หลักศรัทธา
อ่าน: 3510พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลคำ ศรัทธา ว่า น. ความเชื่อ ความเลื่อมใส หรือ ก. เชื่อ เลื่อมใส
อย่างไรก็ตาม ตามหนังสือพุทธธรรม (ฉบับเดิม) โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) นั้น ศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้นในสัมมาทิฏฐิ และจะต้องเป็นศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างกับการศรัทธาเจ้าลัทธิ คนทรง ต้นไม้หรือสัตว์พิการแปลกประหลาด
สรุปคุณสมบัติและหน้าที่ของศรัทธาที่ถูกต้อง
ศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนทั่วไป ที่จะเข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา จึงเป็นธรรมสำคัญที่จำเป็นต้องเน้นให้มาก ว่าจะต้องเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักที่จะเป็นสัมมาทิฏฐิ ในที่นี้ จึงขอสรุปคุณสมบัติและการทำหน้าที่ของศรัทธาที่จะต้องสัมพันธ์กับปัญญา ไว้เป็นส่วนเฉพาะอีกครั้งหนึ่งว่า
- ศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา และนำไปสู่ปัญญา
- ศรัทธาเกื้อหนุนและนำไปสู่ปัญญา โดย
- ช่วยให้ปัญญาได้จุดเริ่มต้น เช่น ได้ฟังเรื่องหรือบุคคลใด แสดงสาระ มีเหตุผล น่าเชื่อถือหรือน่าเลื่อมใส เห็นว่าจะนำไปสู่ความจริงได้ จึงเริ่มศึกษาค้นคว้าจากจุดหรือแหล่งนั้น
- ช่วยให้ปัญญามีเป้าหมายและทิศทาง เมื่อเกิดศรัทธาเป็นเค้าว่าจะได้ความจริงแล้ว ก็มุ่งหน้าไปทางนั้น เจาะลึกไปในเรื่องนั้น ไม่พร่า ไม่จับจด
- ช่วยให้ปัญญามีพลัง หรือช่วยให้การพัฒนาปัญญาก้าวไปอย่างเข้มแข็ง คือ เมื่อเกิดศรัทธามั่นใจว่าจะได้ความจริง ก็มีกำลังใจเพียรพยายามศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง วิริยะก็มาหนุน
ศรัทธาโดยนัยนี้ ไม่ใช่ความเชื่อโดยงมงาย เพราะความงมงายไม่นำไปสู่ปัญญา แม้ในทางพุทธเอง ตามหนังสือพุทธธรรม (ฉบับเดิม) ก็บอกว่าศรัทธาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ (คือศรัทธาให้ถูกเรื่อง) ไม่จัดอยู่ในมรรคมีองค์แปด เมื่อมีปัญญามากขึ้น ศรัทธาควรจะแทนที่ด้วยปัญญา (ตัวรู้) ล้วนๆ (ซึ่งไม่ได้แปลว่าความเคารพครูบาอาจารย์จะหมดไป) หากศรัทธาไม่หายไป จะติดแหงก!
การปฏิเสธ (ไม่ใช่ ไม่จริง ฯลฯ) เป็นความอหังการ์อย่างหนึ่ง การที่จะปฏิเสธได้นั้น ผู้ที่ปฏิเสธจะต้อง”รู้”ทั้งหมดว่าไม่ใช่/ไม่มีแน่ แต่จะมีใครที่มีความรู้อย่างนั้นหรือไม่? จะมีใครที่รู้เห็นทุกเรื่องอย่างถูกต้อง ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ทั้งเรื่องที่ไม่รู้เห็น ทั้งเรื่องที่ไม่มีพื้นฐานความเข้าใจมาก่อนเลยได้หรือไม่?
ผู้รู้ที่ยังเรียนรู้อยู่ ควรจะพิจารณาใช้คำว่า “ไม่รู้” แทนคำว่า “ไม่ใช่/ไม่จริง” หรือการปลงใจฟันธงไปโดยไม่รู้; การตระหนักว่าไม่รู้แล้วเรียนรู้ มีโอกาสรู้ แต่การไม่รู้แล้วทำเป็นรู้ จะเรียนรู้ได้ยาก แถมยังลากคนฟังประเภทจิตอ่อนลงเหวไปด้วย
สรุปข้อควรเข้าใจเกี่ยวกับศรัทธา
โดยสรุป ลักษณะที่ควรกล่าวถึงเพื่อเข้าใจความหมาย บทบาท และความสำคัญของศรัทธาในระบบของพุทธธรรม มีดังนี้ :-
- ศรัทธาเป็นเพียงขั้นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญา และกล่าวได้ว่าเป็นขั้นต้นที่สุด
- ศรัทธาที่ประสงค์ ต้องเป็นความเชื่อความซาบซึ้งที่เนื่องด้วย เหตุผล คือมีปัญญารองรับ และเป็นทางสืบต่อแก่ปัญญาได้ มิใช่เพียงความรู้สึกมอบตัวมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิง โดยไม่ต้องถาม หาเหตุผล อันเป็นลักษณะทางฝ่ายอาเวค (emotion) ด้านเดียว
- ศรัทธาที่เป็นความรู้สึกฝ่ายอาเวคด้านเดียว ถือว่าเป็นความเชื่อที่งมงาย เป็นสิ่งที่จะต้องกำจัดหรือแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนความรู้สึกฝ่ายอาเวคที่เนื่องอยู่กับศรัทธาแบบที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในกระบวนการปฏิบัติธรรมให้เป็นประโยชน์ได้มากพอสมควรในระ ยะต้นๆ แต่จะถูกปัญญาเข้าแทนที่โดยสิ้นเชิงในที่สุด
- ศรัทธาที่มุ่งหมายในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น อาจให้ความหมายสั้นๆ ว่า เป็นความซาบซึ้งด้วยมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนมองเห็น คือมั่นใจตนเองโดยเหตุผลว่า จุดหมายที่อยู่เบื้องหน้านั้นเป็นไปได้จริงแท้ และมีค่าควรแก่การที่ตนจะดำเนินไปให้ถึง เป็นศรัทธาที่เร้าใจให้อยากพิสูจน์ความจริงของเหตุผลที่มองเห็นอยู่เบื้อง หน้านั้นต่อๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นบันไดขั้นต้นสู่ความรู้ ตรงข้ามกับความรู้สึกมอบใจให้แบบอาเวค ซึ่งทำให้หยุดคิดหาเหตุผลต่อไป
- เพื่อควบคุมศรัทธาให้อยู่ในความหมายที่ถูกต้อง ธรรมหมวดใดก็ตามในพุทธธรรม ถ้ามีศรัทธาเป็นส่วนประกอบข้อหนึ่งแล้ว จะต้องมีปัญญาเป็นอีกข้อหนึ่งด้วยเสมอไป และตามปรกติศรัทธาย่อมมาเป็นข้อที่หนึ่ง พร้อมกับที่ปัญญาเป็นข้อสุดท้าย แต่ในกรณีที่กล่าวถึงปัญญา ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงศรัทธาไว้ด้วย ปัญญาจึงสำคัญกว่าศรัทธา ทั้งในฐานะเป็นตัวคุม และในฐานะเป็นองค์ประกอบที่จำเป็น แม้ในแง่คุณสมบัติของบุคคล ผู้ที่ได้รับยกย่องสูงสุดในพระพุทธศาสนา ก็คือผู้มีปัญญาสูงสุด เช่น พระสารีบุตรอัครสาวก เป็นต้น ศรัทธาแม้แต่ที่ถูกต้อง ก็ถือเป็นธรรมขั้นต้น
- คุณประโยชน์ของศรัทธา เป็นไปใน ๒ ลักษณะ คือ ในแนวหนึ่ง ศรัทธาเป็นปัจจัยให้เกิดปีติ ซึ่งทำให้เกิดปัสสัทธิ (ความสงบเยือกเย็น) นำไปสู่สมาธิและปัญญาในที่สุด
♦ อีกแนวหนึ่งศรัทธาทำให้เกิดวิริยะ คือความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติ ทดลองสิ่งที่เชื่อด้วยศรัทธานั้น ให้เห็นผลประจักษ์จริงจังแก่ตน ซึ่งก็นำไปสู่ปัญญาในที่สุดเช่นกัน
♦ คุณประโยชน์ทั้งสองนี้ จะเห็นว่าเป็นผลจากความรู้สึกในฝ่ายอาเวค แต่มีความตระหนักในความต้องการปัญญาแฝงอยู่ด้วยตลอดเวลา- ศรัทธาเป็นไปเพื่อปัญญา ดังนั้น ศรัทธาจึงต้องส่งเสริมความคิดวิจัยวิจารณ์ จึงจะเกิดความก้าวหน้าแก่ปัญญาตามจุดหมาย นอกจากนี้ แม้ตัวศรัทธานั่นเอง จะมั่นคงแน่นแฟ้นได้ ก็เพราะได้คิดเห็นเหตุผลจนมั่นใจ หมดความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ
โดยนัยนี้ ศรัทธาในพุทธธรรมจึงส่งเสริมการค้นคิดหาเหตุผล การขอร้องให้เชื่อก็ดี การบังคับให้ยอมรับความจริงตามที่กำหนดก็ดี การขู่ด้วยภัยแก่ผู้ไม่เชื่อก็ดี เป็นวิธีการที่เข้ากันไม่ได้เลยกับหลักศรัทธานี้- ความเลื่อมใสศรัทธาติดในบุคคล ถือว่ามีข้อเสียเป็นโทษได้ แม้แต่ความเลื่อมใสติดในองค์พระศาสดาเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ละเสีย เพราะศรัทธาที่แรงด้วยความรู้สึกทางอาเวค กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ ในขั้นสุดท้าย
- ศรัทธาไม่ถูกจัดเป็นองค์มรรค เพราะตัวการที่จำเป็นสำหรับการดำเนินก้าวหน้าต่อไปในมรรคานี้ คือปัญญาที่พ่วงอยู่กับศรัทธานั้นต่างหาก และศรัทธาที่จะถือว่าใช้ได้ก็ต้องมีปัญญารองรับอยู่ด้วย นอกจากนี้ ท่านที่มีปัญญาสูง เช่น องค์พระพุทธเจ้าเอง และพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงเริ่มมรรคาที่ตัวปัญญาทีเดียว ไม่ผ่านศรัทธา เพราะการสร้างปัญญาไม่จำต้องเริ่มที่ศรัทธาเสมอไป (ดูเหตุเกิดสัมมาทิฏฐิข้างหน้า) ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ความหมายในขั้นศรัทธาจึงถูกรวมเข้าไว้ในองค์มรรคข้อแรกคือสัมมาทิฏฐิ ไม่ต้องแยกไว้ต่างหาก
- แม้แต่ศรัทธาที่พ้นจากภาวะเป็นความเชื่องมงายแล้ว ถ้าไม่ดำเนินต่อไปถึงขั้นทดลองปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความจริงประจักษ์ แก่ตน ก็ไม่นับว่าเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามความหมายแท้จริง เพราะเป็นศรัทธาที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามความหมายของมัน จัดเป็นการปฏิบัติธรรมผิดพลาด เพราะปฏิบัติอย่างขาดวัตถุประสงค์
- แม้ศรัทธาจะมีคุณประโยชน์สำคัญ แต่ในขั้นสูงสุด ศรัทธาจะต้องหมดไป ถ้ายังมีศรัทธาอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่บรรลุจุดหมาย เพราะตราบใดที่ยังเชื่อต่อจุดหมายนั้น ก็ย่อมแสดงว่ายังไม่ได้เข้าถึงจุดหมายนั้น ยังไม่รู้เห็นจริงด้วยตนเอง และตราบใดที่ยังมีศรัทธา ก็แสดงว่ายังต้องอิงอาศัยสิ่งอื่น ยังต้องฝากปัญญาไว้กับสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ยังไม่หลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ โดยเหตุนี้ศรัทธาจึงไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ ตรงข้าม พระอรหันต์กลับมีคุณลักษณะว่า เป็นผู้ไม่มีศรัทธา (อัสสัทธะ) ซึ่งหมายความว่า ได้รู้เห็นประจักษ์ จึงไม่ต้องเชื่อต่อใครๆ หรือต่อเหตุผลใดๆ อีก
- โดยสรุป ความก้าวหน้าในมรรคานี้ ดำเนินมาโดยลำดับ จากความเชื่อ (ศรัทธา) มาเป็นความเห็นหรือเข้าใจโดยเหตุผล (ทิฏฐิ) จนเป็นการรู้การเห็น (ญาณทัสสนะ) ในที่สุด ซึ่งในขั้นสุดท้ายเป็นอันหมดภาระของศรัทธาโดยสิ้นเชิง
- ศรัทธามีขอบเขตความสำคัญและประโยชน์แค่ไหนเพียงใด เป็นสิ่งที่จะต้องรู้เข้าใจตามเป็นจริง ไม่ควรตีค่าสูงเกินไป แต่ก็ไม่ควรดูแคลนโดยเด็ดขาด เพราะในกรณีที่ดูแคลนศรัทธา อาจกลายเป็นการเข้าใจความหมายของศรัทธาผิด เช่น ผู้ที่คิดว่าตนเชื่อมั่นในตนเอง แต่กลายเป็นเชื่อต่อกิเลสของตน ในรูปอหังการมมังการไป ซึ่งกลับเป็นผลร้ายไปอีกด้านหนึ่ง
- ในกระบวนการแห่งความเจริญของปัญญา (หรือการพัฒนาปัญญา) อาจกำหนดขั้นตอนที่จัดว่าเป็นระยะของศรัทธาได้คร่าวๆ คือ
♦ ๑) สร้างทัศนคติที่มีเหตุผล ไม่เชื่อหรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงเพราะฟังตามๆ กันมา เป็นต้น (ตามแนวกาลามสูตร)
♦ ๒) เป็น ผู้คุ้มครองหรืออนุรักษ์สัจจะ (สัจจานุรักษ์) คือ พูดจำกัดขอบเขตของตนให้ชัดว่า เท่าที่ตนรู้เห็นเข้าใจคือแค่นั้น เป็นอย่างนั้นๆ ไม่เอาความรู้เห็นเข้าใจของตนไปผูกขาดความจริง และยินดีรับฟังหลักการ ทฤษฎี คำสอน ความเห็นต่างๆ ของทุกฝ่ายทุกด้าน ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินสิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เห็นว่าเป็นเท็จ ไม่ยืนกรานยึดติดแต่สิ่งที่ตนรู้เท่านั้นว่าถูกต้องเป็นจริง
♦ ๓) เมื่อรับฟังทฤษฎี คำสอน ความเห็นต่างๆ ของผู้อื่นแล้ว พิจารณาเท่าที่เห็นด้วยปัญญาตนว่าเป็นสิ่งมีเหตุผล และเห็นว่าผู้แสดงทฤษฎี คำสอน หรือความเห็นนั้นๆ เป็นผู้มีความจริงใจ ไม่ลำเอียง มีปัญญา จึงเลื่อมใส รับเอามาเพื่อคิดหาเหตุผลทดสอบความจริงต่อไป
♦ ๔) นำสิ่งที่ใจรับมานั้น มาขบคิดทดสอบด้วยเหตุผล จนแน่แก่ใจตนว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแท้จริง อย่างแน่นอน จนซาบซึ้งด้วยความมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนมองเห็นแล้ว พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติพิสูจน์ทดลองให้รู้เห็นความจริงประจักษ์ต่อไป
♦ ๕) ถ้ามีความเคลือบแคลงสงสัย รีบสอบถามด้วยใจบริสุทธิ์ มุ่งปัญญา มิใช่ด้วยอหังการมมังการ พิสูจน์เหตุผลให้ชัดเจนเพื่อให้ศรัทธานั้นมั่นคงแน่นแฟ้น เกิดประโยชน์สมบูรณ์ตามความหมายของมัน
ข้อมูลจากหนังสือพุทธธรรม (ฉบับเดิม) ขอบคุณ i-dhamma สำหรับ e-copy
ความคิดเห็นสำหรับ "หลักศรัทธา"