คันดิน

อ่าน: 3625

เมื่อตอนบ่าย มีโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องน้ำท่วมหนองคาย

สำนักข่าว TNEWS http://tnews.co.th/html/read.php?hot_id=24784แห่งหนึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยมีน้ำท่วมแต่คราวนี้ท่วม อีกแห่งหนึ่งเป็นเขตชุมชนใกล้แม่น้ำโขงซึ่งน้ำแรงเอ่อล้นตลิ่ง ทั้งสองที่แบนแต๊ดแต๋ เมื่อน้ำท่วมแล้ว ชาวบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ขึ้นไปอาศัยอยู่บนถนนหลวงซึ่งเป็นที่สูงที่สุดในบริเวณนั้น [แผนที่] รถยนต์เข้าออกไม่ได้แล้ว ซึ่งหมายความว่าอพยพออกไปไม่ได้ ความช่วยเหลือก็เข้ามาได้ยากลำบากเนื่องจากน้ำเริ่มท่วมสูง จะทำอย่างไรดี

เรื่องนี้ลำบากครับ เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้น จะเกินกำลังของท้องถิ่นที่จะจัดการเสมอ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เรียกว่าภัยพิบัติ แต่ถ้าเตรียมการล่วงหน้า ยังพอประทังได้ ซึ่งนั่นก็เป็นความสำคัญของการเตือนภัย ซึ่งไม่ใช่เตือนเพื่อให้รอลุ้น หรือตกใจจนเกิดเหตุ แต่เพื่อให้ทำอะไรบางอย่างที่เหมาะสมล่วงหน้า เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ตามความจำเป็นของพื้นที่

ในกรณีนี้ มีประกาศเตือนภัยพายุมาสิบกว่าฉบับแล้ว รูปข้างล่างเป็นปริมาณฝนสะสม

เมื่อรู้ว่ามีโอกาสเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน ก็ต้องหาที่สูงซิครับ

แต่ถึงไม่มีที่สูงก็ไม่ควรท้อแท้สิ้นหวังยอมรับชะตากรรม ยังพอทำอะไรได้เหมือนกัน คือ อบต. ควรหาพื้นที่ที่ไม่ไกลจากกลุ่มบ้านเรือนชาวบ้าน แล้วสร้างคันดินสูงและหนาปิดล้อมพื้นที่สี่เหลี่ยมไว้ ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตามแผนปฏิบัติการของจังหวัดที่เคยทำกันมาแล้ว การประกาศนั้นต้องให้ชาวบ้านรู้ด้วย ไม่ใช่แค่ปิดประกาศเอาไว้ที่ที่ทำการ อบต. เท่านั้นครับ

ถ้าหากจะใช้ถนนสูงเป็นด้านหนึ่ง ก็อาจได้ถ้าหากประสานกับเจ้าของถนนเสียก่อน คันดินที่มีหน้าตัดเป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมคางหมู สูง h เมตร ถ้าสันของคันดินหนา w เมตร ฐานก็จะหนา h+w เมตร โดยมีด้านที่เอียงทั้งสองด้าน ทำมุม 45° กับพื้นดิน

เมื่อใช้ความสูง h เมตร น่าจะกั้นน้ำได้ ½h เมตรได้อย่างสบายๆ แต่ถ้าระดับน้ำสูงกว่านั้น ก็จะขึ้นกับสภาพดินและการบดอัดคันดิน และการขุดดินมาทำคันดิน ก็ตักดินให้ห่างจากคันดินหน่อย เพื่อไม่ให้ฐานของคันดินเสียความแข็งแรงไป — บ่อดินที่ไปขุดมา จะกลายสภาพเป็นแก้มลิง เก็บน้ำไว้ใช้ในยาวแล้งได้ด้วย

พื้นที่ที่เป็นทางไหลของน้ำ เช่นบริเวณหุบเขา จะต้องระวังน้ำป่าและดินถล่ม ซึ่งกรณีของดินถล่มนั้น ควรเอาน้ำลงจากภูเขาให้เร็วที่สุด ซึ่งการเซาะร่องเล็กบนภูเขา ไล่ระดับลงมายังตีนเขา เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะดักเปลี่ยนทางน้ำที่ไหลตามไหล่เขา ให้เปลี่ยนไปไหลตามร่องที่ขุดไว้แทน (เนื่องจากมีความต้านทางต่ำกว่า) — เรื่องนี้ต้องทำตั้งแต่ฝนยังไม่ตกครับ ฝนตกดินเปียกแล้วอย่าทำครับ เพราะว่าเมื่อดินเปียกเป็นชั้นแล้ว มีโอกาสเกิดดินถล่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีความลาดเอียงสูง เช่นภูเขา

พื้นที่เมืองที่น้ำไหลบ่าเข้าท่วม กระสอบทรายน่าจะเหมาะกว่าคันดิน เพราะจะต้องรื้อถอนออกเมื่อน้ำท่วมผ่านไป แต่หากมีสิ่งกีดขวางลดความแรงของน้ำลงได้มาก ใช้กระสอบน้ำจะถูกและเร็วกว่าเยอะ หรือว่าใช้ผสมกันก็ได้ โดยชั้นล่างๆ เป็นกระสอบทราย/กระสอบดิน ส่วนชั้นบนๆใช้กระสอบน้ำเสริมความสูง — กระสอบน้ำ=>แทนที่จะใส่ทราย ก็สูบเอาน้ำที่เริ่มท่วมนั่นแหละใส่กระสอบแทน (ถ้ากระสอบรั่ว ใส่ถุงพลาสติกไปข้างใน) ก็จะเป็นกำแพงกั้นน้ำกั้นคลื่นได้ กระสอบน้ำไม่หนักเท่ากระสอบทราย จึงต้องมีความหนา (วางขนานกันให้กว้าง) มากกว่า

« « Prev : สร้างนิสัยใน 30 วัน

Next : ใกล้แต่หาผิดที่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 August 2011 เวลา 5:01

    บ้านใต้ถุนสูง น่าจะกลับคืนมาอีกในสภาวะปัจจุบัน ในพื้นที่ๆ ท่วมง่าย ท่วมบ่อย ท่วมมาก
    ถ้ามีบ้านสูง น้ำมาก็จัดบ้านใหม่ แบ่งพื้นที่ทำกิจกรรมประจำกัน
    เตรียมการก็ตุนน้ำ ตุนอาหาร ตุนของจำเป็นล่วงหน้า
    วิธีนี้จะช่วยตัวเอง พึ่งตนเองได้มาก
    แต่ถ้าไม่ตัดสินใจปรับปรุงแบบบ้าน ก็ต้องจ่ายค่าเสียมากขึ้นๆๆ

    แถมยังวิตก ที่แก้ไม่ตก ว่าจะแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จได้อย่างไร
    ถ้าแก้ไม่ได้ ก็กังวล ประสาท กิน ทุกช่วงฝน

    นึกว่า นกเตน จะบุกอีสาน นอนรอทั้งคืน นกบินไปทางไหนไม่รู้ โธ่ๆๆๆ
    อุตส่าห์ปลูกต้นไม้รอ ฝนโปรยเหมือนเยี่ยวจั๊กกะจั่น
    ที่ให้ท่วม ไม่ท่วม ที่กล้วท่วม กลับท่วมๆๆจมมิด อิ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 August 2011 เวลา 7:56
    ถ้าตอนสร้างบ้านไม่ได้คิดเผื่อไว้ ไม่เชื่อภูมิปัญญาบรรพบุรุษ เวลาภัยมาก็ต้องหาทางเอาเองครับ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.1728789806366 sec
Sidebar: 0.23321795463562 sec