อุดมศึกษาจากหนังสือธรรมาภิธาน

อ่าน: 5220

จากหนังสือ ธรรมาภิธาน พจนานุกรมคำสอนพระพุทธศาสนา พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

อุดมศึกษา

การศึกษาทุกอย่างเพื่อให้ขึ้นถึงขั้นสูงสุด  คือ ปัญญา  ปัญญาสิกขาได้แก่ศึกษาปัญญาจึงเป็น   อุดมศึกษา ของคน ข้อที่ควรทราบก่อนคือ ปัญญาได้แก่อะไร? ศึกษาปัญญานั้นศึกษาอย่างไร?

ปัญญา คือความรู้ทั่วถึงความจริงของ สิ่งที่ควรรู้ทั้งหลาย คำว่า ปัญญา ซึ่งเป็น ภาษามคธ กับคำว่า ปรัชญา ซึ่งเป็นภาษา สันสกฤตเป็นคำเดียวกัน พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี” เพราะไม่มีแสงอะไรที่จะส่องให้เห็น ความจริงทั้งหลายได้เหมือนอย่างแสง ปัญญา เพียงแต่จะคิดเลขสักข้อหนึ่งจะใช้ แสงอะไรส่องให้เห็นได้นอกจากใช้ปัญญา คิด  ศึกษาปัญญา อันหมายถึงศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญานั้น คือ ศึกษาด้วยการเรียน ๑ การคิด ๑ การทำ ๑

การเรียนดังที่เรียกว่า  โสตศึกษา ศึกษาด้วยการฟังทางหู ดังที่ฟังครูอธิบาย หรือฟังเทศน์นี้ ทัศนศึกษา ศึกษาด้วยการ ดูทางตา เช่นดูหรือเที่ยวดูสิ่งต่างๆ  โดย มากศึกษาด้วยทางทั้งสองนี้ แต่ก็อาจศึกษา ได้ทางอื่นอีก คือ  ฆายนศึกษา ศึกษาด้วย การสูดกลิ่นทางจมูก   สายนศึกษา ศึกษา ด้วยการลิ้มรสทางลิ้น   ผุสนศึกษา ศึกษา ด้วยการถูกต้องทางกาย รวมความว่า ศึกษาด้วยอาศัยประสาททั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่การเรียนอาศัยทางหู ทางตามากกว่าทางอื่น เพราะบุคคลมี ภาษาสำหรับพูดถ่ายทอดความรู้ให้แก่กัน มีตัวหนังสือสำหรับเขียนอ่านแทนภาษา จึงอาจฟังหรืออ่านให้เกิดความรู้ขึ้นได้ ปัญญาที่เกิดจากความรู้ดังกล่าวเรียก สุตมยปัญญา แปลว่า  ปัญญาที่เกิดจาก การฟัง คือ ยกโสตศึกษาขึ้นเป็นที่ตั้งเพราะส่วนใหญ่เรียนด้วยการฟัง ถึงจะดู หนังสือนั้นๆ ก็ใช้แทนภาษาที่พูดกันนั้น เอง จึงอาจนับเข้าในโสตศึกษาได้

การคิด คือคนเรามีจิตใจ   และมีมันสมองซึ่งเป็นเครื่องมือของจิตใจสำหรับคิด อ่านต่างๆ จึงอาจใช้คิดให้เกิดปัญญาได้ ดังที่มีนักคิดพบความจริงต่างๆ และตั้ง เป็นศาสตร์ต่างๆ มาโดยลำดับ ปัญญาที่ เกิดจากการคิดนี้เรียก จินตามยปัญญา แปลว่า ปัญญาเกิดจากการคิด

การทำ คือทำให้มีขึ้น  ทำให้เป็นขึ้น เรียกว่า  ภาวนา แปลว่า การทำให้มีให้เป็น เช่น เมื่อเรียนการค้าเรียนการทำนาทำสวน มาแล้วก็ทำการค้าทำนาทำสวนขึ้น เมื่อทำ ขึ้นเองดังนี้ก็ได้ความรู้เกิดจากการที่ลงมือ ปฏิบัตินั่นเองโดยลำดับ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา แปลว่า  ปัญญาเกิดจากภาวนา คือการทำให้มีให้เป็นขึ้น

สรุป  วิธีศึกษา ให้เกิดปัญญาเป็นสาม คือ สุตะ การฟังหรือการเรียน ๑ จินตา การคิด  ๑ ภาวนา การลงมือทำ ๑ เรียก สั้นว่า สุจิ ภา

ได้กล่าวแล้วว่าปัญญาคือความรู้ทั่วถึงความจริง ฉะนั้นถ้ายังรู้ไม่ทั่วถึงในสิ่งใดก็ชื่อว่ายังไม่มีปัญญาสมบูรณ์ในสิ่งนั้น ดังที่มีเล่าถึงเด็กผู้เกิดในสกุลที่มั่งคั่งสามคน ซึ่งไม่เคยเห็นการทำนา กล่าวสนทนากันเรื่อง ที่เกิดของข้าว คนที่ ๑ กล่าวว่าข้าวเกิดในยุ้ง เพราะเคยเห็นแต่คนโกยข้าวออกจากยุ้ง คนที่ ๒ กล่าวว่า ข้าวเกิดในหม้อข้าวเพราะเคยเห็นแต่คนคดข้าวออกจากหม้อ คนที่ ๓ กล่าวว่า ข้าวเกิดในชามข้าว เพราะเคยเห็นแต่ข้าวในชามที่เขาคดมาตั้งเทียบไว้เสร็จ อีกเรื่องหนึ่งเรียกว่าคนตาบอดคลำช้าง คือมีตาบอด ๖ คนพากันไปดูช้าง แต่เมื่อไม่เห็นจึงใช้มือลูบคลำดู คนที่ ๑ เข้าไปคลำถูกที่สีข้างช้าง ร้องบอกขึ้นว่า รูปร่างเหมือนกำแพง  คนที่ ๒ เข้าไปคลำ ถูกที่งา ร้องบอกขึ้นว่า  รูปร่างเหมือนหอก คนที่ ๓ เข้าไปคลำถูกที่งวง ร้องบอกขึ้นว่า รูปร่างเหมือนงู  คนที่ ๔ เข้าไปคลำถูกที่เข่า ร้องบอกว่ารูปร่างเหมือนต้นไม้ คนที่ ๕ เข้าไปคลำถูกที่ใบหู ร้องบอกขึ้นว่า รูปร่างเหมือนพัด  คนที่ ๖  เข้าไปคลำถูกที่ หาง ร้องบอกขึ้นว่า รูปร่างเหมือนเชือก

เรื่องที่เล่ามานี้เป็นตัวอย่างของความรู้ที่ไม่ทั่วถึง รู้เพียงแต่ตอนใดตอนหนึ่ง จึงทำให้เข้าใจผิด คำโบราณก็มีว่าฟังไม่ได้ ศัพท์จับมากระเดียด ต่อเมื่อรู้ทั่วถึงจึงจะเข้าใจถูก ดังเช่นเมื่อมองเห็นช้างทั้งตัวจึง จะรู้ว่าช้างมีรูปร่างเช่นไร ข้อที่ว่ารู้ทั่วถึง ความจริงนั้นยังเป็นคำพูดรวมๆ อาจจะอธิบายออกไปได้อีกว่า คือได้รู้ทั่วถึงความจริงตามเหตุและผล พูดสั้นว่ารู้เหตุผลนั้นเอง เช่นในเรื่องการเรียน ก็มีความรู้ว่า อะไรเป็นเหตุให้การเรียนไม่ได้ผล อะไรเป็นเหตุให้การเรียนได้ผล และไม่ได้ผล หรือได้ผลอย่างไร

โดยปกติคนเราย่อมปลูกปัญญาได้เท่าที่มีโอกาสได้เรียนหรือได้ฟังได้เห็น เท่าที่สามารถคิดค้น และเท่าที่ได้ลงมือกระทำ เหมือนอย่างเรื่องเด็กสามคนนั้นรู้เรื่องที่เกิดของข้าวเท่าที่ได้เห็นมาเพียงเท่านั้น และเท่าที่คิดได้ในวัยเด็กเพียงเท่านั้น ถึงทุกๆ คนที่มีปัญญากันอยู่มากบ้างน้อยบ้างก็เช่นเดียวกัน คงมีความรู้เท่าที่ได้ ฟังได้เห็นมาเป็นต้นดังกล่าว ฉะนั้นจึงมีสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมากมาย เพียงแต่สิ่งที่คนไม่อาจเห็นได้ด้วยตาไม่อาจได้ยินได้ด้วยหู โดยปกติก็มีอยู่เป็นอันมาก  ไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งที่ละเมียดลึกซึ้งอย่างอื่น เรื่องของความรู้จึงเป็นสิ่งที่เรียนกันไม่จบ ต้องจัด เป็นหลักสูตรไว้สำหรับเรียนในโรงเรียนเท่าที่ควรจะเรียน เพื่อเป็นหลักวิชาสำหรับออกไปประกอบการงาน เพื่อครองชีวิต และเพื่อฝึกให้เกิดความฉลาดสามารถ เป็นต้น

หลักสูตรที่เรียนในโรงเรียนดังกล่าวนั้น ข้อที่ว่าฝึกหัดให้เกิดความฉลาด สามารถนั้นพูดสั้นว่าเพื่อลับปัญญา เหมือน อย่างลับมีดให้คม เพื่อจะได้ใช้ในการครองชีวิตต่อไป เพราะมีความรู้หลายอย่างที่ไม่ได้นำไปใช้ในการครองชีวิตโดยตรง เช่น วิชาคำนวณ เป็นต้น เรียนไปมิใช่เพื่อว่าจะทำอะไรจะต้องตั้งโจทย์เลขคิดคำนวณไปเสียทุกๆ อย่าง ทั้งนี้เว้นไว้แต่กิจการที่ต้องใช้หลักวิชาตามที่เรียนมาโดยตรง แต่การที่เรียนวิชาต่างๆ หลายอย่างก็เพื่อฝึกปัญญาหรือฝึกสมอง ให้เกิดความรู้กว้างขวาง ให้รู้จักใช้ความคิดอ่าน ให้รู้จักเหตุผล ให้มีความสามารถ ให้มีความเฉลียวฉลาด อันสมองหรือปัญญาก็คล้ายๆ กับร่างกาย ถ้าไม่มีการบริหารร่างกาย ไม่ใช้ร่างกายให้เคลื่อนไหวตามที่ควร ร่างกายก็จะอ่อนแอ และติดขัด สมองหรือปัญญาของคนก็เหมือนกัน ถ้าไม่บริหารด้วยการให้การศึกษาอยู่เสมอด้วยวิธีดังกล่าวก็จะโง่ทึบ ลงไป ไม่ฉลาดเฉลียว คิดอะไรไม่ค่อยออก รู้อะไรไม่ทันท่วงที การฝึกฝนสมองหรือ ปัญญาเพื่อให้เกิดความเฉลียวฉลาดจึงเป็นกิจที่ควรทำอยู่เสมอ

ปัญญาที่จะต้องนำไปใช้สำหรับชีวิตโดยตรงนั้น คือปัญญาที่สามารถใช้ช่วยตนได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก่ชีวิต คือ สามารถใช้ปัญญาแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ทำความสวัสดีให้เกิดขึ้นแก่ตนและผู้อื่น ในเวลา เช่นนี้ถ้าไม่สามารถช่วยตนได้ ถึงจะร่ำเรียนมามากก็เข้าลักษณะแห่งคำว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” ดังมีเรื่องเล่าเปรียบเทียบว่ามีนักเรียนนอกผู้หนึ่ง เรียนสำเร็จจากต่างประเทศกลับเข้ามา ทำงานในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งต้องข้ามแม่น้ำไป กลับทุกวัน และโดยปกติก็นั่งเรือจ้างของคนแจวเรือจ้างแก่คนหนึ่งเป็นประจำ ในขณะที่นั่งเรือจ้างข้ามฟาก ได้ถามคนแจวเรือจ้างว่า ลุงรู้ภาษาอังกฤษหรือเปล่า คนเรือจ้างตอบว่าไม่รู้ คราวต่อมาก็ถามว่า ลุงรู้ภาษาฝรั่งเศสหรือเปล่า คนเรือจ้างตอบว่าไม่รู้ ในคราวต่อๆ มาก็ถามว่า ลุงรู้แอลยิบรา (พีชคณิต) หรือเปล่า รู้ยีออรเมทรี (เรขาคณิต) หรือเปล่า คนแจวเรือจ้างก็ ตอบว่าไม่รู้ๆ ครั้นต่อมาวันหนึ่งเกิดมีคลื่น จัดจนถึงเรือจ้างล่มลง นักเรียนนอกผู้นั้นว่ายน้ำไม่ถนัด ก็ร้องขอให้คนแจวเรือจ้างช่วย คนแจวเรือจ้างจึงตอบว่า  ตนไม่มีความรู้อะไรสักอย่าง ให้นักเรียนนอกผู้นั้น เอาอังกฤษฝรั่งเศสมาช่วยซิ นักเรียนนอก ผู้นั้นรู้สึกว่าตนจะจมน้ำตายแน่ก็หมดความทะนงตน พูดอ้อนวอนขอให้คนแจวเรือจ้างช่วยแล้วจะกราบไหว้ขอโทษ ฝ่ายคนแจวเรือจ้างก็เกิดความสงสาร จึงว่ายน้ำไปช่วยพยุงให้ข้ามมาเกาะเรือจ้างไว้ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างแสดงว่า คนเรามีความสามารถในทางต่างๆ กัน ไม่ควรจะหมิ่นแคลนกัน คนแจวเรือจ้างมีความรู้ความสามารถใน ทางแจวเรือและในทางว่ายน้ำ อาจจะช่วยตนเองและผู้อื่นได้ในทางนั้น ดังที่อาจช่วย นักเรียนนอกให้พ้นจากการจมน้ำ แม้หนูก็ยังช่วยราชสีห์ได้ในนิทานอีสป และนักเรียนนอกผู้นั้นเมื่อถึงคราวคับขันดัง กล่าวก็ต้องใช้วิธีขอโทษและวิธีกราบไหว้ ซึ่งเป็นความอ่อนน้อมและอ่อนโยนซึ่งผู้ปกครองได้สอนมาแต่เด็กๆ นั่นเองเป็น เครื่องช่วยตน

ปัญญาเป็นเครื่องช่วยตนในการดำเนินชีวิตจริงๆ  ดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสเรียก   นิปกปัญญา แปลว่า  ปัญญา เป็นเครื่องปกปักรักษาตน กล่าวโดยทั่วไป ได้แก่ความฉลาดที่มีลักษณะสามอย่าง คือ

(๑)   ความฉลาดรู้ในทางเจริญ คือ รู้ ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลในทางเจริญ เรียก อายโกศล

(๒)   ความฉลาดรู้ในทางเสื่อม คือ รู้ ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลในทางเสื่อมเสีย เรียก อปายโกศล

(๓)   ความฉลาดรู้ในอุบาย คือ วิธี นำตนเข้าไปสู่ทางเจริญ รอดพ้นจากทาง เสื่อมเสีย เรียก อุปายโกศล

โกศล คือความฉลาดรู้ทั้งสามนี้   เมื่อมีรักษาตัวอยู่ย่อมจะดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาดแม้เป็นผู้ปกครอง เช่นเป็นมารดาบิดาก็จำต้องมีให้กว้างขวางออกไปจึงสามารถจะให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่บุตรธิดาเป็นต้น ได้ โดยเฉพาะโกศลข้อสามจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง เป็นต้นว่าการศึกษาในบัดนี้ สามัญศึกษาจำต้องเรียนทั่วไปทุกคน ส่วนวิสามัญศึกษามีมาก ซึ่งก็ล้วนเป็นทางเจริญทั้งนั้น จึงมีปัญหาว่าจะเรียนต่อไปทางไหน และจะควรเรียนต่อไปจนถึง อุดมศึกษาหรือไม่ ถ้าเรียนต่อไปได้จะ เรียนต่อไปในสาขาไหน และเมื่อเรียนสำเร็จแล้วจะทำงานอะไร งานที่จะพึงทำก็มีมาก ล้วนเป็นทางเจริญต่างๆ กัน ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้โกศลข้อสามตัดสิน คือ ความฉลาดรู้ในอุบาย หมายถึงวิธีนำตนเข้าไปหาทางเจริญ โดยความคือความเจริญ ใดๆ ก็ตามถ้าตนไม่สามารถจะเข้าไปหาได้ ทางเจริญนั้นๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ตน ส่วนทางเจริญที่เป็นประโยชน์แก่ตนนั้น ก็เฉพาะที่ตนสามารถเข้าไปหาได้เท่านั้น การนำตนเข้าไปหาทางเจริญที่ตนสามารถ จะเข้าไปหาได้นี้เรียกว่า อุปาย ในที่นี้แปล ว่า เข้าไปหาทางเจริญฉะนั้นความฉลาดรู้ ในข้อนี้จึงจำต้องรู้เหตุแวดล้อม เป็นต้นว่า (๑)  รู้เหตุ (๒)  รู้ผล ของเรื่องที่เกี่ยวข้อง (๓)  รู้จักตน ว่ามีกำลังสามารถเท่าไร เป็นต้น  (๔) รู้จักประมาณ (๕) รู้จักกาลเวลา (๖) รู้จักประชุมชน หรือหมู่คนที่เกี่ยวข้อง (๗) รู้จักบุคคล ที่เกี่ยวข้อง  เมื่อมีความรู้เหตุแวดล้อมต่างๆ ดังกล่าวจึงจะสามารถตัดสินลงไปได้ว่า จะควรเรียนหรือให้เรียนอะไรแค่ไหน จะควรทำงานอะไรซึ่งเมื่อเรียนและเมื่อทำไปแล้วจะเกิดความสำเร็จและความเจริญ นี้แหละคือ อุปายโกศล ฉะนั้นปัญญาที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตจริงๆ นั้นจึงต้องเป็น ปัญญาประยุกต์ คือที่เป็นได้พอเหมาะแก่ตนและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนจะสามารถทำอะไรไปได้ตามที่อยาก จะทำได้ก็เท่าที่ตนสามารถจะทำได้ตามที่เหตุต่างๆ ดังกล่าวแล้วอำนวย แต่คนที่มี ความฉลาดมากย่อมสามารถปรับตนให้ เข้ากับเหตุการณ์หรือปรับเหตุการณ์ให้เข้า กับตนได้ดีกว่าคนที่มีความฉลาดน้อย

หลักปัญญา ในพระพุทธศาสนามุ่งให้รู้ ตามหลักกว้างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อ กล่าวโดยเฉพาะก็อาจสรุปได้ว่า

(๑) มุ่งให้รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ควรมิควร

(๒) มุ่งให้รู้คติ คือความดำเนินไปของธรรมดา

(๓) มุ่งให้รู้จักความจริงตามเหตุผล หรือรู้เหตุผลตามเป็นจริง ดังที่เรียกว่ารู้สัจจะคือความจริงนั้นเอง

(๔) มุ่งให้มีความเห็นชอบถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เป็นต้นว่าให้ทานรักษา ศีลมีผลดีจริง ทำดีได้ผลดีจริง ทำชั่วได้ผลชั่วจริง โลกนี้โลกอื่นมีจริง มารดาบิดามีคุณจริง สัตว์ที่ผุดเกิดตามกรรมมีจริง สมณะที่ประพฤติปฏิบัติชอบจนถึงรู้แจ้ง เห็นจริงดังเช่นพระพุทธเจ้ามีจริง ตลอดถึง คำสั่งสอนของท่านก็เป็นจริง

หลักปัญญาเหล่านี้เป็นหลักที่ควรเชื่อและควรศึกษาให้เกิดความรู้ทั่วถึง เมื่อยังรู้ไม่ได้เองก็เคารพเชื่อฟัง ไม่ลบหลู่ดูหมิ่น เหมือนอย่างบุตรธิดาเคารพเชื่อฟังโอวาทของมารดาบิดา หรือนักเรียนเคารพเชื่อฟังครูผู้ประสาทวิชา จะอวดเก่งกล้าไม่เชื่อ ท่านก็จะกลายเป็นคนดื้อถือรั้นไม่เข้าทาง เมื่อมีความเคารพอยู่ในหลักปัญญาตามที่ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็จะมีความเห็น และการปฏิบัติเข้าทางที่ถูก ไม่เตลิดออก ไปนอกทาง ใครๆ จะมาหลอกลวงลบล้าง ดังที่เรียกว่าล้างสมองแล้วบรรจุหลักอะไร ที่ผิดทางลงไปแทนหาได้ไม่

การศึกษาเพื่อให้เจริญปัญญาดังกล่าว สรุปอย่างสั้นว่า สำเหนียกเพื่อให้มีความรู้ เฉลียวฉลาด คือรู้จักเฉลียว  ไม่ประมาทไว้ วางใจ ดังที่เรียกว่ามีสติเฉลียวใจ  และมี ความฉลาดสามารถปกปักรักษาตนได้ ปัญญาอย่างนี้ประกอบด้วยสติสูงกว่า ความรู้ทั่วๆ  ไป ผู้ที่มีปัญญาดังกล่าว สามารถปกครองตนและผู้อื่นให้สวัสดีได้ดังเช่นพระมหากษัตริย์โดยลำดับรัชกาล มา ได้ทรงดำเนินพระราชกุศโลบาย (กุศล + อุบาย คือ อุปายโกศล นั่นเอง) นำประเทศ ชาติให้ผ่านพ้นอุปสรรคอันตราย รักษา สถาบันทุกอย่างของชาติไว้ได้โดยสวัสดี ดังที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์และในเหตุการณ์ปัจจุบัน กล่าวเฉพาะในบุคคล แต่ละคน ใครจะชื่อว่ามีปัญญาหรือไม่ มิใช่พิสูจน์ได้ด้วยใบประกาศนียบัตร แต่ พิสูจน์ได้ด้วยเหตุการณ์ที่ชีวิตของแต่ละ คนได้ประสบจริงๆ คือเมื่อประสบเหตุการณ์อะไรทุกอย่าง

(๑) ต้องรู้ว่ามีเหตุผลอย่างใด ผิดหรือถูกอย่างไร ควรหรือมิควรอย่างไร

(๒) ต้องสามารถหลีกละการที่มิควร ทำแต่การที่ชอบที่ควร

(๓) ต้องรู้วิธีที่จะปฏิบัติให้บังเกิดผลที่ดีโดยสวัสดีเรียบร้อย

ทั้งนี้ต้องอาศัยมีจิตใจตั้งมั่นแน่วแน่ ไม่อ่อนแอคลอนแคลนไปเพราะนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังที่แสดงแล้วในกัณฑ์ก่อน ซึ่งสรุปลงในความรัก ความชอบ ความชัง ความหลงนั้นเอง สิ่งใดที่จิตใจมีนิวรณ์ เกี่ยวเกาะอยู่ สิ่งนั้นก็ชื่อว่าเกี่ยวข้องกับตน ทำให้เกิดความลำเอียงไปตามภาวะของจิตใจ ดังเช่นเมื่อมีความชอบในสิ่งใดก็ย่อมเห็นว่าสิ่งนั้นดี เหมือนอย่างสวมแว่น สีแดงก็เห็นรูปต่างๆ เป็นสีแดง เมื่อมีความชังในสิ่งใดก็ย่อมเห็นว่าสิ่งนั้นชั่ว เหมือนอย่างสวมแว่นสีเขียวก็ย่อมเห็นรูปต่างๆ เป็นสีเขียว เมื่อมีความหลงในสิ่งใด ก็ย่อมซบเซาอยู่ในสิ่งนั้น เหมือนอย่างสวมแว่นสีดำก็ย่อมเห็นรูปต่างๆ  เป็นสีคล้ำ จึงไม่อาจตัดสินได้ถูกต้องตามเป็นจริง ต่อเมื่อสงบใจได้จากนิวรณ์ดังกล่าว มีจิตใจตั้งมั่นไม่คลอนแคลนแล้วพินิจดูใหม่อีกครั้ง หนึ่งจึงจะเห็นความจริงได้โดยถ่องแท้ เหมือนอย่างถอดแว่นสีออกแล้วจึงจะเห็น รูปต่างๆ ได้โดยถูกต้อง ท่านสอนให้ทำ สมาธิละนิวรณ์ก็เพื่อเหตุนี้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสโอวาทไว้ว่า

สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตํ ปชานาติ ภิกษุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลาย จงทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพราะว่าผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามเป็นจริงแล

การศึกษาให้เกิดปัญญาในพระพุทธศาสนานั้น โดยมุ่งตรงให้เกิดปัญญาใน อริยสัจจ์ ๔ คำว่า  อริยะ หรือ  อารยะ เป็นคำเดียวกัน หมายถึงคนที่ประเสริฐคน ที่เจริญ มีบางคนพูดว่าอารยชน อารยประเทศ บางคนชอบพูดว่า ทำประเทศไทยเจริญให้อย่างนานาอารยประเทศ ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า นานาอารยประเทศนั้นคือ ประเทศที่มีความเจริญอย่างไร? คำตอบปัญหานี้เข้าใจว่าน่าจะมีว่า คือเจริญด้วยความรู้ความสามารถในวิชาการในการ สร้างสรรค์ประดิษฐ์กระทำสิ่งต่างๆ ทั้งใน ด้านบำบัดทุกข์บำรุงสุข ทั้งในด้านทำลายล้าง มีความก้าวหน้าจนถึงเป็นผู้จัดการ โลกอยู่ในปัจจุบันนี้ อาจทำให้โลกสงบก็ได้ อาจทำให้โลกยุ่งเหยิงจนถึงเป็นสงครามโลกขึ้นก็ได้ อันที่จริงผู้ที่สามารถบันดาล โลกให้เป็นไปดังกล่าวได้นั้นก็นับว่าเก่งอยู่ เมื่อก่อนนี้ก็มักเข้าใจว่ามีใครหรืออะไรเป็นผู้บันดาล แต่บัดนี้เข้าใจกันทั่วไปแล้วว่ามนุษย์นั่นเองเป็นผู้บันดาล โดยมากก็ในประเทศที่เราชอบยกย่องว่านานาอารยประเทศนั้นเอง การเรียกคนที่เจริญว่า อารยะหรืออริยะ ก็เป็นการใช้เรียกที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์อยู่ ดังที่เรียกหมู่ชนที่อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศอินเดียเมื่อ ก่อนพุทธกาลว่าอารยัน หมายความว่าเป็นพวกที่เจริญ และยังมีการเรียกว่าอารยะ เพราะเหตุอย่างอื่นอีก ดังที่พระอาจารย์ ได้ประมวลแสดงไว้ ๔ ประเภท คือ

(๑)  อาจารอริยะ เป็นอริยะด้วยความ ประพฤติ

(๒)  ทัสสนอริยะ เป็นอริยะด้วยความ เห็น หรือด้วยมีรูปร่างและอิริยาบถน่าดู น่าชม

(๓) ลิงคอริยะ เป็นอริยะด้วยเพศ หรือด้วยชาติกำเนิด

(๔) ปฏิเวธอริยะ เป็นอริยะด้วย ปัญญา รู้ทั่วถึงในอริยสัจจ์

กล่าวเฉพาะในพระพุทธศาสนา นิยมเรียกบุคคลประเภทที่  ๔ นี้เท่านั้นว่าอริยะ หรืออารยะ อันได้แก่พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย สัจจ์ แปลว่า ความจริง รวมกันเข้าว่า  อริยสัจจ์ แปล ว่า ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่พระอริยะตรัสรู้ หรือความจริงอย่างประเสริฐ อริยสัจจ์นี้ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาโดย มากมักจะจำหัวข้อได้ คือ

(๑)  ทุกข์ แปลว่าความไม่สบายก็ได้ แปลว่าความทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนไปก็ได้ ในภาษาไทยเมื่อพูดว่าทุกข์ก็มัก หมายกันว่า คือความไม่สบายกายความไม่สบายใจ แต่ในทางพระพุทธศาสนายังหมายถึงความที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้อง แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในโลกนี้มีอะไรเล่าที่ตั้งคงที่อยู่ได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดวงอาทิตย์และดวงดาวทั้งหลาย ตลอดถึงโลกก็ไม่หยุดอยู่คงที่ ปีเดือนวัน คืนก็ไม่หยุดอยู่คงที่ ชีวิตก็ไม่หยุดอยู่คงที่ ทุกๆ คนเกิดมาแล้วก็เติบโตขึ้นเรื่อย เป็นเด็กเล็กเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาวโดยลำดับ และก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ยังเปลี่ยนแปลงต่อไป เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ จนถึงที่สุดของชีวิต ฉะนั้นพระพุทธเจ้า เพื่อจะทรงชี้ว่าทุกข์คืออะไรให้เห็นอย่างประจักษ์ชัด จึงทรงชี้ว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ  ความตาย  เป็นทุกข์ คือทรงชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต หรือของโลกดังกล่าวมานั่นเอง ข้อนี้เรียกว่าเป็น ทุกข์ประจำชีวิตหรือประจำโลก เมื่อยังมีชีวิตหรือยังมีโลกก็ต้องมีทุกข์ คือความ เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกประหลาดอันใด เมื่อจะสรุปกล่าวให้สั้น ความเกิดแก่เจ็บตายทั้งสี่นี้ย่อลงเป็นสอง คือความเกิดและความดับ ซึ่งเป็นสิ่งสกัดหน้าสกัดหลังของโลก หรือของชีวิตทุกชีวิต นี้แหละเรียกว่าคติธรรมดา  แปลว่า ความเป็นไปตามธรรมดา สิ่งที่เป็นไปตามธรรมดาดังกล่าวเรียกว่าสภาวะ คือสภาพ แปลว่ามีภาวะของตนเอง หรือเป็นไปเอง หรือจะเรียกว่าสภาวธรรมก็ได้ ชีวิตร่างกายเรียกว่าเป็นสภาวะทั้งนั้น อีกอย่างหนึ่งความไม่สบายใจของทุกๆ อย่างพระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ว่าเป็นทุกข์ ทุกๆ คนคงเคยประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง แล้วเกิดความทุกข์โศกต่างๆ นี้แหละ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นทุกข์โลก หรือชีวิตประกอบด้วยทุกข์ดังกล่าวมาแล้ว ฉะนั้นทุกข์จึงเป็นความจริงที่โลกหรือทุกๆ ชีวิตจะต้องเผชิญ

(๒) ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่าตัณหาคือความดิ้นรน ทะยานอยากเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ตัณหา มี ๓ คือ  กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อจะได้สิ่งที่รักใคร่

ปรารถนาพอใจ  ๑ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อเป็นนั่นเป็นนี่  ๑  วิภวตัณหา ความดิ้นรน ทะยานอยากเพื่อให้สิ่งหรือภาวะที่ไม่ชอบเสื่อมสิ้นไป ๑ ตัณหาดังกล่าวนี้เป็นเหตุ ให้เกิดทุกข์ใจต่างๆ ดังกล่าวแล้ว และเป็น เหตุให้ประกอบกรรมที่เป็นทุจริต ทำให้ ประสบความทุกข์เพราะทุจริตอีกส่วนหนึ่ง

(๓)  ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์   พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่าดับตัณหาเสียได้เป็นความดับทุกข์

(๔)  มรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ ได้แก่ทางสายหนึ่งที่มีองค์ประกอบ ๘ ประการคือ   สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (คือ เห็นอริยสัจจ์  ๔) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ (คือดำริออก ดำริไม่พยาบาท ดำริไม่เบียดเบียน)  สัมมาวาจา เจรจาชอบ (คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล) สัมมากัมมันตะ การงานชอบ  (คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (คือเว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด การทำเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ) สัมมาวายามะ พยายามชอบ  (คือเพียรพยายามป้องกันมิให้ความชั่วเกิดขึ้น เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำความดีให้เกิด เพียรรักษาส่งเสริมความดี)  สัมมาสติ ระลึกชอบ  (คือระลึกไปในที่ตั้งของสติ)  สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ  (คือตั้งใจให้เป็นสมาธิจนถึงอย่างแน่วแน่) มรรคมีองค์   ๘ นี้เป็นทางเดียวไม่ใช่แปดทาง แต่แบ่งออกเป็นองค์ประกอบเป็น   ๘ และสรุปรวมลงได้ในสิกขา ๓ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ  รวมเป็นปัญญาสิกขา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ รวมเป็นสีลสิกขา สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ รวมเป็นจิตตสิกขา  มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขานี้ เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

อริยสัจจ์ ๔ ประการนี้รวมลงเป็น  เหตุ และผล คือ ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นี้เป็นฝ่ายทุกข์  นิโรธเป็นผล มรรคเป็น เหตุ นี้เป็นฝ่ายดับทุกข์

การศึกษาอบรมปัญญาโดยตรงมุ่งให้รู้ ทั่วถึงอริยสัจจ์  ๔ เหล่านี้  และที่เรียกว่า ปัญญาหรือรู้ทั่วถึงนั้น ต้องรู้ในความจริง ต้องรู้ในกิจคือหน้าที่จะพึงทำ ต้องรู้ในกิจ ที่ได้ทำไปแล้ว จึงจะเป็น ปัญญาสมบูรณ์ การศึกษาก็สมบูรณ์

ผลของการศึกษา ในไตรสิกขาดัง กล่าวโดยตรง คือความสวัสดี ได้แก่ความ ปลอดภัย ความผ่านพ้นปลอดโปร่ง

สีลสิกขา ศึกษาปฏิบัติให้เป็นคนมีศีล คือมีความประพฤติดี ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ทำให้เกิดความสวัสดี คือ ผ่องพ้นจากความเป็นคนชั่วเสียหาย และ จากภัยเวรจากความทุกข์เดือดร้อนเพราะความชั่วร้ายเสียหาย

จิตตสิกขา ศึกษาปฏิบัติอบรมจิตให้ตั้งมั่นในความดี ทำให้เกิดความสวัสดี คือผ่องพ้นจากบรรดาเครื่องกั้นจิตไม่ให้ บรรลุความดี

ปัญญาสิกขา ศึกษาอบรมปัญญา ทำให้เกิดความสวัสดี คือผ่องพ้นจาก ความโง่เขลาเข้าใจผิด

ความสวัสดีผ่องพ้นดังกล่าวท่านเรียกว่าวิมุตติ  แปลว่าความหลุดพ้น ปฏิบัติพระธรรมของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะคือไตรสิกขาดังกล่าวเมื่อใด ก็ได้วิมุตติคือความหลุดพ้นเมื่อนั้นทันที ดังเช่นทุกๆ คนเมื่อรักษาศีล  เช่น ไม่ลักขโมยใครเมื่อ ใดก็หลุดพ้นจากความเป็นขโมยเมื่อนั้นทันที และพ้นจากภัยเวรที่เกิดจากความเป็นขโมย

ส่วน ผลโดยอ้อม คือผลดีต่างๆ   ที่เกิดจากความดีตามคราวที่ความดีนั้นๆ จะพึงอำนวยให้ เทียบอย่างเมื่อตั้งใจเรียนดี  ครู หรือผู้ปกครองก็ให้รางวัลเป็นบางครั้งบางคราว แต่ความเป็นจริงผลของการเรียนดี โดยตรงก็คือความรู้ที่ได้จากการเรียน นั่นเอง ส่วนรางวัลต่างๆ  ที่ได้รับเป็นผลโดยอ้อม หรือเป็นผลพลอยได้เท่านั้น

คนโดยมากมัก เข้าใจผิดในผลของความดี คือมักไปเข้าใจผลพลอยได้ว่าเป็นผลโดยตรง และมักไปมุ่งผลพลอยได้เป็น สำคัญ ดังเช่นเมื่อไม่ได้ผลที่เป็นวัตถุอะไรๆ ในเมื่อทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งก็มักจะบ่นว่าทำดีไม่เห็นจะได้อะไร รักษาศีลก็ไม่เห็นร่ำรวยอะไร ทั้งนี้เพราะไม่เข้าใจว่าผลของความดีคืออะไร เช่นความดีดังที่กล่าวแล้ว ผลของศีลก็คือความหลุดพ้นจากภัยเวรเพราะความประพฤติชั่วเป็นต้น วิมุตติคือความหลุดพ้นหรือความสวัสดีดังกล่าวนี้แหละเป็นผลแห่งความดีดังกล่าวทั้งปวง ผู้ที่ทำความดีได้อย่างมากย่อมแสดงถึงว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัว มีจิตใจกว้างขวาง เห็นแก่ผู้อื่น เป็นส่วนรวมที่กว้างขวางออกไปโดยลำดับ และ ย่อมเห็นว่าการให้สำคัญกว่าการรับ และ ย่อม บำเพ็ญความดีเพื่อความดี มิใช่เพื่อผลตอบแทนใดๆ เป็นสำคัญ ดังจะพึงเห็นได้ว่าบรรดาผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์ทั้งหลาย ซึ่งเรียกว่าเป็นผู้มีคุณทั้งสิ้นล้วนเป็นผู้ให้ เช่น มารดาบิดาเป็นผู้ให้ทุกๆ  สิ่งแก่บุตรธิดา ครูอาจารย์เป็นผู้ให้ศิลปวิทยาแก่ศิษย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ให้การปกครอง โดยทศพิธราชธรรม ให้ความปรากฏด้วยเกียรติและศรีสง่า ความเป็นขวัญใจ ความอุ่นใจ และความรวมใจแห่งประชาชน พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ให้แสงสว่างแห่งชีวิต ผู้มีอุปการะอื่นๆ  ก็ล้วนเป็นผู้ให้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยจิตใจประกอบด้วย การเสียสละ ท่านผู้ใหญ่เหล่านี้แหละชื่อว่าเป็นผู้มีคุณ ท่านผู้มีคุณทั้งปวงย่อม บำเพ็ญความดีเพื่อความดี อันแสดงถึง จิตใจที่หลุดพ้นหรือผ่องพ้นจากความชั่ว ตลอดถึงความเห็นแก่ตัว มากหรือน้อยตามภูมิชั้น ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยอบรมปัญญาให้รู้จักเหตุผลทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายก่อทุกข์และทั้งฝ่ายดับทุกข์ เทียบเคียงกันให้ประจักษ์ชัด และให้รู้จักคุณค่าของความดี ให้รู้จักตีราคาของความดีว่าสูงกว่าความชั่วและผลต่างๆ ที่จะพึงได้เพราะความชั่ว ให้รู้จักว่าความดีทำให้เกิดเกียรติ การรักษาเกียรติก็คือรักษาความดีเอาไว้ ทิ้งความดีเสียเมื่อใดก็เป็นเสียเมื่อนั้น เมื่อศึกษาอบรมให้มีความประพฤติ  มีจิตใจ มีความรู้ มีความเห็นเข้าทางแห่งเหตุผลที่ถูกต้องดังกล่าว ก็จักบรรลุถึงความเป็นคนโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลสรุปยอดของ การศึกษาของพระพุทธเจ้า (ท.ห. ๑๘๖-๑๙๙)

« « Prev : โสเหล่กับผู้ปกครองโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

Next : อะไรเป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "อุดมศึกษาจากหนังสือธรรมาภิธาน"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.49815702438354 sec
Sidebar: 0.149573802948 sec