ประเทศไทยจะบ่ายหน้าไปทางไหน?
อ่าน: 2829
เรื่องสั้นๆ-อ่านยาวๆ-ขอข้อเสนอแนะด้วยครับ
เมื่อวานคหนูสิบล้ออาสาเป็นผู้ช่วยทำหน้าที่เลขาสารพัด ตั้งแต่ขับรถมารับที่โรงแรมไปยังสถาบันพระปกเกล้าที่ศูนย์ราชการแห่งใหม่นนทบุรี ในมิติมือใหม่ลุยงาน ถ้าไม่สันทัดเส้นทางสมัยก่อนก็ใช้ปากเป็นเอกเลขเป็นโท แต่สมัยนี้..โทรศัพท์เป็นเอกเลขเป็นโท เพราะศูนย์ราชการแห่งนี้ นอกจากความโอราฬระทึกแล้ว ระบบการเข้าออกซิกแซกยิ่งกว่าเขาวงกต ต้องดูตาม้าตาเรือ ไปชั้นไหนขึ้นลิฟตัวไหนแยกซ้ายแยกขวากี่แยก ต่อบันไดเลื่อน เข้าประตูนี้ออกประตูโน้น กว่าจะเจอที่จอดรถ เข้าไปห้องประชุมได้ ก็อ่อนระโหยทั้งกายใจ ไม่ไปไม่รู้พี่น้องเอ๊ย
สถาบันพระปกเกล้าเชิญตัวจริงเสียงจริง นักก่อการเอไอเอจากไอแลนด์เหนือมาเป็นวิทยากร เป็นการจัดชนิดนายแน่มาก ที่สามารถเอาคู่กรณีทั้ง2ฝ่ายระดับหัวกะทิมาบรรยายให้เราฟัง ลุงเอกเล่าว่าช่วงพัก ทั้ง2ฝ่ายยังถกเถียงกันล้งเล้ง สงสัยว่าต้องแยกโรงแรมแยกรถระหว่างพำนักอยู่ในประเทศไทยด้วยรึเปล่า รายการดีๆอย่างนี้สถาบันฯ จึงเชิญชวนนักศึกษาทั้งรุ่น1และรุ่น2มารับฟังสดๆด้วยตนเอง มีรุ่นพี่มากันมากหน้าหลายตา นอกจากได้เพิ่มเติมความรู้แล้วยังได้เติมความรักและคิดถึงให้กัน ความผูกพันเพื่อนร่วมรุ่นของนักเรียนโข่งนั้นแรงนัก ได้ข่าวว่าจะจัดเที่ยวกันที่ชัยภูมิและประเทศกัมพูชาเดือนหน้า แล้วจะบุกที่สวนป่าเดือนกันยายน หลังกินข้าวเที่ยงร่วมกัน พวกเราได้ไปเยี่ยมสถานที่อาจารย์ต่ายจะเปิดสปาที่อาคารด้านหน้า คาดว่าเดือนหน้าจะบริการคนขี้เมื่อยได้แล้ว
สาระการบรรยายเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในสงครามก่อการร้ายที่ประเทศอังกฤษที่เกิดจากความต้องการแยกตัวออกจากอังกฤษในช่วง30กว่าปีที่ผ่านมา ทั้ง2ฝ่ายห้ำหั่นกันทุกรูปแบบจนกลายเป็นตำราสงครามความขัดแย้งที่ทุกประเทศต้องศึกษา เท่าที่ฟังจับเค้าประเด็นเด็ดได้พอสมควร เช่น
“มันยากตรงที่ไปชวนคนที่อยู่ตรงกันข้ามกับเรามาร่วมสมานฉันท์”
“การใช้กองกำลังทหารไม่สามารถแก้ความขัดแย้งให้สงบได้”
“ไม่คำตอบสำเร็จในเรื่องนี้”
“ข้อขัดแย้งไม่ได้มาจากความต่างด้านศาสนาเท่านั้น เรื่องใหญ่กว่าคือการเลื่อมล้ำทางสังคม ความเกรงสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเอง”
“เราไม่ต้องการความแทรกแซงจากต่างประเทศไม่ว่ากรณีใดๆ”
“ก่อการร้ายเริ่มจากจุดเล็กๆเหมือนไฟไหมฟางแต่ดับยากกว่าฟางไหม้ไฟ”
เราแยกย้ายกันตอนบ่ายแก่ๆ ผมยังมีรายการต้องไปประชุมอีกแห่งหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างนั่งรถออกมาได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าท่านประธานติดประชุมขอเลื่อนครึ่งชั่วโมง เราลงจากทางด่วนยมราชผ่านไปใกล้วัดสระเกส หนูสิบล้อบอกว่ายังไม่เคยขึ้นภูเขาทอง ผมดูเวลาแล้วยังแว๊บได้ จึงบอกให้เลี้ยวรถไปจอดลานวัด หลังจากนั้นก็ปีนบันไดสูงไม่รู้ว่ากี่ขั้น ยักแย่ยักยันไปถึงชั้นบนสุด ช่วงบ่ายแต่ข้างบนลมแรงมาก ได้ไหว้พระชมวิวกรุงเทพฯท่ามกลางกระจายเสียงธรรมะ บ่มร่ำให้เราตระหนักถึงพลานุภาพศาสนา
วันนี้หนูสิบล้อโชคดีมีผู้รับเข้าทำงานแบบเหลือเชื่อ หลังจากลุ้นระทึกมานานเป็นเดือน แถมเป็นงานด้านไอที.ฝึกอบรม.และกิจกรรมKM. เธอจึงเป็นปลื้มอยากไหว้พระทำบุญ แอบไปเสี่ยงเซียมซีได้เบอร์1 ทายว่าทุกอย่างสมหวังสว่างโล่งทุกเรื่อง เห็นคนปลื้มสุขก็พลอยเกิดความรู้สึกดีๆท่วมท้นภูเขาทอง
ลงจากภูเขาทองไปต่อที่กระทรวงศึกษาธิการ ตรงไปยังอาคารราชวัลลภ ซึ่งเป็นที่ทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ภายในห้องประชุมจันทรเกษม มีห้องประชุมเล็กนั่งได้ประมาณ20คน ที่มาของเรื่องเกิดจากนายกรัฐมนตรีส่งท่านที่ปรึกษาให้มาช่วยกระทรวงศึกษาธิการ วางนโยบายการศึกษาที่ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพราะปฏิรูปการศึกษากี่ยกๆก็ยังอยู่ในระดับแม่ยกยี่ยักยี่หย่อน แถมปัญหาแปลกๆเพิ่มมากขึ้นทุกที สรุปว่ามีข่าวดีน้อยกว่าข่าวผวาว่างั้นเถอะ
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรี ได้คัดคณะทำงานจากผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องกับวงการศึกษา โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่ใช่ข้าราชการกระทรวงในปัจจุบัน การประชุมครั้งนี้จึงปลอดจากนักการศึกษาประจำ ขอเอารัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ฯพณฯ.ชินวรณ์ บุญเกียรติ มานั่งหัวโต๊ะท่านเดียว นอกนั้นแวดล้อมไปด้วยคณะทำงานเฉพาะกิจ เช่น
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรเลง อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาฯ
คุณอัญชลี อุไรกุล อดีตเลขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองคณบดีฯ เทคโนพระจอมเกล้าธนบุรี
ดร.รุ่งเรือง สุขาภิรมย์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
คุณนคร สมิตติพัฒน์ กรรมการสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย
ดร.อนันท์ งามสะอาด ผอ.วิทยาลัยเทคนิคศรีษะเกษ
นาวาตรี ดร.พงศ์เทพ จิระโร ภาควิชาวิจัย คณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพา
ดร.สุชาติ ตันธนะเดชา
ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่
รศ.ดร.ปภัสวดี วีรกิตติ คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
-คณะทำงานรัฐมนตรีฯ 3-4 ท่าน
วิทยากรรับเชิญ
คุณประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ E-mail: Prasrt@blacksheep.co.th
คุณวรุตม์ สถิตธนาสาร E-mail: Varut@cmg.co.th
การประชุมรอบแรก น่าจะเป็นการพบปะดูตัวถามไถ่กันว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน ผ่านหรือมีหน้าที่การงานอะไร มีมุมมองเรื่องการศึกษาอย่างไร มารับทราบพันธกิจร่วมกัน มารับฟังการนำเสนอของวิทยากรรับเชิญ ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องโชคดีอย่างมากที่ได้พบท่านผู้นี้(คุณประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์) ทุกคนที่รู้จักสงสัยว่าเชิญจอมยุทธท่านนี้มาได้อย่างไร ท่านเล่าว่าเคยอยู่โรงเรียนเดียวกับท่านอาจารย์กนก ทุกอย่างก็อ๋อ
งานนี้ผมได้เรียนลัดกับนักบริหารด้านการตลาดมือหนึ่งของประเทศ ความเป็นมืออาชีพมากด้วยประสบการณ์ ทำให้เวลา1ชั่วโมงที่ท่านบรรยายสะท้อนให้เห็นวิธีการคิดการทำอย่างสร้างสรรค์ เห็นวิธีสร้างตัวคูณให้กับตนเองได้อย่างน่าทึ่ง ท่านออกตัวว่าต้องมีเวลา3ชั่วโมง แต่งานนี้รวบรัดตามความเหมาะสมแห่งกาลเวลา
วิทยากรชั้นอ๋อง เปิดฉากลุยด้วยคำที่ว่า
“คนไทยคิดไม่เป็น ทำไม? มันถึงเป็นเช่นนั้น”
“การคิดและมองแบบแกะดำ”
“ทำไมระบบการศึกษาไทยทำให้คนคิดเหมือนๆกัน”
“ควรสังเกตเรื่องรอบตัว แต่การแสวงหาคำตอบควรคว้าข้อมูลจากทั่วโลก”
“ตั้งคำถามเพื่อตอบตัวเอง”
“ตั้งคำถามเพื่อสร้างคำตอบใหม่”
“ยกกรณี ม้าลำปาง ไฟล์บังคับให้เป็นเส้นตรง”
“เคยอ่านข้อความด้านหนังบัตรจอดรถไหม”
“เซ็นเช็คแล้วทำไมต้องประทับตรากำกับด้วย”
“ความคิดสร้างสรรค์ทำให้ปัญหาเปลี่ยนและหมดไป”
“วิธีคิดสร้างสรรค์คือการหาคำตอบที่ถูกใหม่”
“เรียนรู้วิธีที่จะลบขยะออกจากหน่วยความจำ”
..ยังมีKey Word มีมากมาย
ท่านรัฐมนตรีกล่าวเปิดใจ..ท่านมีความตั้งใจที่จะวางนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติทั้งระยะสั้นระยะยาว ถ้าทำอะไรได้ก็พร้อมที่จะทุ่มเททำเต็มที่ ขอแผนงานที่ชัดๆสามารถจุดระเบิดให้เกิดความดีงามในวงกว้าง ฝ่ายคณะทำงานก็บอกว่า..ท่านต้องเขย่าแรงๆในบางเรื่อง ทำความจริงให้ปรากฏ ลดเงื่อนไขขยะที่เป็นตัวถ่วง ฯลฯ
ท่านที่ปรึกษานายกฯทำหน้าที่ดำเนินการประชุมโบ้ยมาที่ผม ให้ออกความเห็น ในฐานะคนนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง ..ด้วยเวลาจำกัดผมสะท้อนภาพรวมการศึกษาไทย ..การจัดการศึกษาไทยเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน..เครียด!สับสนอลม่าน จะแสวงหาความรู้ทำไมต้องทุกข์ด้วย กระบวนการเรียนการสอนที่อัดแน่นไปด้วยทฤษฎี ทำให้เด็กเบื่อการเรียน ทิ้งการเรียน-หนีเรียน เกิดวิกฤติศรัทธาในระดับผู้ปกครองและชุมชน ไม่มีใครให้ความร่วมมือกับโรงเรียน ต่างดิ้นร้นหาทางออกด้วยตนเอง โรงเรียนใกล้บ้านไม่ดีก็ย้ายลูกออกไปเข้าเรียนในเมือง ครูก็แก้ปัญหาไม่ได้ อยากย้ายออกก็ย้ายไป ดีเสียอีกฉันจะได้สอนเด็กจำนวนน้อย จะสอนมากสอนน้อยสอนดีไม่ดีก็ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม
โดยสภาพทั่วไป เด็กไทยเกินครึ่งเรียนวิชาสามัญได้ไม่ดีนัก ถ้าหันมาเรียนด้านช่างทางด้านอาชีวะน่าจะเหมาะกับเยาวชนส่วนใหญ่ แต่ก็มาติดปัญหารับน้องโหด ตีรันฟันแทงรายวัน พ่อแม่และตัวเด็กก็ขยาด ต้องกล้ำกลืนให้เด็กเรียนสายสามัญไปอย่างลุ่มๆดอนๆ เรื่องนี้กระทรวงฯควรหันไปยกย่องวิทยาลัยที่เขาดูแลนักศึกษาให้สงบเรียบร้อย จะเป็นข้อมูลให้ผู้ปกครองพิจารณาส่งลูกไปศึกษา
..ต่อด้วยคณะทำงานเสนอความคิดเห็น3-4ท่าน ได้เวลาปิดประชุมแบบพอหอมปากหอมคอ ท่านผู้ดำเนินการประชุมสรุปว่า เราต้องทำงานหนัก บัดนี้มีการบ้านแล้ว ให้แต่ละท่านไปทำข้อเสนอมา ประชุมคราวหน้า5กรกฎาคม 2553 จะมีเวลามาพิจารณาข้อคิดเห็นร่วมกันอย่างเต็มที่
อ่านแล้วคันในหัวใจบ้างไหมครับ
ช่วยสงเคราะห์แนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้กับสถานการณ์หน่อยเถิด
ขอแบบกระชับๆเหมาะที่จะให้รัฐมนตรีเขย่าแรงๆ
เชิญชี้แนะได้เลยนะครับ
คันตรงไหนเกาตรงนั้น
ผมไม่เชื่อว่า คนโง่จะมาสอนให้คนฉลาดได้
ผมไม่เชื่อว่า คนคิดไม่เป็นจะมาสอนคนอื่นให้คิดเป็นได้
ผมเชื่อว่า คนคิดดีทำดีได้แน่นอน อิ อิ. .
33 ความคิดเห็น
ถ้าให้เลือกทำอย่างเดียว ก็จะบอกว่าการพัฒนาความภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) ขาดหายไปจากการศึกษาไทยอย่างเป็นระบบครับ อันนี้ทำให้เด็ก+นักศึกษาแสวงหาความสำเร็จอย่างฉาบฉวย ทำอะไรไม่จริงจัง ไม่อดทน ไม่เชื่อมั่นต่อตัวเอง ไม่ไว้ใจผู้อื่น ไม่ยึดมั่นในกรอบกติกา — อย่าว่าแต่เด็กไม่มีเลยครับ ครู(โดยรวม)มีหรือเปล่ายังน่าสงสัย เพราะครูก็เคยเป็นเด็กในระบบการศึกษาอย่างนี้มาก่อน
…
ผมมีข้อสังเกตอันใหญ่คือเด็กในระบบการศึกษา มีทักษะการเขียนที่แย่มาก อันนี้คือ ลิ ในหัวใจนักปราชญ์ เพราะสามทักษะก่อนหน้าคือ สุ จิ ปุ ก็แย่เหมือนกัน เพราะกระทรวงจับอะไรต่อมิอะไร ยัดเยียดให้เด็กเกินกำลังเด็กจะรับ(หรือเปล่า) เด็กไม่มีเวลาจะมาทำอะไรที่ลึกซึ้ง แค่สอบได้ก็เก่งมากแล้ว
การเปลี่ยนแปลงแนวทางของกระทรวง (ซึ่งภายในอาจเรียกว่าการพัฒนาปรับเปลี่ยน) ได้ดูผลกระทบต่อเด็กบ้างหรือเปล่าครับ การเอามาตรฐานการศึกษามานำเป็นบรรทัดฐานนั้น เป็นการเพิกเฉยต่อความแตกต่างของแต่ละท้องถิ่น ดังนั้นระบบการศึกษาจึงผลิตคนที่ใช้ได้สำหรับกระทรวงศึกษา แต่ไม่เหมาะสำหรับทำงานที่ใดเลย รวมทั้งที่บ้านเกิดด้วย
ทุกประเด็นแจ่มชัด
ขออนุญาตเอาไปประกอบข้อเสนอแนะจากความห่วงใยภาคประชาชน อิ
ยุ่งๆกับงานช่วงปลายโครงการ และพอดีมายุ่งกับงานศพคุณอาเข้าให้อีก ได้แค่อ่านก่อนนะครับ
สนง.ขั้นพื้นฐาน สพฐ.
สอบวัดความรู้ความสามารถครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมต้น-ปลาย ทั่วประเทศ
โดยแบ่งกลุ่มคะแนน3กลุ่ม
กลุ่มแรกคะแนนสูงเกินร้อยละ80
กลุ่มสองคะแนนเกินร้อยละ60-70
กลุ่มสามคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ59
พบว่า..
ครูมัธยมปลายสอบ
วิชาคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบ3,973 คน สอบตกร้อยละ88
กลุ่มคะแนนสูง 0,01 เท่านั้น
วิชาชีววิทยา เข้าสอบ 2,846 คน สอบตกร้อยละ86
กลุ่มทำคะแนนสูงสุด 0.07 เท่านั้น
วิชาคณิตศาสตร์ สอบ 5,498 คน สอบตกร้อยละ84
กลุ่มได้คะแนนสูง 0.06 เท่านั้น
วิชาฟิสิกส์ เข้าสอบ 3,478 คน สอบตกร้อยละึ71
กลุ่มทำคะแนนสูงสุด 2.19
วิชาเคมี เข้าสอบ 3,088 คน สอบตกร้อยละ64 คน
กลุ่มทำคะแนนสูงสุดร้อยละ23
วิชาโลก ดาราศาสตร์ เข้าสอบ 529 คน สอบตกร้อยละ63
กลุ่มทำคะแนนสูงสุดร้อยละ 0.56
ที่มา การแถลงของนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมตกระทรวงศึกษาธิการ
8 มิถุนายน 2553
อิอิอิ ส่งลิ้งค์ที่รายงานผลอันนี้ให้เม้งกับพี่รุมกอดดูตั้งแต่วันที่ผลออกแน่ะค่่ะพ่อ เม้งบอกว่า”ไม่แปลก” ในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วผลก็เป็นแบบนี้…แสดงว่าเรา”เสมอต้นเสมอปลาย”ดีมาก ๆ เลย
ลด”การ ประเมิน”เกี่ยวกับโครงสร้าง และ”มาตรฐาน”ที่มากมายให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ คงจะทำให้เรามีคน มีเวลาที่จะทำสิ่งสำคัญกว่าเอกสารได้มั้งคะพ่อ
ยัง คิดคำตอบให้พ่อไม่ออก เพราะช่วงนี้มึนกับหลายเรื่อง แปะไว้ก่อนนะคะ (เดี๋ยวจอมป่วนมาแซวอีก ^ ^)
กรณีการทำอาจารย์3 ครูทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปทำผลงาน ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ลอกบ้าง จ้างเขาทำให้บ้าง เสียเวลาและงบประมาณหลายๆหมื่น เพื่อที่จะเลื่อนฐานะเป็นอาจารย์3 มีค่าตอบแทน ค่าอิอิ ๆๆๆ
เท่าที่ดูตัวเลขครูสอบตกในสาขาที่สอน
ถ้าจัดการอบรมให้ครูมีความรู้ความสามารถตามภาระสอนให้ดีขึ้น น่าจะดีกว่าเอาเงินไปอุปโหลกอาจารย์3
ครูคนไหนเข้าอบรม-สอบผ่านเกณฑ์ ก็เพิ่มเงินค่าวิชาให้ไปเลย อย่างนี้น่าจะได้ประโยชน์เชิงรูปธรรมมากกว่า
จะเสนออย่างนี้ ก็ไม่ทราบว่าจะเจอบทอีแอบอะไรอีก เพราะผลประโยชน์แอบแฝงมันมากเหลื่อเกิน
เคยเสนอ ให้สอบผู้บริหาร เจอลูกเล่นสารพัด ปัญหาสะสมมานาน ถ้าไม่ผ่าตัด หรือถึงผ่าตัด ก็ไม่ทราบว่าจะมีห้อง ICU. พอใช้หรือเปล่า
ช่วยกันคิดหน่อยนะขอรับ
จะเอาเข้าประชุมวันที่ 5 กค. 53
เสนอให้ทำบล็อกของกลุ่มคณะทำงาน
สวัสดีค่ะพ่อครูบา
ตามมาทำการบ้านค่ะ เมื่อคืนก็อ่านบันทึกนี้ เก็บไปคิดก่อนนอน หลับไปไม่รู้ตัว … 55555 ตื่นขึ้นมาก็ยังไม่ได้คำตอบอยู่ดี…
พอดิบพอดีที่เป็นนักวิชาการศึกษา (ประจำ) แต่ทำงานด้านภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรม ศาสนา เสียมากกว่า พอได้มาเรียนคณะครุศาสตร์ (เห็นชื่อ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์) เลยเผลอคิดอยากไปเป็น “ครู”
มองประเด็นเรื่อง “ครู” ซึ่งก็จริงดังที่พ่อครูบาว่าไว้…
ผมไม่เชื่อว่า คนโง่จะมาสอนให้คนฉลาดได้
ผมไม่เชื่อว่า คนคิดไม่เป็นจะมาสอนคนอื่นให้คิดเป็นได้
ผมเชื่อว่า คนคิดดีทำดีได้แน่นอน อิ อิ.
หากคนเป็นครูยัง ไม่ฉลาด ยังคิดไม่เป็น คิดไม่ดี … ไม่ต้องคิดถึง “ลูกศิษย์” ซึ่งคงน่าเสียดายมาก เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพและความดีความงาม ความพร้อมที่จะเรียนรู้ แต่…ขาด Input ที่ดีจากระบบการศึกษา
เรื่องเร่งด่วน ๆ ๆ ๆ ๆ คือทำอย่างไรให้ได้ คนเป็นครูที่คิดเป็น คิดดี และฉลาด
ตอนนี้สิ่งที่คณะกรรมการ รวมทั้งสภาการศึกษาและอีกหลายหน่วยงานทำก็คือ เร่งเพิ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับ “ครู” ด้วยคิดว่า เมื่อความต้องการพื้นฐานเพียงพอแล้ว ครูจะมีเวลา มีกำลังใจ กำลังสติปัญญามาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้ลูกศิษย์ …จนมีการทำอาจารย์ 2-3-4 เสียเงิน (เสียสติกันไปก็หลายคน)
ซึ่งก็ไม่ผิดและควรทำเช่นนั้น ปากท้องสำคัญที่สุด แต่ก็ต้องคิดถึงแผนที่จะทำต่อด้วยว่า ต้องมีหลักสูตรอะไร มีวิธีการ กระบวนการอะไรที่จะช่วยให้ได้ครูที่เป็นครูที่คิดเป็น คิดดี และฉลาด ด้วย
สรุปว่า เร่งสร้างครูดี ๆ กันดีกว่าค่ะ
freemind
ขอความกรุณาอาจารย์คิดต่อๆๆๆ
เรื่องการสร้างครูดี จะทำอย่างไร ให้แตกต่างจากวิธีที่เขากำลังดำเนินกันอยู่
เช่น การสร้างครูพันธุ์ใหม่ โดยครูเก่า วิธีการเก่าๆ จะช่วยได้ครูพันธุ์ใหม่ได้อย่างไร?
แนวทางการสนับสนุนครูดี ควรจะต้องทำอะไรบ้าง ที่ต่างกว่าที่เป็นอยู่
อยากขอความคิดใหม่ เชิงสร้างสรรค์ ช่วยกันทำมาหากินหน่อยนะครับ
ครูแท้ๆดีๆหายากเหลือเกิน เหลือน้อย จะเพิ่มๆๆๆได้อย่างไร
วิธีวัดลิงขบไม่เอานะครับ ไปอบรมมาแล้วกลายเป็น ลิงหลอกเจ้า ..อิ อิ
ขอบคุณล่วงหน้า อิ อิ
เจริญธรรมครับ
คนโง่ แต่เป็นคนดี อาจจะสอนคนให้เป็นคนดีแบบโง่ๆ โดยที่ไม่คิดโกงบ้านเมืองได้….
คนฉลาด สอนคนฉลาดให้รู้จักฉลาดเพื่อใครกันละ….
การศึกษาไทยลดพิธีกรรมลดเยอะๆ หน่อย… เน้นทำให้เยอะๆกว่าการสร้างภาพนะ สัมมนาไปก็ผลาญงบเอางบไปทำให้เด็กที่พ่อแม่หย่าร้างได้มีโอกาสเรียนต่อดีกว่าออกไปขายแรงงานก่อนวัยอันควร
เมื่อก่อนผมคิดว่าอิสานนี่ปัญหาอาการหนักแล้ว วันก่อนไปพบ คุณครูที่โรงเรียนควนเกยสุทธิวิทยา พบว่ามีห้องหนึ่งคุณครูบอกว่า เด็ก 25 คน พ่อแม่หย่าร้าง 23 คน
ครูที่เป็นครูมีอยู่เยอะครับ แต่ครูไม่ได้สอนในหลักวิชาการเพราะต้องไปแก้ไขปัญหาพื้นฐานให้เด็กก่อนกว่าจะได้สอนเนื้อหาหลัก
ส่วนครูที่เป็น คนรับจ้างสอน กินเงินเดือนนั้น มันโทษใครไม่ได้หรอกในเมืองประเทศไทยสร้างเค้าขึ้นมาเอง….
งดพิธีกรรม นำปฏิบัติ อัดด้วยความดี มีคุณธรรม โรงเรียนดีๆ ก็มีตรึม…
หากจะหาครูดีๆ ทุกวันนี้ ผมแนะนำให้ตั้งเงินเดือนครู เดือนละครึ่งแสนครับ… รับรองว่าอาชีพครูจะได้รับการนิยมอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเงินหรือด้วยใจรักหล่ะ เพราะการได้คนมาคุณก็บริหารจัดการใหม่ได้นี่
บริหารคนให้เป็นด้วยหัวใจนะ อย่างน้อย คนดีคนเก่งก็จะเข้ามาแล้วมีพลังแทนจะเป็นครูเพื่อได้มีสิทธิกู้เป็นหนี้สิน การเอาเงินล่อมันสมน้ำสมเนื้อแล้วละสำหรับยุคทุนนิยม ก็ต้องล่อด้วยเงินละแต่คนที่เข้ามาก็คงไม่ได้เห็นแค่เงินจึงเข้ามาหรอก แต่คุณคัดได้ว่าใครดีไม่ดี เพราะหน่วยงานของ สกอ.ก็เก่งมากๆ อยู่แล้วเรื่องสร้างตัวชี้วัดต่างๆ วัดคุณธรรมจริยธรรมทั้งหลาย ก็วัดกันไป ใครไม่ครบตัววัดไม่ถึงขั้นก็ไล่ออกกันแบบบริษัท แบบนี้จะดีไหมครับ?….
จริงๆ ผมคิดว่าจะไม่เสนอความคิดเห็นแล้วละครับ เพราะผมเชื่อว่ามันไม่ได้ผลหรอก…. แต่ก็เสนอไว้ให้ได้ฉุกคิดในทางลบบ้างก็ดีครับ เผื่อว่าลบเจอลบจะได้กลายเป็นบวกได้ครับ
คือตอนนี้ผมยังเชื่อว่านักการศึกษาและนักการเมืองยังจริงใจกับการศึกษาไม่พอครับ
แยกการศึกษาออกจากนักการเมือง…และสร้างให้มีแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ บริหารแยกจากการเมืองที่มีตัวไม่รู้ไปนั่งบนแท่นนะครับ
การเมืองจะเน่า การศึกษาไม่เน่าก็สร้างคนดีไปใส่น้ำเน่า น้ำก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง แต่หากเอาคนทิ้งขยะไปอยู่ใกล้น้ำเน่า น้ำก็จะยิ่งเน่านั่นละ เพราะทิ้งลงไปเถอะไม่ต้องคิดไร
การศึกษาไทย….
ผมจึงขอหันมาพัฒนาในวงอ้อมแขนผมจะดีกว่า… คิดเอง พูดเอง ทำเอง นำเอง พาเอง…แต่ติดดินแบบปริญญาสามัญนี่ละ
วันก่อนเมื่อวันครูตอนยังห่มผ้าเหลือง ผมบอกเด็กๆ ว่า ครูมีดังนี้ พ่อแม่ครูคู่แรก ครูอาจารย์ครูคนที่สอง คนทั่วไปสิ่งแวดล้อมพระธรรมชาติครูที่สาม และครูคนที่สี่คือตัวเราเอง
ไม่มีใครจะติดตามไปสอนเธอได้ตลอดเวลาหรอกนะ แต่เธอต้องเป็นครูให้ตัวเธอเอง พร้อมจะสอนและเป็นนักเรียนในตัวเธอเองพร้อมๆ กัน นี่คือการพึ่งพาตนเอง คิดเอง ทำเอง นำเอง พาเอง ให้อยู่รอดและปลอดภัยได้บนเส้นทางแห่งความดีได้
—————-
ผมไม่เชื่อว่า คนโง่จะมาสอนให้คนฉลาดได้
ผมไม่เชื่อว่า คนคิดไม่เป็นจะมาสอนคนอื่นให้คิดเป็นได้
ผมเชื่อว่า คนคิดดีทำดีได้แน่นอน อิ อิ. .
——————
ยังมีอีกวิธีครับ คือสอนแบบไม่สอน คนดูจะไม่รู้ว่าคนนั้นโง่ หรือฉลาดหรือว่าคิดไม่เป็นกันแน่ แต่สำนึกเกิดที่ผู้เรียนต่างหาก ดวงตาเห็นธรรมจึงอยู่ที่ผู้เรียน เพราะหากครูดีไม่ใช่ว่าจะสอนคนทุกคนให้ดีได้เหมือนกันหมดนะครับ… มันมีอะไรมากกว่าคำว่าครู…
เจริญธรรมครับ
สถานการณ์เด็กในปัจจุบัน มีเด็กกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ที่อยากไปโรงเรียน แต่ไม่อยากเข้าห้องเรียน ควรทำความเข้าใจให้ชัดนะคะว่าเด็กอยากไปโรงเรียนอยู่ …เดินต้อย ๆ ถือกระเป๋าเข้าโรงเรียนอย่างไม่เกี่ยงงอน แต่ไม่เข้าเรียนวิชาการในห้อง …แล้วพวกเขาไปไหน ก็อยู่ใต้ต้นไม้ เดินเล่นในโรงเรียน เข้าเรียนวิชาศิลปะ ดนตรี ทำกิจกรรม เล่นกีฬา แต่วิชาการไม่เอา !
แล้วทำยังไง ?
ถาม ว่าเด็กเล่นกีตาร์อยู่ใต้ต้นไม้ เด็กมีความสุขมั้ย…สุขแน่นอนค่ะ แต่คนที่ทุกข์ก็คือครูเพราะไม่ผ่านการประเมิน
วงจรนี้เห็นชัดว่า
1. เด็กปฏิเสธการเรียนวิชาการในห้อง แต่ยังไม่ปฏิเสธโรงเรียน
2. การประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผลนั้นวัดที่ไหน…ถ้าเด็กที่เล่นกีตาร์อยู่ใต้ต้นไม้ จะถือว่าเค้าเกิดการเรียนรู้ได้มั้ย เพราะการ เรียนรู้คือการที่ได้คิดและตัดสินใจเอง
3. ระบบมาตรฐานต่าง ๆ รวมทั้งการเรียนการสอนที่ขีดกรอบเพียงว่า”ต้องอยู่ในห้อง” ควรเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มาดูเรื่องความเป็นไปได้ที่ทำไมเด็ก ๆ ถึงไม่อยากเรียนวิืชาการหนัก ๆ ในห้องกันบ้างค่ะ
ตามทฤษฎีพหุปัญญา “มนุษย์แต่ละคนจะเข้าสู่การเรียนรู้ไม่เหมือนกัน”
บางคนถนัดคิดเป็น ภาพ บางคนถนัดคิดเป็นเสียง เคยเห็นมั้ยคะเด็กบางคนเวลาคิดอะไรจะพูดกับตัวเอง หรือส่งเสียงงึมงำบางอย่าง หรือบางคนเรียนรู้ผ่านการรู้สึกทางกายซึ่งคนที่มีลักษณะการเรียนรู้แบบนี้จะ ต้องลงมือทำ ต้องเข้าไปสัมผัสถึงจะเกิดการเีรียนรู้ แล้วการเรียนการสอนที่ยัดเยียดให้เด็กในปัจจุบัน เราทำแบบไหน ?
เมื่อ เด็กมีรูปแบบการเข้าสู่การเรียนรู้ไม่เหมือนกัน แล้วครูล่ะคะมีวิธี”นำพา”เขาเหล่านี้และวิธีการเรียนรู้ของครูเป็นอย่างไร
ซึ่ง ครูนี่แหละค่ะที่ควรรู้ตัวเอง
เบิร์ดม องว่าสำหรับเด็กไม่เรียน ก็ไม่จำเป็นต้องไปสนใจกับหลักสูตรอย่างบ้าคลั่ง (ที่เน้นเด็กไม่เรียนเพราะเด็กเรียนเราไม่ต้องไปยุ่งกับเค้ามากหรอกค่ะ เค้าดีอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันเด็กแบบไหนเยอะกว่ากัน ? แล้วหลักสูตรที่ออกแบบมาในระดับอนุบาล ประถม มัธยมเราออกแบบให้กลุ่มไหน ?)
ดัง นั้น จึงไม่ควรเอาเป็นเอาตายกับหลักสูตรจนเกินไป ค่ะ
มาถึงการวัดผลกันมั่งค่ะ
การวัดผลมี 2 แบบ
1. แบบมาตรฐาน มีกฎเกณฑ์เป๊ะ มีเกรดชัดเจน แต่การวัดผลแบบนี้ใช้กับเด็กไม่เรียนไม่ได้ผลค่ะ
2. แบบที่เอาพัฒนาการเป็นตัวตั้ง เช่นเขียนไม่ได้ กลายเป็นเขียนคำง่าย ๆ ได้โดยไม่ต้องช่วย อันนี้ก็คือเกิดการเรียนรู้
เกณฑ์การวัดผลจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นมากขึ้น ค่ะ
ในการสอนเด็ก แน่นอนว่าทุกที่จะเน้นเรื่องเรียนดีเป็นหลัก แต่ลองกล้าสอนให้แตกต่างดูมั้ยล่ะคะเน้นไปที่ยังไม่ต้องรู้หนังสือก็ได้ แต่ให้รับผิดชอบเป็น มีวินัย คบคนได้ จัดการอารมณ์ได้เพื่อทำให้เด็กมีชีวิตที่ดีและเอาชีวิตรอดได้ ก่อนที่จะสอน “หนังสือ” จะดีกว่ามั้ย
แต่ครูจะ”กล้าสอน”ได้นั้น ผู้บริหารต่าง ๆ ก็ควร”กล้าให้อำนาจ”กับพวกเค้าด้วยค่ะพ่อ
ยังไม่จบ เราใช้ครูไม่ถูกประเภท และเน้นผิดระดับค่ะพ่อ เราเน้นมัธยม ประถม อนุบาล
แต่จริง ๆ ชั้นอนุบาลสำคัญที่สุด ญี่ปุ่นใช้ ดร.สอนเด็กอนุบาลนะคะ ;) เพราะเป็นส่วนของ”การแรกเข้า” ถ้าเด็กไม่สนุกกับการเรียนรู้ ต่อ ๆ ไปตาย !
ไม่ว่าจะวางหลักสูตรอย่างไร อยากให้เน้น 5 F ค่ะพ่อ
อนุบาล = Fun ให้เรียนรู้อย่างสนุกไปก่อน
ประถม = Find เริ่มให้โอกาสค้นหาว่าถนัดการเรียนรู้แบบไหน ชอบอะไร
มัธยม/อาชีวะ = Focus ค้นพบตัวเองแล้วถึงจะลงลึกในสิ่งที่สนใจ
มหาวิทยาลัย = Fulfil เติมเต็มสิ่งที่มั่นใจว่าใช่สำหรับตัวเอง
ทำงาน = Fantastic เอาให้เริ่ด ระเบิดระเบ้อไปเลย เพราะถ้าชัดเจนและสนุกกับการเรียนรู้มาตลอด เมื่อทำงานยังไงก็สร้างสิ่งที่เหนือความคาดหมายได้แน่ค่ะ
เมื่อไม่ใช่นักการศึกษาก็บอกกล่าวเท่าที่เห็นนี่แหละค่า ฮี่ฮี่ฮี่
เยี่ยมมาก เบริ์ด ขออีก ๆๆๆๆ
อิอิ..ขำที่คุณ Freemind เก็บเอาบันทึกนี้ไปคิดก่อนนอนจนหลับไป แต่ตัวเองคิดแล้วตาค้าง..^___^
ขอร่วมคิดที่บันทึกนี้ นะคะ ออกจะยาวไปหน่อย เลยไม่เขียนที่บันทึกนี้ค่ะ
เรื่องนี้รักครูอึ่งแทบใจระเบิด
ไม่ผิดหวังที่แอบรอๆๆ และรอ ว่าเมื่อไหร่จะมา
แล้วสิ่งที่ภาวนาก็อุบัติการณ์
เรื่องนี้ใครจะมารู้ดีกว่าครู
ที่อยู่โยงกับความยุ่งเหยิงยุบยับความสึกกร่อนการศึกษา
ดูเหมือนเขา(นักกานสึกษา)พยายามคุมกำเนิด ความแจ่มใสความบริสุทธิ์ความดีงาม ทำผ้าสีสวยให้กระดำกระด่างยิ่งขึ้นๆๆ
พยายามบรรจุ “เพิ่ม” ดูได้จากตัวบ่งชี้ที่แม้แต่เทวดาก็ทำไม่ได้ สุดแสนระอาใจกับวิสัยทัศน์ของแม่มดหมอผี ที่ไม่เคยคิดจากความเป็นไปได้ ความเป็นจริง จะเรียกว่าควายคิด ก็จะดูถูกควายเกินไป
มนุษย์ควายคิดว่า การเติมทุกอย่างลงไปแล้วมันจะดีลิศประเสริฐศรี ไม่นึกว่ามันจะเน่าบูด เหม็นเบื่อ สร้างความทุกข์ทรมานก็ได้ถ้ามันไม่พอเหมาะพอควร
เป็นคำที่ถามตีแตก “เราให้เด็กเรียนเพื่อใครกัน”
จัดหลักสูตรเข้ม แข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งๆที่ไม่รู้ว่ามีวิชาที่ตรงไหน มีจริงหรือเปล่า มีแต่วิชาเจ้ากี้เจ้าการ นะสิ
เราให้เด็กเรียนบนพื้นฐานของความไม่แน่นอน ไม่มั่นใจ ไม่น่าเชื่อถือ บอกตัวเองไม่ได้ว่าเรียนแล้วได้ประโยชน์ตรงไหนกัน
มาช่วยกันเอาเด็กออกจากโรงฆ่าอนาคตของลูกหลานไทยกันเถิด
กฎหมายโรงเรียนเอกชน ต้องการให้ปรับแก้ตรงจุดไหนอย่างไร ที่มันเป็นตุ้มถ่วง ขอให้เสนอมาเป็นข้อๆพร้อมเหตุผล จะได้เอาไปฟันธง อิ อิ..(จะรวมความคิดเห็น ทำเป็นสมุดปกขาว แจกทั่วหน้าในวันประชุมคราวต่อไป)
อ้อ ยังเพื่อนครูอึ่งอีกคน ไม่รู้หากุญแจเข้าห้องได้แล้วหรือยัง คอยอยู่นะ ยังไม่เห็นมา>>
กว่านโยบายจะเป็นจริงได้ มีรายละเอียดและความจริงในทางปฏิบัติอีกมากมายที่ต้องปรับ ต้องพัฒนา และต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน ร่วมกันช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในการลงมือทำ
มีโจทย์ในการปฏิบัติมากมายที่รอการแก้ไข ทำอย่างไร..จึงจะมีหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ไม่ซ้ำซ้อน ไม่อัดแน่นด้วยเนื้อหาและความคาดหวังอันสูงส่งต่อเด็ก แต่มุ่งเน้นการสร้างพื้นฐาน ความรู้ ความคิดและคุณภาพจิตใจ ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ตามความรัก ความชอบ อย่างมีความสุข และได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาต่อยอดไปในสิ่งที่ตนเองถนัด จนเกิดปัญญาในการดำเนินชีวิต สามารถทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
ทำอย่างไรที่จะพัฒนาครูให้เห็นภาพรวม เห็นการเชื่อมโยง ส่งต่อ ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในการพัฒนาเด็ก เพื่อจะช่วยเหลือร่วมมือกันและกัน มากกว่าจะแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง
ทำอย่างไรจึงจะมีวิธีคัดเลือก จัดสรรโอกาสในการเรียนของเด็กในระดับต่างๆ อย่างเหมาะสมเท่าเทียม ฯลฯ
สำหรับตัวเอง ยังมองไม่เห็นวิธีในการเปลี่ยนแปลงวงการศึกษาชนิดให้เห็นผลอย่างเร็ววัน ระหว่างนี้ ก็หาวิธีพัฒนาการศึกษา พัฒนาครู ตามบริบทและปัจจัยที่มี วันดีคืนดีก็นำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันบ้างอย่างที่เห็นนี่แหละค่ะ
ก็เป็นโรงเรียนเอกชน ที่ต้องพึ่งตนเอง แถมอยู่ภายใต้กฎหมายโรงเรียนเอกชนที่แสนจะไม่ยุ่งยากจริงจริ๊ง..นี่คะ
ไม่ได้ประช๊ดดดดด หึ..หึ..
หลวงตาเม้ง ให้ข้อฉุกคิดที่ดีมากๆ
เสนอ-แยกนักการเมือง ออกจากการศึกษา
ตอบ-ยอมรับว่า ใช่เลย แต่..คงยากที่จะทำอย่างนั้นได้ในปัจจุบัน เพราะรัฐมนตรีก็เป็นนักการเมือง ใครต่อใครต่างก็เกี่ยวข้องกับการเมือง ในทางปฎิบัติเราต้องช่วยการสร้างการเมืองให้มีคุณภาพกว่านี้ ไม่ดูดาย ควรเป็นเจ้าภาพพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองร่วมกันทุกคน ถึงมันจะยาก ก็ดีกว่างอมืองอเท้า นะครับหลวงตา
เรื่องการศึกษามันโกลาหลมานาน จะแก้ไขแบบฆ่าตัดตอนก็คงยาก ที่เห็นๆบางกรณีมันก็กำลังจัดการกันเอง บางเรื่องมันก็แตกตัวไปต่างๆนานา วันนี้ พอทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน ช่วยกันบ้างก็ยังดี ประเดิมแรกก็ช่วยกันออกความคิดเห็นนี่แหละ ถึงจะไม่เชื่อไม่หวังว่ามันจะแก้ได้
ก็ขออนุญาตถามซ้ำว่า..แล้วจะให้ทำยังไงละ
จะลอยเำพลูกหลาน
ทอดทิ้งให้การศึกษามันมั่วต่อไปอย่างนั้นหรือ
เจริญทำ
เมื่อวานประชุมสภามหาวิทยาลัย
คณาจารย์โอดครวญว่า..
ครูทั่วไป ก้าวหน้าง่ายและเร็วกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเสียอีก
ไม่ต้องรักษาสถานะ ผศ.รศ. หรือ ศ.
ก้าวกระโดดไปขั้นเชี่ยวชาญ 8-9-บรรณรักษ์บางคนกระโดดไป 10
คาดว่าเรื่องนี้ ..จะเป็นปัญหาโลกแตกเชืงนโยบาย ที่คิดไม่ตกว่า
บ้องกัญชา จะกลายเป็นมะลิลา ไปหมด อิ อิ
นี่แหละ..การศึกษา ต้องศึกษาไปจนเข้าโลงนั่นแหละ
ขอบพระคุณมากครับ
ผมขอบริหารจัดการในวงเล็กๆ ทดสอบตามแนวทางลองผิดลองถูกที่เคยๆ ลองมากปรับใช้ดูนะครับ
อย่างน้อยอ่านข้อแนะนำปลายเปิดที่นักศึกษาประเมินผู้สอนก็อาจจะช่วยยืนยันบางอย่างได้ในเบื้องต้น
ว่าที่มั่วๆ ไปนั้นโดนจริตเค้ามากน้อยแค่ไหน
ผมไม่อยากจะทำให้ใจผมขาวนะครับ
เจริญธรรมครับ
คงได้แค่อ่านค่ะพ่อ แต่ขออนุญาตส่ง url ให้กับนักการศึกษาทั้งหลายแหล่อ่านค่ะ
นักการอิ่ม
-ขอบคุณมากอิ่ม ที่ช่วยกันทำมาหากิน
-ลูกพี่จอมป่วยหายไปไหนก็ไม่รู้ อิ
ปัญหาการศึกษาไทยในทัศนะของอุ๊ยค่ะ ครูบา
ขอบคุณอ้ยมาก
นักศึกษาพยาบาล สถานศึกษาเป็นที่สนใจ นิยม แต่ก็เจอเรื่องมาตรฐาน คณะพยาบาลของม.อุบลเพิ่งจะผ่านการรับรองทุกขั้นตอน ให้เปิดรับในปี 53 จำนวน 60 คน อาจจะขยายรับได้ 100คน/ปี ตามอัตราเฉลี่ยอาจารย์ ถ้ามีประเด็นเพิ่มก็ขออีก นะครับ โดยเฉพาะประเด็นผู้บริหารคณะ จุดดี จุดด้อย จุดอยากให้เสริม อิ
ข่าวการศึกษา
ประเทศจีนมีผู้เข้าสอบมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจำนวน 975 ล้านคน มีปัญหาเยอะเหมือนกัน เช่น เรื่องมือปืนรับจ้าง
เรื่องจารกรรมด้วยเครื่องมือ ไฮเทค ที่พัฒนาไปไกลกว่าจองเจมบอนด์เสียอีก จีนแก้ปัญหาด้วยการให้เขียนร้อยแก้วส่วนหนึ่ง ตรงจุดนี้ยังเป็นจุดแข็งที่ยากจะโกงได้ และทุกประเทศก็อ่อนเรื่องการเขียน การหยิบเอาการเขียนมาเป็นตัวตรวจสอบจึงน่าสนใจมาก เพื่อคัดกรองเบื้องต้นได้บ้างว่า นักเรียนมีวิสัยทัศน์จริงแค่ไหนอย่างไร?
ประเด็นนี้อุ้ยเห็นจังไดผ้อง
มีผู้รู้กล่าวว่า
ชีวิตจะอยู่นานเท่าใดไม่ใช่ปัญหา ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร?
ชีวิตยังมีความหวัง ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ
พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน กลับมาบ้านไม่ต้องทำอะไร เพราะมันไม่ใช่วิสัยของนายคน
นายคนต้องชี้นิ้ว อวดฤทธิ์เดช ลูกจึงเล่นบทเจ้าคนนายคน
โตแล้ว ก็ยกมือไหว้ใครไม่่เป็น เล่นบทเชิดหน้าก๋าไม่หุบ..
เพราะฉันเป็นนายคน คนอื่นด้อยกว่าฉัน อย่ามาตีเสมอ
ระบบการศึกษาก็ซ้ำเติม ไม่สอนให้ทำอะไร ทำแต่การบ้าน ทำตามใบสั่งา
เหนือนอกนั้น..ฉันไม่ทำ
เด็กไทยจึงทำอะไรไม่เป็น เพราะไม่เคยทำอะไรมาแต่ต้น
ปัญหาอยู่ที่ว่า..โตไปเป็นเจ้าคนนายคนได้จริงก็ไม่น่ามีปัญหา
แต่ถ้าตกงาน ไม่ได้มีหน้าที่การงาน จะอยู่อย่างไร?
สร้างหลักสูตร เจ้าคนนายคน+เจ้าคนสู้งาน สู้สิ่งอยาก อยากรู้อยากทำดีไหม?
ยังกัดติดเรื่องหลักสูตรอยู่ค่ะพ่อ
เบิร์ดสนใจกลุ่มเด็กไม่เรียนเพราะเป็นกลุ่มใหญ่และก่อปัญหาให้กับโรงเรียนมากมายและส่งผลเยอะแม้กับสังคม ไว้เบิร์ดจะส่งเรื่องเกี่ยวกับ”Big Picture School” ของอเมริกาไปให้พ่อทางเมล์นะคะ
บิ๊กพิคเจอร์ เป็นการปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีภาพกว้าง ๆ ว่าเด็กที่ไม่เรียนในห้องเรียนเค้าสามารถไปหาเรียนเรื่องที่สนใจจากชุมชนได้ เช่นเด็กสนใจการซ่อมมอเตอร์ไซค์ก็ให้ไปเรียนรู้เรื่องนี้กับร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ในชุมชน โดยใช้เวลาเรียนนี่แหละค่ะเป็นตัวควบคุม ไปเรียนวันอังคาร พฤหัส หรือวันอะไรก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน ส่วนวันที่เหลือก็นั่งเรียนในห้องตามปกติ แต่เค้าบูรณาการวิชาให้อยู่ในเรื่องที่เด็กสนใจ เช่นคณิตศาสตร์ก็สอนเกี่ยวกับการคำนวณลูกสูบมอเตอร์ไซค์ ปริมาตรน้ำมันเครื่อง อะไรทำนองนี้น่ะค่ะ
ส่วนเด็กเรียนอาจสนใจเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ หรืออะไรก็ไปเรียนวิชาเขียนหนังสือ จับใจความ ย่อความ เรียงความแล้วนำมาประยุกต์กับสิ่งที่ต้องเรียนตามหลักสูตรสามัญเหมือน ๆ กับเด็กไม่เรียน เป็นรูปแบบของการทำหลักสูตรให้ยืดหยุ่นขึ้นลดเวลาเรียนในห้องลงให้เหมาะสมกับเด็กทั้งสองกลุ่ม
เบิร์ดไม่เถียงว่าการเรียนในห้องจำเป็น สำคัญ แต่มันมีทางที่ทำให้”น่าสนใจ”มากขึ้นน่ะค่ะ
อเมริกาเริ่มทดลองใช้รูปแบบนี้และเห็นว่าได้ผลดี เกิดการเชื่อมโยงระหว่างบ้านกับชุมชน จริง ๆ เราก็มีการนำปราชญ์ชาวบ้านมาสอนเด็กอยู่นะคะ แต่มักอยู่ในรร.นอก ๆ ซึ่งน่าจะลองค้นหาดูว่ารร.ไหนมีการปรับหลักสูตรเหล่านี้บ้าง เช่นเด็กๆเป็นไกด์นำเที่ยวหมู่บ้าน ก็รู้ทั้งประวัติศาสตร์ และภาษา แบบนี้น่ะค่ะ
ส่วนแผนการศึกษาชาติ เสนอให้ลองดูจากสิงคโปร์ค่ะพ่อ สิงคโปร์ให้เคมบริดจ์มาวางแผนการศึกษาชาติไว้ตั้งแต่สี่สิบกว่าปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแผนหลักเลยค่ะ แม้จะเปลี่ยนนักการเมืองก็ตาม (อันนี้น่าจะสอดคล้องกับสิ่งที่เม้งเสนอ)…ซึ่งนี่ก็คือสาเหตุหนึ่งของความเจริญในสิงคโปร์น่ะค่ะ
เอาใจช่วยนะคะพ่อ ^ ^
ปัญหาเด็กไม่เรียน ได้สะท้อนอะไรหลายอย่าง
ที่คนใหญ่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้
ที่เบริดเสนอ เป็นแง่มุมที่น่าออกแบบให้เป็นประเด็นสำคัญ
เพลง ลูกเทวดา ที่ดังกระหึ่มอยู่ทั่วฟ้าเมืองไทย
สงสัยยกกันจนนับไม่ไหว อิ
พ่อเช็คเมล์ด้วยนะคะ ส่งไปตอนสักทุ่มกว่าๆนี้ค่ะ
สำหรับผมการศึกษาใขั้นแรกสุดจะ้ต้องคิดว่า “จะช่วยให้เด็กมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ได้อย่างไร” ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องไปยัดเยียดหรืกำหนดหรอกครับว่าเด็กจะต้องเรียนรู้ในเรื่องใดบ้าง เพราะการเรียนรู้ไม่สามารถบังคับการได้ แต่การช่วยให้ผู้เรียนมีความต้องการที่จะเรียนน่าจะเป็นคำตอบที่ตรงจุดมากกว่า
ขอเสนอดังนี้ค่ะ
คืนครูให้นักเรียนลดงานเอกสาร
ระบบแนะแนวต้องดีให้เด็กได้รู้เป้าหมายตนให้ชัด
ปรับระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เด็กไม่ต้องเรียนพิเศษมาก
คืนเด็กสู่ธรรมชาติออกจาก ครูตู้
การอบรมและเก็บหน่วยคะแนนเพื่อให้ความรู้ทันสมัยจำเป็นค่ะ
หาทางให้มูลค่า คุณค่า ที่มาจากปัญญาปฏิบัติของครู
การศึกษาทุกระดับให้การศึกษาที่เน้นคุณธรรมให้ชัด โดยเฉพาะอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย
การให้อิสระ ไม่ได้หมายความว่าปล่อยปละละเลยจากผู้ใหญ่ อาจารย์ในระดับอุดมศึกษาควรให้ความสนใจตรงนี้มาก ๆค่ะ เก่งอย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมาย
ขอบคุณทุกความเห็น
ยังเปิดรับอุปการะคุณข้อเสนอแนะอยู่เสมอ ครับ
วันนี้นำคำท่านหลวงปู่พุทธทาสมาเสนอค่ะ เกี่ยวกับการศึกษาท่านพุทธทาสกล่าวว่า ที่เราศึกษากันอยู่คือศึกษาวิชาความรู้ และ วิชาชีพ แต่ยังขาดการศึกษาธรรมะซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อชีวิตมนุษย์ เพราะธรรมะคือความถูกต้อง ธรรมะของมนุษย์คือความถูกต้องของชีวิตมนุษย์ ที่สอนเด็กๆว่าธรรมะคือ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นยังไม่ครบ เพราะไม่สอนว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร หลวงปู่กล่าวว่า สิ่งใดมีชีวิตสิ่งนั้นมีหน้าที่ ปฏิบัติธรรมคือ ปฏิบัติหน้าที่ การไม่ทำหน้าที่นั้นทำให้เกิดป้ญหาทั้งสิ้น ถ้านกไม่ทำหน้าที่ ถ้าพระอาทิตข์ไม่ทำหน้าที่ ถ้าห้วใจไม่เต้นก็ตาย ถ้าอวัยวะต่างๆทำงานไม่ตามหน้าที่ก้เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าภายในของพืช ไม่ทำหน้าที่ตามปกติ พืชนั้นก็เป็นโรค ถ้าใจของมนุษย์ไม่รู้จักไม่ทำหน้าที่ก็มีปัญหา ทำตามหน้าที่คือทำให้ถูกต้อง สิ่งสำคัญที่ต้องสอนเด็กคือ ให้รู้จักหน้าที่ ใหัรู้ตามบทบาท ตามการพัฒนาของตน เช่น เป็นเด็กมีหน้าที่อย่างไร เมื่อพัฒนาเป็นวัยรุ่น มีหน้าที่อย่างไร และให้รู้ว่าความสุขที่แท้จริงคือความสุขจากการทำหน้าที่ ไม่ใช่ความสุขที่ต้องใช้เงินซื้อหามา เมื่อใดต้องใช้เงินซื้อเมื่อนั้นเป็นสุขตามกิเลส เป็น สุก(ไหม้) ไม่ใช่สุก ซึ่งต้องไขว่คว้าร่ำไปไม่มีเต็ม เมื่อรู้เช่นนี้แล้วประตูสู่อบายมุขจะปิด ไม่ต้องหาเงินเพื่อมาปรนเปรอกิเลส ไม่ต้องขโมยเวลา ไม่ต้องตอรัปชั่น ไม่ขี้เกียจ เพระไม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้องคือทำให้มีปัญหา
๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๒
บรรยายธรรมประจำวันเสาร์
๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๒
แสดงปาฐกถาพิเศษ
๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๖ บรรยายธรรมแก่ คณะนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา
http://www.dhammathai.org/sounds/buddhadasa.php
http://www.dhammathai.org/sounds/playsong.php?sound=buddhadasa/suanmokkh1/440103.wma
http://www.dhammathai.org/sounds/playsong.php?sound=buddhadasa/suanmokkh1/440104.wma
http://www.dhammathai.org/sounds/playsong.php?sound=buddhadasa/suanmokkh1/440105.wma