การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ (2)
อ่าน: 2817บันทึกนี้ เป็นตอนต่อจากการเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ (1) ซึ่งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล แสดงปาฐกถาเนื่องใน “วันนักเขียน” เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2553 ตามที่กรุงเทพธุรกิจตีพิมพ์(ในลิงก์)
อันที่จริงการเขียนหนังสือในฐานะการสื่อสารทางจิตวิญญาณนั้น มิได้สิ้นสุดไปพร้อมกับยุคโบราณ แม้ในยามเมื่อมนุษยชาติก้าวล่วงมาถึงสมัยใหม่ การผลิตวรรณกรรมที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจและสร้างเสริมภูมิปัญญาก็ยังคงมีอยู่ กระทั่งมีวิวัฒนาการใหม่ๆ ทั้งในระดับศิลปะและขอบเขตการเผยแพร่
มาถึงช่วงนี้เราอาจจำแนกการแสดงออกทางจิตวิญญาณในงานเขียนได้ เป็น 2 ระดับ คือจิตวิญญาณของยุคสมัยซึ่งมุ่งเน้นและสร้างเสริมคุณค่าฐานะความเป็นมนุษย์ ในโลกของปุถุชน และจิตวิญญาณที่อยู่เหนือกาลเวลา ซึ่งมองเห็นด้านมืดของชีวิตสมัยใหม่และมุ่งเน้นนำพามนุษย์ให้ก้าวพ้นความ จำกัดของชีวิตในทางโลก
ตัวอย่างของนักเขียนประเภทแรกนั้นมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น รุสโซ วิคเตอร์ ฮูโก เอมิล โซลา เชคอฟ ตอลสตอย แมกซิม กอร์กี้ หลู่ซิ่น มาจนถึงเฮมิงเวย์ และสไตน์เบค ฯลฯ เป็นต้น สำหรับนักเขียนประเภทหลังก็มีไม่น้อยเช่นกัน เช่นดอสโตเยฟสกี้ คาลิล ยิบราน รพินทรนาถ ฐากูร เฮอร์แมน เฮสเส และอีกหลายๆ ท่าน
แน่ล่ะ ผู้สร้างงานเขียนเหล่านี้อาจจะไม่ได้อิงคำสอนทางศาสนาแบบที่เคยมีมาแต่เดิม แต่ก็ตั้งคำถามกับชีวิตที่เป็นอยู่ และเรียกร้องโลกที่ดีกว่า จริงกว่าหรือถูกต้องกว่า นักเขียนบางคนเขียนแทนเพื่อนมนุษย์ที่ไม่มีปากเสียง (ซึ่งเป็นการยกระดับทางจิตวิญญาณของตัวผู้เขียนเอง) นักเขียนบางคนเขียนถึงมิติของชีวิตที่โลกหลงลืม บ้างใช้เรื่องราวรูปธรรมของความจริงเฉพาะส่วน (particular) นำพาผู้อ่านไปสู่ความเข้าใจความจริงสูงสุด (universal) ของการเกิดมาเป็นคน
แต่ไม่ว่าจะมีความหลากหลายสักแค่ไหน ผลงานโดยรวมของท่านเหล่านี้ต่างก็มีส่วนช่วยเชิญชวนมนุษยชาติให้สลัดทิ้ง จิตใจที่หยาบกระด้างและเห็นแก่ตัว มาสู่จิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อนและวัฒนธรรมที่ใช้สติปัญญา
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่าที่โลกของเราหมุนไปสู่ความเจริญได้ ก็เพราะหนังสือมีส่วนสร้าง เพราะฉะนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเขียนหนังสือในความหมายนี้เป็นพลังขับ เคลื่อนทางสังคมที่สำคัญ แม้จะไม่ปรากฏชัดหรือเห็นผลทันตาเหมือนพลังอื่นๆ แต่ถ้าขาดหายไปเสียแล้ว สังคมก็อาจจะเติบโตแบบแคระแกร็นหรือพิกลพิการ
ส่วนคนที่เติบโตมากับวรรณกรรมที่เชิดชูคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ หรือวรรณกรรมที่มุ่งสู่อิสรภาพทางจิตวิญญาณ การใช้ชีวิตอย่างมักง่าย เอาแต่ได้และโง่เขลาเบาปัญญา หรือปราศจากมโนธรรมสำนึก คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเต็มที
นึกถึงความรู้สึกเมื่อได้อ่านบางวรรคตอนของ The Prophet ซึ่งเขียนโดย คาลิล ยิบราน หรือเมื่อได้อ่าน สาธนา ของรพินทรนาถ ฐากูร
ใช่หรือไม่ว่างานเขียนแบบนี้ ทำให้เราต้องมอบหัวใจให้แก่ผู้อื่น และสิ่งอื่นที่สูงส่ง โดยข้ามพ้นผลประโยชน์อันคับแคบของตัวเอง
และเมื่อทำเช่นนั้นแล้ว ก็ยิ่งค้นพบความลึกในจิตใจของตัวเรา
ถึงตรงนี้บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมจึงยกตัวอย่างแต่นักเขียนในระดับโลก ซึ่งแม้จะมีผลงานงดงามลึกซึ้งแต่ก็มิได้งอกงามขึ้นจากเนื้อดินของประเทศไทย อันที่จริงผมไม่มีเจตนาอันใดนอกจากเห็นว่าทั้งวรรณกรรมและประเด็นจิตวิญญาณนั้นเป็นเรื่องสากล อีกทั้งส่วนใหญ่ของนักประพันธ์ที่ผมเอ่ยถึงก็มีผลงานที่ถูกแปลเป็นภาษาไทย และคนไทยจำนวนไม่น้อยต่างรู้จักคุ้นเคย
กล่าวสำหรับกรณีของนักเขียนไทย ในช่วงแรกๆ ที่การเขียนและการอ่านงานสมัยใหม่หยั่งรากเฟื่องฟูขึ้นในประเทศเรา นักเขียนรุ่นก่อนจำนวนไม่น้อย ต่างก็ใช้งานเขียนของตนสมทบส่วนให้กับการสร้างจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย ด้วยการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ เพื่อให้ผู้คนในประเทศได้ยกระดับความเป็นมนุษย์ของตน
เช่นนี้แล้วในวงการเขียนของไทยจึงมีบรรพชนทางปัญญาซึ่งเป็นที่รู้จักดี อยู่หลายท่าน ยกตัวอย่างเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, อัศนี พลจันทร์, เสนีย์ เสาวพงษ์, อิศรา อมันตกุล, จิตร ภูมิศักดิ์, ทวีป วรดิลก และสุวัฒน์ วรดิลก ฯลฯ เป็นต้น
ที่ผ่านมาในอดีตคนไทยจำนวนไม่น้อยเติบโตและหล่อหลอมจิตวิญญาณของตนด้วย การอ่านงานของท่านเหล่านี้ แต่ก็น่าเสียดายที่ในระยะหลังๆ การเขียนหนังสือในทิศทางดังกล่าวไม่ค่อยมีคนสืบทอด ข้อนี้สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากแรงกดดันของตลาด ซึ่งเรียกร้องให้หนังสือเป็นแค่คู่มือแสวงหาโชคลาภ หรือไม่ก็เป็นแค่อุปกรณ์สร้างความบันเทิงเริงรมย์
ถึงวันนี้ เราคงต้องยอมรับว่าการเขียนหนังสือมิได้เป็นกิจกรรมของคนจำนวนน้อยที่เป็น นักปราชญ์หรือผู้นำทางจิตวิญญาณอีกต่อไป และคงต้องยอมรับอีกด้วยว่าทักษะในการอ่านเขียนที่ขยายกว้างออกไปในโลกยุค ใหม่ก็มีข้อดีอยู่หลายอย่าง สิ่งนี้เมื่อสมทบกับเทคโนโลยีการพิมพ์และการเติบโตของสื่อสิ่งพิมพ์ ย่อมช่วยให้คนจำนวนมากได้ติดต่อสื่อสารกันผ่านตัวอักษรมากขึ้น ความรู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ สามารถเผยแพร่ได้กว้างขวางขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อการเขียนหนังสือได้กลายเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง และทั้งผู้เขียนและผู้อ่านก็มีความแตกต่างหลากหลายมาก จึงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่เองที่จุดมุ่งหมายในการเขียนจะแตกกระจายออกไปหลายทิศทาง งานเขียนจำนวนหนึ่งอาจยังคงคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ งานเขียนจำนวนมากมีคุณสมบัติปานกลาง ไม่ก่อโทษแต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ก็มีงานเขียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เพียงขาดสาระสร้างเสริมความลุ่มลึกทางจิต วิญญาณ หากยังช่วยเร่งทำลายจิตวิญญาณมนุษย์ให้เหลือแต่เรื่องอหังการมมังการ
ในความรู้สึกของผม สภาพเช่นนี้นับว่าน่าเป็นห่วง เพราะว่ามันส่งผลต่อบทบาทสร้างสรรค์จรรโลงโลกของการเขียนหนังสือโดยตรง พูดง่ายๆ ก็คือพื้นที่สำหรับหนังสือดีมีน้อยลง และน้อยลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย ทั้งในร้านที่จัดจำหน่ายและในวิถีชีวิตของผู้คน
การที่หนังสือกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง และการผลิตหรือการจำหน่ายหนังสือกลายเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์อาจจะไม่ใช่สิ่ง เลวร้ายโดยตัวของมันเอง แต่พอมาบวกกับปัจจัยอื่นๆ ที่พาสังคมไทยมาสู่ภาวะไร้รสนิยมและแตกสลายทางด้านจิตวิญญาณ นับวันสภาพของตลาดหนังสือโดยรวมก็ยิ่งปฏิเสธหนังสือที่มีแก่นสารมากขึ้น ในทิศทางตรงข้าม หนังสือที่กระตุกกระตุ้นด้านมืดของมนุษย์ หรือหนังสือประเภท “จิตวิญญาณ” แบบเปลือกๆ ทิ้งแก่นเอากาก กลับมีพื้นที่เหลือเฟือในสถานที่จัดจำหน่าย
อันที่จริงสถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นกับตลาดหนังสือเท่านั้น หากเป็นปัญหาของวงการศิลปะแทบทุกแขนง ที่จำเป็นต้องอาศัยกลไกตลาดมาช่วยเผยแพร่ผลงาน ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนต์ที่มีระดับศิลปะสูงและมีเนื้อหาลึกซึ้งมักจะหาโรงฉายในเมืองไทยเกือบ ไม่ได้ ไม่ว่าจะได้รับรางวัลในระดับสากลมาสักกี่รางวัลก็ตาม
เช่นเดียวกับวรรณกรรมระดับรางวัลโนเบล หรือรางวัลอื่นๆ ของสากล งานดีๆ ระดับโลกเหล่านี้ พอถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วก็มักจะหายไปจากแผงหนังสืออย่างรวดเร็ว
นี่ยังไม่ต้องเอ่ยถึงตลาดการเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะไร้รสนิยมและการแตกสลายทางจิตวิญญาณไม่แพ้ตลาด หนังสือเหมือนกัน
…ยังมีต่อ…
Next : สื่ออะไรในสื่อสังคม » »
1 ความคิดเห็น
[...] …ต่อจากตอนที่แล้ว… [...]