กระจายน้ำสำหรับการเกษตร
พืชต้องการน้ำไปละลายสารอาหารในดินและทำให้ปลายรากดูดซึมสารอาหารในดินด้วยวิธีการออสโมซิส
แต่พื้นที่ภายใต้โครงการชลประทานของเมืองไทยมีอยู่กระจ้อยร่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานและภาคเหนือ ดังนั้นเกษตรกรก็ต้องพึ่งแหล่งน้ำธรรมชาติ อันได้แก่แม่น้ำลำคลองหนองบ่อและน้ำบาดาล การชักน้ำเข้าแปลงเกษตรก็ต้องใช้พลังงานซึ่งคือต้นทุนของเกษตรกร ยิ่งจ่ายค่าพลังงานมาก ต้นทุนก็จะสูงขึ้น กำไรหด เหนื่อยไปแล้วไม่เหลืออะไร ต้นทุนพลังงานในการสูบน้ำเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มองกันไม่ค่อยออกเพราะจับต้องไม่ได้และแยกแยะไม่ออกนะครับ
ถ้าถามว่าพืชจะร่าเริงกับน้ำที่ฉีดมาอย่างแรงเป็นฝอยฟู่หรือไม่ อันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ เท่าที่จำได้ก็ไม่เคยเป็นพืชเสียด้วย เราสามารถให้น้ำให้ปุ๋ยทางใบได้เหมือนกัน โดยเพิ่มแรงดันน้ำเข้าไปซึ่งหมายความว่าจะต้องจ่ายค่าพลังงานมากขึ้น บางทีเราก็ไม่คิดว่าจะต้องจ่ายค่าพลังงานเรื่องนี้โดยเอาแรงดันน้ำมาจากถังเก็บน้ำสูงๆ จริงอยู่ที่ถังยิ่งสูง ก็ยิ่งมีแรงดันน้ำมาก จะส่งน้ำ(ตามสายยางหรือฉีดน้ำ)ไปได้ไกล แต่ต้นทุนซึ่งเรามักจะไม่คิดกันนั้นมีสองส่วนครับ คือ
- ต้นทุนการก่อสร้างเพื่อนำน้ำไปเก็บไว้ที่สูง น้ำหนึ่งคิวหนักหนึ่งตัน ถ้าจะนำน้ำแปดคิวไปไว้สูงสิบเมตร ก็ต้องสร้างโครงสร้างเพื่อรับน้ำหนังแปดตันที่ลอยอยู่เหนือพื้นดินสิบเมตร สร้างได้ครับ วิศวกรทำได้หมด (แต่แพง!)
- ต้นทุนการสูบน้ำ อย่างที่รู้กัน น้ำแปดคิวหนักแปดตัน ถ้าจะยกจากผิวดินขึ้นไปสูงสิบเมตร ก็จะใช้กำลังแปดกิโลวัตต์ตามทฤษฎี (จริงๆ แล้วมากกว่านั้นเพราะปั๊มน้ำไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100% กล่าวคือมีการสูญเสีย) หมายความว่าถ้าใช้น้ำมาก ก็ต้องจ่ายค่าพลังงานมากขึ้นตามไปด้วย
อิสราเอลมีสภาพเป็นทะเลทราย แต่สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบน้ำหยด คือว่าน้ำของเขานั้น จะใช้ทุกหยดอย่างที่สร้างคุณค่าได้สูง ระบบน้ำหยดมีข้อดีคือว่าน้ำที่หยดลงไป จะตรงไปสู่บริเวณที่ปลายรากอยู่ ไม่เสียน้ำไปกับการรดดินที่ไม่มี(ราก)พืช ทำให้ใช้น้ำจำนวนน้อยเพื่อการเจริญเติบโตของพืชจริงๆ
ดังนั้นแทนที่จะสร้างถังน้ำเอาไว้สูงๆ เราก็สร้างถังวางเอาไว้บนดินใช้ท่อปูนซิเมนต์สูง 50 ซม.สัก 7 ท่อนเอามาซ้อนกัน กลายเป็นบ่อพักน้ำสูง 3.5 เมตร ที่ความสูงขนาดนี้ ให้แรงดันน้ำ 0.35 บาร์ พอสำหรับระบบน้ำหยด; ท่อปูนเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร สูง 50 ซม. ท่อนละร้อยกว่าบาท บ่อพักสูง 3.5 เมตร จึงมีต้นทุนพันกว่าบาทเท่านั้น ดีกว่าตั้งแท๊งก์น้ำสูงๆ ราคาเป็นแสน ชิมิ
ถึงถังพักน้ำจะส่งน้ำไปไม่ได้ไกล แต่เนื่องจากมีราคาถูก เราจึงสร้างถังพักน้ำกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ได้ เมื่อต่อก้นถังพักด้วยสายยาง ระดับน้ำในแต่ละถังก็จะปรับจนเท่ากันเอง การเติมน้ำในแต่ละบ่อพัก จึงเติมในบ่อที่อยู่ใกล่บ่อเดียวพอ เพราะความกดอากาศจะปรับให้ระดับน้ำในแต่ละถังพักเท่ากันไปเอง
แต่ถ้ามีที่ใดต้องการแรงดันน้ำ ก็ตั้งปั๊มน้ำเข้าสิครับ ไม่กี่พันบาท จ่ายค่าพลังงานเฉพาะเท่าที่จำเป็นต้องใช้
Next : วิธีก่อสร้างโดมอย่างรวดเร็ว » »
ความคิดเห็นสำหรับ "กระจายน้ำสำหรับการเกษตร"