ใกล้แต่หาผิดที่

อ่าน: 4068

ผมคิดว่าทั้งสาธารณชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าใจคำว่าการจัดการภัยพิบัติไขว้เขวไป

การจัดการภัยพิบัติไม่ใช่การนำความช่วยเหลือไปให้ผู้ประสบภัย เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว จะมีความเสียหายเสมอ ไม่ว่าจะเยียวยา หรือแจกถุงยังชีพอย่างไร ก็ไม่เหมือนก่อนเกิดภัย — การบรรเทาทุกข์อย่างที่ทำกันโดยแพร่หลาย เป็นเพียงส่วนจำเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการภัยพิบัติเท่านั้น

การจัดการภัยพิบัติเป็นกระบวนการต่อเนื่อง มีสองส่วน คือการจัดการความเสี่ยง (ครึ่งซ้ายในรูปข้างล่าง) กับการแก้ไขสถานการณ์ (ครึ่งขวา) เป็นกระบวนการที่ใช้ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการยอมรับความจริง เป็นส่วนผสมหลัก ส่วนกำลังเป็นเรื่องรองลงไปครับ

Disaster Management Cycleกระบวนการจัดการภัยพิบัติตามรูปทางขวา มีอยู่หลายขั้นตอน แต่สิ่งที่เราทำกันคือไปอัดกันอยู่ในช่วงสีแดง แถมยังไม่มีการประสานกันเสียอีก จึงเกิดความอลหม่านขึ้น เกิดเป็นกระแส แย่งกันทำ แย่งกันช่วย ซ้ำซ้อน ทำไปโดยความไม่รู้

ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยหรอกนะครับ… ช่วงที่ผู้คนทุกข์ยาก ก็ต้องช่วยกันให้ผ่านไปได้ไม่ว่าจะทุลักทุเลขนาดไหน… แต่ถ้าหากต้องการจะช่วยจริงๆ แล้ว ไม่ต้องรอให้เกิดเป็นกระแสขึ้นมาก่อนได้หรือไม่ หาความรู้ พิจารณาล่วงหน้าก่อนดีไหมครับ ว่าจะช่วยอย่างไรดี

คลิกบนรูปทางขวาเพื่อขยาย — เมื่อเกิดภัยขึ้น ส่วนของการบรรเทาทุกข์ก็จะต้องทำโดยความเร่งด่วน ซึ่งคำว่าเร่งด่วนหมายถึงช่วยให้ผู้ประสบภัยปลอดภัย และดำรงชีวิตผ่านช่วงวิกฤตไปได้ ความปลอดภัยและปัจจัยสี่ต้องพร้อม

จะเป็นถุงยังชีพหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำไปเถิดครับ ขออนุโมทนาด้วย แต่จะส่งอะไรลงไปยังพื้นที่นั้น ควรจะรู้หรือประเมินล่วงหน้าได้ก่อน ว่าผู้ประสบภัยในพื้นที่ต้องการอะไรเป็นลำดับก่อนหลัง แม้จะฟังดูโหด (ภัยพิบัติเป็นเรื่องโหดร้ายอยู่ดี) แต่การส่งของที่ไม่เป็นที่ต้องการลงไปในพื้นที่ (หรือเรียกว่าองค์ทานไม่มีประโยชน์ต่อปฏิคาหก) กลับจะเป็นภาระต่อผู้ประสบภัย ผู้แจกจ่าย และการขนส่ง ต้องไม่ลืมวัตถุประสงค์ว่าเราต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ใช่เพียงช่วยให้ตัวเองรู้สึกดีว่าได้ทำอะไรบางอย่างแล้ว

ช่วงหลังเกิดภัย

@ การบรรเทาทุกข์ (disaster response)

การบรรเทาทุกข์คือมาตรการที่ปฏิบัติทันที ทั้งก่อนและหลังจากเกิดภัย มาตรการการบรรเทาทุกข์มีเป้าหมาย ที่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย มาตรการเหล่านี้จะเข้าไปเสริม+ทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป เช่น การค้นหาคนหายและการอพยพไปสู่พื้นที่ปลอดภัย สุขภาวะ อาหาร ที่พักพิงชั่วคราว การติดต่อสื่อสาร ข้อมูล

ประสิทธิผลของการบรรเทาทุกข์ ขึ้นกับการเตรียมพร้อมของพื้นที่เอง ดังนั้นแผนที่มีแต่ในกระดาษ+ทำตาม KPI เป็นไปตามทฤษฎี โดยไม่เคยซักซ้อมทำความเข้าใจ จึงไม่ค่อยเวิร์คหรอกนะครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ น้ำท่วม มีเรือหรือยัง เรือรั่วไหม มีเครื่องเรือหรือยัง เครื่องสตาร์ทบ้างหรือเปล่า มีน้ำมันไหม เรือแข็งแรงพอจะสู้น้ำป่าไหม(ไม่จำเป็นอย่าสู้กับน้ำป่าเด็ดขาด) … ฯลฯ

การบรรเทาทุกข์มักจะเป็นความช่วยเหลือที่มาจากภายนอกพื้นที่ประสบภัย ไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับพื้นที่มากนัก มาด้วยน้ำใจและเดาสุ่ม ถึงจะเป็นลักษณะ ระวัง-ยิง-เล็ง ก็ยังน่านับถือน้ำใจอยู่ดีนะครับ เพราะว่าภาวะภัยพิบัตินั้น เกินกำลังของท้องถิ่นที่จะจัดการด้วยตนเองอยู่แล้ว ถ้าหากจะเปลี่ยนกระบวนการบรรเทาทุกข์ให้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น ระวัง-เล็ง-ยิง ผู้ประสบภัยถึงแม้จะยังลำบากอยู่ ก็ควรพยายามร่วมมือกับหน่วยงานบรรเทาทุกข์ ให้ข้อมูลที่แท้จริงนะครับ

หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ มูลนิธิ กู้ภัย หรืออาสาสมัครนั้น น่าเห็นใจมาก เพราะตัวเองก็เป็นผู้ประสบภัยเหมือนกัน แต่ยังเห็นแก่ส่วนรวม ออกมาทำหน้าที่อีก; ดังนั้นหากจะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เหล่านี้ เวลาใครลงพื้นที่ก็อย่าไปสั่งเขามั่ว ไม่ว่าจะ(คิดว่า)ตัวเองใหญ่โตขนาดไหน ควรเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือสนับสนุนเท่าที่ทำได้ และขอข้อมูลเท่าที่จำเป็นจริงๆ… ทุกคนเค้ามีหอคอยงาช้างสั่งการมาจากระยะไกลอยู่แล้ว คงเป็นเวรกรรมหากคนที่ลงพื้นที่ไปช่วย ดันไปสั่งกรอกหูเขาถึงที่อีก จะเอาโน่นเอานี่ วุ่นวายไปหมด — ถ้าเป็นอย่างนั้น อย่าลงไปพื้นที่เลยครับ ไม่ต้องไปตรวจราชการก็ได้ ถ้าลงพื้นที่ไปแล้วไม่ได้ช่วยอะไร ก็อย่างไปเพิ่มภาระให้กับคนทำงานอีก

@ การฟื้นฟู​ (recovery)

การบรรเทาทุกข์ จะต่อด้วยการฟื้นฟู แต่ไม่จำเป็นต้องบรรเทาทุกข์ให้จบสิ้นเป็นเรื่องๆ ไป ทั้งสองอย่างอาจเริ่มไปพร้อมๆ กันได้ โดยค่อยๆ ถ่ายน้ำหนักจากการบรรเทาทุกข์มาเป็นการฟื้นฟู

การฟื้นฟูเป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้ประสบภัย ยืนบนขาของตัวเองให้ได้ โดยลดการพึ่งพาจากภายนอกให้มากที่สุด ทั้งนี้เพราะการบรรเทาทุกข์ที่เข้ามาจากภายนอก จะมีเวลาที่สิ้นสุดลงเสมอคนที่มาช่วยในช่วงบรรเทาทุกข์ไม่ใช่คนในพื้นที่ ยังไงเขาก็ต้องกลับบ้านเขา พอพ้นช่วงการบรรเทาทุกข์ไปแล้ว ทีนี้ล่ะของจริง ผู้ประสบภัยจะต้องอยู่กับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น และยืนหยัดฟื้นฟูชีวิตกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งให้ได้ด้วยตนเอง

@ การพัฒนา (development)

ในเมื่อเกิดความเสียหายในพื้นที่ประสบภัย หากมองในแง่ดี ก็จะต้องถือว่าเป็นโอกาสที่จะพัฒนา (สีชมพู) หมายความว่าสร้างใหม่ให้ดีกว่าเก่า

การพัฒนาไม่ใช่การทำให้กลับไปเหมือนเดิม เพราะว่าถ้าเหมือนเดิมแล้วก็ไม่เรียกว่าพัฒนา เมื่อภัยกลับมาอีกก็เจ๊งอีก ควรจะเข็ดเสียที การพัฒนาคือการทำให้ดีกว่าเดิม

แต่ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรดีกว่าเดิม เรื่องนี้ก็ควรจะร่วมกันถอดบทเรียนครับ ฟังความจริงจากหลายๆ ด้าน ส่วน “ผู้รู้” ไม่ว่าจะเชิญมาร่วมหรือไม่ได้เชิญ ก็ฟังไว้เป็นความจริงอีกด้านหนึ่ง พยายามแยกแยะบริบทของความจริงนั้นให้ออก แล้วเลือกสิ่งที่ดีมาใช้; อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเป็นคนตัดสินใจเองครับ

ช่วงก่อนเกิดภัย

ภัยพิบัติจะผ่านไปในที่สุด จะต้องมีเวลาได้สงบสุขบ้าง แต่ในช่วงเวลานี้ไม่ใช่ว่าควรจะอยู่นิ่งๆ รอจนเกิดภัยอีกครั้งหนึ่ง ในเมื่อภัยเคยเกิดขึ้นแล้ว ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก หากว่าเรามีเวลาเตรียมป้องกันหรือรับผลกระทบ ช่วงที่สงบสุขนี้เป็นจังหวะที่เหมาะที่สุดครับ

เมื่อเกิดภัยแล้ว ถึงยังไงก็เสียหายไม่ว่าจะบรรเทาทุกข์ได้เร็วเพียงใด งานป้องกันจึงมีความสำคัญมาก (และถูกมองข้ามมากเช่นกัน)

@ เตรียมการป้องกัน

ช่วงเตรียมการป้องกัน (prevention สีฟ้า) หมายรวมถึงการเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน ซึ่งรวมทั้งการเข้าใจความเสี่ยงของชุมชนเอง การวางแผนเชิงสถานการณ์​ (scenario planning) เพื่อประเมินความเสี่ยงของภัยชนิดต่างๆ และเตรียมมาตรการไว้รองรับล่วงหน้า

@ การบรรเทาผลกระทบ

ถึงภัยยังไม่เกิด ก็เตรียมการสำหรับบรรเทาผลได้ ยกตัวอย่างเช่นน้ำท่วมทุกเดือน 8 ก็อาจจะสร้างยุ้งฉางรวมไว้เก็บข้าวในพื้นที่สูง หาบ่อน้ำในบริเวณใกล้เคียง กำหนดพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ปลอดภัยของหมู่บ้านไปเลย และสื่อสารให้ อบต. จังหวัด ปภ. สพฐ. กำนัน นายอำเภอ มูลนิธิ กู้ภัย ฯลฯ ได้ทราบล่วงหน้าว่าเมื่อมีน้ำท่วม ชาวบ้าน xxx คนจะไปหลบภัยกันตรงนั้น จะมีเสบียงพออยู่ได้ y วัน ให้เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อไว้ ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังเป็นขั้นตอนที่นำเอาผลจากการเตรียมการป้องกันมาปฏิบัติด้วย เช่นอะไรไม่แข็งแรงก็ซ่อมแซมเสีย ถ้าพื้นที่มีปัญหาภัยแล้วเป็นครั้งคราว ก็ติดต่อ อบต.มาชุดบ่อน้ำ (ยุ อบต.ให้จ้างแรงงานชาวบ้านช่วยกันขุด ดีกว่าให้ อบต.ไปจัดจ้างผู้รับเหมา)

@ เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง

ขั้นตอน preparedness สีเหลือง ตรงนี้ เป็นการเฝ้านระวัง ติดตามข่าวสารของทางราชการ ความเคลื่อนไหวของลมฟ้าอากาศ ตลอดจนตรวจสอบแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของชุมชน

การซักซ้อมไม่ใช่เรื่องเล่นนะครับ เวลาเกิดภัยนั้น ผู้คนมักมีความสับสน ไม่ว่าจะมีขั้นตอนวางไว้ดีแล้วอย่างไร แต่ถ้าหากไม่เคยฝึกซ้อมเลย ก็มักจะปฏิบัติตัวไม่ถูก

อาจจะทำความตกลงของการเป็นบ้านพี่บ้านน้อง กับหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภออื่นในระยะไม่เกิน 50 กม.ได้ ไม่ว่าบ้านใดประสบภัย บ้านพี่บ้านน้องที่ไม่ประสบภัย สามารถให้ความช่วยเหลือได้ก่อนราชการอย่างแน่นอน

มองอะไรใกล้เกินไป ก็จะเห็นแต่สิ่งนั้น ลองถอยออกมาดูภาพใหญ่เพียงชั่วคราวไหมครับ จะได้เห็นว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น มีเรื่องอื่นต้องทำและประสานกันอีกเยอะเลย

« « Prev : คันดิน

Next : เรือสำหรับพื้นที่ประสบภัย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 2.7273650169373 sec
Sidebar: 0.15403890609741 sec