ความเครียดที่ไม่ต้องจัดการ

โดย Logos เมื่อ 24 June 2010 เวลา 3:38 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 12260

คุยกับใคร ก็เครียดกันทั้งนั้น… หรือว่าเป็นเพราะผมหว่า

ตัวผมเองเคยเป็นคนที่มีความเครียดสูง มีตำแหน่งหน้าที่ และมีคนฝากความหวังไว้มากมาย ผมทำงานต่อเนื่องไม่ยอมพักผ่อน สั่งงานทิ้งไว้ตอนช่วงดึก พอเช้ามาผู้คนมาทำงาน ก็เริ่มทำไปได้ก่อน เมื่อผมเข้าไปในช่วงบ่าย ก็สามารถตามงานได้ทันที อย่างนี้บริษัทก็ดำเนินกิจการได้วันละ 20 ชั่วโมง ฝ่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มาได้อย่างราบรื่น

แต่การทำอย่างนี้มีผลเสียมหาศาล เพราะว่าผม “หลงเพลินอยู่กับความสำเร็จ” สนุกกับทำงานหนักโดยไม่ได้ลาพักร้อนห้าปี ในที่สุดร่างกายก็ทนไม่ไหว ปี 2544 พอลาพักร้อนครั้งแรก ก็ป่วยหนักจนคิดว่าจะทำงานไม่ได้เสียแล้ว เล่นเอาคนที่ฝากความหวังไว้ ปั่นป่วนกันไปพอสมควร

ประสบการณ์เฉียดตาย ให้บทเรียนสำคัญแก่ชีวิต

  1. ความรักความผูกพันในครอบครัวเป็นของแท้ ครอบครัวเป็นฐานที่มั่นคงที่สุดในการยืนหยัดต่อสู้กับอะไรก็ตาม
  2. ความคิดสุดขั้ว อย่างในกรณีนี้คือการหลงติดอยู่กับความสำเร็จ ซึ่งแม้จะมีคนมองว่าเป็น “มุมบวก” ก็ไม่ได้นำมาซึ่งความเพลิดเพลินที่แท้จริง แต่กลับทำให้เรากลายเป็นคนบ้าที่คิดไปเอง หลงไปเองว่าดีแล้ว; ถ้าดีจริง จะป่วยได้อย่างไร จะทำให้คนอื่นเป็นห่วงได้อย่างไร
  3. ถ้าผมตายไป หรือทำงานไม่ได้ สิ่งที่สร้างไว้ก็อาจจะมีปัญหา ดังนั้นจึงตั้งน้ำหนักใหม่โดยพัฒนาคน ควบคู่ไปกับการแสวงหาผลสำเร็จอย่างรวดเร็วเป็นกำลังใจสำหรับคนทำ มากกว่าการแสวงหาผลสำเร็จอย่างใหญ่โตแบบเมื่อก่อน — เรื่องใหญ่ยังทำอยู่ แต่ไม่มากเท่าสมัยก่อนป่วย
  4. ในระหว่างพักรักษาตัว ได้มีเวลานอนคุยกับตัวเอง คิดเรื่องของตัวเอง ถามตัวเอง ตอบตัวเองตรงๆ โดยไม่ต้องอายตัวเอง — ก็แปลกดีที่ตัวเองที่คุ้นเคยที่สุด กลับเหมือนคนแปลกหน้า — ทำให้ผมรู้จักตัวเองมากขึ้น คิดว่ารู้ด้วยว่าผมเครียดได้อย่างไร และลดมันได้อย่างไร

ความเครียดเกิดจากความ(ความคิด)คาดหวังไม่ตรงกับความเป็นจริง

ความคาดหวังเป็นเรื่องที่คิดเอาเอง ซึ่งหากคิดมารอบคอบดีแล้ว->ตรงกับความจริง ก็มีความสุขกันทั่วหน้า; แต่ถ้าคิดมาไม่รอบคอบ ไม่เข้าใจข้อจำกัด ฉาบฉวย ผิวเผิน ความคาดหวังแบบนี้ สร้างความเครียดมากครับ เพราะว่าการทำให้เกิดขึ้นจริงนั้น มีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อยู่เยอะแยะ

ดังนั้น ถ้าจะหายเครียด ก็แยกให้ออกระหว่างความคาดหวัง/ความคิด กับความเป็นจริง

แค่นี้ชีวิตก็ผ่อนคลายลงไปเยอะแล้วครับ เกิดมาแผลบๆ ยังไม่ทันไรเลย ผ่านกึ่งศตวรรษไปแล้ว จะไปอินอะไรกันนักหนา เคยได้ยินใครไหม ลืมไปหรือเปล่าว่าไม่ได้กำลังทำข้อสอบอยู่/ไม่เห็นจำเป็นต้องตัดสินใจในทันทีทันใด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังไม่มีข้อมูลรอบด้าน)

มีหน้าที่ก็ทำไป สำเร็จก็ดี ถ้ายังไม่สำเร็จก็พยายามต่อไป เรียนรู้ให้เป็น — เลิกชี้นิ้วสั่งให้คนอื่นทำบ้าๆ บอๆ เสียที ถ้ารู้ดีนัก ควรจะลองทำเองบ้างนะครับ จะได้ไม่ต้องเครียด

คนเรามีกลไกปกป้องจิตใจตัวเอง ถ้าหลงระหว่างความคิดกับความจริง กลไกปกป้องจิตใจก็จะทำงานซ่อมแซมความผิดหวังและความบอบช้ำ สังเกตเห็นได้จากความไม่พอใจคนอื่นที่เกิดขึ้น, “เหตุผล” ซึ่งที่จริงแล้ว เป็นข้ออ้าง+ข้อแก้ตัวในทำนองว่าไม่ใช่ความผิดของตัวรา หรือแม้แต่การตำหนิผู้อื่นอย่างรุนแรง

« « Prev : เขื่อนส่วนตัว

Next : ย้ายบ้านจาก Symbian ไป Android » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 June 2010 เวลา 7:29

    ความคาดหวังเป็นเรื่องที่คิดเอาเอง ซึ่งหากคิดมารอบคอบดีแล้ว->ตรงกับความจริง ก็มีความสุขกันทั่วหน้า; แต่ถ้าคิดมาไม่รอบคอบ ไม่เข้าใจข้อจำกัด ฉาบฉวย ผิวเผิน ความคาดหวังแบบนี้ สร้างความเครียดมากครับ เพราะว่าการทำให้เกิดขึ้นจริงนั้น มีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อยู่เยอะแยะ

    อันนี้ใช่เลยค่ะ เพราะความคาดหวังกับความจริงไม่สอดคล้องกันจะทำให้ทุกข์มหันต์

    คนเรามีกลไกปกป้องจิตใจตัวเอง ถ้าหลงระหว่างความคิดกับความจริง กลไกปกป้องจิตใจก็จะทำงานซ่อมแซมความผิดหวังและความบอบช้ำ สังเกตเห็นได้จากความไม่พอใจคนอื่นที่เกิดขึ้น, “เหตุผล” ซึ่งที่จริงแล้ว เป็นข้ออ้าง+ข้อแก้ตัวในทำนองว่าไม่ใช่ความผิดของตัวเรา หรือแม้แต่การตำหนิผู้อื่นอย่างรุนแรง

    ถึงมีคำเตือนว่า…เมื่อเกิดความไม่พอใจอย่าพูดกันด้วยเหตุผล เพราะเมื่อใดที่เราพูดด้วยเหตุผลจะกลายเป็นเรื่องฉัน-เธอซึ่งยืนกันคนละมุม แต่ให้พูดด้วยความรัก เมตตา และขันติ(แม้แต่พูดจากับตัวเอง)…น่าเศร้าที่ไม่ค่อยมีใครรู้ทันเรื่องเหล่านี้เลย

  • #2 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 June 2010 เวลา 8:00

    พิมพ์ๆ ไป ก็รู้สึกว่าเป็นการบ่นเรื่องส่วนตัว (………………………..)

    เจริญพร

  • #3 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 June 2010 เวลา 10:40

    โอย…ขอโทษค่ะ

    เอาใหม่ ๆ …   ที่นี่  ค่ะ

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 June 2010 เวลา 11:31
    การบ่นเป็นการระบายความคับข้องใจ ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของความเครียดครับ พอระบายไปแล้ว ตัวเราสบายขึ้น แต่คนรับไปอาจจะแย่หากวางไม่เป็น  ดังนั้นคนเครียดจึงบ่น

    ส่วนคนรับฟังมักให้กำลังใจคนบ่น แต่อาจจะดีกว่าถ้าชี้ทางออกโดยไม่อินมาก — อันนี้คงต้องอินบ้างจึงจะเข้าใจสถานการณ์ ไม่อย่างนั้นก็ถอดบทเรียน+แนะทางออกไม่ได้ — แต่หลังจากนั้น ก็ต้องวางลงให้เป็น (ซึ่งต่างกับการเพิกเฉย)


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.72838711738586 sec
Sidebar: 0.53167104721069 sec