3 x 3 x 3 กับความเป็นนาย
อ่าน: 3406มี quick management tips จาก harvard business review มาฝากครับ ที่จริงสำหรับแต่ละหัวข้อ มีแนวทางมากกว่าสามข้อ แต่แค่สามข้อสำหรับแต่ละหัวข้อนั้น ทำให้หมดก็ยากแล้วครับ
ห้ามศึกระหว่างทีม
- ตัดไฟแต่ต้นลม — เข้าไปแทรกแทรงก่อนจะลุกลาม คงต้องอาศัยความละเอียดอ่อน รู้จักคน รู้จักทีมจนเห็นสิ่งที่ไม่ได้เขียน ได้ยินในสิ่งที่ไม่ได้พูด รู้สึกถึงความอึดอัดคุกรุ่น จึงจะสัมผัสถึงความผิดปกติได้
- เป้าหมายร่วม — ต่างฝ่ายต่างก็ปรารถนาดีล่ะครับ แต่วิธีการไม่เหมือนกัน เพราะมุมมองไม่เหมือนกัน แล้วก็มาทะเลาะกันว่าซ้ายหรือขวา ถ้ายืนประจันหน้ากัน แล้วฝ่ายหนึ่งบอกว่าซ้าย อีกฝ่ายบอกว่าขวา ที่จริงก็จะถูกทั้งคู่ล่ะครับ แต่ก็ไร้สาระทั้งคู่เช่นกัน เพราะติดอยู่แค่ใครถูกใครผิด ทั้งๆ ที่พูดถึงสิ่งเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างคิด
- หาสิ่งที่ตกลงร่วมกันให้ได้โดยเร็ว — เวลาเกิดความระหองระแหง ทั้งสองฝ่ายต่่าง “คิด” ย้ำอยู่บนความแตกต่าง แต่ว่าที่จริงไม่มีอะไรตรงกันข้ามร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบขาวและดำหรอกครับ ในความแตกต่างจะมีความเหมือน แม้ในความเหมือนก็มีความแตกต่าง ถ้าเอาอารมณ์และอัตตามาเป็นที่ตั้ง มักจะมองข้ามความเหมือนไป ความเหมือนเป็นข้อพิสูจน์อย่างรวดเร็วว่าทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงเหมือนอย่างที่คิด
ระวังอาการเป็นนายที่แย่
- อย่าหลงตัวเอง — ไม่ใช่เฉพาะคนเป็นหัวหน้าหรอกนะครับ คนเรามักมองตัวเองสูงส่งกว่าความเป็นจริงเสมอๆ ดังนั้น ควรหา feedback ที่ซื่อสัตย์จากหลายๆ ทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่กล้าพูดกับเราตรงๆ ดีก็ว่าดี ไม่ดีก็กล้าเตือน จะเป็น feedback ที่ดีกว่าการป้อยอกันให้หมู่คนใกล้ชิด พยักหน้า-ควงหน้า-เห็นด้วยตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เราไม่รู้ตัวว่าควรปรับปรุงอะไรบ้าง อย่าลืมว่าคนเป็นนาย ก็เป็นคนเหมือนกัน ไม่ได้สมบูรณ์แบบไปซะทุกอย่างหรอกครับ
- อย่าลืมความเป็นลูกน้อง — อำนาจซึ่งมากับความเป็นนาย มักทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์พิเศษเหนือคนอื่น (บางเรื่องก็มีสิทธิ์พิเศษจริงๆ เช่นเป็นคนพูดคนสุดท้าย) แต่อย่าลืมว่าก่อนมาเป็นนาย ก็เคยเป็นลูกน้องมาก่อนเช่นกัน ตอนนั้นคิดอย่างไร แล้วตอนนี้คิดอย่างไร
- อย่าถูกกันจากความเป็นจริง — ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูง โดยธรรมชาติก็จะมองไม่เห็นรายละเอียดเป็นธรรมดา การเดินพล่านไปทั่ว อาจเป็นการช่วยได้บ้าง แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีใครพูดอะไรด้วยหรือกลัวหงอ ข้อมูลเบื้องลึก-เกร็ดของเรื่อง-กลิ่นของสถานการณ์นั้น ไม่เคยปรากฏในรายงาน แต่มักผ่านมาตามเส้นทางความสัมพันธ์-ความไว้ใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สำรองไว้เฉพาะคนโปรด แต่เส้นทางเหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อนายสามารถสร้างความเชื่อถือไว้ใจให้กับพนักงานได้ (ความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ ไม่ได้มากับตำแหน่ง)
หาสิ่งที่ดีที่สุดจากทุกคน
- มองหาความคิดดีดีจากทุกที่ — ไม่มีตำรา งานวิจัย หรือประสบการณ์ไหน ที่บอกว่าความคิดที่ดีจะต้องมาจากระดับสูงเท่านั้น คนทำงาน อยู่หน้างาน เห็นทั้งสถานการณ์ที่แท้จริง เห็นทั้งข้อจำกัด ทั้งข้อยกเว้น และเห็นความจริงด้วย เขาเหล่านี้นี่แหละ ที่น่าฟังบ่อยๆ ความคิดที่ดี ไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่ง
- สร้างบรรยากาศแห่งความคิดสร้างสรรค์ — ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีถูกหรือผิด มีแต่เหมาะสมหรือว่ามีความคิดอื่นที่เหมาะกว่าเท่านั้น ที่ใดที่ไม่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ใช้ความคิดอย่างอิสระ ที่นั้นใช้พนักงานเป็นเครื่องจักรการผลิตครับ
- ปรับปรุงตลอดเวลา — ให้โอกาสทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เลิกทำตัวเป็นอาจารย์ตรวจข้อสอบหรือเป็นศาลตัดสินคดีเสียทีครับ ทำตัวเป็นนักเรียนให้พนักงานสอนเสียบ้าง สิ่งที่เรา “รู้” นั้น ถึงจะเคยทำตรงนั้นมาก่อน ก็มักจะเป็นอดีตไปแล้ว พยายามทำให้การแสดงความคิดเห็น เป็นส่วนของการเรียนรู้และปรับปรุงตัวของทุกคนทุกระดับ อย่ากดพนักงานไว้ ถ้าไม่มีใครมาแทนนาย ตัวนายเองก็จะติดแหงกอยู่ตรงนั้น
บันทึกนี้ไม่มีอะไรมากหรอกครับ แค่ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานทุกคนแบบที่ควรจะปฏิบัติเท่านั้น
« « Prev : Copenhagen Consensus
Next : คุณเป็นมนุษย์มือสอง » »
1 ความคิดเห็น
อนุโมทนายิ่ง…
เรื่องทำนองนี้ สมภารใหม่ชอบอ่าน (……..)
เจริญพร