บันทึก..ที่ทำให้ตาค้าง..
อ่าน: 2231อ่านบันทึกนี้ของครูบาแล้ว เอาไปคิดต่อก่อนนอน ทำเอาตาค้าง..นอนไม่หลับ เลยเป็นโอกาสให้ได้ลุกมายืนมองดาวเต็มฟ้า ท่ามกลางสายลมเย็นโชยมา..เอ้อ..ดีเหมือนกัน
คิดจนตาค้าง เพราะมองเห็นการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ และเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับหลายปัจจัย แตะเรื่องนี้ก็โยงถึงเรื่องโน้น จากเรื่องโน้น ก็โยงไปเรื่องนู้น.. แต่ว่า ไหนๆ ก็อยู่ในมุมเล็กๆ ของการศึกษามาก็หลายปีดีดัก เลยคิดว่านำมุมที่พบเจอมาเล่าสู่กันฟังบ้างก็คงจะดีค่ะ
เรื่องที่หงุดหงิดใจอยู่เสมอ คือ เวลาที่สังคมมีปัญหาอะไร ก็มักจะได้ยินคำว่า ต้องบรรจุ “เพิ่ม” ในหลักสูตรการศึกษาทุกที เด็กไม่รู้เรื่องวรรณคดีบ้าง เด็กไม่รักชาติ เด็กคิดไม่ได้ ทำงานไม่เป็น เรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ฯลฯ ฯลฯ …ทำไมต้องเพิ่ม..ลดมั่งได้ไหม.. เยอะไปหรือยัง พอไอ้นั่นก็ต้องสอน ไอ้นี่ก็ต้องฝึก ก็ล้าทั้งครูและเด็ก
เราให้เด็กเรียนเพื่อใครกัน เพื่อสนองความต้องการของชาติ เพื่อสนองความต้องการของนักวิชาการ อย่างนั้นหรือ ช่วงที่คนในโรงงานขาดแคลน ต้องส่งเสริมให้เรียนอาชีวะ ต้องปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของโรงงาน… (ประโยคนี้เคยได้ฟังเมื่อครั้งแรกตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัด) ต้องจัดหลักสูตรให้เข้มข้นเพื่อแข่งขันทางวิชาการกับประเทศนู้น นี้ หรือการเคี่ยวเข็ญคาดหวังให้เด็กต้องรู้ลึกรู้จริงอย่างเข้มข้นในทุกสาขาความรู้ ด้วยผู้กำหนดนโยบายล้วนมาจากผู้เชี่ยวชาญในเชิงลึก และคิดแยกส่วน
เราให้เด็กเรียนบนพื้นฐานของความกลัว และการเปรียบเทียบ ต้องเรียนเผื่อๆ ไว้ก่อน ต้องเรียนให้มากเข้าไว้ เผื่อไปสอบแข่งขันจะได้มีช่องทางในการเลือกมากกว่า เดี๋ยวจะสู้เขาไม่ได้ โรงเรียนของเราต้องเป็นเลิศในจังหวัด ในประเทศ ในโลก ต้องประกวดได้รางวัลมหึมามากมาย ปีนี้ต้องได้คะแนนเฉลี่ย NT O-Net ไม่ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้
ดูเหมือนว่า เราใช้เวลาเตรียมการเพื่ออนาคตของเด็ก (ที่อาจไม่ได้ใช้สิ่งที่เราเตรียมให้สักเท่าใดนัก) มากกว่าการให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกปัจจุบัน อย่างค่อยๆ เรียนรู้ ปรับเปลี่ยน พัฒนา ให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
ทั้งที่เราน่าจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะค้นหา ความรัก ความชอบ ความสุข ในการเรียนรู้สิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เรียนรู้ที่จะร่วมมือ มากกว่าแข่งขัน เรียนเพื่อให้มีความรู้ มีปัญญาในการดำเนินชีวิต เพื่อการใช้ชีวิตที่มีคุณค่าตามกำลังของตน
เราน่าจะเปลี่ยนจากการจัดการศึกษาบนฐานของความกลัวและการมีมาตรฐานเดียวอันสูงส่ง มาเป็น การศึกษาบนฐานของความเชื่อมั่นในศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนา(แม้ว่าจะเร็วช้าได้ไม่เท่ากัน) การศึกษาที่ให้โอกาสแก่เด็กที่แตกต่างด้วยพื้นฐาน ด้วยปัจจัยแวดล้อม ให้ก้าวหน้าขึ้นตามกำลังของแต่ละคน การศึกษาที่อยู่บนฐานของความจริงตามแต่บริบทแวดล้อมของพื้นที่ การศึกษาที่ไม่มุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อมและความสำเร็จที่เร่งรัดให้เห็นผลในเร็ววัน
แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง นโยบาย หรือ แนวคิดดีๆ มากมาย ไม่ได้นำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง หรือ บางครั้งนโยบาย ความเชื่อในการพัฒนาเด็ก ก็เปลี่ยนเร็วราวกับแฟชั่น ยังไม่ทันได้ทำงานจนเห็นผลก็ต้องเปลี่ยนจนสับสนกันไปตามๆ กัน ทั้งๆที่ผลิตผลของการศึกษากว่าจะได้มาก็ต้องใช้เวลาหลายปี บางเรื่องก็ไม่สามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยง่ายเสียด้วย
กว่านโยบายจะเป็นจริงได้ มีรายละเอียดและความจริงในทางปฏิบัติอีกมากมายที่ต้องปรับ ต้องพัฒนา และต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน ร่วมกันช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาในการลงมือทำ
มีโจทย์ในการปฏิบัติมากมายที่รอการแก้ไข ทำอย่างไร..จึงจะมีหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ไม่ซ้ำซ้อน ไม่อัดแน่นด้วยเนื้อหาและความคาดหวังอันสูงส่งต่อเด็ก แต่มุ่งเน้นการสร้างพื้นฐาน ความรู้ ความคิดและคุณภาพจิตใจ ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ตามความรัก ความชอบ อย่างมีความสุข และได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาต่อยอดไปในสิ่งที่ตนเองถนัด จนเกิดปัญญาในการดำเนินชีวิต สามารถทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
ทำอย่างไรที่จะพัฒนาครู ให้เห็นภาพรวม เห็นการเชื่อมโยง ส่งต่อ ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในการพัฒนาเด็ก เพื่อจะช่วยเหลือร่วมมือกันและกัน มากกว่าจะแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง
ทำอย่างไรจึงจะมีวิธีคัดเลือก จัดสรรโอกาสในการเรียนของเด็กในระดับต่างๆ อย่างเหมาะสมเท่าเทียม ฯลฯ
สำหรับตัวเอง ยังมองไม่เห็นวิธีในการเปลี่ยนแปลงวงการศึกษาชนิดให้เห็นผลอย่างเร็ววัน ระหว่างนี้ ก็หาวิธีพัฒนาการศึกษา พัฒนาครู ตามบริบทและปัจจัยที่มี วันดีคืนดีก็นำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันบ้างอย่างที่เห็นนี่แหละค่ะ
ก็เป็นโรงเรียนเอกชน ที่ต้องพึ่งตนเอง แถมอยู่ภายใต้กฎหมายโรงเรียนเอกชนที่แสนจะไม่ยุ่งยากจริงจริ๊ง..นี่คะ
ไม่ได้ประช๊ดดดดด หึ..หึ..
« « Prev : มื้อนี้..ทำเอ๊งงง..
Next : ซิ่นแดง : ประวัติศาสตร์บนผืนผ้า » »
6 ความคิดเห็น
สวัสดีครับพี่อึ่ง
วันหนึ่งเมื่อผมพร้อม ผมจะสร้างโรงเรียนตามแบบที่ผมคิดว่าสนองชุมชนได้จริง ณ วันนี้ตนยังโปรดตนเองไม่ได้จึงยากนักที่จะโปรดผู้อื่น
แต่อุดมการณ์ยังกินได้เสมอครับ ทุกวันนี้เราเน้นหลักแต่ขาดกรรม ขาดการกระทำจริงๆ จึงมีแต่หลักไร้การไร้กรรม หลักการจึงกลายเป็นหลักพิการ ง่อยในทุกๆ องค์กร
จริงๆ แล้วมันง่อยตั้งแต่ตัวเราแล้วละครับ ง่อยจากส่วนภายในใจเราออกไปนอกตัวเรา
เก็บพลังดีๆ ไว้เอาไว้ซุ่มทำสิ่งดีๆ ครับ ผมคิดว่าผมกำลังเดินคนละเส้นทางกับนักการศึกษาระดับชาติครับ คำว่าปริญญาสามัญมันจะต้องเกิดได้จริง ไม่มีพิธีรับปริญญาสามัญ ไม่มีครุย ไม่มีหมวก ไม่มีกระดาษเชิดชูเกียรติ
คิด ทำ นำ พา เป็นคติใหม่หลักใหม่ผมยึดไว้ตอนนี้ แล้วค่อยๆ ปล่อยวางลงไปในการทำจริง
สิ่งที่พี่ทำอยู่เป็นตัวอย่างให้หลายๆ องค์กรได้เห็นได้ส่วนหนึ่งครับ คราวนี้จะเข้าตาใครไม่สำคัญเท่ากับมันเข้าตาคนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาครับ
เป้าหมายมันอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ ในเรื่องของการศึกษา…. เล็งผิดเป้าก็ได้ผลที่อาจจะคนละอย่าง….
มีความสุขในการทำงานนะครับ
-น้องครูอึ่งที่รักและคิดถึงและน่าเห็นใจยิ่งนักค่ะ…
-เวลาชาติมีปัญหาทีไรก็โยนมาที่ความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยทุกที และมักจะหาทางแก้ปัญหาระยะสั้นให้ได้ผลเร็วๆ…เป็นไปได้อย่างไร การสร้างคนก็เหมือนฝนทั่งให้เป็นเข็มนั่นแหละ ต้องใช้เวลานานและความทุ่มเทอย่างสูง
-เท่าที่ดูปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ่มเพาะมานานจนคิดว่าเกิดความเสียหายทุกวันนี้นั้น คงมาจากหลายปัจจัยมาก ไม่ใช่ปัจจัยเดียวแน่ๆค่ะ และทุกฝ่ายต้องช่วยกันค่ะ เช่นการวางแผนไม่ค่อยได้มองระยะยาว ไม่มีการวางแผนในเชิงรุกบ้างเลย เล่นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นคราว เกิดปัญหาแล้วค่อยแก้ อันนี้คงต้องเปลี่ยนแปลงบ้างกระมัง เช่นมีการวางแผนทางการในเชิงรุกบ้าง ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วค่อยตามแก้ มันก็แย่ แก้ไม่ทันทุกที และที่สำคัญตัวอย่างที่ดีให้เด็กได้เห็นเช่น ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กได้เห็นแค่ไหน? พ่อ-แม่ ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ลูกๆมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่? ฯลฯ
-ป้าจุ๋มคิดว่าไม่ยุติธรรมเลยที่จะมาโยนว่าเป็นความบกพร่องทางการศึกษาอยู่เรื่อย ก็ยอมรับว่าบางส่วนอาจใช่ แต่น่าเห็นใจบรรดาครูดีๆที่ตั้งใจทำงานที่มีมากมายค่ะ มาพูดเหมารวมอย่างนี้ไม่น่ารักเลยค่ะ ระบบการศึกษาไทยที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ถ้าเปรียบก็เหมือนกับการเป็นโรคมะเร็งนั่นแหละค่ะ จนบัดนี้แม้ว่าวิทยาการด้านการแพทย์จะก้าวไปไกลแค่ไหน ก็ยังไม่พบสาเหตุการเป็นมะเร็งแบบแน่ๆที่ฟันธงได้เลย
-ป้าจุ๋มคิดว่าถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ไปพร้อมๆกันทุกฝ่ายค่ะ ผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่และทำตัวเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกได้เห็นแค่ไหน จากประสพการณ์อันนี้น่าจะสำคัญที่สุดค่ะ โรงเรียนน่าจะรองลงมา สังเกตได้เด็กดีและเด็กเรียนดีนั้นส่วนใหญ่ก็มาจากครอบครัวที่เอาใจใส่และพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกได้ดูได้เห็นเป็นตัวอย่างค่ะ (ป้าจุ๋มเน้นเด็กดีค่ะ เพราะคนดีนั้นจะเป็นพลเมืองที่ดีของชาติค่ะ)
-การทำงานด้วยปากนั้นต้องระวัง การออกความเห็นไปเที่ยวว่าและสอนคนอื่นร่ำไปนั้น บางทีต้องหันมาดูตัวเองบ้างเหมือนกัน ที่พูดไปนั้นเราเองทำได้หรือเปล่า? เมื่อคนเขารู้เบื้องหลังว่าที่แท้ตัวเองนั้นทำไม่ได้…คนก็หมดศรัทธาไปค่ะ...ป้าจุ๋มเคยรู้จักอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งศรัทธาท่านมากว่าท่านเป็นหญิงเก่ง…ท่านเป็นคนสวยทีเดียว แต่งตัวดี พูดเก่งและน่าฟังทุกเรื่อง ตอนหลังท่านผันตัวเองมาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ยิ่งชื่นชมท่านเพิ่มมากขึ้นไปอีกค่ะ…คนมักเชิญท่านไปบรรยายที่โน่นที่นี่ ป้าจุ๋มเคยไปฟังครั้งหนึ่งเกี่ยวกับศิลปการครองเรือน ท่านบรรยายได้ดีมีเหตุมีผลน่าฟังมากค่ะ แต่มาทราบตอนหลังว่าชีวิตสมรสท่านล้มเหลวค่ะ!!! ท่านไปบรรยายสอนเด็กให้เป็นเด็กดี แต่มาทราบว่าลูกๆท่านเกเรไม่ฟังท่านเลย อันนี่น่าเศร้าใจค่ะ และน่าเห็นใจอาจารย์ท่านนั้นยิ่งนักค่ะ
-ป้าจุ๋มขอสนับสนุนความคิดของน้องครูอึ่งและเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ใช่เลยค่ะ “การทำให้เด็กได้เรียนรู้ตามความรัก ความชอบ อย่างมีความสุข และได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาต่อยอดไปในสิ่งที่ตนเองถนัด จนเกิดปัญญาในการดำเนินชีวิต สามารถทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น”
และ”ทำอย่างไรที่จะพัฒนาครู ให้เห็นภาพรวม เห็นการเชื่อมโยง ส่งต่อ ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในการพัฒนาเด็ก เพื่อจะช่วยเหลือร่วมมือกันและกัน มากกว่าจะแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง”
และ”ทำอย่างไรจึงจะมีวิธีคัดเลือก จัดสรรโอกาสในการเรียนของเด็กในระดับต่างๆ อย่างเหมาะสมเท่าเทียม ฯลฯ”
ต้องขอโทษที่แสดงความคิดเห็นยาวไปหน่อยค่ะ(พูดมากชักเมาเหมือนกันค่ะ)
-ป้าจุ๋มขอเป็นกำลังใจให้น้องครูอึ่งและคุณครูผู้น่ารักทุกท่าน…สู้ สู้และสู้ต่อค่ะ…และขอให้บุญกุศลที่ท่านทั้งหลายได้ช่วยเปิดทางสว่างให้แก่เด็กๆ อบรมสั่งสอนให้เป็นเด็กดีของชาตินั้น ได้ส่งผลให้ชีวิตท่านมีแต่ความสุขความเจริญตลอดไปค่ะ
สวัสดีค่ะ
แวะมาอ่าน ๆ แล้วก็เลยยิ้ม ๆ ขำ ๆ ตัวเองค่ะ …
พี่ได้รับการบ้านของพ่อครูบาแล้วนอนไม่หลับ นั่งคิดเขียนได้เยอะแยะเลย แต่น้องคิดไปทันได้สามนาทีหลับยาวถึงเช้าเลยค่ะ…55555….
ตรงนี้โดนใจที่สุดค่ะ…เราน่าจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะค้นหา ความรัก ความชอบ ความสุข ในการเรียนรู้สิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เรียนรู้ที่จะร่วมมือ มากกว่าแข่งขัน เรียนเพื่อให้มีความรู้ มีปัญญาในการดำเนินชีวิต เพื่อการใช้ชีวิตที่มีคุณค่าตามกำลังของตน
ความจริงการศึกษาน่าจะหมายถึงระบบที่ช่วยให้มนุษย์ทุกคนได้มีความสุข ความภาคภูมิใจ และเข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของตน จากนั้นมนุษย์ที่มีความสุขและตระหนักถึงศักยภาพของตัวเองจะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคมและโลกได้อย่างไม่ต้องสงสัย
แวะมาอ่านความเห็นของน้อง ดร.เม้ง ป้าจุ๋มและ น้องFreemind แล้ว มีอีกหลายประเด็นที่เราจะคุยกันได้อีกมากมายนะคะ รายละเอียดในเชิงปฏิบัตินั้นเริ่มต้นตั้งแต่การหาคนร่วมฝันทีเดียว ทำอย่างไรให้ฝันตรงกัน ฝันแล้วหาคนช่วยทำให้เป็นจริงด้วยกัน ระหว่างนั้นก็มีเรื่องให้ต้องเรียนรู้ มีปัญหาให้ต้องเผชิญ มีความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลง ที่ทะยอยกันเข้ามา ทำอย่างไรที่จะดูแลคนร่วมฝัน ดูแลกันและกัน ทำอย่างไรจึงจะมั่นคงกับเส้นทางแห่งการทำความฝันให้เป็นจริงอย่างไม่หวั่นไหว อย่างเปี่ยมไปด้วยปัญญา ฯลฯ
ยังเป็นนักเรียนในเส้นทางนี้อยู่เลยค่ะ ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่แบ่งปันและเติมเต็มกำลังใจนะคะ จะพยายามทำในสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว โดยเชื่อมั่นว่า สิ่งยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ นี่แหละค่ะ
ล่องใต้ไปหลายวันค่ะ เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ “จะพยายามทำในสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว โดยเชื่อมั่นว่า สิ่งยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ นี่แหละค่ะ “
เรื่องครูอึ่งเขียน ปะทะหัวใจนักกานสึกสาทั้งนั้น
แถมยังมาทันเวลาเสียด้วย
คณะทำงานจะสรุปวันที่ 20 เดือนนี้
รัฐมนตรีฯจะแถลงวันที่ 21
ก็รอดูนะครับ ว่าจะช่วยเด็กๆลูกหลานเราโดนระบบการศึกษารังแก ยังไง?
แคว๊กๆๆ