ถ่านอัดแท่ง
ดูวิดีโอคลิปก่อนกันครับ
พ่ออยู่ แขมพลกรัง อยู่ที่ ต.ปรุใหญ่ อ.เมือง นครราชสีมา ประดิษฐ์แท่งเหล็กทรงกระบอก เอาไว้ใช้กระแทกลงไปบนเศษถ่าน (เดิมทีอาจจะเป็นเศษผงที่แตกหักจากการเผาถ่านขาย) จนกลายเป็นถ่านอัดแท่ง ซึ่งสูตรของพ่ออยู่นั้น ประกอบไปด้วย เศษถ่าน หรือถ่านป่นจากการเผาถ่านวัสดุเหลือใช้ 4 กก. แป้งมัน 2 ขีด กับน้ำ 4 ลิตร คลุกให้เข้ากัน แล้วนำมาอัดด้วยกระบอก (หรือสกรูเพรสก็ได้) นำไปตากจนแห้งสนิท ก็จะได้ถ่านที่มีคุณภาพสูง ไร้ควัน
ถ่านอัดแท่งแบบนี้ ก็เป็นแนวทางที่ดีสำหรับการฟื้นฟูอาชีพสำหรับผู้ประสบภัย ชาวบ้านไม่ได้ปลื้มกับเงินชดเชยห้าพันบาท++ มันเทียบไม่ได้กับการหมดตัวหรอกครับ (ทำไมนักการเมืองถึงได้ภูมิใจเรื่องนี้กันนักนะ) ถ้าจะช่วยให้ชาวบ้านฟื้นตัวขึ้นมาได้ นอกจากวันนี้จะมีกินระหว่างรอน้ำลดแล้ว เมื่อน้ำลดก็จะต้องมีรายได้ พอที่จะปลดหนี้ปลดสิน หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นหนี้เพิ่ม
แต่การที่จะต้องเผากิ่งไม้เล็กหรือเศษต้นไม้ให้เป็นถ่านก่อนนั้น บางทีอาจจะเลยเถิดไปเป็นการตัดต้นไม้มาเผาถ่านซึ่งเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ เพราะว่าชาวบ้านเสียหายมาก ถ้าเผาถ่านได้มาก ดูจะได้เงินมาก โดยไม่คิดว่าต้นไม้น้อยลง ภัยในอนาคตจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เปรียบเหมือนชาวเมืองโค่นต้นมะม่วงในเรื่องพระมหาชนก
สถานการณ์ตอนนี้ บางพื้นที่ก็เร่งเกี่ยวข้าว รวงข้าวที่นวดแล้ว กลายเป็นขยะซึ่งในที่สุดคงถูกเผาทิ้ง หรือปล่อยทิ้งลอยน้ำไป ไม่ตากจนเป็นฟาง ทั้งนี้เพราะพื้นที่ตากแดด จะต้องใช้ตากข้าวลดความชื้น ยิ่งกว่านั้นต้นข้าวที่เกี่ยวแล้ว ก็จมน้ำหรือจะจมน้ำ แล้วก็จะเน่าอยู่ในน้ำ ปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 22 เท่า โมล-ต่อ-โมล
ผมก็สงสัยว่าจะมีวิธีเอาต้นข้าว หญ้า หรือพืชล้มลุกไปแปลงเป็นถ่านในทำนองแบบที่พ่ออยู่ทำบ้างหรือไม่ แต่ถ้าไม่ต้องเผา ก็จะดีกว่า
ปรากฏว่าค้นเน็ตพบวิธีทำฟืนเทียม เรียกว่าบริคเค็ต (ฺBriquette) เป็นเซลลูโลสอัดก้อน หลักคือใช้น้ำผสมกับเซลลูโลส (ขี้เลื่อย รำข้าว กระดาษ กิ่งไม้ หรือใบไม้) แล้วอัดด้วยแรงดัน 150-200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ดูๆ ไปก็ดีเหมือนกัน เอารวงข้าวไปทำเลย ไหนๆ ก็ต้องทิ้งอยู่แล้ว เอาไปอัดเป็นก้อน แล้วขายเป็นถ่าน ได้เงินเพิ่มอีก ถ้าขายไม่ได้ ก็มีฟืนสำหรับหุงหาอาหาร
การสร้างแรงดัน 200 psi นี้ ไม่ยากหรอกครับ ใช้คานธรรมดา กระบอกอัดก็เป็นท่อพีวีซีขนาด 3 นิ้ว เมื่ออัดแล้ว ก้อนบริคเค็ตจะมีปริมาตรเหลือประมาณ หนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่ของความสูงก่อนอัด โดยน้ำที่ผสมอยู่ จะซึมออกมาจนเกือบหมด ความชื้นจะลดลงเหลือ 10-15% เอาไปตากแดดจนแห้งสนิท ทีนี้โยนเข้าเตาก็จะติดไฟ — ถ้าเราเอากิ่งไม้สดใส่เตา อาจติดไฟได้เหมือนกัน แต่เนื่องจากมีความชื้นสูง ความร้อนที่ได้ก็จะน้อยลง
ส่วนผสมก่อนจะเอาไปอัดนั้น ในแต่ละท้องถิ่นก็ใช้แตกต่างกันออกไป ไม่ดัดจริตคิดผิดเพี้ยนว่าจะต้องใช้ตามสูตรเท่านั้น
Next : ปลูกพืชไม่กลัวน้ำท่วม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ถ่านอัดแท่ง"