โสเหล่กับผู้ปกครองโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
วันนี้ อ.วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ชวนผมไปโรงเรียนตอนช่วงเช้า โดยชวนเมื่อเดือนก่อนตอนที่ครูทั้งโรงเรียนมาเยี่ยมสวนป่า ตอนบ่ายวันนี้ผู้ปกครองเด็กนักเรียนจะลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ไม่ใช้เคมีเลย ข้าวคุณภาพนี้ สีแล้วนำมาให้เด็กๆ กิน
ทีแรกผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะให้ไปพูดอะไร คาดเอาเองว่าให้ไปแลกเปลี่ยนเรื่องประสบการณ์การเรียนรู้ของผม จนเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา อ.วิเชียรโทรมาคอนเฟิร์มซึ่งผมก็ตอบว่าไปได้ครับ แต่ดันไม่ได้ถามว่าจะให้พูดเรื่องอะไร
นัดแนะกับครูแมวว่าจะออกจากสวนป่า 7น. ออกมาจริงๆ 6:45น. ไปเยี่ยมโรงเรียนด้วยกันแล้วผมจะไปส่งครูแมวขึ้นรถต่อเข้ากรุงเทพ เราไปถึงโรงเรียน 8:15น. (แวะไปซื้อซาละเปากินกันคนละลูกก่อน ก็เลยไปถึงกระชั้นไปหน่อย) ได้พบ อ.วิเชียรอีกครั้งหนึ่ง คุยกันถึงงาน อาจารย์บอกว่าอยากให้คุยกับผู้ปกครอง ขอสัก 30-40 นาทีไหวไหม ให้กวนประสาทได้เต็มที่… แล้วผมก็ยังไม่ได้ถามหรอกครับ ว่าอยากให้พูดเรื่องอะไร
เอาเข้าจริง พูดไปหลายเรื่อง อุตลุดและอลหม่าน จำไม่ค่อยได้แล้วว่าพูดอะไรไปบ้างหรอกครับ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่ง ตอบคำถามจากผู้ปกครองอีก 20 นาที คำถามเยอะ ดีๆ ทั้งนั้นครับ… พูดถึงการเรียนรู้ การสอนไม่ใช่การถ่ายความรู้จากสมองหนึ่งไปยังอีกสมองหนึ่ง ความรู้มือสองที่ไม่ได้ตรวจสอบหรือตรวจสอบไม่ไหว (แต่ยังพิจารณาได้ว่าดีหรือไม่ดี) จิตอาสา จิตสาธารณะ การเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก อย่าผลักภาระในการพัฒนาเด็กทั้งหมดให้แก่โรงเรียน ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมช่วยกันมองช่วยกันกำหนดทิศทางและช่วยกันทำ ไว้ใจลูก สนับสนุนเขาในทางที่เขาเป็น อยากให้ลูกดี ตัวเราดีหรือยัง อยากให้ลูกมีคุณธรรม ตัวเรามีคุณธรรมหรือไม่ อยากให้ลูกซื่อตรง ตัวเราขายเสียงหรือไม่ ฯลฯ
แรกที่เดียว ผมไม่ค่อยอยากเล่าว่าผมเป็นใคร ทำอะไรมาบ้าง อยากให้พิจารณาว่าผมทำอะไร เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง แทนที่จะมาสนใจว่าผมเป็นใคร แต่อาจารย์วิเชียรถามขึ้นมา ก็เลยต้องเล่าให้ฟัง
จริงอยู่ครับ ผมอาจจะมีชีวิตที่สบาย ได้รับโอกาสที่ดี มีข้อจำกัดน้อย ไม่มีหนี้ แต่สิ่งที่ผมทำนั้นเป็นงานใหญ่ ลำบาก เมื่อตอนเริ่มทำ ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยเหมือนกัน แต่ผมก็ทำไปอย่างตั้งใจ ทำเต็มความสามารถ เจออุปสรรคก็ค่อยๆ หาทางออก ไม่ตัดสินใจโดยไม่รู้เรื่องหรือฟังความข้างเดียว (หรืออินมากจนเมาหมัด) สติ+อิทธิบาท ๔ ง่ายๆ ตรงๆ ปัญหาค่อยๆ คลี่คลายไป มีหน้าที่ก็ทำไป เป็นคนไทยมีหน้าที่พัฒนาประเทศก็ทำไป มากน้อยก็ทำ ไม่ต้องไปคิดมาก ไม่ต้องคิดกำไรขาดทุน เมื่อส่วนรวมได้ ตัวเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวมก็จะได้ด้วย ใครจะเห็นหรือไม่เห็นไม่ใช่ปัญหาของเรา เมืองไทยไม่เจริญเพราะมีแต่คนคิด มีแต่คนชี้นิ้ว แต่ไม่มีคนลงมือทำ
เท่าที่เช็คฟีดแบ็คก็ดูดีครับ หลังจากบรรยาย มีมาขอคุยส่วนตัวต่ออีกหลายท่าน มีคำถามหนึ่งน่าสนใจ ว่าผมไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน (เคย)มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต อย่างนี้ทำอะไรก็ได้ล่ะสิ… ผมไม่ค่อยเห็นด้วยหรอกนะครับ ผมรวยก็ไม่ใช่ความผิดของผมนะ ผมไม่ได้โกงใคร ไม่เคยทุจริตประพฤติมิชอบ และไม่ได้รวยเพราะมรดก ผมหาเงินได้มาก ไม่ใช้จ่ายบ้าบอ ไม่ซื้อเพราะอยาก ส่วนตำแหน่งหน้าที่การงาน(เคย)ใหญ่โต ก็เป็นเพราะ ซื่อสัตย์ ผลงานดี มีงานออกเสมอมา ไม่ค่อยอยู่เฉยๆ ไม่ได้ไปวิ่งเต้นใคร แล้วแต่ละงานที่ผมทำ ยากเย็นทั้งนั้น อุปสรรคเยอะ เหนื่อย คนอื่นเขาไม่ทำทั้งที่รู้ว่าทำสำเร็จแล้วจะดี
แต่ผมทำเพราะว่าเรียนปริญญาตรีวิศวะในมหาวิทยาลัยของรัฐ จ่ายค่าหน่วยกิตไปสี่ปีรวมห้าพันกว่าบาท ที่ถูกขนาดนี้เพราะเงินภาษีสนับสนุน เมื่อชีวิตผมมั่นคงแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่จะตอบแทนเงินภาษี ตอบแทนสังคมทีให้โอกาสเข้ามาเรียนผ่านระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย (เอนทรานซ์) บ้าง ผมเข้ามาเรียนได้ ก็มีหนึ่งคนเป็นใครก็ไม่รู้ที่พลาดหวังไป ทำจนเชื่อว่าคุ้มค่าการสนับสนุนการศึกษาของผม ส่วนที่ทำเกินไปจากนั้นเป็นความรักในงาน เป็นความตระหนักว่ากำลังทำประโยชน์ แม้ตัวเองจะไม่ได้อะไรก็ทำ… ไม่มีใครได้อะไรมาง่ายๆ หรอกครับ แต่ถ้าไม่ลงมือทำ จะมาหวังให้ใครหยิบยื่นความสำเร็จหน้าที่การงานหรือทรัพย์สินเงินทองมาให้ จะสมเหตุสมผลหรือ
แว๊ก…ลืมพูดเรื่อง AEC!
หลังจากคุยกันเสร็จ ก็ไปดูผู้ปกครองเกี่ยวข้าว ผู้ปกครองรู้ว่าข้าวนี้ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ดังนั้นลูกหลานจึงได้กินข้าวอินทรีย์ ได้รับประโยชน์เต็มที่ (พืชผัก โรงเรียนก็ปลูกเอง)… ได้คุยกับผู้ปกครองท่านหนึ่ง มีหนี้สิน ก็เลยแนะให้ลองเปลี่ยน ขืนคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ผลก็เหมือนเดิม อย่างนี้ไม่มีทางที่จะออกจากวงจรหนี้สินได้ จะออกจากวงจรหนี้สิน อย่าใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่จำเป็นหรือไม่เกิดประโยชน์ หัดทำเองแทนการซื้อ พิจารณาทำเกษตรอินทรีย์ หนี้สินจะค่อยๆ ลดลง มันไม่หายวูบข้ามวันข้ามคืนหรอกครับ เพราะว่าเวลาก่อหนี้ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน แต่ถ้าไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ จะรอไปถึงเมื่อไหร่
จากนั้นก็ไปกินข้าว และลากลับไปส่งครูแมวที่ท่ารถลำปลายมาศเพื่อนั่งรถทัวร์ไปโคราช จากนั้นค่อยต่อรถเข้ากรุงเทพอีกต่อหนึ่ง
Next : อุดมศึกษาจากหนังสือธรรมาภิธาน » »
ความคิดเห็นสำหรับ "โสเหล่กับผู้ปกครองโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา"