ถ้า Maslow ถูก
อ่าน: 5583Abraham Maslow (1908-1970) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งเคยเสนอทฤษฎีบรรลือโลก Maslow’s hierarchy of needs ในปี 1954 ซึ่งเป็นพื้นฐานของจิตวิทยามนุษยนิยม (humanistic psychology ว่าด้วยเรื่องของแรงจูงใจ แรงผลักดัน แรงบันดาลใจ ฯลฯ อันเป็นเบื้องต้นของพฤติกรรมและการกระทำต่างๆ)
ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ พยายามอธิบายโดยการศึกษาคน และพยายามจัดชั้นความต้องการ เบื้องต้นแบ่งออกมาเป็นห้าระดับ ซึ่งคุณเบิร์ดได้อธิบายไว้ดีแล้วครับ ผมขอลอกมาเลย…
NEEDS THEORY ความต้องการ 5 ระดับของมนุษย์ (ซึ่งถ้าแบ่งละเอียดจริงๆจะมีอยู่ 7 ระดับค่ะ โดยในขั้นที่ 4 จะมีซ่อนอยู่ 2 ระดับ)
…ตาคนนี้เค้าบอกว่าภายในความต้องการของมนุษย์มีความกลัวซ่อนอยู่ค่ะู่ จึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง โดยเริ่มจากความขัดแย้งในตัวเอง และ ขัดแย้งกับบุคคลอื่น (เราเป็นพวกถึงแม้จะสงบ เราก็รบไม่ขาดน่ะค่ะ)
ประเด็นสำคัญของ MASLOW ก็คือ เมื่อมนุษย์ได้รับความพอใจจากแต่ละขั้นแล้วก็ยังไม่หยุด แต่ยังมีความต้องการในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง..
หลายคนอาจเชื่อ MASLOW นะคะ เพราะทฤษฎีนี้กว้างขวางมากเลย แม้แต่ในหลักการของการตลาด ก็ยังเอ่ยอ้างอยู่บ่อยไป ..คุณความดีอันหนึ่งที่เ็ห็นชัดในเรื่องของการตลาดก็คือทฤษฎีนี้ทำให้เรา รู้ว่ายังมีอีกหลายๆช่องทางเหลือเกินในการเล่นกับความต้องการของมนุษย์ น่ะค่ะ ^ ^
แต่ถ้าเราดูสังคมปัจจุบันแล้วจะเห็นว่ายังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มีความ ต้องการอย่างไม่เป็นไปตามขั้นตอนของมาสโลว์เสมอไปนะคะ เพราะเรามีความต้องการหลายขั้นตอนในเวลาเดียวกันอย่างน่าปวดหัวเชียวล่ะค่ะ และสนองตอบได้ยากเย็นกว่าสถานการณ์ที่เป็นไปตาม แบบที่ คุณ MASLOW ท่านเคยว่าไว้..
เอาเรื่องแฟชั่นนะคะ..มนุษย์ตามแฟชั่น ก็เพราะความต้องการการยอมรับ (Esteem needs) และต้องการการเป็นส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับคนอื่นๆ (BELONGINGNESS) ตลอดจนการต้องการความรัก (LOVE NEEDS) .. เพราะเมื่อเราใช้สินค้าแฟชั่นที่ผู้คนเขานิยมใช้กัน เราก็กลายเป็นพวกเดียวกันกับเค้า..ซึ่ง เท่ากับเราได้รับการยอมรับ..นอกจากนี้ เพศตรงข้ามก็ยังนิยมคนในรูปแบบเดียวกันอีก.. ดังนั้น จึงมีโอกาสนำไปสู่ความรักได้เช่นเดียวกันค่ะ
ความต้องการของเราคงไม่ได้เป็นเส้นตรงตามหลักปิระมิดของท่านมาสโลว์เสมอไปมั้งคะ ^ ^
ผมตีความตามความเข้าใจของตนเองอย่างนี้ครับ
นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจสัมปทานขนาดใหญ่ แต่ภายหลังมาตั้งพรรคการเมือง มีลักษณะของระดับที่สามครบถ้วน แต่ยังแสวงหาความต้องการในระดับที่สี่ ท่านยังต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่าง ต้องการการยอมรับ ยกย่องจากคนทั่วไป ต้องการให้ผู้คนเห็นว่าตัวท่านถูก ท่านได้รับการยกย่องด้วยอำนาจที่ท่านมี ท่านบอกใครๆ ว่าท่านมีพร้อม แต่ท่านก็แสดงออกในอีกหลายมุมว่าท่านขาดอีกมากมาย
ถึงอย่างไรก็ตาม คนเราจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง ฝ่าฟันอุปสรรค ความทุกข์ยากต่างๆ ได้ ไม่น่าจะขาดความต้องการในระดับที่สามเป็นขั้นต่ำครับ; แรงผลักดันในใจคน ไม่เกี่ยวกับความสำเร็จ ไม่เกี่ยวกับความร่ำรวย ไม่ใช่ความใจบุญ หรือประชานิยม แต่อยู่ที่ว่าการกระทำอย่างนั้นเกิดจากแรงผลักดันอะไร
น่าเสียดายที่มีคนเป็นจำนวนมาก อยู่ไม่ถึงระดับที่สามนี้ด้วยซ้ำ คนเหล่านี้กลับต้องการสิ่งที่ไม่ใช่ของตัว ยอมทำผิดเพื่อให้ได้มา มีแรงผลักดันเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นหลักครับ
ความต้องการในระดับที่สี่ เป็นระดับของคนที่เข้าใจตัวตนแล้ว รู้จักตัวเองดี ทั้งข้อดี ข้อบกพร่อง แต่ยังมีแง่คิดมุมมองออกไปจากตนเองอยู่ ยังมีอาการ …ตัวฉัน …ของฉัน
คนในระดับนี้ กล้ารับฟังคำวิจารณ์เกี่ยวกับตนเองได้ (ต่างกับการไม่ชอบให้ใครชมเพราะความถ่อมตัว) เพราะเขารู้ว่าตัวเขาเป็นอย่างไร ใครจะคิดอย่างไรกับตัวเขา ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเป็นคนอย่างไรไปเลย — จริงก็ปรับปรุง ไม่จริงก็ปรับปรุง ดังนั้นคนในระดับนี้ จึงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา — ชื่นชมผู้อื่นได้ด้วยความจริงใจ เพราะการชื่นชมผู้อื่น (ทำให้ผู้อื่นมีค่าสูงขึ้น) ไม่ได้ลดค่าของตัวเองลง
ถึงกระนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะก้าวไปถึงขั้นต่อไปได้ เนื่องจากติดตัวตน! แต่อย่างไรก็ตาม คงจะเป็นการดีหากผู้บริหารองค์กรทุกระดับ จะไม่อยู่ต่ำกว่าระดับนี้ การศึกษาของไทยจะประสบความสำเร็จที่สุด หากสามารถผลิตคนที่มี self-esteem ออกมาได้เป็นจำนวนมากพอ ผมคิดว่าความแตกฉานในเรื่องวิทยาการยังเป็นเรื่องรองครับ
คนที่อยู่ในระดับที่ห้า ต่างกับระดับที่สี่ในแง่ที่ คนในระดับที่ห้าไม่(ค่อย)สนใจเรื่องของตัวตนอีกแล้ว แต่จะมองหมู่คณะและประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทำงานเพื่องาน ทุ่มเท มีความรักในงาน รู้ว่าสิ่งที่ทำ มีประโยชน์ต่อผู้อื่น
คนในระดับนี้ ดูเหมือนกับเป็นคนในอุดมคติ แต่เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนในอุดมคติเสียก่อนจึงจะสามารถสังเกตคนเหล่านี้ได้ เพียงแต่เราหัดมองเรื่องราวต่างๆ จากมุมของส่วนรวมบ้าง ก็จะสามารถสัมผัสความคิดของคนในระดับที่ห้าได้ เป็นรูปแบบที่ไร้รูปแบบ
ในปี 1970 ซึ่งเป็นช่วงปีสุดท้ายในชีวิตของมาสโลว์ ท่านตีพิมพ์บทความแก้ไขโมเดลความต้องการของมนุษย์เดิม โดยต่อยอดขึ้นมาอีกสองชั้น คือ ความต้องการเกี่ยวกับการรับรู้/การเข้าใจ (cognitive needs) และ ความต้องการเกี่ยวกับสุนทรียภาพ (aesthetic needs)
ความต้องการในระดับที่หก (cognitive needs) เป็นความต้องการที่ไม่เกี่ยวกับกายภาพ เป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ เมื่อตัวตนไม่มี มนุษย์เริ่มมองหาจุดมุ่งหมายของชีวิต เป็นการมองย้อนกลับมาในจิตใจของตน ผมคิดว่าเป็นระดับของปรัชญาและอภิปรัชญา เป็นเรื่องของธรรมชาติ คือเรื่องของความจริง เป็นการ “บรรลุ” ทางโลก ซึ่งในบางครั้ง ทำให้เข้าใจถึงศักยภาพที่แท้จริงของมนุษยชาติ ซึ่งมาสโลว์บรรยายไว้ใน The Farther Reaches of Human Nature ซึ่งตีพิมพ์หลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว
ส่วนความต้องการในระดับสุดท้ายที่มาสโลว์เสนอไว้คือความต้องการ(เสพ)สุนทรียภาพ (aesthetic needs) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยงาม ความละเมียดละไม ไม่มีเชื้อชาติ ความแตกต่างใดๆ สิ่งต่างๆ จะดีหรือไม่ดี มีความสมบูรณ์ในตัวของตัวเอง ไม่ขึ้นกับผู้สร้างสรรค์ ไม่ขึ้นกับว่าผลจะตกอยู่กับใครหรือทำให้ใคร ทำงานเพื่องาน ทำดีเพื่อให้เกิดสิ่งดี ทำสิ่งสวยงามเพราะความสวยงาม
เขียนไปเขียนมา ยังไม่สะใจครับ
- ผมว่ายังขาดไปอีกระดับหนึ่ง คือความไม่ต้องการอะไรเลย
- ไม่น่าเป็นไปได้ที่เราจะจัดความซับซ้อนของจิตใจคนเป็นชั้นๆ เพียงห้าหรือเจ็ดชั้น อย่างไรก็ตามทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ศึกษาความต้องการของคนอย่างเป็นระบบ
- หากเชื่อตามทฤษฎีนี้ ก็จะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจถึงแรงบันดาลใจ แรงกระตุ้นที่มีต่อพนักงานแต่ละคน อันนี้ต้องนับว่าเป็นประโยชน์ถ้าอ่านคนเป็นและนำเอาทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้ครับ
« « Prev : Achmed the Dead Terrorist
Next : ตีแตกอีสาน กลายเป็นเฮเจ็ดสำราญ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ถ้า Maslow ถูก"