แนวกันคลื่น
ถ้าน้ำไม่ท่วมได้ก็ดีหรอกครับ แต่ไม่รู้จะมาบ่นตอนนี้ไปทำไม ในเมื่อน้ำท่วมแล้ว เป็น Reactive approach เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
ในหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมเขียนเรื่องบ้านๆ มาเยอะแล้ว วันนี้จะลองเรื่องภัยในเมืองบ้าง คำว่าเมืองไม่ได้หมายถึงจังหวัดใหญ่ แต่หมายถึงชุมชนเมืองขนาดต่างๆ ที่มีถนนหนทางผ่านสะดวก จะเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอน้อยใหญ่ ต่างก็มีลักษณะของเมืองทั้งนั้น
เพราะว่าเราไม่มีแผนที่ความสูง การป้องกันน้ำท่วมจึงวางแนวป้องกันชั่วคราวได้ลำบากมาก เพราะไม่รู้ที่ไหนสูงที่ไหนต่ำ หากน้ำไหลเข้าท่วมเมือง ก็จะมีภัยซ้ำซ้อนจากคลื่นที่เกิดจากรถราวิ่งกันแบบไม่เกรงใจใคร บางทีก็เป็นคลื่นจากเรือ คนจะไปช่วยแต่รีบร้อน ดันไปสร้างคลื่นกระแทกบ้านเรือน เข้าใจได้ว่ามันเครียดมากครับ น้ำท่วม แถมมีคลื่นซัดมาโครมๆ บ้านจะทนไหวหรือไม่
สงสัยเหมือนกันว่าคลื่นทำงานอย่างไร หากทำแนวป้องกันเฉพาะบริเวณผิวน้ำ ให้มีส่วนจมน้ำ+เหนือน้ำสูงกว่ายอดคลื่นแต่ข้างล่างโบ๋ๆ แนวป้องกันแบบนี้จะดูดซับพลังงานของคลื่นได้มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ใช่ความคิดอันยิ่งใหญ่อะไรหรอกครับ แล้วก็ไม่ใช่ความคิดใหม่ในโลกด้วย
USDA/ARS เสนอแนวกันคลื่นในลักษณะคล้ายๆ กัน โดยหวังจะป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
ไอเดียของเขา ใช้ท่อ(พลาสติก)กลวงที่ข้างในมีอากาศทำให้ลอยน้ำ วางเป็นแนวระหว่างเสาเข็มที่ยึดไว้ไม่ให้แนวท่อลอยไปไหน เมื่อคลื่นพัดมาเจอแนวป้องกัน พลังงานของคลื่นก็จะถูกถ่ายให้กับท่อซึ่งดูดซับเอาไว้ส่วนหนึ่ง หากมีคลื่นผ่านแนวป้องกันไปได้ ก็จะลดความรุนแรงลง
ไม้ไผ่ได้ไหม? ได้ครับ ว่าแต่มีไม้ไผ่พอจริงหรือ
แต่แทนที่จะซื้อแหลกแบบทุนนิยม ผมคิดว่าหาถุงปุ๋ย ถุงน้ำตาลที่เหลือใช้ ใส่น้ำถ่วงน้ำหนักไว้สัก ¼ ถุง มัดปากให้แน่น แล้วเอาถุงเหล่านี้ มาผูกเรียงกันไว้เป็นแนว โยงไว้กับเสาไฟฟ้าไม่ให้ลอยไปไหน ก็จะได้กันชนคลื่นราคาถูก ผู้ประสบภัยจะได้มีอะไรทำ ไม่นั่งจับเจ่าคิดมากสงสารตัวเอง ทำอันนี้แล้ว นอกจากชาวบ้านทำได้เองไม่ยากเย็นแล้ว เพียงแต่ส่งถุงกับเชือกไปช่วย สามารถประหยัดค่าขนส่งได้เยอะ น้ำที่ใส่ในถุง ก็เอาน้ำที่ท่วมอยู่นั่นล่ะครับ
ผมว่าแนวคิดอย่างนี้ ทำให้ชาวบ้านที่ติดเกาะเครียดน้อยลง ไม่ต้องเป็นกังวลกับคลื่นมากนัก ไม่ต้องออกมาก่นด่า รถ/เรือที่ผ่านไปผ่านมา
เรื่องนี้จะปรับปรุงอย่างไรดี คงจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ล่ะครับ แต่คิดไม่ออก วันนี้ยุ่งทั้งวัน
Next : ขึ้นรอบปีที่สี่ของลานปัญญา » »
3 ความคิดเห็น
ผมเดาว่าคลื่นมันจะมุดหนีลงใต้แล้วโผล่ใหม่ด้านหลังครับ วิธีนี้น่าจะลดพลังคลื่นลงได้หน่อยเท่านั้นเอง ด้วยการสร้างแรงต้าน แต่ต้านไม่หมดแน่ครับ
เอาน้ำใส่ถุง เป็นความคิดที่ดีครับ แต่ควรทำราวห้อยเอาไว้ด้วย และถ้าทำหลายๆ ชั้น สัก 4 ชั้น อาจลดพลังคลื่นไปได้มาก 80% ก็เป็นได้
การทำหลายชั้นนั้น น่าจะสร้างง่าย แต่ทำให้แข็งแรงคงยากเหมือนกัน เพราะคลื่นเป็นโมเมนตัมของน้ำ ก็จะดึงเชือกที่ขึงกับเสา
เอ…หรือว่าทำแบบราวตากผ้าที่ตากกระสอบเล็กๆ ที่ขึงไว้เป็นแนวไว้ดีครับ ให้อยู่บนอากาศส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ ปลายใต้น้ำถ่วงน้ำหนักเอาไว้ เมื่อคลื่นมา ก็จะถูกแนวกระสอบต้านเอาไว้ หรือเปลี่ยนแปลงแนวของการเคลื่อนที่ของน้ำ ถ้าอย่างนี้เวิร์ค กระสอบขาด กระสอบรั่วก็ไม่สน
คลื่นพวกนี้เป็น surface wave ครับ ไม่ลงลึกใต้น้ำ แต่ถ้าเอาอะไรตื้นๆไปขวางไว้มันจะมุดลงล่าง หรือกระโดดข้ามแล้วแต่กรณีครับ
คลื่นสินามิ ก็คลื่นผิวน้ำด้วย