ตั้งใจดี แต่ถามโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ

โดย Logos เมื่อ 23 October 2010 เวลา 18:48 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3486

เรื่องนี้ ที่จริงกะจะไปพูดใน CrisisCamp แต่เนื่องจากงานเริ่มช้ามาก ผมใช้เวลาไปยี่สิบกว่านาที ราวสองในสามของที่ควรจะใช้ ข้ามสไลด์ไปเยอะแยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทางเทคนิคลึกๆ ตอบคำถามแล้วออกมาคุยกันต่อนอกห้อง ผมใช้เวลากับการทำความเข้าใจกระบวนการ ทำนองว่า สิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น สิ่งที่เป็นไม่ใช่สิ่งที่ควร ทำได้ไม่เหมือนกันทำได้ดี ไม่มีใครทำได้ดีทุกอย่าง ไม่มีใครรู้ทุกอย่างและทำทุกอย่าง อย่าเสียเวลากับสิ่งที่ไม่ได้ดังใจ; ระบบราชการที่เชื่องช้าไม่เหมาะกับการบริหารสถานการฉุกเฉิน ซึ่งต้องการทั้งข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็ว โปร่งใสตรงไปตรงมา การรู้คุณค่าของทรัพยากรที่ใช้และมีอยู่ (รวมทั้งอาสาสมัครด้วย) ความเข้าใจในความสำคัญของเวลา ทุ่มเท ฯลฯ

ช่วงต้นปี 2548 หลังจากสึนามิพัดเข้าฝั่งอันดามัน น้ำใจไทยหลั่งไหลไปช่วย จนฝรั่งต่างชาติยกย่องเป็นอย่างมาก ทั้งที่เจอตามเวทีประชุมสัมนาต่างๆ ทั้งเรื่องเล่าถึงความช่วยเหลือจากคนไทย แม้ผู้ที่ช่วยเหลือนั้นจะสิ้นเนื้อประดาตัวและเป็นผู้สูญเสียเช่นกัน ผมตามข่าวเรื่องนี้อยู่สองปีเต็ม จึงสามารถยืนยันได้ ว่าน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่นาน

มีชาวดัทช์คนหนึ่งมาเที่ยวกันสี่คนแล้วเจอสึนามิ ผมพบชื่อเขาแล้วติดต่อแจ้งข่าวให้ครอบครัวซึ่งโพสต์ประกาศตามหาตัวไว้ที่เว็บบอร์ดเฉพาะกิจแห่งหนึ่ง บอกว่าเขาปลอดภัยแต่ถูกส่งตัวต่อจากเขาหลักไปยังโรงพยาบาลนครศรีธรรมราช หาเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลให้ พร้อมทั้งบอกวธีการติดต่อศูนย์ประสานงานของสถานฑูตเนเธอร์แลนด์ เมื่อเขากลับประเทศ เขาเขียนอีเมลมาขอบคุณ แถมยังมีความต้องการพิเศษ คือขอให้ผมเขียนคำว่าผู้รอดชีวิตจากสึนามิเป็นภาษาไทย เขาว่าจะไปสักลงบนตัว ให้น้ำใจของคนไทยที่เขาไม่เคยรู้จักสักคน แต่กลับช่วยเหลือเขาอย่างเต็มกำลัง อยู่กับตัวเขาตลอดไป

แน่นอนว่าเหล่าไฮโซ ไฮซ้อ สมาคม มูลนิธิ บริษัทห้างร้านจากเมืองใหญ่ๆ ผู้มีเกียรติในสังคม ซึ่งกลุ่มนี้ ลึกๆ แล้วคงจะรู้สึกไม่เป็นเนื้อเดียวกันกับผู้ประสบภัย ก็เลยพยายามพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบอย่างเป็นกันเอง; กลุ่มกองทัพนักข่าวซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามวิชาชีพ ที่จะนำความจริงในพื้นที่ออกมารายงานให้สังคมทราบ ทั้งสองกลุ่มเป็นส่วนของสังคมไทย ก็ลงไปในพื้นที่เช่นกัน

มีบทเรียนจากสึนามิที่จะต้องเตือนกันครับ ทั้งที่รู้ว่าผู้เตือนจะกลายเป็นผู้ร้ายอีกนั่นแหละ คือเรื่อง Post-traumatic Stress Disorder หรือ PTSD [Wikipedia] [สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐ] [ศูนย์ PTSD แห่งชาติ กระทรวงทหารผ่านศึกสหรัฐ]

PTSD เป็นความเครียด+ความกังวลอย่างยิ่งยวดที่เกิดจากสภาพบีบคั้นสุดๆ จนสภาพจิตใจแหลกละเอียด หวาดผวากับเหตุการณ์ ไม่เชื่อใจ ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าหายยาก หรือใช้เวลานานหลายปี แต่เป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษา (ฆ่าตัวตายไปก็มี)

ทุกๆ คนต่างทำในสิ่งที่คิดว่าควรจะทำ พยายามทำ(ในสิ่งที่คิด(เอาเอง)ว่า)ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ บริบท ข้อจำกัด ความไม่พร้อมต่างๆ ประเด็นคืออย่างนี้ครับ ถ้าจะนำความช่วยเหลือเข้าไปให้ถูกที่ ถูกคน ก็ต้องถามไถ่กันก่อน — การให้ไปแล้วค่อยไปถามว่ารู้สึกอย่างไร ไม่มีประโยชน์ที่จะถามหรอกครับ — สำหรับนักข่าว เมื่อต้องการได้เรื่องราวที่ถูกต้องมาแจ้งต่อสังคม ก็ต้องถามไถ่เช่นกัน

แต่ว่าเมื่อเข้าไปถามไถ่ หากผู้ถามไม่ระมัดระวัง ไม่เข้าใจ PTSD คำถามเหล่านั้นอาจจะไปตอกย้ำความสูญเสีย ความสิ้นเนื้อประดาตัว ความตายของบุคคลอันเป็นที่รัก กรณีสึนามิ ถ้าไปกันสิบคณะ ถามกันสิบครั้ง ก็เหมือนผู้ประสบภัยโดนสึนามิ 11 ครั้ง (ความสูญเสียจริงหนึ่งครั้ง+อีกสิบครั้งเมื่อต้องนึกย้อนกลับไป)

เมืองไทยมีผู้มีอาการ PTSD สูงที่สุดในโลก!!! ตามการประเมินขององค์การอนามัยโลกในปี 2004 (น่าจะก่อนสึนามิ)

น้ำท่วมใหญ่คราวนี้ ก็เป็นอาการคล้ายกัน ผู้คนเป็นล้านสิ้นเนื้อประดาตัว บ้านช่องที่อยู่เสียหาย ที่จะซุกหัวนอนยังไม่มีเลย ติดต่อสื่อสารไม่ได้ ขอความช่วยเหลือไม่ได้ จะอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยก็ไม่รู้จะไปไหน — ถึงจะไม่เป็นอย่างนั้นจริง ผู้ประสบภัยคิดว่าเป็นอย่างนั้นนะครับ เมื่อสิ้นหวัง หนี้เก่ายังมี หนี้ใหม่พอกพูน การลงทุนในนา+ผลหมากรากไม้ที่ปลูกไว้ โดนน้ำท่วมตายหมด (ที่จริงตอนนี้ไม่รู้เพราะน้ำยังไม่ลด แต่คิดล่วงหน้าไปแล้ว) จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร เพื่ออะไร — เรียกว่าเป็นทุกข์เพราะคิด ยิ่งปล่อยไว้นาน ยิ่งคิดวนเวียนอยู่เรื่องเดียวนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุด อาจจะแยกไม่ออกระหว่างความคิดกับความจริง

ดังนั้นอาสาสมัครที่เข้าไปในพื้นที่ ก็ควรจะเข้าใจ PTSD บ้างนะครับ น่าจะขอความช่วยเหลือ/ขอรับการอบรมคอร์สเร่งด่วนจากสมาคมจิตวิทยาหรือกรมสุขภาพจิตได้

คำถามที่ต้องถามล่ะครับ แต่เมื่อได้คำตอบมาแล้ว น่าจะเอามาแชร์กันเพื่อที่ว่าทีมอื่น/คนอื่นจะได้ไม่ต้องไปสะกิดแผลในจิตใจของผู้ประสบภัยใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ช่วยกันพูดให้ยืนอยู่กับปัจจุบันนะครับ มองไปข้างหน้า อย่าติดอยู่กับอดีต ที่เกิดไปแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างอมืองอเท้ารอแต่ความช่วยเหลือ ภัยพิบัติครั้งนี้ เกิดเป็นวงกว้างมากความช่วยเหลือเข้ามาลำบากมากเพราะน้ำท่วม ตอนนี้มีแต่หน่วยกล้าตายที่บุกเข้ามา ผู้คนทั้งประเทศเป็นห่วงกันทั้งนั้น ให้รวมตัวกันไว้ มีอะไรฉุกเฉินคงพอช่วยเหลือประคับประคองกันได้บ้าง

แผลในใจ รักษาด้วยใจนะครับ… ถ้าเอาเหตุผลมานำ เหตุผลคือผลของความคิดตามบริบท+ค่านิยม มาจากสมอง ไม่ได้มากจากใจ

« « Prev : กระสอบทราย

Next : แผนที่สถานการณ์น้ำท่วมอีกครั้งหนึ่ง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 October 2010 เวลา 10:17

    วิกฤตครั้งนี้เห็นว่าคนไทยมีการพึ่งตัวเองสูงอยู่ค่ะ หลังน้ำลดมีหลายเรื่องที่รออยู่เช่นระบบน้ำประปาที่พัง จะใช้น้ำไหนในการทำความสะอาดบ้านเรือน กิน-ใช้ การซ่อมแซมบ้าน รถ และทับถมของดินโคลนในท่อระบายน้ำ ฯลฯ ความทุกข์ซ้ำซ้อนแบบนี้แหละค่ะที่ก่อให้เกิดผลทางจิตใจตามมาเยอะพอควร

    PTSD จะเห็นอาการชัดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปนานกว่า 2 สัปดาห์ การพูดคุย การสัมภาษณ์จึงมีความสำคัญมากอย่างที่พี่รุมกอดกล่าวมา และบางครั้ง PTSD อาจไม่เกิดกับผู้อยู่ในเหตุการณ์ืหรือผู้รอดชีวิตแต่เกิดกับผู้เห็นเหตุการณ์หรือวงศาคณาญาติก็ได้ค่ะ

    เช่นกรณีสึนามิ ได้คุยกับคนที่อยู่ในตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากคลื่น แต่มีการเอาศพไปไว้ที่วัดย่านตาขาวซึ่งเขาเห็นทุกวัน เกิดอาการนอนไม่หลับ ฝันร้าย หวาดผวาอย่างไม่ทราบสาเหตุ และมีคนจำนวนไม่น้อยที่หมดกะจิตกะใจ หมดหนทางในการประกอบอาชีพ สับสนกับความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญจนไม่อาจคิดริเริ่มชีวิตใหม่ได้ แม้จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ก็ตาม

    คนไทยมีเกราะสำคัญในการบรรเทาความทุกข์ในใจคือศาสนา อาสาสมัครอาจใช้หลักการนี้ช่วยบรรเทาและเข้าใจทุกข์ รวมทั้งอยู่กับทุกข์ได้อย่างไม่ทุกข์นัก(แต่ควรมีช่องทางให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านต่างๆอยู่ในมือด้วยนะคะ จะได้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น)

    ยาทางจิตเวช ช่วยได้ทางกาย แต่ความเชื่อ ความศรัทธาจะทำให้มนุษย์สงบลง และพร้อมพิจารณาศํกยภาพปัจจุบันที่ตนมี เพื่อเดินต่อไปได้

    หนทางในการเยียวยาแม้มีความละเอียดลึกซึ้งแต่มิติทางศาสนาเป็นตัวช่วยที่ดีได้ค่ะ เพราะสามารถประคับประคองจิตใจให้ก้าวผ่านหายนะภัยมาได้หลายต่อหลายครั้ง

    ข้อมูลต่างๆที่อาสาสมัครได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนช่วเยหลือต่อไปด้วยนะคะ

  • #2 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 October 2010 เวลา 17:28

    ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ ที่นำมาแชร์ครับ

    น้ำท่วมคราวนี้ ผมอยู่ในเหตุการณ์ อย่างใกล้ชิด….ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง บริษัทที่ติดต่อทำการค้าด้วย ทั้งโทร. มาสอบถาม บ้าง เดินทางมาเยี่ยมด้วยตนเองมาก คุยและถามคำถามซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ วัน วันละหลาย ๆ รอบ…..เปิดแผลเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว…เช่น ขนของทันไหม ? เสียหายมากไหม ? ตอนนี้พักอยู่ที่ไหน ? อย่างไร ? ทำไมไม่ขนของขึ้นไปไว้ชั้นบน ? รถยนต์ทำไมไม่ขับไปจอดไว้ให้พ้นที่น้ำท่วม ? มีเรื่องจริงที่ครอบครัวพี่ชายที่ทำการค้าอยู่ในตลากปักธงชัย เจอมากับตัวเอง เล่าว่า เมื่อน้ำเริ่มเข้ามาเมื่อวันที่ ๑๖ จะไปเอารถที่จอดอยู่ในบ้านจำนวน ๓ คันออกมาจอดที่ถนนใหญ่ (๓๐๔) ที่มีบ้านญาติอยู่ แต่มีเพื่อนบ้านบอกว่า เฮียไว้นี่แหละ มันไม่เคยท่วมสูงถึงข้างในบ้านระดับนี้หรอก ถ้ามันท่วมถึงเขารับที่จะยกไปไว้บนหลังคาให้ พี่ชายจึงเอารถออกมาเพียงคันเดียว จาก ๓ คัน ผลก็คือ คืนวันที่ ๑๗ น้ำมาอย่างรวดเร็ว รถ ๒ คัน จมอยู่ในน้ำ มาจนถึงปัจจุบัน

    เห็นด้วยอย่างยิ่งครับที่ ต้องเรียนรู้การตั้งคำถามผู้ประสบภัย และ “ช่วยกันพูดให้ยืนอยู่กับปัจจุบันนะครับ มองไปข้างหน้า อย่าติดอยู่กับอดีต ที่เกิดไปแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างอมืองอเท้ารอแต่ความช่วยเหลือ ภัยพิบัติครั้งนี้ เกิดเป็นวงกว้างมากความช่วยเหลือเข้ามาลำบากมากเพราะน้ำท่วม ตอนนี้มีแต่หน่วยกล้าตายที่บุกเข้ามา ผู้คนทั้งประเทศเป็นห่วงกันทั้งนั้น ให้รวมตัวกันไว้ มีอะไรฉุกเฉินคงพอช่วยเหลือประคับประคองกันได้บ้าง

    แผลในใจ รักษาด้วยใจนะครับ… ถ้าเอาเหตุผลมานำ เหตุผลคือผลของความคิดตามบริบท+ค่านิยม มาจากสมอง ไม่ได้มากจากใจ”


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.15016603469849 sec
Sidebar: 0.13462615013123 sec