นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 2
อ่าน: 5807นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 2 สำหรับชั้นป.3 ครับ เรื่อง บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 2 (ต่อจากบันทึกที่แล้ว)
นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง “คนไทยต่างรักเคารพท่าน”
สองพี่น้อง เรียกวิหค นกที่รัก
“วันนี้ไย ไม่ร้องทัก ทีเหงาหงอย”
นกร้อง “โธ่ ! โอ้อกข้า ! พี่มาคอย
นึกว่าสาย อีกหน่อย ถึงจะมา
ไยวันนี้ พี่ตื่น ก่อนเช้าตรู่
รีบไปดู งานอะไร อีกเล่าขา “
เด็กว่า “งาน วันนี้ มีประชา
ทุกถ้วนหน้า ไปชุมนุม ประชุมกัน
ที่พระรูป พระปิยะ มหาราช
เออ! หน้าตื่น นึกประหลาด ละซีนั่น”
นกว่า “จริง ยิ่งกว่าตื่น ซ้ำดื้อดัน
เพราะเห็นโลก ไม่กี่วัน มานี่เอง”
ฟังนกตอบ เด็กชอบ หัวเราะร่า
เอื้อมมือคว้า เข้ามากอด “เจ้าพลอดเก่ง!”
นึกว่าดี แต่จำเรียง สำเนียงเพลง
แท้ก็เก่ง ทั้งคารม สมที่รัก
สมเด็จพระ ปิยะ มหาราช
องค์ในหลวง ของชาติ จงประจักษ์
ไทยทั่วถ้วน ต่างถวาย ความจงรัก
สมัยที่ทรง ปกปัก ประชากร
เมื่อสิ้นบุญ เหมือนเดือนดับ ลาลับโลก
ต่างก่นโศก สร้างสุข สโมสร
เหมือนหนึ่งบุตร คราวคลาด ขาดบิดร
วุ่นอาวรณ์ ไม่วาย คลายคำนึง
วันนี้แหละ คล้ายวัน สวรรคต
๒๓ ตุลาคม กำหนด เวียนมาถึง
ไทยทั้งชาติ พรักพร้อม น้อมรำพึง
ในพระคุณ อันซึ้ง ติดตรึงใจ”
นกถามว่า “พระคุณ การุญนั้น
มีต่อพี่ และฉัน เป็นไฉน
อายุเรา กับยุคนั้น ห่างกันไกล
หรือประทาน อะไรไว้ เป็นชิ้นอัน”
เด็กว่า “มี มรดก ตกมาถึง
นับเป็นหนึ่ง ยากหา ค่ามหันต์
คือโรงเรียน แหล่งวิชา สารพัน
อีกทั้งครู สร้างสรรค์ ไว้สอนเรา
เด็กทั้งชาติ ได้เรียน รู้เขียนอ่าน
จนแตกฉาน เติบโต ไม่โง่เขลา
ได้ดิบดี เหมือน เหมือน เพื่อนผู้เยาว์
ไม่อายเขา บรรดา เด็กสากล”
นกถามว่า “มีอะไร ที่ให้นก
ช่วยหยิบยก ให้ฟัง ยังฉงน
พบแต่ความ เปล่าเปลี่ยว เที่ยวบินวน
คอยหลีกภัย ให้พ้น ไปวัน วัน”
เด็กหัวร่อ “ก็เดี๋ยวนี้ มีคนรัก
น้อยหรือพี่ ฟูมฟัก ไม่เดียดฉันท์”
นกว่า “แน่ ละพี่ ดีครามครัน
มีจิตมั่น เมตตา เปี่ยมปรานี”
เด็กว่า “พี่ ดีเพราะใคร รู้ไหมเล่า
ที่คอยเฝ้า ปั้นปลุก ทุกวิถี
ให้รู้จัก ผิดชอบ กอปรกรรมดี
ดั่งที่พี่ รักเลี้ยงเจ้า เฝ้าเอ็นดู”
นกว่า “เพราะ พี่ได้เรียน ได้เขียนอ่าน”
เด็กว่า “แล้ว ใครล่ะท่าน ผู้ก่อกู้
ให้มีที่ สอนสั่ง มีทั้งครู”
นกร้อง “อ้อ! อ๋อ! รู้ ละทีนี้
เป็นพระคุณ ที่ทรงสร้าง ในทางอ้อม
ฉันขอน้อม สักการะ ร่วมกับพี่”
เด็กปลื้มใจ “ชะ! ชะ! ช้า! น้องข้าดี
ถึงเป็นนก ก็ยังมี กตัญญู
พี่มีเพลง สดุดี ที่เคยร้อง
ทั้งเนื้อถ้อย ทั้งทำนอง เสนาะหู
เจ้าอยากฟัง ก็มาลอง ร้องกันดู”
นกตีปีก “ฉันจะคู คลอพี่ไป”
เด็กเริ่มขับ “ข้าทั้งมวล หวนละห้อย
โอ้บุญน้อย มิได้พบ สบสมัย
มหาราช สยามินทร์ ปิ่นไผท
เพียงแต่ได้ ยินพระยศ ปรากฏเกียรติ์
ว่าทรงรัก ราษฎร อาวรณ์หวัง
ให้สยาม อยู่ยั้ง สถิตเสถียร
อุปสรรค นานา นับอาเกียรณ์
ทรงพากเพียร ผ่านพ้น เพื่อคนไทย”
นกร้อง “ชะ! ช้า! ช้า! พี่ข้าเก่ง
ช่างทำเพลง ราวกับมี ปี่ไฉน
ได้ฟังเสียง ของพี่ เข้าทีไร
ก็จับอก จับใจ ไปหลายวัน”
แมวได้ยิน เสียงคู ‘จู้กูฮุก’
นึกสนุก วิ่งเข้ามา “ช้า! ขยัน
พอเช้าตรู่ ก็ทำเพลง เร่งตะวัน
เล่นเอาฉัน ต้องตื่นตา มาช่วยดู
ยินคุณแม่ ว่าจะไป ไหว้พระรูป
ท่านเตรียมธูป เทียน ดอกไม้ ไว้งามหรู
มะลิร้อย ห้อยจำปา น่าเอ็นดู
มีพวงเล็ก ของคุณหนู อยู่ด้วยนะ”
เด็กว่า “เจ้า เอาแต่นอน สอนไม่เชื่อ
คนเกียจคร้าน นอนไม่เบื่อ ช่างเหลือหละ”
แมวร้อง “อ้าว! คุณหนู รู้ไหมคะ
ว่าฉันน่ะ ระวังหนู อยู่ค่อนคืน
คุณหนูนอน ตั้งไหน ไหน แล้วไม่รู้
แต่นางแมว ยังอยู่ นั่งตาตื่น
นั่งแล้วเดิน วนเวียน แล้วเปลี่ยนยืน”
เด็กว่า “เจ้า ละคอยขืน ขัดร่ำไป
จะนอนดึก หรือหัวค่ำ เหลื่อมล้ำหน่อย
ก็ต้องค่อย รีบตื่น ฝืนให้ได้
หากงัวเงีย ก็หักห้าม อย่าตามใจ
พอสักหน่อย เป็นนิสัย ไม่ยากเย็น”
แม่ได้ยิน ลูกน้อย จ้อย จ้อย ขาน
เดินเข้ามา หลังบ้าน พอแลเห็น
“ไปเถอะลูก สายจะร้อน ค่อนลำเค็ญ
เดี๋ยวค่อยกลับ มาเล่น กันต่อไป”
จบนิทานร้อยบรรทัดเรื่องที่ ๓
นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง “ทุกคนต้องทำงานคร้านไม่ได้”
เสียงแม่บ่น เจ้าดำ พึมพำอยู่
นกนั่งดู ตามประสา อัชฌาสัย
แมวตาปรือ หมอบอยู่ข้าง ไม่ห่างไกล
“ตั้งแต่เช้า ทำอะไร ไหนบอกมา”
เจ้าดำถูก แม่ขนาบ ใจวาบหวาม
ไม่สามารถ ตอบคำถาม นั่งก้มหน้า
ซ้ำนกคู ทีเยาะ ให้เข้ายา
ก็เสียใจ กล่าวว่า “โปรดเถอะครับ
ผมยังไม่ ได้ทำ อะไรเลย”
แม่ว่า “เหลว ตามเคย มัวแต่หลับ
เสียแรงข้า สอนสั่ง ตั้งกำชับ
ดูรึกลับ ทำตรงข้าม อยู่ร่ำไป
ในบ้านนี้ มีใคร คนไหนบ้าง
ที่อยู่ว่าง หรือวางมือ หรือไฉน
ลองถามนก ตัวน้อย หน่อยเป็นไร
ว่างานใด ที่มันทำ ประจำวัน”
นกรีบบอก “ฉันทำ ทุกค่ำเช้า
หน้าที่เฝ้า จับแมลง อย่างแข็งขัน
อีกทั้งหนอน ตามพฤกษา นานาพันธุ์
ไม่ให้มัน เกาะกวน มวลไม้งาม
พอเสร็จงาน ขันคู ‘จู้กูฮุก’
กล่อมคุณแม่ ให้เป็นสุข ใครไม่ห้าม”
แมวว่า “ฉัน นั้นนั่ง ระวังยาม
ให้ต้องตาม หน้าที่ ไม่มีเว้น
ถึงดึกดื่น เท่าไร ไม่ยอมหลับ
ขาดกำกับ หนูบังอาจ สัญชาติเช่น
บ้านขาดแมว อย่าลอง ต้องลำเค็ญ
ใช่พูดเล่น ทับถม ข่มพ่อดำ”
แม่ว่า “ได้ ยินไหม เจ้าตัวดี
ทั้งนกแมว ทำหน้าที่ ทุกเช้าค่ำ
ส่วนเจ้าสิ ต้องคอยสั่ง ยังไม่ทำ
แถมสำทับ ยังมิหนำ จะสำนึก
จะต้องให้ เฆี่ยนตี ทีเดียวหรือ
แบบดื้อดึง ถึงต้องใช้ ไม้เรียวฝึก
เจ้าใช่เด็ก พวกนั้น ขันพิลึก
ไม่รู้สึก อายบ้าง หรืออย่างไร
แน่ะ! หนูหนู ดูซิ! ไป โรงเรียนแล้ว
เขาแน่วแน่ ตรงเวลา จะหาไหน”
เจ้าดำมอง อยู่ในที เหมือนมีใจ
นึกสงสัย แม่นิยม ชมนักเรียน
เพราะไม่เห็น ทำอะไร งานในบ้าน
พอตื่นเช้า ตะลีตะลาน ไปอ่านเขียน
อ่านมากมาก เขียนมากมาก ว่าพากเพียร
เรียนแล้วเล่น เล่นแล้วเปลี่ยน เรียนต่อไป
แม่ถามว่า “เจ้าเหม่อมอง เขาสองคน
อยากตามเขา ไปให้พ้น หรือไฉน
งานเล่าเรียน หนักหนา กว่างานใด
ปีหน้าเถอะ เจ้าต้องได้ ไปลองดู”
นกว่า “คุณ แม่ขา ถ้าเช่นนั้น
ไยพี่ฉัน จึงทน ไม่บ่นอู้
เห็นแต่บ่าย กลับมา ชวนฉันคู
เป็นลูกคู่ ขับเพลง ครื้นเครงกัน”
แม่ว่า “นั่น แหละเจ้า เขาฉลาด
ไม่ยอมขาด ร้องรำ นำขบขัน
เพราะหัวเราะ ชวนให้ เกิดไขมัน
ฝรั่งสรร เอามาอ้าง ช่างเหมาะแม้
เรียนหนังสือ ส่วนสมอง ต้องเหนื่อยหนัก
ต้องรู้จัก เริงเล่น เป็นทางแก้
คนเกียจคร้าน คอยแต่บ่น คนอ่อนแอ
กลัวหนังสือ ยอมแพ้ พวกไม่อาย
เป็นนักเรียน ต้องเพียร ทั้งเรียนเล่น
การร้องรำ ก็ต้องเป็น ไม่เสียหาย
ใจร่าเริง เร้าสนุก สุขถึงกาย
เคยหงุดหงิด ก็กลาย เป็นเยือกเย็น
แล้วจะเล่า จะเรียน จะเขียนอ่าน
ก็เบิกบาน แคล่วคล่อง ไม่ต้องเข็น
ทั้งยากง่าย เรียนได้ ไม่ลำเค็ญ
เรียนกับเล่น ประจำวัน คู่กันไป
ดั่งว่านี้ เป็นหน้าที่ ของเด็กเด็ก
ต้องฝึกหัด ไปแต่เล็ก จนจวบใหญ่
ถึงจะดี พร้อมวิชา อนามัย
ไปวันหน้า ช่วยชาติไทย ให้มั่นคง
เออ! นิ่งฟัง เข้าใจ หรือไม่เจ้า”
นกว่า “ทราบ เพียงเค้า ความประสงค์
ของคุณแม่ ที่มีใจ ใฝ่จำนง
ให้เด็กปลง ใจสมัคร รักการงาน
แต่สงสัย คำว่า อนามัย
เพราะนอกเหนือ ออกไป จากเขียนอ่าน
เรียนอย่างไร ถึงจะได้ ตามต้องการ
คุณแม่โปรด ไขขาน ให้ฉันรู้”
แม่ว่า “เออ! ก็เผลอ พูดเรื่อยเจื้อย
ใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย เอาการอยู่
หากเจ้าไม่ ยับยั้ง ตั้งกระทู้
คงต้องกวน แม่หนู เมื่อกลับมา
เด็กนักเรียน ต้องเรียน ครบสามอย่าง
หนึ่ง เขียนอ่าน ต่างต่าง ได้ทุกท่า
ความประพฤติ เป็นที่สอง รองลงมา
คือวิชา รู้ผิดชอบ รอบคอบดี
อย่างที่สาม อนามัย ให้รู้จัก
รักษาตัว ตามหลัก อย่างถ้วนถี่
รู้ป้องกัน โรคภัย ไม่ให้มี
ช่องราวี เรือนร่าง อย่างทารุณ
เมื่อเด็กดี ครบเช่นนี้ ก็หมายว่า
ไปวันหน้า จะเข้มแข็ง เป็นแรงหนุน
ให้ชาติไทย เทียมเพื่อน เหมือนมีบุญ
คอยค้ำจุน ตลอดไป ไม่อาวรณ์”
นกร้องว่า “พี่กลับมา เถอะวันนี้
ฉันจะนำ คำดีดี ที่แม่สอน
ให้ผูกเพลง สดสด เข้าบทกลอน
แล้วชวนรำ ร้องละคร ให้ครื้นเครง”
จบนิทานร้อยบรรทัดเรื่องที่ ๔
นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง “ประชาธิปไตยภายในบ้าน”
เราต้องเรียน ต้องเล่น เป็นหน้าที่
เด็กนักเรียน เรียนก็ดี เล่นก็เก่ง
รู้คบค้า ใครใคร ใจนักเลง
ทั้งร้องรำ ทำเพลง ไม่แพ้ใคร”
พอเสียงเพลง จบลง แมวมุ่งหน้า
ตรงเข้ามา หมอบเมียง ส่งเสียงใส
“เหมียว! เหมียว! เหมียว! เมื่อกี้ นี้เสียงใคร”
นกว่า “ถาม ทำไม แม่ตัวดี”
แมวว่า “ฉัน นิ่งฟัง นั่งไม่ติด
‘จู้กูฮุก’ แว่วสะกิด ให้มานี่
นึกจะได้ สนุกด้วย ช่วยทวี
เสียงดนตรี เหมียว! เหมียว! เจียวแม่คุณ”
เด็กว่า “ชะ ช่างยอ จะขอร่วม
เสียงไม้นวม ละซีเจ้า เข้ามาหนุน
หนูคงชิง วิ่งหนี กันชุลมุน
ไม่ต้องวุ่น หากับดัก ให้ชักช้า
จะนำเพลง บทใหม่ มาให้ร้อง
เจ้าได้ฟัง แล้วเป็นต้อง หัวเราะร่า
เพลง ‘ประชา ธิปไตย’ เพิ่งได้มา”
นกร้องว่า “ชื่อชอบกล น่าสนใจ
การร้องรำ นั้นขอ รอไว้ก่อน
‘ประชาธิปไตย’ บทกลอน เป็นไฉน
หรือเนื้อเพลง นั้นมี ดีอย่างไร
ฉันอยากได้ จดจำ เป็นสำคัญ”
เด็กว่า “เจ้า ดีมาก ช่างอยากรู้
ใครเป็นครู ต้องชมเปาะ เพราะขยัน
อันความรู้ นานา สารพัน
ถ้าใครหมั่น สนใจ ต้องได้ดี
ครูท่านว่า ประชา ธิปไตย
นั้นเป็นของ ใครใคร ใช่แต่พี่
แม้นกแมว เกิดมาแล้ว ก็ต้องมี
เพื่อความสุข สวัสดี เหมือน เหมือนกัน
เช่นประชา ธิปไตย ในบ้านเรา
คือทั้งพี่ และเจ้า นางแมวนั่น
มีคุณแม่ รักเลี้ยง ด้วยเที่ยงธรรม์
งานในบ้าน แบ่งปัน ทุกคนทำ
เจ้าดำดื้อ ท่านก็ดัด หัดให้อ่อน
รังแกเจ้า โทษกรณ์ ลงจนหนำ
พอทำดี ชมเปาะ เพราะหลาบจำ
ทั้งแนะนำ ให้รักกัน ฉันพี่น้อง
เจ้าร้องเพลง กล่อมท่าน รางวัลให้
เพราะทำดี ต้องได้ ตอบสนอง
ครั้นนางแมว หาญฮึก คึกคะนอง
จะเคี้ยวเจ้า ท่านก็ป้อง ปกปักไว้
แล้วลงโทษ ตีประจาน จนพาลเหือด
ถูกฝ่ามือ ปิ่มเลือด ลามปามไหล
ได้สำนึก กลับตัว ชั่วหายไป
เปลี่ยนจิตใจ รักกัน แต่นั้นมา”
นกถามว่า “ประชา ธิปไตย
คือคุณแม่ เป็นผู้ให้ ใช่ไหมจ๋า
เด็กว่า “ถูก แล้ว คุณแม่ แผ่เมตตา
ให้ประชา ธิปไตย ในบ้านเรา
เจ้าเข้าใจ หรือยัง ดังว่านี้”
นกว่า “เข้า ใจดี พี่แก้เขลา”
แมวว่า “ฉัน พลอยรู้ สิ้นดูเบา
ที่คุณแม่ ท่านเฝ้า สั่งสอนมา
เพราะฉันทำ ตามคำท่าน ฉันจึงสุข
ได้อยู่กิน ได้สนุก ไม่น้อยหน้า
แมวบ้านอื่น ใกล้ไกล พอได้มา
เห็นฉันเข้า บอกว่า สบายแท้”
นกว่า “ฉัน ก็เช่นกัน แม่แมวเอ๋ย
ก่อนไม่เคย มีใคร ใคร่แยแส
ถูกแต่กวน ถูกแต่ขัง ถูกรังแก
พอมาพบ คุณแม่ เหมือนมีบุญ”
เด็กว่า “เจ้า รู้ดี ทีเดียวแหละ
ต่อไปนี้ พี่จะแนะ เผื่อนำหนุน
ให้รู้จัก ความสำคัญ อันเป็นคุณ
เครื่องค้ำจุน ให้เป็นสุข ทุกเวลา
คือตัวเจ้า นางแมว แล้วตัวพี่
จะต้องทำ แต่ความดี ทุกถ้วนหน้า
งานหน้าที่ ใส่ใจ ไว้อัตรา
เพื่อรักษา ระเบียบบ้าน ฐานผู้น้อย
ไม่ก้าวก่าย การงาน ที่ท่านมอบ
รักแต่ชอบ ผิดชัง คอยยั้งถอย
อย่าเอาอย่าง เจ้าดำ ทำตะบอย
งานนิดหน่อย คอยเลี่ยง เกี่ยงใครใคร”
แมวร้อง “แน่ะ! โน่นพ่อดำ กำลังว่าง
เรียกแกมา ฟังไว้บ้าง จะดีไหม”
นกว่า “วาน นี้ก็ฟัง ตั้งเท่าไร
คุณแม่ท่าน จาระไน ไว้พอแรง”
เด็กว่า “เออ! ดีแท้ คุณแม่สอน
เจ้าดำคง ดีกว่าก่อน กลับเข้มแข็ง
ลองเรียกมา เผื่อจะมี ดีแสดง
ออกมาแข่ง กับเจ้า ท่าเข้าที”
นกบินปร๋อ ไปลง ที่ตรงไหล่
“แนะ! พ่อดำ รีบไป หาคุณพี่
กำลังเทศน์ ให้เราฟัง ทั้งชั่วดี”
ดำว่า “เออ! ไปซี ฉันอยากฟัง”
แล้วออกเดิน มากับนก ยกยักไหล่
ด้วยรักใคร่ เลิกคำนึง ถึงความหลัง
เด็กร้อง “ชะ! ชะ! พ่อดำ ทำเหมือนดัง
เมื่อคราวครั้ง ฉันพา นกมาเรือน
มา! ดำมา ร่วมกันซ้อง ร้องเพลงใหม่
เพลง ‘ประชา ธิปไตย’ ชอบไหมเพื่อน”
แล้วจับกลุ่ม ยืนเป็นกง รูปวงเดือน
พลางเอ่ยเอื้อน “โอ้ว่า ชะตาเรา
ได้ร่มเย็น เป็นสุข สโมสร
เหมือนไม้งาม ลอออ่อน ไม่อับเฉา
เพราะประชา ธิปไตย ให้ร่มเงา
กำบังเกล้า ร่มเย็น เป็นนิรันดร์”
จบนิทานร้อยบรรทัดเรื่องที่ ๕
นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง “ต้องให้ปันในกาลอันสมควร”
นกกระจอก มาจากไหน ก็ไม่รู้
ลงจิกกิน ข้าวอยู่ หิวตัวสั่น
เจ้านกน้อย อยู่ใกล้ใกล้ ไม่กีดกัน
นานนานขัน ‘จู้กูฮุก’ เหมือนสุขใจ
นางแมวหมอบ ตาปรือ ไม่ดื้อดุ
เจ้าดำเลิก มุทะลุ ไม่กรายใกล้
กระจอกกิน กันสนุก สุขกระไร
สองพี่น้อง อยู่ไม่ไกล เฝ้ามองดู
“เห็นไหมน้อง นกน้อย แสนน่ารัก
ช่างรู้จัก มีแก่ใจ ใครไม่สู้
ทำยกหาง กางปีก แล้วก็คู
เหมือนหนึ่งรู้ เชื้อเชิญแขก แปลกหน้ามา”
น้องว่า “โธ่! กระจอกโซ โธ่! แน่! พี่
ดู! ดูซี กินงกงก ไม่เงยหน้า”
พี่ว่า “นี่ แหละให้ปัน ไม่ฉันทา
ย่อมชื่นใจ แก่บรรดา ผู้ขาดแคลน”
เจ้านกน้อย เห็นพี่น้อง มองมองจ้อง
ก็ละล่อง บินมาหา น่ารักแสน
แล้วชวนชี้ “พี่ดูซี นกแร้นแค้น
ฉันต้องยอม ให้กินแทน ตามสบาย
ฉันกินได้ ไม่เท่าไร ราวครึ่งท้อง
เห็นกระจอก จดจดจ้อง ระแวงข่าย
ฉันเวทนา ร้องไปว่า เชิญเถอะนาย
ในบ้านนี้ อันตราย ไม่เคยมี”
เด็กว่า “ชอบ แล้วเรา เจ้าของบ้าน
ต้องให้การ ต้อนรับ ตามหน้าที่
เขาอดหิว เหมือนมาขอ ต่อชีวี
ข้าวน้ำมี ไม่เสียดาย ต้องให้ปัน
เจ้าได้กิน ครึ่งท้อง ไม่ต้องอด
เจ้กระจอก ได้ลิ้มรส อีกครึ่งนั่น
ได้แก้หิว ท้องไม่กิ่ว ตลอดวัน
นี่แหละสัน ติสุข ทุกคนปอง”
เหมียว! เหมียว! เหมียว! นางแมว วิ่งแน่วมา
“คุณหนูขา กระจอกนั่น ผันผยอง
ได้กินอิ่ม สมนึก คึกคะนอง
แหม! ฉันต้อง หมอบนิ่ง ไม่ติงกาย
กลัวมันจะ ตกใจ ต้องไหวหวาด”
เด็กชื่นชม ช่างฉลาด ไม่เสียหลาย
ทนหมอบนิ่ง ทำไม่เห็น เป็นอุบาย
ให้กระจอก หิวหาย ได้มีแรง
อันความ กรุณา ปรานี
หากยังมี กันทุกฝ่าย ไม่หน่ายแหนง
ความอิจฉา ตาร้อน ซ่อนระแวง
ที่คอยแฝง ก่อร้าย ก็หายไป
นั่น! พ่อดำ ดุ่มมา ทำหน้าเหลอ”
นกว่า “จริง ซิเออ! มิใช่ไก่
แกด้อมด้อม ดูที เหมือนมีใคร
เล่นซ่อนหา ชวนให้ แกเวียนวน”
ดำว่า “แหม! หัวหมุน คุณหนูครับ
แม่แมววับ วิ่งหาย คล้ายล่องหน
ตั้งแต่เช้า ผมเฝ้า สาละวน
คอยระวัง กลัวแกซน แสร้งรังควาน
เจ้ากระจอก ให้กระเจิง เพราะเหลิงแล่น”
แมวว่า “แค่น มีหน้า มาว่าขาน
ฉันหมอบนิ่ง จนขาชา ตั้งช้านาน
ไม่ได้วิ่ง พลุกพล่าน ให้วุ่นวาย”
ดำขึ้นเสียง “ถูกแล้ว แม่แมวจ๋า
แม่แมวหมอบ ซ่อนหน้า เช้าจนสาย
แต่เมื่อครู่ ฉันมองมอง จ้องแทบตาย
แม่แวบหาย ไปทางไหน ก็ไม่รู้
คุณแม่สั่ง ให้ระวัง ไม่ไว้ใจ
เกรงแม่เผลอ เดี๋ยวจะไล่ นกเป็นหนู
ถ้ากระจอก ต้องอดกิน บินหนีพรู
ฉันเป็นผู้ รับผิด คิดดูซี”
เด็กว่า “เลิก กันได้ เข้าใจแล้ว
ทั้งพ่อดำ ทั้งแมว รู้หน้าที่
เจ้ากระจอก ก็สมใจ ได้อิ่มพี
เถอะวันนี้ จะรางวัล ทั่วกันเทียว
นกว่า “พี่ จะรางวัล ฉันด้วยไหม”
เด็กร้อง “อ๋อ! พี่ต้องให้ ไยจะเหนียว
เจ้ทำดี ดีตอบแน่ แท้ทีเดียว
อีกประเดี๋ยว คอยดู คงรู้กัน”
ว่าแล้วยก กระป๋องชู “แน่ะ ดูนี่
อะไรเอ่ย ในนี้ ใครขยัน
ทายให้ถูก เป็นได้ลิ้ม ชิมมันมัน
เป็นรางวัล ตอบสนอง ตามต้องการ”
นกว่า “ของ พี่ซื้อ หรือทำเอง
ถ้าบอกให้ ทายเผง กินหวานหวาน”
แล้วมองหน้า เจ้าดำ ทำอาการ
เหมือนจะวาน ให้ช่วยใบ้ ด้วยใกล้ชิด
เด็กว่า “ดำ บอกได้ หรือไม่เล่า”
ดำว่า “เดา ก็พอได้ คงไม่ผิด
ว่าคุณแม่ ทำให้ ไม่ต้องคิด
แต่ฝาปิด ของอะไร ผมไม่รู้”
แมวไม่พูด เพียรสูด จนได้กลิ่น
“แหม! ชวนกิน หอมกรุ่น เจียวคุณหนู
กลิ่นอย่างนี้ บอกได้ ไม่ต้องดู
ขนมทอด น้ำมันหมู ไม่ผิดแล้ว”
เด็กว่า “แมว จมูกดี ไม่มีสอง
ได้กลิ่นของ ราวกับว่า ตาเห็นแจ๋ว
แต่ขนม อะไรล่ะ จ๊ะแม่แมว
หรือรู้แล้ว ซ่อนคม อมพะนำ”
นกว่า “ก่อน จะให้บอก ออกชื่อของ
ขอให้พี่ ยกกระป๋อง ขึ้นลองคว่ำ
ให้ฉันเห็น จะแจ้ง แห้งหรือน้ำ”
เด็กว่า “ได้ จะให้ทำ เอ้า! คอยดู”
นกว่า “เสียง กราวกราว ข้าวตังทอด!”
เด็กร้อง “ช้า! เก่งเป็นยอด ใครไม่สู้
เอ้า! กินได้ ไม่ต้องรอ ชูคอดู
จะได้รู้ ว่ารางวัล เค็มมันดี”
จบนิทานร้อยบรรทัดเรื่องที่ ๖
« « Prev : นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 1
Next : นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 3 » »
ความคิดเห็นสำหรับ "นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 2"