำบาก ก็สมควรจะได้รับคำยกย่องฉันนั้น
การจัดการภัยพิบัติ ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน จึงมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ จะต้องเข้าใจความเสี่ยงของตัวเอง และหาทางป้องกันหรือทางหนีทีไล่เอาไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดภัยแล้ว จะอลหม่านจนทำอะไรไม่ถูกหรอกครับ *ทำล่วงหน้า* *ทำล่วงหน้า* *ทำล่วงหน้า*
มูลนิธิโอเพ่นแคร์ ทำวารสารโอเพ่นแคร์ รายไตรมาส แจกให้ อบต.ทั่วประเทศ วารสารนี้พูดถึงความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ อาจจะยังมีเหลือสำหรับแจกองค์กรที่จะนำไปแจกต่อได้บ้าง แต่คงไม่พอสำหรับแจกผู้สนใจทุกท่าน สนใจติดต่อ info at opencare dot org ครับ
« « Prev : การ์ตูนร่วมด้วยช่วยป้องกันดินถล่ม
7 ความคิดเห็น
ชอบใจและเห็นด้วยกับประเด็น “….สถานที่ปลอดภัยของชุมชนจะ “ได้ก่อน” เพราะเป็นศูนย์กระจายความช่วยเหลือสำหรับพื้นทืี่…..” มีเรื่องเทียบเคียง
พอดีวัดอยู่ตรงข้ามกับหน่วยบรรเทาฯ ของเทศบาลหรือบางครั้งก็ของจังหวัด… ตอนที่เกิดพายุ เจ้าหน้าที่เข้ามาบ่นให้ฟังหลายเรื่อง เห็นใจเจ้าหน้าที่เหมือนกัน เช่น เอาน้ำไปแจกก็ไปถึงเพียงปากซอย ไม่เกินกลางซอยก็หมดแล้ว พวกปลายซอยสุดซอยไม่ค่อยจะถึง… ก็พอเห็นรถน้ำไปพวกก็กรูเข้ามาล้อมรถ จำเป็นต้องให้ก่อน (ไม่ให้อาจโดนประชาทัณฑ์)… เจ้าหน้าที่โดนกันทั่วหน้า ใครๆ ก็ด่าแต่เจ้าหน้าที่… แต่บ้านเจ้าหน้าที่เอง สามวันแล้วไม่ได้กลับ… อะไรทำนองนี้
เจ้าหน้าที่โดยตรง ที่ทำงานแบบอุทิศ น่าเห็นใจสุดๆ (แต่บางคนก็ไม่ค่อยจะตรงนัก มีการยักยอกไปให้บ้านญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เป็นต้น)
เจริญพร
เรื่องที่ไม่ถูกต้องอาจมีบ้าง แต่คงไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่งที่จะเหมารวมกันไปตามอคติ [ตรรกะผิดเพี้ยน] แล้วไปทำลายกำลังใจของคนที่ทุ่มเททำงานนะครับ — เป็นไปได้ ไม่ได้แปลว่าเป็น มีเรื่องที่ทึกทักเอาเอง แล้วทำให้บ้านเมืองวุ่นวายอยู่มากพอแล้วครับ
พูดไปก็เหมือนท้องถิ่นนิยม ซึ่งก็น่าจะเป็นยังงั้นจริงๆ…อิอิ
เคยมีประสบการณ์ติดตามท่านนายกเทศมนตรีเข้าพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดใกล้เคียง
ท่านนายกเทศมนตรีจะชัดเจนว่านำสิ่งของไปมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆนำไปแจกเอง จะสอบถามถึงความช่วยเหลือที่ท้องถิ่นนั้นๆอยากได้ เคยส่งรถขยะ รถหกล้อ รถขุดตักไปช่วยตามที่ท้องถิ่นนั้นๆร้องขอ โดยให้เจ้าหน้าที่ไปรายงานตัวและปฏิบัติงานตามที่ท้องถิ่นนั้นๆสั่งการ
จะไม่รบกวนอาหาร เครื่องดื่มหรือการอำนวยความสดวกใดๆจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆเลย
ทีมงานที่ไปต้องเตรียมอาหาร เครื่องดื่มและข้อมูลต่างๆไปให้พร้อม เพราะจะไปช่วยเหลือเขายังต้องให้เขาเดือดร้อนเพราะเราอีก
………
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบรายละเอียดและข้อมูลในพื้นที่ดีที่สุด ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ่นมากก็คือ ต้องแบ่งคนและเวลามารับผู้ใหญ่ แขก ผู้หวังดี ผู้มีจิตศรัทธา ที่เข้าไปในพื้นที่ ต้องไปหาข้อมูลบางอย่างที่ต้องรายงาน(ยังไม่รีบด่วน) ต้องไปตามชาวบ้านมารับของแจกจากมือท่านๆทั้งหลาย คนที่เดือดร้อนจริงๆออกมารับไม่ได้หรอกครับ ทีมงานต้องลุยไปแจกด้วยความยากลำบาก
จะทำอะไรตามที่ควรจะทำก็มีปัญหามาก เพราะมีคนที่ไม่รู้เรื่องมาสั่งมากเหลือเกิน #^&)(@&(^^)PQ+^@Q
ที่เห็นหน้าสลอนในข่าวมารับมักไม่เดือดร้อนมากเท่ากับคนที่ออกมาไม่ได้ แต่ได้กันหลายรอบเหลือเกิน
ทางสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยน่าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้ เพื่อให้เทศบาลมีความรู้และพร้อมมากกว่านี้ในการเตรียมตัว
แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เวลาเกิดเหตุก็ต้องทำตามคำสั่งของคนหลายระดับ หลายหน่วยงานที่ไม่รู้ข้อมูล เรื่องนี้ตอนเป็นตัวแทนของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยไปประชุมที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มูลนิธิฯ อาสารสมัครต่างๆก็บ่นกันมากครับ
หน้างานอยู่ใกล้ชิดปัญหาที่สุด เห็นข้อจำกัดเยอะที่สุด และปรับตัวแสวงเครื่องได้มากที่สุด แทนที่จะ empower และขจัดอุปสรรคในการช่วยเหลือชาวบ้าน กลับสั่งมาจากหอคอย — ยืนอยู่บนยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ดันมองเห็นมดใต้ใบไม้ที่ชายทะเล อะไรมันจะยอดคนปานนั้นครับ…
KM = ไม่มี Knowledge ไม่มี Management
KM = เก่งมั๊ง
KM = กิโลเมตร (ไม่เกี่ยวกับอะไรเลย)
ผู้ใหญ่ดีๆ ทำงานเก่งๆก็เยอะนะครับ แต่เราไม่ค่อยได้เจอ อิอิ
สิบกว่าปีที่แล้ว มีปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาเยี่ยมที่ศุนย์ปฏิบัติการ ท่านให้บรรยายสรุปสถานการณ์ และแผนงาน
ฟังแล้วท่านเข้าใจและพอใจ ไม่สั่งอะไร บอกว่าดี ไม่ห่วงแล้วจะได้ไปช่วยรอบนอก
เพียงแต่ถามว่าแล้วจะให้จังหวัดช่วยอะไร ?………อิอิ
มีความเข้าใจผิดอย่างมากที่ไปคิดว่าเถ้าแก่เป็นซีอีโอ — พวกชอบสั่งน่ะเถ้าแก่นะครับ ใครทำอะไรอยู่ไม่สน จะเอาอย่างใจเดี๋ยวนี้ แต่ซีอีโอที่ดูแลให้ระบบงานเดินไปอย่างที่ควรจะเป็น ให้คนทำงานได้ทำงาน รอเป็นอย่างสมเหตุผล
ยังไงก็ได้คือไทยแท้
ยางพาราแผ่นหลุดตามน้ำท่วมช่วยกันไล่เก็บไปขาย
รถปลาเทกระจาด บกกันเอาถุงมาเก็บๆๆๆๆ
ลำดับแรกเลยตัวชาวบ้านต้องมีความคิดบ้างว่า จะช่วยตัวเอง(อย่างจริงจัง) อะไรได้บ้าง ไม่ใช่รออาศัยแต่คนอื่น ถ้าเป็นสมัยก่อนชาวบ้านเขาจะประชุมกัน หาทางช่วยกันป้องกันดุแลแก้ปัญหาระดับพื้นฐาน
สมัยนี้มันเปลี่ยนไป เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐฯทั้งหมด (ก็ตอนหาเสียงมันบอกไว้นี่หว่า) ความคิดที่จะพึ่งตนเองซึ่งเป็นรากฐานสำคัญก็หายไป เรื่องมันก็เลยรอคนภายนอกต้องเข้ามาสงเคราะห์เต็มๆๆ
ชิมิ ชิมิ