เงินบริจาคสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ
อ่าน: 3135ผมไม่ได้ติดแหงกอยู่กับเรื่องเงินหรือเรื่องภาษีหรอกนะครับ การบริจาคเป็นเรื่องของน้ำใจ ซึ่งผู้บริจาคก็คงไม่คิดเล็กคิดน้อย แต่ที่ต้องพูดเรื่องนี้บ่อย เพราะนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือสิ่งของไปช่วยผู้ประสบภัย ถ้าหากไม่มีกฏเกณฑ์รองรับ อาจจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามไปเสียอีก น้ำใจคิดเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้ และหักภาษีไม่ได้!
จากมติ ครม. ตามที่เขียนไว้ในบันทึก [มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปี 2554] ขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับแล้ว รายละเอียดสามารถอ่านได้ตามลิงก์ที่ให้ไว้และต้องยึดตามพระราชกฤษฎีกาครับ
ใจความสำคัญพอสรุปได้ดังนี้ โดย “ภัย” ที่เกิดขึ้นนั้น หมายถึงอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป
- มาตรา ๓ สำหรับผู้ประสบภัย ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล หรือเงินบริจาคที่ไม่เกินมูลค่าของความเสียหาย ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
- มาตรา ๔ สำหรับผู้ประสบภัย ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่เป็นค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้รับจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากภัย เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับค่าสินไหมทดแทน
- มาตรา ๕ สำหรับผู้บริจาค ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป โดยมีตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังต่อไปนี้
- สำหรับบุคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น
- สำหรับนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ
ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
- มาตรา ๖ สำหรับผู้ประกอบการที่บริจาคสินค้า ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการบริจาคผ่านตัวแทนการรับบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ขออภัยที่ใช้ภาษาอันน่าปวดหัวครับ ทำความเข้าใจเสียตอนนี้ ดีกว่าจะต้องมาปวดหัวในภายหลัง
ในอดีต เมื่อครั้งเกิดวาตภัยและอุทกภัยใหญ่ในหลายพื้นที่เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2553 ครม.ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในวันที่ 9 พฤศจิกายน แต่มาตรการนี้มีผลเพียงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 รายละเอียดอ่านได้ที่ [มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย] กรมสรรพากรออกประกาศตามมาภายหลัง แต่ยังดีที่มีหลักเกณฑ์ออกมาก่อน จึงสามารถปฏิบัติไปได้อย่างถูกต้อง
มาตรการในบันทึกนี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 มีพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ขณะที่เขียนบันทึกนี้ ยังไม่มีหลักเกณฑ์และประกาศของกรมสรรพากรครับ อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่าหลักเกณฑ์ จะยังคงยึดแนวเดิม คือ (1) แยกบัญชีรับบริจาคออกจากกิจการปกติของตัวแทนการรับบริจาค (2) ใบเสร็จรับเงินจากบริจาค จะต้องเป็นใบเสร็จที่ถูกต้อง และระบุข้อความให้ชัดว่าเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย (3) ที่ไปที่มาของการบริจาค ตลอดจนกระบวนการทั้งหมด จะต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา และมีการตรวจสอบพิเศษแยกออกจากกิจการปกติ
มูลนิธิโอเพ่นแคร์ (องค์การสาธารณประโยชน์) แสดงรายการที่เกี่ยวกับการบริจาคและค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้บนเว็บ ที่ http://www.opencare.org/relief/opencare-volunteerfund — ใช้วิธีถ่ายรูปสมุดคู่ฝากของธนาคารมาขึ้นเว็บ ซึ่งจะเห็นทุกรายการ ทั้งการบริจาคที่สามารถระบุวัตถุประสงค์ของเงินบริจาคได้ และการสั่งจ่ายตามวัตถุประสงค์ของเงินบริจาคนั้น
เรื่องนี้อยู่นอกเหนือข้อกำหนดใดๆ ของกรมสรรพากรและวัฒนธรรมจังหวัด แต่มูลนิธิก็เปิดเผยเงินเข้าออกทุกรายการ เพื่อความโปร่งใสและความสบายใจของผู้บริจาค ไม่มีประโยชน์จะไปเรียกร้องให้คนอื่นทำให้เมืองไทยโปร่งใสโดยที่ตัวเองก็ไม่ทำ แม้มูลนิธิเป็นเจ้าของบัญชีรับบริจาค (ไทยพาณิชย์ 402-177853-3) แต่มูลนิธิถือว่าเป็นเพียงทางผ่านของเงินบริจาคเท่านั้น (เงินบริจาคไม่ใช่ทุนหรือกำไรของมูลนิธิ) และจะใช้เงินบริจาคอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ตามวัตถุประสงค์ของการบริจาค และให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประสบภัย ดอกเบี้ยเงินฝากอันเกิดขึ้นก็ทบลงไปในบัญชีบริจาคนี้เช่นกัน
มูลนิธิตรวจสอบเกี่ยวกับความจำเป็นในพื้นที่ และจะสั่งจ่ายผ่านบัญชีธนาคารเสมอเพื่อใช้เป็นหลักฐานทางบัญชีของมูลนิธิ โดยทั่วไปมูลนิธิจะจ่ายให้กับผู้ประสบภัยโดยตรงผ่านบัญชีธนาคาร หากแต่ว่าการเบิกเงินในพื้นที่ประสบภัยนั้นลำบากกว่าปกติ ในหลายกรณี มูลนิธิจ่ายเงินให้กับกลุ่มอาสาสมัคร ซึ่งลงพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยไม่รับค่าตอบแทน และแสดงหลักฐานการใช้จ่ายในรูปของแผนงาน ใบเสร็จ หรือรูปถ่ายของงาน ซึ่งมูลนิธิจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวบนเว็บ เพื่อให้แน่ใจว่าเงินบริจาคซึ่งมูลนิธิส่งต่อไปนั้น ได้ใช้ไปอย่างตรงตามวัตถุประสงค์ของการบริจาค
« « Prev : ถึงบอกให้ก็ไม่รู้หรอก…
Next : สร้างนิสัยใน 30 วัน » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เงินบริจาคสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ"