มะ..มาลองกันอีกสักตั้ง!!!

โดย dd_l เมื่อ กรกฏาคม 12, 2009 เวลา 9:39 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 3499

เริ่มเจอโจทย์ที่ยากมากขึ้นในงานการดูแลเด็ก
ไม่อยากรอให้เรื่องจากจุดเล็ก ขยายเป็นเรื่องใหญ่
เด็กๆ เริ่มละเลยเรื่องวินัยกันมากขึ้น แฟชั่นเครื่องแบบก็ระบาดทั้งชายหญิง
ยิ่งเห็นเรื่องราวต่างๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ และข่าวสาร
ยิ่งมีงานที่ต้องทบทวน ไตร่ตรอง  มองย้อน ในการจัดการสอนและพัฒนาเด็ก

เหล่าบรรดานักเรียน พ่อแม่ ครู ล้วนมีชีวิตอยู่ในกระแสสังคมที่ซับซ้อน
และถูกต้อนให้เป็นเหยื่อทางการค้า
ทั่วบ้านทั่วเมืองล้วนแต่มีเรื่องไม่น่าเอาเป็นแบบอย่าง
บางครั้งครูถึงกับอึ้ง เมื่อผู้ปกครองสวมเสื้อเอวลอย กางเกงขาสั้นจู๋ มารับเด็กในโรงเรียน
หลายบริษัทเพียรมาขอจัดกิจกรรม เพื่อนำทางให้ได้โฆษณาขายสินค้า
หากบรรดาครูไม่ฉุกคิด ก็หลงติดกับของยั่วใจ กลายเป็นเครื่องมือล้างสมอง
ให้เด็กติดในยี่ห้อสิ่งของเครื่องใช้ที่แฝงมาในการแจก แลกกับการจัดกิจกรรม

ท่ามกลางกระแสสร้างงานสร้างรายได้
ใครๆ ต่างใช้เวลาในอาชีพ รับจ๊อบ รับโอที  แต่ไม่มีเวลาดูแลลูก
แถมยังปลูกฝังค่านิยม เลี้ยงด้วยเงิน
เด็กจึงคิดจะเพลิดเพลินอยู่กับร้านเกม แต่งมอเตอร์ไซค์ เดินเล่นในศูนย์การค้า
สร้างสุขจากประดาสิ่งของที่ต้องใช้เงินซื้อ บางเวลาก็เดินถนนคนเดินจนค่ำมืด
บ้างก็เรียน เรียน เรียน สารพัดวิชา เพื่อบรรดาพ่อแม่จะสบายใจ

 

 

ทำอย่างไร…จึงจะสร้างปัญญา
ให้ได้มองเห็นวิถีทางสร้างตนให้พ้นจากความเป็นเหยื่อ

ใช้เวลาอ่านหนังสือในวันหยุด  ได้คิด กับ หลากหลายข้อเขียน
“เด็กไม่ได้มีปัญหา แต่กำลังเผชิญกับปัญหา”
ปัญหาจากบรรดาผู้ใหญ่ที่ไม่ใส่ใจจะสร้างอนาคตอันดีงาม
แต่กลับปล่อยเด็กให้ล่องลอยตามกระแสความอยาก ความพอใจ
เด็กกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะหลอกล่อให้ได้เงินตรามาสร้างความร่ำรวย

เมื่อเด็กกำลังเผชิญกับปัญหา จึงต้องหาปัญญามาช่วยแก้
ได้แนวคิดจาก พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)**
ชวนบรรดาคุณครูมาทบทวนการทำงาน และช่วยกันทำความเข้าใจในแนวทาง
จะสร้างวินัย ก็ต้องเข้าใจความหมายให้ถ่องแท้

วินัย ภาษาพระ แปลว่า “การนำไปให้วิเศษ”
หมายความว่า ชีวิตมนุษย์เรานี้จะดี จะวิเศษ จะประเสริฐได้ก็ด้วย การนำไปให้ถูกทาง
ภาษาในทางปฏิบัติแปลว่า “การฝึก”  แต่ห้ามแปลว่า “ข้อบังคับ”

วินัย เป็นรูปแบบที่จัดตั้งขึ้นมา
ถ้าคนปฏิบัติโดยมีความเข้าใจ  ใช้ปัญญา และได้จิตใจมาร่วมด้วย
เช่น พอใจ สมัครใจ เต็มใจ ตั้งใจอยากฝึกให้เป็นด้วยก็ไปได้ดี
แต่ถ้าไม่มีด้านปัญญาและจิตใจเข้ามา มันก็เหลือแต่รูปแบบ

วินัย คือการจัดสรร หรือจัดตั้งระบบวิถีชีวิต
ที่จะทำให้คนต้องดำเนินชีวิต และทำกิจกรรมต่างๆ
อยู่ในแนวทางที่เราต้องการให้เป็นไปตาม “หลักไตรสิกขา”

ถ้ามองเห็นความสำคัญของความเคยชิน ก็รู้ความสำคัญของวินัย
พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญของความเคยชิน
คนเรามีทั้งความเคยชินที่ดี และความเคยชินที่ไม่ดี
ถ้าเคยชินไม่ดีก็เสียหาย  ซึ่งอาจจะทำให้เสื่อมได้มาก

ถ้าไม่มีคนอย่างพ่อแม่ หรือคุณครู ที่เป็นกัลยาณมิตรมาช่วยนำ
เด็กอาจความเคยชินที่ไม่ดีขึ้นมา จนติดนิสัยไปถึงขณะเป็นผู้ใหญ่

 

ชวนกันเรียนรู้เรื่องไตรสิกขา ให้เข้าใจความเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญา
ให้เข้าใจความสำคัญของศีลทั้ง 4 หมวด อันเป็นหลักในการฝึกความเคยชินที่ดี

ทั้ง ปาฏิโมกขสังวรศีล อันเป็นวินัยแม่บทของชุมชน
เป็นข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันที่จะคุมชุมชนให้อยู่ในแบบแผนเดียวกันอย่างประณีต งดงาม
และกำกับความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการมีชีวิต

อินทรียสังวรศีล อันเป็นการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ถูกทาง
ให้ได้ญาณ คือ สร้างความรู้ความเข้าใจ เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ จับสาระได้
ได้สติ  คือ ได้ข้อมูลไว้สำหรับระลึกใช้ประโยชน์
ไม่ไปตามชอบใจ ไม่ชอบใจ ไม่ติดอยู่แค่ถูกใจ เพลิดเพลิน

ศีลหมวด ปัจจยปฏิเสวนา เรื่อง การเสพปัจจัย 4
เกี่ยวกับสิ่งของ เครื่องกิน เครื่องใช้
ให้เข้าใจความมุ่งหมายว่าเพื่ออะไร มองเห็นคุณค่า ประโยชน์ที่แท้
ให้อยู่เป็น กินเป็น

อาชีวปริสุทธิศีล  เรื่อง การประกอบอาชีพที่ถูกต้อง สัมมาอาชีวะ
ทำหน้าที่ให้ได้ผลสมตามวัตถุประสงค์ของอาชีพ
ไม่ให้อาชีพของเราไปก่อการเบียดเบียนเกิดโทษ เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ใด
หรือทำให้สังคมเสื่อมเสีย และไม่ทำให้ตัวเองสูญเสียหรือเสื่อมจากการพัฒนา

อาชีวะที่ถูกต้องของเด็ก ก็หมายความว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง
ให้สมกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่

 

 

ทำความเข้าใจเรื่องสมาธิ สำหรับเด็กให้ถูกต้อง
ด้วยทั่วไปมักจะมองเป็นการฝึกสมาธิแบบโยคีกันเสียมาก

การฝึกสมาธิให้เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับกิจกรรมการเคลื่อนไหว ซึ่งเหมาะสำหรับเด็ก
แล้วก็ประสานกับองค์ประกอบอื่น ในระบบของมรรค หรือไตรสิกขา
ให้เป็นเรื่องที่คืบเคลื่อน หรือ dynamic ไม่ใช่เอาแต่จะมานั่งนิ่ง

สมาธิในพระพุทธศาสนา นี่ต่างจากสมาธิของโยคี
เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงได้บทเรียนจากสมาธิของโยคีว่า มันไม่ถูก
จึงได้มาตรัสสอนสมาธิที่ประสานโยงในระบบไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
สมาธินั้นจะต้องเกื้อหนุนปัญญา โดยสร้างสภาพจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน
พอจิตเหมาะกับการใช้งาน โดยเฉพาะงานใช้ปัญญา ก็พัฒนาปัญญาก้าวไป
แล้วก็โยงกันไปทั้งระบบ ไตรสิกขาก็จึงเป็นระบบแล้วก็เป็นองค์รวมในตัว
มันก็บูรณาการกันเสร็จไปในตัวอย่างนี้แหละ

เด็กไทยเดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยมีความรู้ เข้าใจอะไรชัดเจน
จึงหวั่นไหวไปตามกระแสค่านิยม
ใครว่าดีก็ดีตามไป ไม่มีหลักของตัว ขาดความมั่นใจที่แท้
อย่างนี้ก็หมดแล้ว สมาธิไม่มี เด็กได้แค่หวั่นไหวไป วอกแวกไป
ได้แต่ตาม คอยตื่นเต้น คอยดูกระแสว่า จะเป็นอย่างไร
ถ้าเป็นอย่างนี้ก็พัฒนายาก

เมื่อพัฒนาเด็กยาก ก็พัฒนาสังคมได้ยาก
แต่ถ้าเด็กของเรามีความรู้ความเข้าใจ  มั่นใจในสิ่งที่ทำ
มองเห็นเหตุผลชัดเจน ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ เราจึงควรทำอย่างนี้
แล้วใจก็จะสงบมั่นแน่ว เป็นสมาธิ ซึ่งไปพร้อมกับปัญญา
และพฤติกรรมก็จะดีอย่างแน่นแฟ้นด้วย
ถึงขั้นนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็มาด้วยกัน พัฒนาได้แน่

 

ปิดท้ายด้วยแนวคิดในการจัดกิจกรรม
ที่ย้ำให้มีการเตรียมและตรวจสอบว่ามี สิกขาสามด้านครบหรือไม่

ด้านพฤติกรรมกาย-วาจา และการใช้อินทรีย์
ว่ากิจกรรมที่จะทำหรือได้ทำนั้นไม่เป็นเพื่อการเบียดเบียน ก่อความเสียหาย
แต่เป็นไปในทางเกื้อกูลสร้างสรรค์    ศีล

ด้านจิตใจ ว่าทำกิจกรรมนั้นโดยมีแรงจูงใจที่ดี
ไม่ทำด้วยโลภ โกรธ หลง  แต่มีเมตตากรุณา ไม่อ่อนแอ ระย่อท้อแท้
แต่แกล้วกล้าเข้มแข็ง  มีฉันทะ  ไม่ทุกเศร้า ขุ่นมัว เศร้าหมอง
แต่ผ่องใสเบิกบาน มีความสุข  จิต

ด้านปัญญา ว่าทำกิจกรรมนั้นๆ ด้วยความรู้ความเข้าใจ
มองเห็นเหตุผล รู้จักคาดหมายผลดี ผลเสียที่จะเกิดสืบเนื่องต่อไป
พร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปรับปรุง ปัญญา

ทั้งแนวทางการพิจารณา พัฒนาการของเด็กด้วยหลักอริยวัฒน์ 5

ศรัทธา มีความเชื่อที่ไม่งมงาย มีเหตุผล  ประกอบด้วยปัญญา
ซึ่งไม่เบียดเบียนชีวิตและสังคม

ศีล มีความประพฤติและวิถีชีวิตไม่เบียดเบียน แต่เกื้อกูล มีวินัย เอื้อต่อวัฒนธรรม

สูตะ  มีความรู้ข่าวสารข้อมูล ทันต่อเหตุการณ์สถานการณ์
และมีความรู้เหมาะพอแก่การดำเนินชีวิตกิจการของตน

จาคะ มีจิตใจกว้างขวาง ไม่คับแคบเห็นแก่ตัว รู้จักสละให้ บำเพ็ญประโยชน์

ปัญญา รู้คิดเข้าใจ ทำการต่างๆ ด้วยปัญญา รู้จักแยกแยะ ดี-ชั่ว คุณ-โทษ
ประโยชน์-มิใช่ประโยชน์ มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
หยั่งถึงเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย


 

เพียงได้ความรู้คงไม่ช่วยนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นผล
จึงชวนกันพิจารณาตน  แลกเปลี่ยนความคิดในการทำงาน
และกลายเป็นการบอกเล่าความรู้สึก ความนึกคิดที่มีต่อกัน
ทำให้ได้รู้  สิ่งใดที่ครูพอใจ สิ่งใดที่ได้ข้อคิด สิ่งใดที่อยากต่อเติมเสริมทักษะ
มีการบ้าน และ ภาระให้ช่วยกันทำต่ออีกหลายเรื่อง

ชวนกันพัฒนาชีวิตไปพร้อมกับคิดทำงานร่วมกัน
ให้ได้ทั้งงานและการใช้ชีวิตให้มีคุณค่า
แม้ว่ากระแสที่ไหลบ่าในสังคมก็รุนแรงนัก
แต่หากไม่ชักชวนกันลงมือเสียแต่วันนี้..ก็ไม่รู้จะมีอาชีพครูไปทำไม..
จะได้แค่ไหนก็ช่างมัน

มะ..มาลองช่วยกันอีกสักตั้ง..เถอะนะ

 

 

**อ้างอิงจากหนังสือ “รู้หลักก่อน แล้วศึกษา และสอนให้ได้ผล”
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต)

กราบนมัสการด้วยความศรัทธายิ่ง..

 

« « Prev : เรื่องราวจากผิวน้ำ

Next : เจ้านกขี้อ้อน.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.97638177871704 sec
Sidebar: 0.26244401931763 sec