เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน
อ่าน: 5600ในงานเฮเก้า หมอจอมป่วนพูดถึงการจัดการขยะของสวนป่า ให้ความรู้เรื่องเปลี่ยนเศษใบไม้และขยะอินทรีย์ไปหมักเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งหมอทำเรื่องนี้มานาน ได้รับรางวัลและการยกย่องต่างๆ มากมาย รวมทั้งได้ทิ้ง powerpoint file ที่ใช้อบรมทั่วประเทศไว้กับครูบาทั้งชุด ผมคิดว่าครูบาคงทำไปตามนั้นละครับ เนื่องจากมีเศษไม้เศษใบไม้เยอะแยะเลย ขณะนี้สวนป่าใช้วิธีฝังกลบในที่ต่ำ (เลยโรงอัดอิฐไปอีก) บ่อหมักปุ๋ยต้องแก้ไขนิดหน่อยตามคำแนะนำของหมอ หมอแนะให้เอา biomass ไปทำ gasification ด้วย
ส่วน(อดีต)นายกเทศมนตรีท่านชอบไอเดียการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน บันทึกนี้เอาตัวอย่างของกระบวนการอย่างหลังมาให้ดูครับ เป็นคลิปที่มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (UNU) ผลิตขึ้นเผยแพร่
อนุมาณเอาจากภาพ เป็นกระบวนการกลั่นตามปกติ ใช้ไฟฟ้าให้ความร้อนแก่ขยะพลาสติก ไอที่ระเหยออกมาตามอุณหภูมิต่างๆ จะมีคุณสมบัติทางเคมีที่แตกต่างกัน นำไอนี้มาผ่านน้ำ ไอก็จะกลายสภาพเป็นน้ำมันในสภาพของเหลว และแยกตัวเป็นชั้นลอยอยู่เหนือน้ำ
เช่นเดียวกับกระบวนการกลั่นปิโตรเคมี เราใส่พลังงานเข้าไปมหาศาล เพื่อได้น้ำมันที่มีค่าพลังงานที่น้อยกว่าที่ใส่เข้าไป แต่โลกก็ยังทำอย่างนี้มาร้อยปีแล้วเนื่องจากน้ำมันขนส่งไปยังที่ไกลๆ ได้สะดวกกว่า
ในส่วนของสวนป่า การฝังกลบขยะในขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ในระยะยาวจะทำให้น้ำใต้ดินระดับตื้น(กว่าชั้นดินดาน/ชั้นหินที่ความลึก 13 เมตร) เกิดการปนเปื้อนได้ น้ำชั้นนี้ต้นไม้ในป่าใช้ในการเจริญเติบโต อีกทั้งขยะพลาสติกก็ไม่ย่อยสลาย
ความคิดเรื่องการเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมันนี้ น่าสนใจเหมือนกัน ไหนๆ ก็จะมีเตาเผาถ่าน biochar เพื่อปรับปรุงดินอยู่แล้ว และก็มีความร้อนเหลือใช้ซึ่งปล่อยทิ้งอย่างน่าเสียดาย หากนำความร้อนนี้มากลั่นน้ำมันได้ ก็จะสามารถประหยัดค่าน้ำมันที่ใช้กับเครื่องจักรกลในสวนป่าได้ อาจจะทดลองทำเล่นดูสักตั้ง มีปัญหาการควบคุมอุณหภูมิให้ถูกต้องที่ต้องลองคิดหาวิธีดูก่อน
เมื่อสามปีก่อน ผมขอให้โสทรซึ่งมีสวนยางอยู่ที่ตรัง ลองเอายางมาเผาดู ขอให้สังเกตเขม่าควันและกลิ่น เหตุที่ขอให้ทดลองเพราะผมไม่มียางจะเผาเล่น และจีนตอนใต้และเวียดนามระดมปลูกยางมาหลายปีจนจวนกรีดได้แล้ว เมื่อปริมาณยางในตลาดโลกมีมากขึ้น ราคาก็จะตกลง ชาวสวนยางจะเดือดร้อน จึงต้องหาวิธีการแปรรูปหรือเปลี่ยนแปลงยางไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการอื่นเพื่อรักษาระดับราคายางให้สูงไว้ ตอนนั้นผมคิดถึงกระบวนการ Thermal depolymerization (TDP) แต่เมื่อศึกษาในรายละเอียดแล้ว ปรากฏว่ามันแพงมาก
ในส่วนของยางนี้ เอามาใช้กลั่นน้ำมันตามหลักการในคลิปแรกได้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะดีหรือเปล่า
เมื่อตอนไปหาผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอจองเลขที่บ้าน ก็ได้คุยกับชาวบ้านซึ่งมีอาชีพกรีดยางมายุให้ผมซื้อที่ปลูกยางเยอะๆ (อรกว) รู้จากครูปูว่ามีนายทุนมาซื้อยางใช้ตาชั่งที่ไม่เที่ยงตรง ชาวสวนยางก็ไม่มีทางเลือกนอกจากยอมขายๆ ไปเพราะไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน นอกจากนายทุนรายนี้ ก็ไม่มีใครเข้ามาซื้ออีก จึงเป็นภาวะจำยอม เจอสถานการณ์นายทุนเอาเปรียบอย่างนี้อีกแล้ว เหมือนที่เคยไปเจอกรณีพืชไร่ที่หนองบัวลำภูเลย
ถ้าเปลี่ยนยางเป็นน้ำมันได้ละก็ เริดเลยครับ ใช้เป็นน้ำมันได้ เอาไปปั่นไฟฟ้าก็ได้
« « Prev : เฮเก้า
3 ความคิดเห็น
หลายสิบปีก่อนเคยไปดูงานหมู่บ้าน Agenda 21 ที่เดนมาร์ค เขาพยายามลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตมนุษย์ให้มากที่สุด ลืมไปหมดแล้วว่าเพราะไม่ได้เอามาใช้กัน มัวไปลุยเรื่องอื่นๆในชนบท เท่าที่จำได้คือ ใช้พลังแสงอาทิตย์ ใช้กังหันผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน เหลือขายเข้าระบบ ขยะ กำจัดโดยจัดทำขยะรวมของชุมชน ทำปุ๋ยหมัก ทำปุ๋ยชีวภาพ ระบบน้ำร้อนรวม บ้านออกแบบให้ประหยัดพลังงาน ฯลฯ