ความปรารถนาดีอย่างเดียวไม่ได้ช่วยอะไร
อ่าน: 2997เมื่อตอนเกิดสึนามิขึ้นปลายปี 2547 ต้นปี 2548 ก็มีคุณหญิงคุณนายลงไปในพื้นที่ เอาของไปแจกผู้ประสบภัยเยอะแยะ แต่จะไปแจกเฉยๆ เพื่อถ่ายรูป ก็ดูกระไรอยู่ บรรดาไฮโซจึงสำรวจความเสียหาย โอภาปราศรัย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบตามมารยาท คำถามยอดนิยมออกมาในแนว เป็นอย่างไรบ้าง? ใครลงไป ก็ถามคำถามแนวนี้ โดยไม่รู้หรอกว่าคำถามในแนวนี้ hurt มากกว่า help
ทุกครั้งที่ผู้ประสบภัยเล่าถึงความสูญเสีย เขาก็คิดย้อนกลับไปถึงการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เครื่องมือทำกินบ้านช่องทรัพย์สินเงินทองมลายหายไปหมด — มีชาวบ้านที่สูญเสียสมาชิกของครอบครัวไปทั้งหมด บ่นให้ฟังว่า ลงมาสิบคณะ ทั้งสิบคณะถามแบบเดียวกันหมด พ่อแม่ภรรยากับลูกผมตายสิบเอ็ดครั้ง… ตายจริงครั้งเดียว แต่อีกสิบครั้ง ตายเมื่อผู้ประสบภัยต้องนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ เพื่อที่จะเล่าเรื่องให้ฟัง
แต่ถ้ามองในแง่ของความช่วยเหลือที่เข้าไปในพื้นที่แล้ว ก็จำเป็นต้องรู้ว่าผู้ประสบภัยต้องการให้ช่วยเหลืออะไรเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นความช่วยเหลือก็จะต้องอาศัยจินตนาการซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงได้
มีสไลด์จากกรมสุขภาพจิต เรื่องผลกระทบทางจิตใจจากภัยพิบัติ ซึ่งถึงแม้จะว่าเตรียมไว้สำหรับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ที่จะลงปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นหลัก อาสาสมัครที่จะลงไปในพื้นที่ก็ควรศึกษาก่อน เนื่องจากการลงไปทำงานในพื้นที่ ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับผู้ประสบภัยได้ และจะต้องระมัดระวังไม่ไปสะกิด ย้ำ หรือซ้ำเติมแผลในใจอีก
ข้อมูลที่ได้สำรวจมาแล้ว ควรนำมาแบ่งปันกัน เพื่อที่จะไม่ต้องไปถามผู้ประสบภัย(และเปิดแผล)ซ้ำซากครับ
การสื่อสารในสถานการณ์อย่างนี้ เป็นเรื่องที่เปราะบางมาก เป้าหมายของการบรรเทาทุกข์อยู่ที่ผู้ประสบภัย ทำให้เขากลับมายืนหยัดอยู่ด้วยตนเอง มีกำลังเพียงพอที่ฟื้นฟูชีวิตของเขาขึ้นมาใหม่ได้โดยเร็ว… งานบรรเทาทุกข์เป็นงานที่ลำบาก ต้องเสียสละเยอะ เป้าหมายไม่ใช่การได้รับการยกย่อง หรือแสวงหาชื่อเสียงเงินทองโดยอาศัยความทุกข์ยากของผู้คนนะครับ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้ดีก่อนที่จะทำอะไร ในพื้นที่ประสบภัย อาจจะมีหลายทีมที่เข้าไปทำงานร่วมกัน ข้อมูลต่างๆ จึงต้องนำมาแบ่งปัน ประสานงานกันระหว่างทีมต่างๆ ซึ่งมีความรู้ความชำนาญที่แตกต่างกัน (หรือแบ่งกำลังกันไปทำเพื่อลดความซ้ำซ้อน แล้วนำผล+ความคืบหน้ามาแบ่งปันกัน ร่วมกันทำ ร่วมกันเรียนรู้่)
สไลด์ของกรมสุขภาพจิตชุดนี้ มี 83 สไลด์ ผมเลือกมาเพียงบางส่วน ผู้ที่สนใจของให้โหลดชุดใหญ่ไปศึกษาเองตามลิงก์ที่ให้ไว้ครับ
Next : ประชุมเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ครั้งที่ 4 » »
6 ความคิดเห็น
แล้วทำยังไง เราจะให้บรรดาคุณหญิงคุณนายเหล่านั้น ได้มาอ่านบทความนี้ หรือได้เตรียมตัว เตรียมการ เตรียมใจ ก่อนเอาของไปแจกผู้ประสบภัยอย่างถูกวิธีการ และเข้าใจเขาจริงๆ ว่าควรจะทำตัวอย่างไร เพื่อให้ภาพที่มอบของแล้วมองกล้อง หมดไปจากหน้าหนังสือพิมพ์หรือจอทีวีเสียที
บางทีเราทำอะไร มีเป้าหมายชัดเจน เตรียมวิธีการที่คิดว่าดีแล้วไปใช้ แต่สิ่งที่คิดว่าดีแล้วนั้น มีอีกด้านหนึ่งเสมอ-สิ่งที่คิดว่าดีแล้วนั้น อาจจะยังไม่ดีพอ เพราะว่าดีหรือไม่ดี คนอื่นประเมินครับ ถ้าเราประเมินเอง ก็คงดีทั้งหมด แล้วก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ได้ อิอิ
เมื่อเราจะไปช่วยผู้ประสบภัย น่าจะเอาผู้ประสบภัยเป็นเป้าหมาย เอาข้อจำกัดของพื้นที่เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ครับ… ถ้ายังเอาอัตตาของตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น ฉันทำแล้วผู้คนต้องยกย่องชื่นชมฉัน สื่อไม่รู้ฉันก็ส่งข่าวไปให้ ฉันเคยมีประสบการณ์มาฉันก็จะทำของฉันอย่างนี้แหละเพราะมันเคยเวิร์ค อย่างนี้ไม่ได้ไปช่วยผู้ประสบภัยนะครับ แต่ไปสงเคราะห์ตัวเองเสียมากกว่า… ภัยทุกภัยแตกต่างกัน มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับงานทุกงานแตกต่างกัน ถึงจะเป็นงานจำเจซ้ำซาก ก็ไม่เหมือนกันทีเดียวหรอกครับ ถ้าหากมีสูตรสำเร็จ ใช้หุ่นยนต์ทำเป็นสายการผลิตก็ได้ครับ
ก่อนที่จะลงไปช่วย เราถูกฝึกและทำความเข้าใจกับข้อมูลเหล่านี้ก่อนค่ะ ไม่งั้นจะใช้”ความเคยชิน”เดิมๆ ไปตรวจ วินิจฉัย และบำบัดรักษา ซึ่งมัน”ไม่ใช่”
คนไข้ที่ต้องรับยาเนื่องจากมีโรคประจำตัวก็ต้องได้รับยา เพราะยาอาจสูญหาย แต่ไม่ใช่ไปหาโรค ไปเพื่อบอกว่าเขาป่วยทางจิตเวช เพราะในสถานการณ์เช่นนั้น อาการเหล่านี้เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าการสื่อสารเป็นเรื่องเปราะบาง การพูดไม่ว่าจะกับใคร อย่างไร ต้องไม่ลืมส่วนละเอียดเหล่านี้ ไม่งั้นเมื่อเราออกมา แล้วหมู่บ้านเขาแตกเป็นเสี่ยง คนที่เคยดูแลกันอยู่ แตกแยกกันหมด มีประโยชน์อะไร? ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด กลุ่มใด หลังเสร็จการบรรเทาทุกข์แล้วควรพูดคุยกันได้เพื่อหาทางช่วยเหลือกันต่อไป ให้เขายืนได้ด้วยตัวเองนะคะ
มีหลายกรณีที่ความปรารถนาดีกลับส่งผลร้ายด้วยครับเพราะแสดงออกด้วยบนพื้นฐานความคิดว่า เราปรารถนาดี แต่ผู้รับไม่อยู่ในอารมณ์ หรือฐาน หรือเงื่อนไข หรือจังหวะที่จะรับความปรารถนาดีนั้นๆ หลายครั้งก็เกิดกับตัวเอง หลายครั้งเกิดกับคนข้างๆ หลายครั้งเกิดกับ เจ้านายกับลูกน้อง พ่อแม่กับลูก ครูกับศิษย์ ฯลฯ
[...] ความปรารถนาดีอย่างเดียวไม่ได้ช่วย