ปลูกพืชไม่กลัวน้ำท่วม

อ่าน: 5509

เมื่อตอนหัวค่ำ คุณปรีดา ลิ้มนนทกุล คนทุพพลภาพมืออาชีพ (ข้อมูลจาก google) โทรมาคุยเรื่องไผ่ คุณปรีดาประสบอุบัติเหตุทำให้ครึ่งตัวล่างขยับไม่ได้ มือก็ไม่สมบูรณ์ ถึงไม่ได้ประกอบอาชีพวิศวกรแล้ว ก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังสร้างสรรค์งานศิลปะ ระดมเงินไปบริจาคช่วยเหลือผู้อื่น คนที่มีองคาพยพสมบูรณ์แต่ทำตัวเป็นกาฝาก ไม่ทำงานทำการ ควรดูไว้เป็นแบบอย่างนะครับ

ข้อมูลจากคุณปรีดาก็น่าสนใจ ผมไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ และจะไม่ดัดจริตแสร้งทำเป็นรู้หรอกครับ

  1. โอกาสที่ไผ่จะจมน้ำตายนั้น อาจจะไม่มากนัก เพราะลำต้นสูง โตเร็ว เมื่อน้ำท่วม ยังมีใบที่โผล่พ้นน้ำ ยังหายใจและสังเคราะห์แสงต่อไปได้ แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่นับหน่อไผ่ซึ่งอาจจะเน่าตายไปได้เหมือนกัน
  2. พืชเช่นข้าวที่จมน้ำ ถ้าน้ำไม่ขุ่นจนแสงแดดส่องไม่ถึงใบ ก็อาจทนอยู่ได้สักสองสามวัน (เกินนั้นก็ไม่รอดเหมือนกัน)

พูดเรื่องนี้แล้ว ยังมีพืชน้ำ พืชอาหารขนาดลำต้นไม่ใหญ่โต (รากไม่ลึก) ที่เราอาจเอาใส่กระถางลอยน้ำไว้เก็บกินในช่วยน้ำท่วมได้

ถ้ากระถางลอยน้ำได้ ก็เอามาปลูกข้าวได้ จะใช้โฟม จะใช้อิฐมวลเบา หรืออะไรก็แล้วแต่ หนึ่งกระถาง ปลูกข้าวหนึ่งกอ ใช้น้ำน้อยด้วย เพราะว่าไม่ต้องไขน้ำให้ท่วมนา คือให้ท่วมในกระถางก็พอ กระถางป้องกันวัชพืชได้ ถ้ากระถางมีรูปทรงเหมาะ อาจกันหอยเชอรี่ได้ อาจวางกระถางชิดกันได้มากขึ้น เนื่องจากรากของกอข้าว ไม่แย่งอาหารกันเองระหว่างกอ เป็นการเพิ่มผลผลิตไปในตัว และที่สำคัญคือกระถางลอยน้ำ ดังนั้นเมื่อข้าวออกรวง ก็ไม่กลัวน้ำท่วม เวลาเก็บเกี่ยว ไขน้ำเข้านา แล้วเอาเชือกกวาดกระถางที่ลอยน้ำมารวมกัน เกี่ยวทีเดียวใกล้ๆ คันนา ไม่ต้องเอารถไถลงไปลุย คันนาจะได้ปลูกพืชอื่น บังลมไม่ให้ข้าวร่วงจากลมแรง — ทั้งหมดนี้ คิดเอาเองครับ ทำได้หรือไม่ได้ ต้องทดลองดู

แต่ในขณะนี้น้ำท่วมแล้ว ทำเรื่องกระถางไม่ทันแล้ว ก็เป็นโอกาสที่จะลองการปลูกพืชระบบรากแช่ (hydrophonic culture) ใช้น้ำท่วมนั่นแหละ เพราะเจือปนด้วยปุ๋ยซึ่งใช้กันมาก ดังนั้นในช่วงนี้ก็อาจจะไม่ต้องเติมสารอาหารอะไรอีก ไม่ต้องมองหาปั๊มไฟฟ้าหรอกครับ ตั้งระดับให้ดีแล้วควบคุมปริมาณน้ำไหลเข้าออก ให้ไหลไม่ต้องมาก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเติมน้ำบ่อยนัก

การปลูกพืชแบบนี้ จะสามารถเป็นคลังอาหารสำหรับครอบครัวระหว่างน้ำท่วมได้ อาจจะพอใช้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านได้

เมื่อน้ำลดแล้ว จึงค่อยขยับขยายไปทำในแบบที่ควรจะทำ

ประเด็นสุดท้ายคือ ข้าวไม่ต้องหุง ครับ… เวลาจะเอาข้าวสารไปบริจาค พิจารณาเรื่องนี้ก็ดี (หมายความว่าลองหามาแช่น้ำแล้วกินดูเองก่อน จนแน่ใจว่าโอเค แล้วจึงนำไปบริจาคพร้อมอธิบายวิธีการ อย่าเชื่อ-อย่าทำไปโดยความไม่รู้นะครับ)

กรมการข้าวโชว์งานวิจัย ‘ข้าวไม่ต้องหุง’ เผยแค่แช่20นาทีก็ทานได้ ประหยัดพลังงาน-ใช้อุปกรณ์น้อย เหมาะกับนักเดินทางชั่วโมงเร่งรีบ

นางสำลี บุญญาวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวโดยศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ ได้ดำเนินการศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว โดยใช้ข้าวเปลือก 4 พันธุ์ ได้แก่ ขาวดอกมะลิ105 กข39 ข้าวหลวงสันป่าตอง และขาหนี่ ภายใต้กระบวนการแปรรูปเป็นข้าวนึ่งที่ทำให้สุกด้วยไอน้ำ ลดความชื้น และนำไปสีให้เป็นข้าวสาร

เมื่อต้องการบริโภคจะนำมาทำให้คืนตัวเป็นข้าวสุกพร้อมบริโภคเรียกว่า ข้าวไม่ต้องหุง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็วในการบริโภคข้าว เนื่องจากสามารถพกพาติดตัวไปในสถานที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี อาทิ นักเดินป่า หรือกรณีรถติดบนถนนเป็นเวลานานๆ เพราะใช้อุปกรณ์การหุงน้อยชิ้นและที่สำคัญประหยัดพลังงานในการทำให้สุกด้วย

รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการบริโภคข้าวไม่ต้องหุง ไม่มีความยุ่งยากแถมยังสะดวกและรวดเร็วอีกด้วย เพียงแค่แช่น้ำร้อนที่มีอุณหภูมิ 100 องศาเซลเชียส หรือน้ำเดือดอัตราข้าว 1 ส่วนต่อน้ำ 1 ส่วน หรือมากกว่าเล็กน้อย แต่ไม่ควรเกิน 1.5 ส่วน ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที ผู้บริโภคสามารถนำไปรับประทานได้ทันที เหมือนกับข้าวสุกที่ผ่านวิธีการหุงตามปกติ แต่หากไม่มีน้ำร้อนสามารถแช่ในน้ำเย็นอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสได้โดยต้องแช่น้ำทิ้งไว้นาน 45 นาทีสามารถรับประทานได้เช่นกัน

นางสำลี กล่าว หากผู้บริโภคที่ไม่มีความคุ้นเคยในการบริโภคข้าวไม่ต้องหุงที่ใช้วิธีการแช่ น้ำ เพราะข้าวจะมีลักษณะร่วน ผู้บริโภคยังสามารถนำข้าวไม่ต้องหุงนี้ มาหุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าในอัตราข้าว 1 ส่วนต่อน้ำ 1.25 ส่วน ใช้เวลา 15 นาทีซึ่งจะได้ข้าวสุกที่มีความนุ่มเช่นเดียวกับข้าวสุกทั่วไป

ข่าวโดย VoiceTV

« « Prev : ถ่านอัดแท่ง

Next : ข้าวชื้น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 September 2011 เวลา 6:21

    ของฝากจากอินเล พม่า ที่ใช้หญ้าไซปลูกพืชผักสวนครัวบนน้ำมานานกว่าร้อยปีแล้วค่ะ

    http://www.kasetd.com/sakda7.html

    เทคโนโลยีการปลูกพืชในน้ำ(จริงๆ)
    http://www.eco-agrotech.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=389255&Ntype=2

    ส่วนเรื่องข้าวจำได้ว่าคุณยายเคยทำข้าวคั่วหรือข้าวตากที่เป็นเสบียงของทหารยามสงครามในอดีตให้กินอยู่นะคะ เดี๋ยวจะหาเวลารื้อฟื้นจากแม่ก่อนแล้วจะเขียนอีกทางเลือกหนึ่งในสมัยก่อนให้

  • #2 มิสเตอร์สะตอฯ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 September 2011 เวลา 7:39

    ทราบไหมครับ ว่า 99% ของน้ำที่พืชดูดเข้าไป คือดูดเข้าทางรากแล้วคายออกทางปากใบเพื่อส่งขึ้นสู่บรรยากาศ เป็นเครื่องสูบน้ำธรรมชาติทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนครับ อีก 1% เอาไว้สำหรับการสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหารเท่านั้น การสูบน้ำขึ้นสู่บรรยากาศเพราะไม่อยากจะตายด้วยและเป็นการลดอุณหภูมิในลำต้นด้วยครับ แต่เราไม่ค่อยเห็นค่าของต้นไม้อย่างจริงจัง เราเห็นว่ามันมีประโยชน์ แต่เราปลูกป่า ปลูกต้นไม้ด้วยปากมากกว่าการปลูกและเอาจริงเอาจังตามที่เห็นกันบ้างในทีวีซึ่งคนส่วนใหญ่บอกว่าเค้าบ้าในตอนแรก แต่คนที่บอกว่าเค้าบ้ากลับใช้ประโยชน์ในภายหลัง ปลูกเสร็จถ่ายรูปออกทีวีเสร็จก็ถือว่าจบกันต่อไปก็ปล่อยตามยถากรรม

    ถูกต้องแล้วละครับ พืชไม่ได้กลัวน้ำท่วมหรอกครับ แล้วคนเราละกลัวน้ำท่วมไหม?

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 September 2011 เวลา 10:13

    ภาคกลางนั้นเป็นพื้นที่น้ำท่วมเป็นปกติ นาข้าวจึงเป็นนาฟางลอย ไม่ว่าน้ำจะสูงท่วมหัวข้าวก็จะยืดตัวโผล่ใบไปรับแสงอาทิตย์ได้ หากข่าวจมน้ำ 1 สัปดาห์ พอฟื้นตัวได้ มากกว่านั้นโอกาสตายสถานเดียว เมื่อน้ำลดลงจนแห่ง ต้นข้าวที่สูงนั้นจะล้มราบไปในทิศทางที่น้ำไหลออกจากทุ่ง เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ชาวนาภาคกลางจะเอาเคียวไปเกี่ยวรวงข้าวโดยวิธีก้มลงไปเกี่ยว ซึ่งมันปวดหลัง เพราะต้องก้อม เงยเช่นนี้จนกว่าจะเกี่ยวหมด มีนากี่ไร่ล่ะ นี่แหละ “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” ผมยังเป็นเด็ก พ่อให้ไปเกี่ยวข้าว จึงรู้ว่า ไม่เอาแล้วชาวนา มันปวด เมื่อยไปหมด นี่เรายังเด็กนะ หากผู้ใหย่ และมีอายุ การก้มๆเลยๆทั้งวัน ทั้วเดือน สุขภาพจะเป็นเช่นไร…

    เมื่อเกี่ยวเอารวงข้าวออกไปแล้ว วางกองไว้บนซังข้าว หรือตอต้นข้าวที่สูงเหนือน้ำที่อาจจะยังมีติดพื้นนา บางแห่งก็แห้ง แล้วช่วนาก็จะถอนซังข้าว หรือต้นข้าวที่มีความยาวตามที่ต้นข้าว หนีน้ำ หรือความลึกของน้ำนั่นแหละ และมันยาวพอที่จะเอาไปทำประโยชน์ ชาวนาภาคกลางจึงถอนเอาซังข้าวไปมากๆแล้วแบ่งขนาดพอเหมาะแล้วฝั้นเป็นเชือก ทางบ้านเรียก “เขน็ด” เอาไปมันรวงข้าวเรียกฟ่อนข้าว เตรียมแบกหามเอาข้าวลานตากข้าวริมหมู่บ้านต่อไป…. หากนาไม่ไกลจากบ้านก็ใช้คานเฉพาะใช้หาบข้าวหาบข้าว หากไกลมากก็ใส่เกวียนเอาควายมาเทียมเกวียนขนข้าวเข้าลานบ้าน….

    ไผ่ ไม่กลัวน้ำ ที่บ้านผมช่วงน้ำท่วม ก็ท่วมไผ่ทั้งหมดเหมือนกับข้าวในแปลงนา ไม่ตายครับ ไผ่มีประโยชน์มากๆๆๆๆ รวมทั้เป็น wind break ในช่วงค้นฤดูฝนกับชุมชนหมู่บ้าน บ้าน เพราะเขาละลู่ลมช่วยให้ความแรงของพายุลดลงก่อนจะถึงตัวบ้าน ที่ภาคกลางจึงนิยมปลูกไผ่รอบบบ้านครับ โดยเฉพาะเอาไม้ไว้ใช้สารพัด เอาหน่อไว้กิน และฯลฯ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ข้าวเป็นอีกพันธ์หนึ่ง น้ำไม่ลึก ต้นข้าวจึงสั้น การมัดข้าวจึงใช้ตอกที่ทำมาจากไม้ไผ่ ซึ่งมีพันธุ์ของเขาโดยเฉพาะที่เอาใช้ทำตอกดีที่สุดเพราะเหนัยว อ่อน ยาว…

    ข้าวชนิดที่ คอน กล่าวถึง ทำสุกก่อน เก็บแห้ง เอาไว้มาอุ่นแล้วใช้บริโภคได้ ก็เป็นเทคนิคที่พัฒนาขึ้นมาในสมัยปัจจุบันที่เอามาใช้แก้ปัญหาอย่าวที่กล่าวได้..เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทางวิชาการก้าวเข้ามาช่วยหาทางออกแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวบริโภคในสภาวะที่มีข้อจำกัดต่างๆ ดีมากครับ ทีนี้สามัยโบราณอย่าวที่เบิร์ดกล่าว มีการทำข้าวสุกให้แห้งแล้วเก็บเอาไว้กินนานๆ รวมไปถึงใช้ยามสงคราม ออกรบ

    เล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กๆ บ้านพี่ติดวัด ก็คลุกคลีกับวัด คนสมัยก่อนทำบุญตักบาตรมากมาย ข้าวที่พระท่านออกมาบินฑบาตรนั้นมากเกินที่จะฉันท์หมด จึงเอาข้าวสุกที่ชาวบ้านถวายนั้นใส่กระโด้ง ออกพึ่งแดดให้แห้ง เรียก “ข้าวตาก” แล้วเอาเก็บไว้ในภาชนะที่เหมาะสมไม่มีความชื้น เอาไว้ใช้ยามจำเป็น แต่ส่วนมากที่ผมเห็นคือ วัดเอาไปขริจาค หรือทำทานให้กับครอบครัวในหมู่บ้านนั่นแหละที่ยากจน ไม่มีที่นา ไม่มีรายได้อะไร ซึ่งก็จะมีเกือบทุกหมู่บ้าน พระจะเอาไปให้ เพราะจริงๆวัดก็ไม่จำเป็นต้องใช้เพราะมีข้าวสุกใหม่ถวายทุกวันอยู่แล้ว

    นอกจากจะเอาข้าวตากไปบริจาคให้กับครอบครัวยากจนในหมู่บ้านแล้ว สมัยโบราณ แก่ก่อนจะมีพวกเร่ร่อน หรือขอทาน ที่ตระเวนเร่ร่อนขอทานเรื่อยไปเดินจากบ้านนี้ไปบ้านโน้นไปขอบริจาค วัดก็จะเอาข้าวตากนี้มาบริจาค

    นอกจากนี้ก็มีพวกต่างถิ่นเดินทาง เช่นจากจังหวัดโน้นไปอำเภอโน้น ตามธุระของเขา ผ่านมาเส้นทางนี้ก็มาอาศัยศาลาวัดพักผ่อน พระที่วัดก็จะต้อนรับ บริการที่พัก แล้วเอาข้าวตากนี้มาบริจาคให้ไปทำอุ่นเพื่อบริโภคต่อไป เป็นการเอื้อเฟื้อกันตามลักษณะสังคมโบราณ หรือพวกพ่อค้าที่เร่ร่อนมาค้าขาย ก็มาพักที่ศาลาวัด ก็ได้ข้าวตาก จากวัดนี่แหละ วัดมีบทบาทมากในสังคมโบราณ และวัดอยู่ได้ก็บ้านนั่นแหละ บ้านอยู่ได้ก็เพราะข้าว พืชหลักนั่นเอง ข้าวคือชีวิต ข้าวคือวัฒนธรรม ข้าวจึงเป็นมากกว่าข้าว เมื่อมีข้าว ก็ผูกพันไปอีกมากมายที่สังคมเกื้อกูลกันโดยอาศัยวัตถุ สิ่งของที่ชาวนาผลิตขึ้นมาจากแรงงานของเขา จากการก้มๆเงยๆ จากน้ำธรรมชาติ จากที่ดิน ที่นา จากกระบวนการผลิต จาการพัฒนาเทคนิคตามธรรมชาติ เหล่านี้มันเป็นเนื้อเดียวกัน แยกกันไม่ออก

    สังคมปัจจุบัน ดทคโนโลยี่ก้าวเข้ามา ทัศนคติการทำอาชีพเปลี่ยนไป ความผูกพันเดิมๆจางหายไปกับคนรุ่นก่อนๆ

    อ้าวทำไมมาออกตรงนี้ได้ อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 2.5667569637299 sec
Sidebar: 0.28159689903259 sec