มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปี 2554
อ่าน: 4793สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 ในเรื่องที่ 25. มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปี 2554 คณะรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการช่วยเหลือหลายอย่าง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ครม.ใจกว้าง ขยายความช่วยเหลือทางภาษี จากการให้อย่างเฉพาะเจาะจงในเหตุภัยพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็น การบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ (อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่น) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป และเพื่อให้ผู้บริจาคได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีบริจาคเงินและสิ่งของโดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติดังกล่าว… นี่เป็นการเห็นความสำคัญของภาคประชาชนนะครับ
แต่ทว่าการยกเว้นภาษี ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ยกเว้น จะต้องตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน จึงจะมีผล แต่เนื่องจากเป็น พรฎ.ซึ่งอยู่ในอำนาจของ รมต.คลัง และมีมติ ครม.กำกับอยู่ ดังนั้นเรื่องนี้จึง(ยัง)ไม่ต้องผ่านสภา แม้จะมีการเลือกตั้งก็ไม่กระทบเช่นกัน — ต้องเรียนย้ำว่า ต้องมี พรฎ.ก่อน จึงจะมีผลใช้บังคับ แต่แนวทางที่แน่นอน อาจดูได้ตามประกาศของกรมสรรพากรได้ (ซึ่งยังไม่ออก เพราะ ครม.เพิ่งประชุมกันเมื่อวานเอง)
ผู้สนใจรายละเอียด หาอ่านได้จากสรุปข่าวการประชุม ครม. ที่ www.thaigov.go.th ซึ่งผมจะย่อเอาแต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูในภาคประชาชนมา
- เมื่อรัฐมีการจ่ายเงินชดเชย เยียวยาผู้ประสบภัย ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากรัฐบาลเพื่อชดเชยความเสียหาย หรือที่ได้รับจากการบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายในกรณีอื่นที่ไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
- เมื่อมีการจ่ายสินไหมจากบริษัทประกันภัย ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรือและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
- ในกรณีที่ประชาชนบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าจำนวนเงินที่ได้บริจาคให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นตัวแทนรับเงินบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน รายชื่อตัวแทนรับบริจาคตามประกาศของกรมสรรพากร ประกอบไปด้วย สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว มูลนิธิโอเพ่นแคร์ บจก.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย บมจ.อสมท ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
- ในกรณีที่นิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
- ในกรณีที่ผู้ประกอบการนำสินค้าไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นตัวแทนรับสินค้าที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น
- สำหรับตัวผู้ประสบภัยเอง ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งได้มีการลงทะเบียนไว้กับศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการ เท่าจำนวนความเสียหาย โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- สำหรับผู้ประสบภัย ให้มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2553 ที่จะต้องยื่นรายการภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 ออกไปเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2554
- ส่วนผู้ประสบภัยที่เป็นนิติบุคคล ให้มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สำหรับการยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ (แต่ไม่รวมถึงกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร) และอากรแสตมป์ ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2554
- สำหรับตัวแทนการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ กระทรวงการคลังจึงเห็นควรเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับเดิม (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 513) พ.ศ. 2553) โดยให้ขยายเวลาและขอบเขตของการบริจาคเงินให้ครอบคลุมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในปี 2554 ด้วย
ผมเคยอยู่ในภาครัฐมาก่อน เค้าว่ากันว่าไม่ให้ตีความมติ ครม.ครับ ทุกอย่างเป็นไปตามตัวอักษร แต่ตอนนี้ผมไม่ได้อยู่ในภาครัฐอีกแล้ว ผมคิดว่า ครม.ต้องการให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ตรวจสอบได้ ตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร นอกจากนี้ ยังมีองค์กรสาธาณกุศล 686 แห่งซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้เงินบริจาค สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้
เรื่องของภาษี มีนัยดังนี้: สำหรับชาวบ้านที่บริจาค ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปด้วยน้ำใจ ไม่ได้รู้สึกอะไรกับการหักภาษีเงินได้หรอกครับ แต่สำหรับนิติบุคคลซึ่งมีกำลังที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยมากกว่านั้น การบริจาคแบบที่กรมสรรพากรและมาตรฐานการบัญชีไม่ได้รับรองนั้น จะทำให้เงินและทรัพย์สินที่บริจาคกลายเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม ซึ่งมีนัยของความไม่ถูกต้อง-ไม่โปร่งใส และยังต้องเปิดเผยในรายงานประจำปี รายงานของผู้สอบบัญชีอีก มันดูไม่ค่อยดีเลย!
สำหรับมูลนิธิโอเพ่นแคร์ ก็คงจะเริ่มรับบริจาคในบัญชีแรกที่สามารถนำใบเสร็จไปหักภาษีได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กรมสรรพากรออกประกาศตามมา บัญชีนี้ เคยเปิดรับบริจาคเมื่อปลายปีที่แล้ว และทำทุกอย่างตามเกณฑ์ของกรมสรรพากร รวมทั้งการขอเป็นตัวแทนการรับบริจาคด้วย ซึ่งก็ได้รับการรับรองเรียบร้อยแล้ว; ส่วนบัญชีในกองทุนร้อยน้ำใจและกองทุนของอาสาดุสิตซึ่งเป็นบัญชีที่สอง ผู้บริจาคยังได้รับใบเสร็จของมูลนิธิเช่นเดิม เพียงแต่บัญชีนี้ ไม่สามารถนำใบเสร็จไปหักภาษีได้ (เรื่องยาวครับ) [บัญชีเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซะงั้น!]
« « Prev : แว๊บหนึ่งที่เต้นท์อาสาดุสิต
Next : การ์ตูนร่วมด้วยช่วยป้องกันดินถล่ม » »
2 ความคิดเห็น
[...] ครม.ออกมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน [มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภั
[...] ครม. ตามที่เขียนไว้ในบันทึก [มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหล