วันที่มีแต่กลางคืน
มานั่งคิดดู การจัดการภัยพิบัติตามหลักการ เปรียบเหมือนกลางวันและกลางคืน กล่าวคือจะมีทั้งส่วนการเตรียมการได้ก่อนเกิดภัย เช่นปรับเปลี่ยนโครงสร้าง จัดการความเสี่ยง เป็นภาคกลางวันที่สามารถทำอะไรล่วงหน้าไปได้ (ถ้าใช้ความรู้ ก็จะไม่แพงอย่างที่คิด) และมีอีกส่วน คือเมื่อเกิดภัยขึ้นแล้ว ก็จะเป็นการบรรเทาทุกข์ เยียวยา ฟื้นฟู ซึ่งทั้งหนักหนาและยาวนาน เปรียบเหมือนกลางคืน มองอะไรไม่เห็น ทำอะไรก็ลำบาก
ในเมืองไทยนี้ มีแต่กลางคืน เราไปเข้าใจว่าการบรรเทาทุกข์เป็นการจัดการภัยพิบัติซึ่งไม่ใช่หรอกครับ เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น พอเป็นเรื่องเยียวยา ฟื้นฟู ก็ไม่ค่อยจะมีใครอาสาทำกัน เพราะหนัก ลำบาก โดดเดี่ยวและแพงมาก…
ระบบความคิดของเราผิดเพี้ยนนะครับ วันหนึ่งจะมีแต่กลางคืนได้อย่างไร?
รูปครึ่งบนเป็นช่วงก่อนเกิดภัย ภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นช่วงครึ่งบน (กลางวัน) หากได้รับความใส่ใจ ก็เป็นช่วงที่เรามีเวลาเตรียมการมากที่สุด จริงอยู่ที่ว่าคงจะไม่สามารถป้องกันภัยพิบัติได้ 100% แต่เป็นเพราะเราไม่เข้าใจความเสี่ยงในพื้นที่ของตัวเอง พอเกิดภัยพิบัติ จึงเกิดอาการโกลาหลอลหม่าน เรียกร้อง แก่งแย่งความช่วยเหลือ และแตกแยก
การเตรียมการมีความจำเป็นเพื่อลดผลกระทบของภัยพิบัติ แม้จะป้องกันไม่ได้ 100% ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นขุดบ่อน้ำของหมู่บ้าน/ตำบลเอาไว้ใช้ในยามแล้ง ส่วนในขณะที่ฝนตกหนัก บ่อที่ขุดไว้ทำหน้าที่เป็นแก้มลิง ลดระดับน้ำท่วมได้ในตัว แทนที่ อบต.จะจ้างผู้รับเหมาขุดบ่อด้วยเครื่องจักร ก็จ้างชาวบ้านขุดเท่าที่ขุดไหว ค่าแรงตกอยู่กับชาวบ้านซึ่งได้รับเป็นประโยชน์เพิ่มเติม นอกเหนือจากมีพื้นที่เก็บกักน้ำในยามแล้งหรือรับน้ำฝนน้ำป่าในยามน้ำมาก
ชุมชนควรจะได้ปรึกษาหารือกัน เตรียมพื้นที่ปลอดภัยไว้ก่อน จะเป็นวัด โรงเรียน ศาลาประชาคม ที่มีความเหมาะสมก็ได้ เรื่องนี้ควรจะเตรียมการล่วงหน้า ในกรณีที่เกิดภัยหนักจนไม่ปลอดภัยที่จะพักอยู่ที่บ้านแล้ว ไม่รอจนเกิดภัยแล้วต่างคนต่างหาที่ปลอดภัย พอความช่วยเหลือส่งไป ยังมีปัญหาซ้ำซ้อนอีกคือต้องไปตามหาอีกว่ามีคนอยู่ที่ไหนบ้าง แทนที่จะนำความช่วยเหลือลงในพื้นที่ปลอดภัย แจกจ่ายได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์สิน อาจจะป้องกันไม่ได้หากมาหนักเกินไป (เช่นถ้าบุกรุกภูเขาที่มีความลาดเอียงสูง ก็จะเสี่ยงต่อดินถล่ม) อาจบรรเทาผลลงได้บ้าง แต่ชีวิตชาวบ้านควรจะปลอดภัยทั้งหมดหากมีการเตรียมการที่ดี
การเตือนภัย แม้เปรียบเหมือนส่วนของกลางวันช่วงบ่ายๆ แต่เตือนก่อนเกิดภัยแล้วยังไงต่อ? ถ้ายังไม่มีคำตอบ ก็คิดไม่จบพอกันล่ะครับ เพราะว่าเตือนหรือไม่เตือน ก็แทบไม่ได้ต่างกันเลย คือไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรอยู่ดี
ตลอดทั้งกระบวนการการจัดการภัยพิบัติ ไม่มีช่วงใดเลยที่เป็นคำตอบแบบเบ็ดเสร็จ ดังนั้นไม่ว่าจะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ ก็ขอให้เข้าใจว่ายังมีเรื่องอื่นที่มีความสำคัญเช่นกัน จำเป็นต้องเรียนรู้ฝึกซ้อมจนเกิดทักษะ เพราะงานทุกงานเชื่อมโยงกันและเหมาะสำหรับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน… แต่ถ้าเราหยุดอยู่ในกระบวนการอันใดอันหนึ่งตลอดเวลา จะเหมือนกับนาฬิกาตาย ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าติดแหงกไม่พัฒนา
Next : คืนชีวิตให้เจ้าพระยา ช่วยปลา รักษา แม่น้ำ » »
2 ความคิดเห็น
๒-๓ คืนก่อน เกิดฝนฟ้าคะนอง ฝนเทลงมาแรงมาก มีเสียงประกาศเร่งด่วนจากสถานนีดับเพลิง (ชื่อใหม่ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย) ตรงข้ามกับวัด…. เย็นวันนี้ เจ้าหน้าที่มานั่มานั่งคุย สมภารจึงถามว่าคืนก่อนมีอะไรเกิดขึ้น… เค้าตอบว่าน้ำท่วมที่วชิรา แล้วความเห็นจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยระดับปฏิบัติการก็พลั่งพรูออกมา…
เมื่อก่อนคูที่วชิราลึกมาก น้ำซึมลงดินได้ เมื่อทำใหม่เป็นคูคอนกรีตก็แคบลง ลึก็เพียงหน้าอก (เมตรกว่าๆ)… ส่วนน้ำแทนที่จะไหลหลงทะเลก็ไปรออยู่ที่ประตูระบายน้ำเพื่อเข้าคิวรอบำบัดน้ำเสีย เมื่อฝนตกหนักก็ต้องเอาเครื่องสูบน้ำลงทะเลโดยตรง….
มีคำหนึ่ง เค้าบอกว่าคนวิจารณ์กันว่า ไม่ต้องใช้วิศวกรมาคิดก็ได้ เพราะคนทั่วไปก็คิดได้และได้ผลดีกว่า….
กลางวันนั้น แม้จะมองเห็น แต่เมฆหมอกก็บดบังแสดง ทำให้เกิดเงา มองๆ ไป ถ้าไม่รอบคอบก็อาจไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นจริง…. กลางคืนนั้น แม้จะมืดเป็นธรรมดา แต่ถ้าอาศัยแสงเดือนแสงไฟ แล้วมองดูอย่างตั้งใจ ก็พอจะมองอะไรใกล้เคียงกับความเป็นจริงได้ ซึ่งบางครั้งอาจใกล้เคียงกว่าการมองกลางวันเสียด้วยซ้ำ…
เจริญพร
สมัยโบราณ เรารู้ล่วงหน้าว่าพม่า เขมร ลาว จะเข้าโจมตีก่อน นับเป็นปี นี่แสดงว่าวันนี้เรา “เจริญลง” หรือไง กะอีแค่ น้ำลด น้ำหลาก มันของที่เป็นวงจรประจำอยู่แล้ว กลับไม่เตือน
เอ้า..กระจองงอง กระจองงอง เจ้าข้าเอ๊ยยยยย…. ระวังเลือกโจรเข้าสภาใน 1 เดือนนี้เด๊อ
เดี่ยวจะหาว่าไม่เตือน