เก็บน้ำฝนในป่า
อ่าน: 7218คนในเมืองอาจมองว่าฝนเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ในที่ที่ไม่มีน้ำประปานั้น ฝนเปรียบเหมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกาย เพราะน้ำคือชีวิต
น้ำฝนคือน้ำกินน้ำใช้ เมื่อฝนตกลงมา ถ้าปล่อยทิ้งไปก็เหมือนไม่รู้ค่าของน้ำ เมื่อเรานึกถึงการรองน้ำฝนไว้ใช้ ก็มักจะนึกถึงหลังคาและรางน้ำฝน แต่รางน้ำฝนก็มีราคาแพงมาก ไปช็อบปิ้งกับครูบาเจอรางน้ำฝนไวนิลราคาเมตรละสามร้อยกว่าบาท เอื๊อก ไม่ได้บอกว่าแพงหรอกนะครับ แต่ว่าซื้อไม่ไหวเหมือนกัน หลังคาของโรงเตาเผาถ่านยาว 100 เมตร เทลงทั้งสองด้าน ดังนั้นหากติดรางน้ำฝน ก็จะเป็นเงินหกหมื่นกว่าบาท
บรรยากาศข้างเตาเผาถ่านนั้นร่มรื่นมาก นอกจากไปตั้งกระต๊อบตรวจการณ์ไว้หลังหนึ่งแล้ว ครูบาคิดว่าจะย้ายลานกิจกรรมจากลานไผ่ (ลานลำไย) มาอยู่ในป่า จะสร้างห้องน้ำไว้ในป่าด้วยเพื่อความสะดวก ในเมื่อจะมีลานกิจกรรมอันใหม่ ก็ทำให้นึกไปถึงข้อจำกัดของลานกิจกรรมดั้งเดิม แม้จะมีม้าหินนั่ง แต่เป็นพื้นที่เปิด แดดร้อน ฝนตกยังเปียกอีกด้วย ดังนั้นผมก็คิดจะหาผ้าใบคลุมสิบล้อมากาง เป็นผ้าใบสีขาว ขนาด 6 x 9 เมตรโดยเอาปลายผูกไว้กับต้นไม้สูงในป่า (ผืนละ 390 บาท ซื้อเยอะน่าจะมีลด เคยซื้อมาแล้ว 6 ผืนแต่แจกไปหมดแล้ว 6×9.in.th)
ผ้าใบนี้จะเป็นร่มเงาบังแดดบังฝนได้ แสงสว่างทะลุลงมาได้ ต้นไม้ใต้ผ้าใบสังเคราะห์แสงต่อไปได้ แต่ไม่ร้อน ในเมื่อผ้าใบมีสภาพเหมือนหลังคา จึงสามารถใช้รองน้ำฝนได้ ผ้าใบขนาด 6 x 9 เมตร ผูกเป็นเพิงหมาแหงนให้หย่อนตรงกลางเล็กน้อยเพื่อที่ว่าน้ำฝนและเศษใบไม้จะได้มารวมกันตรงกลาง แล้วเทลงมาใส่กรวยซึ่งเอามุ้งลวดไปกรองเศษใบไม้ไว้ ก้นกรวยต่อกับท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ปกติก็ยาวท่อนละ 4 เมตร แต่เราตัดให้ยาว 2.5 เมตรก็พอ ก้นท่อพีวีซีปิดไว้
ต่อสายยางจากท่อพีวีซีไปเข้าถังเก็บน้ำ เมื่อน้ำหล่นจากผ้าใบ ผ่านมุ้งลวด ตกลงมาในกรวย และลงมาในท่อพีวีซี ก็จะไหลผ่านสายยางเข้าไปอยู่ในบ่อพักน้ำ (ซึ่งสูงได้มากที่สุดเท่ากับความสูงของท่อพีวีซี)
บ่อปูนเส้นผ่าศูนย์กลาง 80-100 ซม. สูง 50 ซม. 5 ท่อนพร้อมฝาหนึ่งฝา เก็บน้ำได้ 6.4 ลบ.ม. น่าจะราคาพันกว่าบาท ท่อพีวีซี (สีเทาสำหรับงานเกษตร ไม่รับแรงดัน) ราคาประมาณสามร้อยกว่าบาท ค่ากรวยกับมุ้งลวดไม่รู้ แต่ถึงยังไงบวกไปบวกมาแล้วน่าจะถูกกว่าหกหมื่นตั้งเยอะครับ
ถังเก็บน้ำสูงแค่ 2.5 เมตร จะมีแรงดันน้ำน้อยมาก แต่ติดปั๊มอีกตัวก็ไม่กี่พันบาท จะให้ซู่ซ่าขนาดไหนก็ได้ น้ำ 6.4 ลบ.ม. ถ้าใช้วันละ 20 ลิตรต่อคน ใช้ 10 คน 32 วันจึงจะหมด
ผ้าใบขนาดผืนละ 6 x 9 เมตร ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 800 มม./ปี ดังนั้น น่าจะเก็บน้ำฝนได้ 43.2 ลบ.ม./ปี/ผืน ถ้าแค่นี้ยังไม่พอ ก็ทำเพิ่มจนพอสิครับ
« « Prev : เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน
Next : มะเขือพวง จิ๋วแต่แจ๋ว » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เก็บน้ำฝนในป่า"