พระปฐมสิกขาบท
อ่าน: 5124คืนนี้ มีเรื่องที่ไม่สบายใจเรื่อง “ความจริง” จากคนละด้าน เป็นคนละเรื่องเดียวกัน นำสู่ความไม่เข้าใจกันและความแตกแยก
ที่ใส่เครื่องหมายคำพูดหน้าและหลังความจริงนั้น เป็นเพราะไม่แน่ว่าความจริงจะเป็นข้อเท็จจริง — ข้อเท็จจริงไม่ต้องตีความ พิจารณาได้เองด้วยมโนคติ แต่ความจริงนั้นขึ้นกับมุมมอง เป็นการตีความส่วนตัวด้วยพื้นฐานจิตใจและข้อมูลที่มีอยู่ (มีทั้งอัตตา อคติ ค่านิยม และเรื่องที่รับฟังมา) เมื่อฟังบ่อยๆ เข้า เลยกลับกลายเป็นข้อเท็จจริงขึ้นมา ทั้งที่การตัดสินเรื่องที่ไม่รู้นั้น ยากจะเป็นการตัดสินใจที่ดีได้
เมื่อไม่สบายใจ ผมก็หาอะไรอ่าน คราวนี้อ่านพระไตรปิฎก เป็นที่รู้กันสำหรับผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนา ว่าสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัตินั้น มีที่ไปที่มาเสมอ ส่วนสิกขาบทอันแรกที่ทรงบัญญัติ คือเสพเมถุนเป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันทีที่กระทำ
เรื่องเต็มๆ สามารถอ่านได้จากลิงก์เมื่อกี๊นี้ครับ แต่ผมย่อความเอาตามที่พิมพ์ไหวได้ดังนี้
ในสมัยพุทธกาล สุทินน์กลันทบุตร บุตรเศรษฐีเดินทางผ่านไปในบริเวณที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่ เกิดศรัทธาก็เข้าไปขอบวช แต่ว่าหากไม่ได้รับอนุญาตจากแม่พ่อก่อน ก็ไม่สามารถบวชให้ได้
สุทินน์ ก็เลยกลับไปขออนุญาตพ่อแม่ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ก็เลยเป็นเรื่องเพราะเศรษฐีมีลูกชายโทนอยู่คนเดียว จะต้องดูแลทรัพย์สมบัติศฤงคารต่อไป ก็ไม่อยากให้บวช แม้สุทินน์จะเพียรขออนุญาตอยู่ถึงสามรอบ ก็ไม่ได้รับอนุญาต
สุทินน์ มีศรัทธาแรงกล้าจะบวชให้ได้ จึงตัดสินใจ planking ทันที ไม่ยอมกินอาหารด้วย พ่อแม่ก็ร้อนใจ พยายามหว่านล้อม ขอร้องให้เลิกล้มความตั้งใจจะบวชถึงสามครั้ง ซึ่งสุทินน์ ก็นิ่งเสีย ไม่พูดสักแอะ
เศรษฐีพ่อแม่ไปชักชวนเพื่อนกินเพื่อนเที่ยวมาหว่านล้อม แต่พูดไปสามครั้งก็ยังไม่เลิก planking ในที่สุดเพื่อนๆ ของสุทินน์ก็ไปบอกพ่อแม่ว่าขืนปล่อยไว้อย่างนี้ ตายแน่! สุทินน์กลันบุตรจึงได้บวชสมใจโดยพ่อแม่อนุญาต เมื่อบวชแล้ว พระสุทินน์สมาทานธุดงคปฏิบัติเคร่งครัด
ต่อมาเกิดทุพพิกภัยแถวบ้านเกิด พระสุทินน์จึงกลับไปเยี่ยม เนื่องจากรู้ว่าครอบครัวมีทรัพย์มาก จะเป็นโอกาสชักชวนให้ทำทานแก่ชาวบ้าน บรรดาญาติพระสุทินน์เมื่อได้ทราบข่าว ก็ยกข้าวปลาอาหารมาถวายอย่างมากมายจนเว่อร์ พระสุทินน์จึงแจกจ่ายภัตตาหาร 60 หม้อนั้นไปทั่ว
เช้าวันรุ่งขึ้น ระหว่างบิณฑบาตรใกล้บ้านบิดามารดา พระสุทินน์เห็นนางทาสีกำลังจะเทขนมสดที่ค้างคืนทิ้งไป พระสุทินน์บอกว่าถ้าจะทิ้งก็ให้เกลี่ยลงในบาตรนี้เถอะ นางทาสีจำพระสุทินน์ได้ จึงไปบอกเศรษฐีผู้พ่อแม่ พ่อของพระสุทินน์รีบมา จะเชิญไปฉันที่เรือนเศรษฐีให้ได้ทันที (ตามประสาเศรษฐีที่เอาแต่ใจตน) แต่วันนั้นพระสุทินฉัน(เพล)แล้ว จึงปฏิเสธ ท่านเศรษฐีจึงนิมนต์ไปฉันวันรุ่งขึ้น
รุ่งขึ้นเมื่อพระสุทินน์มายังบ้านเศรษฐี โยมพ่อก็ชวนสึกถึงสามครั้ง แต่ไม่เวิร์ค ส่วนโยมแม่ก็ชวนสามครั้งเช่นกัน โดยสองครั้งแรกบอกมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย สึกออกมาเอนจอยไลฟ์ดีกว่าซึ่งพระสุทินน์ก็ไม่ยอมสึก จนครั้งที่สาม โยมแม่บอกว่าท่านบวชและประพฤติพรหมจรรย์อยู่อย่างนี้ ทำให้ไม่มีลูกสืบสกุล ทรัพย์สมบัติที่มี ในที่สุดก็จะถูกเจ้าลิจฉวีริบไปในที่สุดเนื่องจากไม่มีผู้สืบสกุล คราวนี้พระสุทินน์ยอมจำนน บอกว่า “อาจทำได้” แล้วก็กลับไป
วันต่อมา โยมแม่ก็พาปุราณทุติยิกา(คงทำนองเป็นต้นห้องเมียเก่า)ไปหาพระสุทินน์ในป่า โยมแม่ชวนสึกอีกสามครั้ง สองครั้งแรกไม่เวิร์คเพราะชวนไปเสพสุขจากทรัพย์ศฤงคาร แต่คราวสุดท้ายใช้ท่าไม้ตาย คือขอลูกสืบสกุล พระสุทินน์เห็นว่าไม่มีข้อห้ามและเป็นโอกาสตอบแทนบุพการี จึงพาปุราณทุติยิกาเข้าป่าไปเสพเมถุนสามครั้ง จนนางตั้งครรภ์ [ข้อ 17]
เหล่าเทวดาต่างก็โจษจัน บอกต่อเล่าลือกันไปทั่ว ตำหนิพระสุทินน์ที่ทำตัวมัวหมอง ไม่ประพฤติพรรมจรรย์ พระสุทินน์เองก็เกิดเศร้าหมองด้วยระลึกได้ว่าไม่รักษาพรหมจรรย์ ภิกษุอาวุโสเห็นอาการ จึงสอบถาม (ไม่ตัดสินไปเลยโดยไม่รู้ความ) ซึ่งพระสุทินน์ก็รับ ภิกษุอาวุโส จึงติเตียนให้สติแก่พระสุทินน์ (ซึ่งคงรู้ตัวอยู่แล้ว จึงเศร้าหมอง) แถมนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเรียกประชุมสงฆ์ สอบถามเรื่องราว [ข้อ 20] (โดยส่วนตัว ผมรู้สึกดีใจที่ผู้ใหญ่ฟังความรอบด้าน ไม่ด่วนตัดสินไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด) จากนั้นจึงทรงบัญญัติสิกขาบทอันแรก “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้: ๑. ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.”
อนุสนธิจากเหตุการณ์นี้ ในภายหลังปุราณทุติยิกาและลูก ออกบวชและบรรลุอรหัตผล
แม้ไม่มีข้อห้าม สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ถ้ามีหิริโอตตัปปะ น่าจะตัดสินได้ด้วยมโนคติ การจะอ้างว่าไม่ได้ห้ามไว้จึงทำได้ถึงจะรู้ว่าไม่ดีไม่ถูกต้อง (เป็นการแถ) หรือแม้จะมีอำนาจทำได้ (ลุแก่อำนาจ) ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีหากการกระทำนั้นไม่ดีนะครับ เช่นเดียวกับทัศนคติที่ว่าโกงไม่เป็นไร ขอให้ทำงานได้ดีก็แล้วกัน กฏเกณฑ์ที่เป็นธรรม ต้องประกาศ และไม่มีผลย้อนหลังไปก่อนประกาศให้รู้กัน สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว จะปฏิเสธว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นไม่ได้ ก่อนจะทำอะไร ก็ขอให้พิจารณาให้ดี เพราะการปกปิดบิดเบือนนั้น ไม่เนียนหรอกครับ
« « Prev : น้ำเริ่มลด งานจริงๆ เพิ่มเริ่ม
12 ความคิดเห็น
ปาราชิกสี่เท่าที่จำได้คือ ฆ่าคน เสพเมถุน ลักทรัพย์เกินห้ามาสก และ อวดอุตริมนุสสธรรม (ธรรมอันมิได้มีในตน)
แต่ผมขอวิจารณ์ว่า เสพเมถุนและอวดอุตรินั้น น่าลดลงไปเป็นอาบัติสังฆาทิเสส มันไม่ได้ร้ายแรงปานคอขาด
กินเหล้านั้น ไม่น่าเชื่อว่า เป็นอาบัติเล็กน้อยมาก ปลงอาบัติได้ แม้เมาแอ่นไปถกจีวรเยี่ยวกลางพารากอน
ส่วนลักทรัพย์นั้นไม่น่าต้องเกินห้ามาสก ..แม้ 0.1 มาสก ก็น่าปาราชิก (ถ้ามีเจตนา)
พอปาราชิกแล้ว น่าให้เวลาฟอกใจ เช่น 10 ปีก็ล้างไพ่ ให้เข้ามาบวชใหม่ได้
พพจ. ทรงใจดำห้ามบวชเลยหรือ ไม่ทรงให้โอกาสคนเลยนะ เหี้ยมจริงๆ
ท่านพุทธทาสยังว่าเลยว่า ต้องเกิน 60 โน่นแหละ อารมณ์ทางเพศมันจึงพอจะลดลงได้ โชคดีผมเหลืออีกเพียง 4 ปี ก็จะลดลงได้แล้ว (หุหุ)
ถ้าเป็นผม สะตอเบอรี่ก็น่าจะปาราชิกครับ
แหลบ่อยๆ คบไม่ได้ อิอิ
ตอนผมบวช ไปขอนิสสัยหลวงพ่อใหญ่ที่วัดป่า สิ่งแรกที่ท่านให้ทำคือ ศึกษาพระวินัย ผมก็ไปอ่านเจอดังที่ท่านคอนดัคเตอร์เอามาโพสต์นี่แหละ
ผมยังว่า เออ มันเข้าท่านะ พพจ.ไม่น่ากำหนดแบบนี้เลย เขาทำไปด้วยแรงกดดันแบบนี้ ไม่ได้มีเจตนาลามกสักหน่อย
ศีล 227 ข้อ เล็กๆ น้อยๆ ผมศึกษาแล้ว ผมไม่ค่อยเถียง แต่ปาราชิกข้อนี้ผมเถียง
ผมว่าเจตนาสำคัญกว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว
ผมสมมติว่า ถ้าพระไปสู่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง คนทั้งหมู่บ้านขอให้พระสังวาสด้วยกะนางหนึ่งเพื่อสืบสกุล หากแม้นพระไม่ทำ จะฆ่าตัวตายกันหมดทั้งหมู่บ้าน
ดังนี้ พระจะทำอย่างไร ถ้าไม่สังวาสก็จะทำให้คนตายเป็นร้อย
ถ้าสังวาสก็ปาราชิก
สำหรับเรื่องสมมุตินั้น ขอสมมุติต่อด้วยว่าชาวบ้านที่แบล็คเมลพระ จะไม่ฆ่าตัวตายเพราะต่างเห็นความสำคัญของชีวิต(และการสืบสกุล)
หลวงพ่อปัญญาเคยบรรยายไว้ว่า “(เมื่อเวลาพระพุทธเจ้าจะ…)ส่งพระออกไปสอนธรรมะแก่ประชาชน พระองค์ตรัสสั่งว่า “พฺรหฺมจริยัง ปกาเสถะ - เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไปเพื่อประกาศพรหมจรรย์ อันไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดแก่เขา” ดังนั้นการประพฤติพรหมจรรย์ จึงควรจะเป็นสิ่งที่พระยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงจะไปสั่งสอนชาวบ้านได้ครับ
บทนี้ เป็นเรื่องธรรมะที่เขียนด้วยสำนวนไฉไลแห่งยุคสมัยที่อ่านแล้วชอบมาก ส่วนแก่นสารยกให้ท่านมีธรรมว่ากันไป เรื่องกิเลศมันติดตัวมนุษย์ การขืนการปีนเกลียวความต้องการทางธรรมชาติเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งยวด ทำได้กี่เปอร์เซ็นต์คงจะวิจัยยามอยู่เหมือนกัน
คนที่มองทะลุเรื่องนี้ แล้วหาทางแก้ไขอย่างมุ่งมั่นก็มีแต่ชาวพุทธนี่แหละ ชาวอื่นยังยอมให้พระมีเมีย ไม่หักดิบอย่างพุทธศาสนา ที่เห็นว่ากิเลศมันมีอิทธิพลต่อชาวโลก ที่โลกป่วนอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะบริหารกิเลศไม่ได้
กฎกติกาก็เอาไม่อยู่
กฎหมายก็เอาไม่อยู่
จารีตประเพณี-วัฒนธรรมก็เอาไม่อยู่
ศาสนาจะเอาอยู่ไหม
วินัยของศาสนาเข้มข้นพอที่จะต่อกรกับมนุษย์ที่เจาะหู เจาะหำ ไหม
คนยุคใหม่ แสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวไม่เจอ เพราะมองว่าเรื่องศาสนามันหนัก เหนื่อย ทรมาน มองไปว่ากลยุทธ หรือยุทธศาสตร์ทางศาสนาจะต้องปรับเปลี่ยนยังไงเพื่อจะสู้กับสังคมที่เปลี่ยนแปลง
โลกเปลี่ยน ศาสนาจะปรับกระบวนการอย่างไร
กลอุบาย ใหม่ๆจำเป็นหรือไม่
ในเมื่อศาสนากำลังต่อกรกับคนพันธุ์ใหม่ สังคมใหม่ วิทยาการใหม่ๆ
วันหลังเจอหลวงพี่ติ๊กจะถามอีกที
ว่าอย่างนี้ อย่างนั้น เป็นอย่างไร พระก็พระเถอะ มีโอกาสจีวรปลิว อิ อิ
เคยรู้จักนักล่าพระหล่ออยู่คนหนึ่ง
เรื่องนี้เล่าละเอียดไม่ได้ ..หวาดเสียว
สุดท้ายก็ชวนพระมาปล้ำจนได้
ด้วยคุณสมบัติและข้อเสนอยิ่งกว่านางมายาในตำนาน
หลอกได้แล้วก็ทิ้ง ทำสถิติล่าเหยื่อยรายใหม่ต่อไป อิ
ส่วนอื่นๆ นั้น ถอดความมาตรงๆ ครับ พระไตรปิฎกตั้งแต่ท้ายข้อ 11 บรรยายกริยา planking (นอนนิ่งทำตัวแข็ง) ไว้ว่า
ไม่ค่อยเห็นด้วยกับความเห็นหลายๆ อย่างข้างบน แต่ถือว่าเป็นความคิดแบบชาวบ้านและไม่ได้จาบจ้วงหลักธรรมคำสอนจนเกินควร จึงของดออกเสียง (ความเห็น) ก็แล้วกัน….
คำว่า ปุราณทุติยิกา มิใช่หญิงต้นห้อง แต่หมายถึงภรรยาเก่า หรือเมียเก่า ของพระสุทินน์ ตอนยังไม่ได้บวชนั้นเอง….
ปุราณ = เก่า
ทุติยิกา = คนที่สอง… ในที่นี้หมายถึงหญิงผู้เป็นคนที่สองต่อจากชายผู้เป็นสามี
เพิ่มเติมในวรรณกรรมบาลี มีศัพท์ที่แปลว่า เมีย หลายคำ เช่น ภริยา ทาโร ทุติยิกา ปิยา ฯลฯ
เจริญพร
นมัสการหลวงพี่
ผมเองอ่านดึกๆ ง่วง ก็ฉงนอยู่กับคำว่าปุราณทุติยิกา ของท่านคอนดัคตอร์
ปุราณ คือ โบราณ เก่า (ออกเสียงว่า ปุรานะ)
ทุติ ที่สอง เช่น ทุติยัมปิ ตติยัมปิ พุทธังสารนังคัจฉามิ
ยิกา ??? แต่หวลคิดไปถึง พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระพันปีหลวง?)
รวมกันทั้งหมดผมเดาว่า หมายถึง “เมียเก่าคนที่สอง” รองจากเมียคนที่หนึ่ง
แต่หากตีความตามหลวงพี่ ก็หมายความว่าเธอผู้นี้คือ “เมียคนที่หนึ่ง”
ผมต้องการรู้จริงๆ ไม่ได้มาต่อฝีปากเล่น
นิมนต์หลวงพี่วิสัชชนาด้วยครับ
ประเด็นนี้อาจมีนัยสำคัญมาก ต่อประวัติศาสตร์ อินเดีย โลก และศาสนาพุทธ
ไปค้นพจนาฯ๒๕๔๒ ที่งัดมาจากใต้โต๊ะ หาคำว่า ยิกา ไม่มี
หาอัยยิกา ก็ไม่มี แต่อัยการ แปลว่า การของพระราชา อ่านไปอ่านมา มีวงเล็บบาลี่ อยฺยิกา…อ้าวตรงกับ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเลย
สรุป ยิกา น่าแปลว่า “แม่” อัยยิกา ก็แม่พระราชา พันวัสสา คือ พันปี
ปุราณทุติยิกา อาจแปลว่า แม่เก่าคนที่สอง มากกว่า เมียเก่าคนที่สอง โอย..ยิ่งงง
หรือว่า แม่หมายถึงเมีย เช่น คนไทยเราวันนี้นิยมเรียกเมียว่า แม่ ก็มาก ..คือเรียกตามลูก ..ส่วนเมียก็เรียกผัวว่า พ่อ ..ซึ่งบางที่ก็ใช้เลย เพราะมีผัวอายุคราวพ่อ
เจริญพรอาจารย์ withwit
รู้สึกขำๆ ความเห็นของอาจารย์ อดไม่ได้จึงต้องมาชี้แจง (ปกติพักหลัก ไม่ค่อยจะชี้แจง เพราะต้องต่อความยาวสาวความยืดไม่เรื่อยๆ สำหรับอาจารย์ที่ว่าเป็นกรณีพิเศษ)
ทุติยิกา จัดว่าเป็นศัพท์ตัทธิตซ้อนตัทธิต แยกศัพท์ได้เป็น ทุ + ติยะ - อิกะ
ทุ … ศัพท์นี้แปลว่า สอง (2) เป็นจำนวนนับ (คำบาลีศัพท์ว่า 2 คือ ทฺวิ … แล้วก็แตกออกมาจากศัพท์นี้อีกหลายศัพท์ เช่น ทุ เทฺว ทฺวา พา ท ทิ… ก็แปลว่า 2 ได้ทั้งนั้น)
ตัทธิต เป็นรูปแบบหนึ่งของการปรุงศัพท์ในไวยากรณ์บาลี โดยใช้ ปัจจัยแทนข้อความหรือความหมายบางอย่าง เพื่อให้รูปคำศัพท์นั้นๆ สั้นลง….. ติยะ และ อิกะ เป็นปัจจัยในตัทธิต แต่มิใช่กลุ่มเดียวกัน (ตัทธิตมีอยู่ 15 กลุ่มย่อย …)
ติยะ … เป็นปัจจัยในปูรณตัทธิ เพื่อทำจำนวนนับธรรมดาให้เป็นจำนวนนับตามลำดับ ( เทียบอังกฤษ วัน ทู ทรี โฟ.. ก็เป็น เฟอด เซคัล เตอด … อะไรนี้แหละ) ดังนัน ทุ + ติยะ = ทุติยะ … แปลว่า ที่สอง
ทุติยะ + อิกะ = ทุติยะ …. แปลว่า หญิงผู้เป็นที่สอง
ส่วนที่เป็น สระอา คือ อัยยิกา หรือ ทุติยิกา เป็นการกำหนดให้รู้ว่าศัพท์นั้นเป็นเพศหญิง (ฟังว่าคล้ายๆ ภาษาฝรั่งเศษ ที่มีการกำหนดเพศของคำศัพท์ด้วย)
ยังจำได้ตอนเรียนบาลีกับอาจารย์เจ้าคุณท่านหนึ่ง พอจะเลิกสอน ท่านมักจะจบด้วยสำนวนว่า “ห้ามถามห้ามสงสัย” เพราะมิฉะนั้นก็ไม่อาจเลิกการเรียนการสอนในคาบนั้นได้…. คงจะทำนองเดียวกับที่อาตมาไม่ค่อยจะชี้แจง เพราะจะมีผู้สงสัยแล้วถามมาอีก ตอบกิ่ครั้งก็ไม่จบ….
จึงขอความเมตตาจากอาจารย์ว่า “ห้ามถามห้ามสงสัย” …………
เจริญพร
แก้คำผิด จากความเห็นข้างบน..
ทุติยะ + อิกะ = ทุติยะ……. แก้เป็น ทุติยะ + อิกะ = ทุติยิกะ
เจริญพร
นมัสเตขอรับหลวงพี่
ภาษาไทย ปาลิ สันสกริด เนี่ย ผมว่า มันดิ้นได้หลายเหลือ จริงๆ ทำให้ไทเราเป็นศูนย์รวมแห่งการพลิ้วทางภาษาในโลกาไปแล้ว (ผนวกความกะล่อนเข้าไปอีก โดยเฉพาะประดานักการเมือง)
หลวงพี่ไม่ต่อความยาวก็ดีแล้วหละครับ เพราะ แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร
ยกเว้นชนะมารร้ายคือกิเลส ..ห้าห้า อันนี้ใครชนะได้เป็นพระแท้แน่นอน
อยากถามต่อว่า ทำไม ท่านต้องบอกว่า ห้ามสงสัยห้ามถาม
ผมว่ามันมีอะไรลึกๆ มากกว่าการหมดเวลาสอน
เป็นมุกที่ดีมากขอรับ ผมขออนุญาตเอาไปใช้โดยไม่ขออนุญาต
แต่ผมขอโมหน่อย เป็นว่า “หมดเวลา ถ้าสงสัย ให้ถาม ติดตาม ความนึก ของตน”