น้ำเริ่มลด งานจริงๆ เพิ่มเริ่ม
กรณี #น่านนะซิ เป็นกรณีที่ยาก เมืองน่านไม่ใช่เมืองผ่าน แม้จะเอาของไปบริจาค ก็จะต้องตีรถเปล่ากลับมา ทำให้ค่าขนส่งแพง(มาก)
เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ที่น่านปี 2549 คราวนั้นใช้พันธุ์ข้าว 16 ตัน ผมโทรไปขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่มฮักเมืองน่าน “คราวนี้เสียหายถึง 70 ตำบล เฉพาะตำบลที่ผมอยู่ ก็ต้องการพันธ์ุข้าวน่าจะถึง 4 ตัน” พันธุ์ข้าวที่ปลูกและกินกันในพื้นที่ เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวสะเมิง แต่ทางกลุ่มฮักเมืองน่านติดต่อไปทางสะเมิงแล้ว ยังไม่ได้คำตอบ จึงต้องดิ้นรนหาทางอื่น ซึ่งทางกลุ่มได้ทราบจากศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวอุบลราชธานี แนะนำข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 ตรวจสอบต่อ พบว่ามีอยู่ที่ศูนย์ฯ ที่ชุมแพ แต่อาจจะมีเพียง 700 กก. ถึง 1 ตันเท่านั้น — #ArsaDusit เช็คราคาค่าขนส่งอย่างรวดเร็ว ในเบื้องต้น รถบรรทุกจากเชียงใหม่ไปน่านหมื่นสาม แต่จากชุมแพ(ขอนแก่น)ไปน่านแค่เจ็ดพัน หึหึ ค่าครองชีพไม่เหมือนกันมั๊งครับ มีอาสาสมัครจากเชียงรายบอกจะขนให้ฟรี ขออนุโมทนาด้วยนะครับ เรื่องนี้ยังต้องรอความชัดเจนว่าจะมีพันธุ์ข้าวจากเชียงใหม่หรือไม่
ผมติดต่อป้าจุ๋มในลานปัญญาว่ามีทางช่วยเหลือชาวบ้านได้หรือไม่ มีหรือที่เห็นคนเดือดร้อนแล้วป้าจุ๋มจะไม่ช่วย ได้เรื่องอย่างไรแล้วจะติดต่อกลับมา ถ้าให้ก็จะจัดการเรื่องการขนส่งไปยังน่าน ถ้าขายก็จะซื้อครับ (ตอนนี้คงติดต่อกันวุ่นทั่วประเทศ เสาะหาพันธุ์ข้าวที่ต้องการ) ทางกลุ่มฮักเมืองน่านจะติดต่อกลับมาเย็นนี้
มีเรื่องให้แปลกใจอยู่ว่า น้ำท่วมครั้งนี้ น้ำเน่าเร็วมากทั้งที่เป็นต้นน้ำ เมื่อน้ำท่วม มีโรคที่มากับน้ำท่วมตั้งเยอะแยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉี่หนู น้ำกัดเท้า เป็นปัญหาสุขอนามัยตามติดมานอกเหนือจากความเครียด อาสาสมัครที่ลงพื้นที่ ลุยน้ำอยู่ตลอด มีเครื่องป้องกันนิดเดียว แต่ก็ลุยต่อไป
- ยายังขาดอยู่ แพทย์ก็ขาดแคลน [ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตลอดลำนํ้าน่าน]
- สภาพน้ำเน่าท่วมขัง ต้องรีบสูบออก บ่อน้ำของชาวบ้าน ก็ต้องสูบน้ำออกแล้วบำบัดด้วยคลอรีน ปั๊มน้ำจากจีน ท่อขนาด 2 นิ้ว เครื่องละสี่พันกว่า
- ขาดน้ำหมักจุลินทรีย์ (EM) สำหรับปรับปรุงสภาพน้ำ
- สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว การรู้่ความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในพื้นที่ที่ทันท่วงที จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ส่งของที่พื้นที่ต้องการไปดีที่สุดครับ พื้นที่แห้งยังพอมี แต่มีอาสาสมัครไม่พอสำหรับการจัดใหม่ เพื่อแจกจ่ายไปยังพื้นที่ประสบภัยที่ต้องการอีกทีหนึ่ง เมื่อของมาลงยังศูนย์กระจายความช่วยเหลือแล้ว ต้องรีบขนลงพื้นที่เลย ดังนั้น จะส่งอะไร สอบถามความจำเป็นให้แน่นอนก่อนนะครับ ให้อาสาสมัครในพื้นที่ได้ใช้เวลากับการช่วยชาวบ้านจริงๆ
ป้าจุ๋มติดต่อเรื่องข้าวให้แล้ว ได้ความว่า (ถ้าฟังผิด ขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียวครับ)
- ขณะนี้ เลยฤดูปลูกข้าวเหนียวดอยไปแล้ว ข้าวที่ปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมสูงเป็นเมตรแล้ว ดังนั้นเมล็ดพันธุ์อาจจะหายากอยู่สักหน่อย เพราะยังไม่ถึงระยะเก็บเกี่ยว
- ข้าวพันธุ์ กข.6 แม้จะเป็นข้าวเหนียว แต่ปลูกกันที่พื้นราบ อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับภูมิประเทศของ จ.น่าน
- ในโครงการภูฟ้าพัฒนา จ.น่าน ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีคลังเมล็ดพันธุ์(ของกรมการข้าว)อยู่ ในกระบวนการปกติก็จะนำไปช่วยเหลือชาวบ้านอยู่แล้ว พอมีเรื่องอุทกภัยนี้ ป้าจุ๋มคุยกับเพื่อนในกรมการข้าว ทำให้แน่ใจว่าความจำเป็นในพื้นที่นั้นรู้ถึงกรมการข้าวแล้วครับ
เขียนแล้วเครียด ปะคลิปที่น้องชายถ่ายแล้วส่งมาให้ดูก็แล้วกันครับ My name is Albert อัลเบิร์ตเป็นหมาเริงร่าหน้าพัดลม มีนิวาสถานอยู่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยว
« « Prev : ปัญหาเก่าๆ กับความคิดเก่าๆ
4 ความคิดเห็น
ประเทศไทยทั้งประเทศ หาพันธุ์ข้าวช่วยน่าน จังหวัดที่มีพลเมืองเบาบางไม่ได้ ผมว่าขายทอดตลาดมันเลยดีไหม ไอ้ประเทศนี้ ยิ่งในช่วงหาเสียงแบบนี้ หุหุ
หาไม่ได้จริงๆ ขอจากสปป.ลาวก็ได้นะผมว่า ลาวคงดีใจที่ได้ช่วยไทยมั่ง
เป็นราชสีห์ไม่ควรลืมหนู (แม้ว่าราชสีห์ที่แบกเสลี่ยงพาฝรั่งชมวิวโล”ภา”ภิวัฒน์ก็ตามทีเถิด)
“ฝากเรื่องข้าวเพิ่มเติมคะ นอกจากพันธุ์ข้าวแล้ว ตอนคุยครั้งสุดท้ายกับพี่สำรวยกลุ่มฮักเมืองน่าน พี่สำรวยบอกว่า อีกสองวันข้าวสารหมดแล้วคะ ^^”
อยากจะขอทำความเข้าใจกับ#1อาจารย์ withwit สักนิดนะคะ ไม่ใช่ประเทศไทยทั้งประเทศหาพันธุ์ข้าวช่วยชาวนาน่านไม่ได้และไม่มี… แต่ข้าวบางพันธุ์นั้นเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น…จะมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกในแต่ละพื้นที่เท่านั้น พันธุ์ข้าวที่ว่านั้นเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวดอย ซึ่งจะนิยมปลูกบนดอยและตามไหล่เขาทั่วไป หรือเรียกว่าข้าวไร่ ซึ่งเป็นข้าวที่คุณภาพดี กลิ่นหอมและอร่อยมากด้วยค่ะ(เรียกว่าคนที่เคยกินข้าวเหนียวดอยแล้วก็ไม่อยากกินข้าวเหนียวอื่นเลย)…
ดังนั้นเมล็ดพันธุ์จึงมีเฉพาะในกลุ่มที่นิยมปลูกและก็ได้ใช้ไปแล้ว(ส่วนมากชาวนาเขาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง และไม่ค่อยมีสำรองมากเพราะเขาไม่นิยมเก็บเมล็ดพันธุ์ข้ามปี)
สำหรับหน่วยราชการที่รับผิดชอบด้านเมล็ดพันธุ์ข้าวดอย เท่าที่ทราบอย่างน้อยมี 2 แห่งคือศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนและศูนย์วิจัยข้าวเสมิง ซึ่งเป็นแหล่งที่ชาวนานิยมปลูกข้าวดอย
การปลูกพืชเกือบทุกชนิดส่วนใหญ่ต้องเป็นไปตามฤดูกาล ไม่เช่นนั้นจะไม่ออกดอกออกผล
ฤดูปลูกของข้าวดอยนี้ก็เช่นกันเขาเริ่มกันเริ่มเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา(คือพอเริ่มมีฝนเขาก็รีบปลูกเลย) ดังนั้นมาถึงตอนนี้ก็ปลูกมาได้เกือบสองเดือนแล้ว เรียกข้าวกำลังงามทีเดียว น่าเห็นใจมากค่ะ อีกไม่นานก็จะได้ผลผลิตแล้ว
ในขณะนี้แม้หลังน้ำท่วมจะได้รับเมล็ดพันธุ์ไปก็ไม่แน่ว่าจะปลูกและได้ผลผลิต ถ้าหากปลูกตอนนี้เกรงว่าในช่วงที่กำลังจะให้ผลผลิตเป็นปลายฝน…น้ำไม่พอผลผลิตก็จะไม่ได้เช่นกัน
ทราบมาว่าการช่วยเหลือชาวนานั้นทางการ(หลายหน่วยงาน)ทราบและได้มีการเตรียมการเป็นขั้นเป็นตอนอยู่แล้วค่ะ
อาจารย์#1 withwit เล่น comment แรงอย่างนี้ คนที่เขากำลังทำงานมาอ่านเจอคงจะเสียใจเหมือนกันนะคะ
จะทำให้เกิดผล แค่คิดดีไม่พอ ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกตั้งเยอะนะครับ