เมืองน่าอยู่
อ่าน: 4034เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเมืองเล็กไม่ค่อยมีโอกาส ต่อให้มีเด็กเก่งๆ ก็ขวนขวายสอบเข้าไปเรียนในเมืองใหญ่ บางทีก็ถูกรับตรงเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่ๆ เมื่อเรียนจบแล้ว น้อยคนที่จะกลับบ้าน ในเมื่อเป็นอย่างนี้ เมืองเล็กก็ขาดดุลย์ความรู้และบุคลากรตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
หน่วยงานปกครอง และมหาวิทยาลัย พยายามจัดโปรแกรมเดินสายสัมนา ถ้าพูดแรงๆ ก็เหมือนไฟไหม้ฟางนะครับ — อันที่จริง จะไปว่าทางฝั่งรัฐและฝ่ายปกครอง ก็คงไม่ยุติธรรมนัก ถ้าท้องถิ่นต้องการสิ่งเหล่านี้จริง ทำไมจึงไม่ทำอะไรบ้าง
เคยถามหมอจอมป่วน (รองนายกเทศมนตรี) ว่าเทศบาลนครพิษณุโลกนี่ ครอบคลุมพื้นที่เท่าไหร่ หมอตอบว่า 18.26 ตร.กม. ทำเอาผมสะดุ้งเลย ไม่นึกว่าจะ “เล็ก” ขนาดนี้ ผมเคยเป็นคนกรุงเทพซึ่ง กทม.มีขนาดกว่าพันห้าร้อยตารางกิโลเมตร เทศบาลนครพิษณุโลกครอบคลุมพื้นที่ตำบลในเมืองเท่านั้น — แต่การที่หมองานยุ่งมากเพราะอบรมเผยแพร่ความรู้ทั่วประเทศ พื้นที่ห้าแสนหนึ่งหมื่นสี่พันตารางกิโลเมตร
เรื่องนี้ มาคิดดูอีกที ขนาดอย่างเทศบาลนครพิษณุโลกนั้น เหมาะสมมากกว่า กทม. ถึงแม้จะแบ่งเป็น 50 เขต (เฉลี่ยเขตละ 300 ตร.กม.) แล้วก็ตาม
มาลองคิดดูว่า “เมือง” ควรจะมีขนาดเท่าไหร่จึงจะบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึง มีทรัพยากรเพียงพอที่จะช่วยให้พลเมืองมีชีวิตอยู่ได้ — ทำไมหนองคายจึงเป็นเมืองน่าอยู่ได้โดยไม่ต้องมีมหาวิทยาลัยชื่อดังหรือธุรกิจขนาดยักษ์
“เมือง” ควรจะอยู่ในระยะที่เดินหรือขี่จักรยานไปมาได้
ถ้าเมืองมีลักษณะเป็นวงกลม รัศมี 2 กม. จะมี “เขตเมือง” เป็นพื้นที่ 12.5 ตร.กม. หรือเกือบแปดพันไร่ ใหญ่พอที่จะผลิตอาหารเลี้ยงพลเมืองได้เองส่วนหนึ่ง-ไม่ต้องซื้อแหลกอย่างคนกรุงเทพ มีพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชุมชน พื้นที่สาธารณะ ศาสนสถาน พื้นที่สำหรับเก็บเกี่ยวน้ำและพลังงานที่ต้องการใช้ได้ส่วนหนึ่ง พื้นที่จัดการขยะ
เครือข่ายถนน “ในเมือง” อาจไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่นัก เพราะว่าเดินหรือขี่จักรยานไปก็ไม่ไกลเกินไป ส่วนถนนขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับเมืองอื่น หรือใช้ขนส่งสินค้า ก็อ้อมรอบเมืองไปได้
“เมือง” ที่ไม่ใหญ่โตจนเกินไป ให้บริการสื่อสารไร้สายได้ครอบคลุมทั้งหมด
ทั้งเมืองมีเสาอากาศกลางเมืองต้นเดียว ใช้เป็นเสาบริการร่วมระหว่าง โทรศัพท์มือถือ วิทยุชุมชน โทรทัศน์ชุมชน ส่วนการบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายนั้น อาจจะเป็น wifi mesh ที่ยิงลงมาจากบัลลูนที่กระจายกันอยู่รอบ “เมือง” ใช้ค่าเช่าเสาบริการร่วม หรือภาษีบำรุงท้องที่ส่วนหนึ่งมาจัดการเพื่อให้บริการฟรี
เมื่อมีเน็ตใช้ฟรี พลเมืองก็สามารถเชื่อมโยงกับประชาคมโลกและกระแสเศรษฐกิจได้ โดยไม่ต้องเข้ามากระจุกในเมืองใหญ่
“เมือง” ของความรู้จริง
มนุษย์นั้น แท้จริงแล้วกระจ้อยร่อย ต่างต้องพึ่งพากันและกัน; ในเมืองขนาดเล็ก อาจไม่มีที่สำหรับความรู้แบบอวดอ้าง ใครทำอะไร ใครเป็นอะไร ก็เห็นๆ กันอยู่ ดังนั้นเมืองขนาดเล็กจะเสริมสร้างคนจริง ช่วยให้พลเมืองได้เข้าใจในคุณค่าและหน้าที่ของตน ลดแรงผลักดันเข้าสู่ระบบอุปภัมป์ เพราะเมื่อพลเมืองยืนบนขาขาองตัวเองได้ ก็ไม่ต้องไปถูกเอาเปรียบแบบซ่อนดาบภายใต้รอยยิ้มเหมือนที่เคยเป็นมา
– “เมือง” ที่ผมเขียนมานี้ มีขนาดเท่า อบต. ครับ น่าเสียดายที่ อบต. ไปเน้นเรื่องการก่อสร้าง แทนที่จะดูเรื่องชีวิต
Think Globally, Act Locally มีความหมายอะไร?
9 ความคิดเห็น
<_?_?_>
อ่านแล้ว…เมืองนี้น่าอยู่มากค่ะ
นอกจากประเด็นเรื่องพื้นที่ระยะทาง ระบบการสื่อสาร และความรู้จริง ที่เป็นจริงและชัดเจนในเมืองเล็ก ๆ แล้ว
อีกมุมหนึ่ง ไม่ว่าพื้นที่ระยะทางของเมืองขนาดไหน จะใหญ่จะเล็ก หาก Think Globally, Act Locally แล้ว ก็น่าจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้เหมือน ๆ กัน
พออะไรใหญ่โตเกินไปแล้ว ผู้บริหารก็ลอยฟ่อง รอแต่รายงาน ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ จะดูหมดก็ไม่ไหว ซ้ำร้าย ออกคำสั่งนโยบายอะไรออกมา ก็เป็นการจัดการโดยใช้ค่าเฉลี่ย ซึ่งไม่ได้สะท้อนข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างมีให้เห็นในทุกกระทรวงครับ
ทางแก้ก็มีเหมือนกัน คือการกระจายอำนาจและกระจายทรัพยากรออกไป แต่เมืองไทยก็พูดเรื่องนี้มานานแล้ว แล้วเรากระจายอำนาจและทรัพยากรออกไปได้จริงหรือครับ
เรื่องการจัดการ การกระจายอำนายและทรัพยากร … เป็นสิ่งที่รัฐพยายามทำ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คาดหวังและคุยกันไว้มากมาย แต่ทำย่อมดีกว่าไม่ทำเลย
ให้แต่ทรัพยากร โดยไม่มีอำนาจย่อมเกิดผลทางปฏิบัติน้อย ให้อำนาจแต่ไม่สร้างความรู้ … ก็คือการมอบอาวุธให้คนคนบ้าใบ้ที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ
และเมื่อมองลงไปแล้ว ในที่สุดปัญหาก็มาอยู่ที่ปัญหาโลกแตกและคู่กับสังคมไทยตลอดมาคือ ”ผู้บริหาร” หรือ “ผู้นำ” คนไทยที่เก่งและมีวุฒิภาวะมีเต็มเมือง แต่ท่านเหล่านี้ ไม่ได้มาบริหารและดูแลบ้านเมือง (หากมีคนอย่างคุณหมอจอมป่วนมากขึ้นอีกหน่อย บ้านเมืองก็คงดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดแล้ว)
ผู้นำแท้จริงที่มาบริหารบ้านเมือง ก็ต้องต่อสู้ฟาดฟ้นกับระบบ กับความเชื่อ กับวัฒนธรรมเดิม ๆ ของ “การเมือง” จนอ่อนเปลี้ยและถูกกลืนไปในที่สุด
คุยแล้วเครียด ๆ … ไปดีกว่า
อยู่ยอดภู มองเห็นแต่ภาพใหญ่ ไม่เห็นรายละเอียดหรอกครับ ออกคำสั่ง-ระบุรายละเอียดไม่ได้ เพราะความจริงได้ถูกตัดตอนด้วยการกลั่นกรองตามลำดับชั้น วางได้แต่ทิศทางแนวทาง นายใหญ่ประเภทรู้ไปหมด ทำเองหมด ไม่ empower คนทำงาน เจ๊งทุกราย; คนปฏิบัติอยู่หน้างาน รู้กำลังตนเอง รู้จักทีมงาน รู้ข้อจำกัด แต่พูดแล้วหายไปกับสายลม กลายเป็นการบ่นกับตัวเองไป เมื่อไหร่จะตระหนักว่าตกอยู่ในวงจรอันชั่วร้ายก็ไม่รู้ครับ
ประเทศไทยจะบ่ายหน้าไปทางไหน?
คิดอย่างแตกต่าง
ถูกใจใช่เลยค่ะ….
คนปฏิบัติอยู่หน้างาน รู้กำลังตนเอง รู้จักทีมงาน รู้ข้อจำกัด แต่พูดแล้วหายไปกับสายลม กลายเป็นการบ่นกับตัวเองไป
มีการบ้านตั้งสองข้อ แปะไว้ข้อหนึ่งก่อนค่ะ
คืนนี้ไปนอนให้สมองซึกซ้ายได้ทำงานเรียบเรียงความคิดก่อน
วันหลังขอข้อสอบผ่อนคลาย ๆ ให้ได้ใช้สมองซีกซ้ายบ้างนะคะ
ฮา ๆ ง่วงจริง ๆ
วันหลังขอข้อสอบผ่อนคลาย ๆ ให้ได้ใช้สมองซีกซ้ายบ้างนะคะ หมายถึง
ขอการบ้านผ่อนคลาย ๆ ให้ได้ใช้สมองซีกขวาบ้างนะคะ
ยิ่งกว่านั้น บันทึกแบบผ่อนคลาย ก็มีท่วมเน็ตแล้วครับ
ตอนนี้เอาบันทึกสุ่มแสดงมาแปะไว้ใน sidebar เรื่องที่เคยเขียนไว้ คงมีบ้าง
อ่านบันทึกของคุณ Logos ไม่คิดไม่ได้ค่ะ เพราะน่าคิดตาม (เสียด้วยซี)
น่าจะเป็นลักษณะส่วนตัวของแต่ละคน
บางบันทึกอ่านแล้วบีบสมอง เพราะมันสร้างคำถามใน “หัว” ขึ้นมาเอง ซึ่งบางทีบางเรื่องบางอย่างก็อาจไม่จำเป็นต้องมี “คำตอบ” ทุกครั้ง ไม่งั้น คงเหนื่อยตายพอดี
ความจริงอ่านอะไร ไม่คิดไม่ได้อยู่แล้ว ไม่คิดตามที่อ่านแล้วจะรู้เรื่องที่สื่อได้ยังไง ฮา ๆ
ส่วนตัวชอบเรื่องเบา ๆ แต่มีสาระ ไม่ชอบเรื่องหนัก ๆ ที่มีสาระ เพราะรู้สึกว่า ชีวิตมันก็มีเรื่องให้คิดหนัก ๆ มากอยู่แล้ว
ขอบคุณบันทึกสุ่มแสดงค่ะ มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อ่านแล้วก็สนุกดี ได้ความคิดโดยไม่รู้ตัวด้วย คิดไปถึงที่ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุลท่านบอกว่า คนเราจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในภาวะผ่อนคลายสบายใจ….จริงแท้เลย