บ้านปลอดภัย

โดย Logos เมื่อ 6 July 2010 เวลา 17:49 ในหมวดหมู่ เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 7681

ท่องเน็ตไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอข้อมูลว่าสิ่งปลูกสร้างหลังคาที่มีลักษณะเป็นส่วนของทรงกลม ที่เรียกโดยทั่วไปว่าโดม มีความแข็งแรง ทนทานต่อพายุ แผ่นดินไหว มีการนำไปสร้างที่อยู่ฉุกเฉินสำหรับผู้ประสบภัย ก็เกิดสนใจขึ้นมา

มาคิดดูแล้ว ทรงกลมมีการกระจายแรงออกไปทั่วทั้งโดม เมื่อโดนพายุ แรงลมก็จะกระจายออก ทำให้มีโอกาสพังน้อยกว่า พวกชอบผจญภัยถึงกับนำไปสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในทะเลทราย ที่มักมีลมกรรโชกแรงจากหลายทิศทางซึ่งคาดเดาไม่ได้ ในต่างประเทศ เขาเคลมว่าทนพายุระดับ Category 4 หรือ 5 ได้ — แต่ที่ทนไม่ได้คงไม่เอามาเล่าให้ฟังหรอกครับ อย่างไรก็ตาม ก็ยังน่าสนใจอยู่ดีล่ะครับ

ลักษณะการสร้างผิวโค้งในสามมิติ ต้องอาศัยฝีมือและการคำนวณมาก ดังนั้นก็มีการนำเอาสามเหลี่ยมมาต่อกันให้ได้รูปซึ่งดูคล้ายทรงกลม ซึ่งเรียกว่าจีโอเดสิกโดม ซึ่งจดสิทธิบัตรในสหรัฐเมื่อปี 2497 (หมดอายุความคุ้มครองไปนานแล้ว)

หากสนใจเรื่องคณิตศาสตร์ ขอเชิญค้นต่อตรงนี้ครับ

การนำสามเหลี่ยมหลายชิ้นมาขึ้นรูปกลมนั้น ที่จริงมีวัตถุที่เราคุ้นเคย คือลูกฟุตบอล ซึ่งก็ประยุต์ใช้งานคณิตศาสตร์ตรงๆ เลย

ถ้าสร้างทรงกลมได้ ก็สร้างโดมครึ่งทรงกลมได้เหมือนกันครับ

เมื่อเอาผ้ามาคลุม ก็จะได้โครงสร้างน้ำหนักเบา กันแดด กันฝน กันลมได้

ถามว่าดีกว่าเต้นท์หรือเปล่า ก็ไม่รู้แฮะ คงแล้วแต่สถานการณ์ เคยไปฝึก ร.ด.เมื่อนาาานนนนมาแล้ว วันหนึ่งมีพายุเข้า เต้นท์ในกองร้อยผมพังเกลี้ยงเลย ข้าวของเปียกหมด กองร้อยข้างๆ ฉลาดกว่า เค้ายุบเสาเต้นท์ลง ไม่ซ่ากับธรรมชาติ ข้าวของอยู่ครบ ไม่เปียกด้วย คนเปียกก็ไม่เป็นไร — ก็ดีไปอย่าง วันนั้นไม่ต้องฝึก วันรุ่งขึ้นก็ไม่ต้องฝึกเหมือนกัน… มันก็นานมาแล้ว แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญ

กลับเข้าเรื่อง หลังคาจีโอเดสิกโดม มีหลายรูปแบบ แล้วแต่โครงสร้าง เรียกเป็นแบบ 1V 2V 3V หรือ 4V โดยแบบ 1V เป็นโครงสร้างง่ายๆ ดูไม่ค่อยกลม และให้แผ่นขนาดใหญ่ แม้จะสร้างง่าย เสาที่นำมาทำเป็นโครงมีขนาดยาว ซึ่งอาจจะทำให้การกระจายน้ำหนักสู้แบบอื่นๆ ไม่ได้

รูปข้างบนอาจดูเหมือนหกเหลี่ยม แต่หกเหลี่ยมก็คือสามเหลี่ยมหกรูปประกอบกัน

แต่ในเรื่องการเตรียมที่อยู่อาศัยฉุกเฉิน เราไม่สร้างโครงสร้างถาวรแบบรูปข้างบน เราต้องการโครงสร้างที่แข็งแรงพอ ก่อสร้างได้เร็ว แต่ปลอดภัยที่จะพักอาศัย รอเวลาบูรณะฟื้นฟูซึ่งหลายกรณียาวนานหลายเดือน

โดมประกอบไปด้วยสามเหลี่ยมหลายแผ่น ซึ่งแต่ละแผ่นก็มีด้านสามด้าน (ไม่อย่างนั้นก็ไม่เรียกว่าสามเหลี่ยมหรอก)

เมื่อกำหนดขนาดรัศมีของโดมได้ ก็ใช้โปรแกรมคำนวณว่าจะต้องตัด “ท่อ” เพื่อนำมาประกอบเป็นด้านของสามเหลี่ยมมากน้อยเท่าไร; ท่อที่ตัดออกมา จะมีขนาดไม่เท่ากัน เวลาประกอบเป็นห้าหรือหกเหลี่ยม ให้เอา “แท่งสั้น” อยู่นอก และ “แท่งยาว” เชื่อมจากแท่งสั้นเข้าไปหาศูนย์กลายของห้าหรือหกเหลี่ยม

ตัวอย่างข้างล่างนี้ เป็นการสร้างจีโอเดสิกโดมแบบ 2V ครับ (แท่งสั้น และแท่งยาว มีความยาวซึ่งคำนวณมากจากโปรแกรมคำนวณ ตามลิงก์ในย่อหน้าที่แล้ว)

1. เอา “แท่งสั้น” 5 แท่งมาต่อกันเป็นแถวยาว ยังไม่ต้องขันให้แน่นเพราะเดี๋ยวจะต้องคลายออกเวลาเชื่อมกันส่วนอื่นอีก จุดที่เชื่อมกันใช้วิธีบีบให้แบน บิดให้งอปรมาณ 10° แล้วเจาะรูเพื่อร้อยน็อต
2. ใช้ “แท่งยาว” ต่อจากจุดเชื่อมต่อ “แท่งสั้น” เข้าสู่ศูนย์กลางของห้าเหลี่ยม
3. ทำห้าเหลี่ยมอีก 5 ชุด จะเห็นว่าถ้าจะขึ้นรูปห้าเหลี่ยมได้ ศูนย์กลางจะยกตัวขึ้นจากพื้นเล็กน้อย
4. เวลาเชื่อมแท่งสั้นกับแท่งยาว แนะนำให้เอาแท่งสั้นอยู่นอก และให้แท่งยาวอยู่ด้านในเหมือนกันทั้งโดม จะได้ไม่งงเวลาต้องแก้ไข
5. เชื่อมห้าเหลี่ยมเข้าด้วยกัน
6. เชื่อมห้าเหลี่ยมได้ 5 ชุด ก็จะเห็นฐานของโครงสร้างแล้ว
7. เมื่อเชื่อมห้าเหลี่ยม 5 อันเข้าด้วยกัน ที่พื้นจะแห่วงอยู่ ให้ใช้ “แท่งยาว” เชื่อมส่วนที่แหว่งอยู่ (ที่พื้น)
8. ด้านบน เหลือช่องสำหรับห้าเหลี่ยมอันสุดท้ายพอดี

โดมแบบนี้ สร้างง่าย รื้อง่าย นำไปประกอบใหม่ก็ได้ ใช้เป็นที่แสดงนิทรรศการชั่วคราว หรือหลบแดด หลบฝนก็ได้

« « Prev : รอบปีที่สองในการเป็นบล็อกเกอร์ที่ลานปัญญา

Next : ผลทดสอบกล้อง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 July 2010 เวลา 23:41

    ผมเคยไปดูงานที่เดนมาร์ค เขาพาไปเยี่ยมชุมชนที่แยกตัวออกมาจากเมืองเพื่อรวบรวมพวกคอเดียวกันมาปักหลักสร้างบ้านเองเอาแบบโดมนี้ และปิดทับด้วยแผ่นโซลาร์ เพื่อผลิตกระแสไฟใช้เอง บางชุมชนก็ปิดทับด้วยวัสดุกันความร้อน แต่กระแสไฟฟ้าใช้กังหันลม ซึ่งผลิตกระแสเกินใช้จึงขายส่วนเกินให้รัฐ  พวกคอเดียวกันนี้เป็นคนทำงานที่ตระหนักเรื่องพลังงาน และสิ่งแวดล้อม จึงรวมตัวกันไปสร้างคล้ายนิคม หรือหมู่บ้าน หรือคอมมูน  น่าสนใจครับ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 July 2010 เวลา 23:47
    ใช่ครับ พี่บู๊ดเคยเล่าให้ฟัง ผมนำบางส่วนไปเขียนบันทึก [ทิ้งเมือง]
  • #3 ลานซักล้าง » โครงสร้างรูปโดม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 March 2011 เวลา 0:42

    [...] ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างในปัจจุบัน ลักษณะผิวโค้งที่รับน้ำหนัก ไม่ใช่เรื่องยากเย็นนักหนา บ้านทนลมเป็นลักษณะโดมที่ผิวไม่ได้เรียบเหมือนหม้อ (geodesic dome) ที่สร้างบนผิวดิน ก็ยังรับลมพายุไหวครับ [...]

  • #4 ลานซักล้าง » โดมดาว (1) ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 December 2011 เวลา 20:07

    [...] [โดมสำหรับพักพิงชั่วคราว] และ [บ้านปลอดภัย] เอาไว้ แต่มาอ่านอีกที [...]

  • #5 ลานซักล้าง » โดมสำหรับพักพิงชั่วคราว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 January 2012 เวลา 22:25

    [...] เรียกว่า Geodesic dome [บ้านปลอดภัย] [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.69708204269409 sec
Sidebar: 0.51979684829712 sec