ครบรอบเก้าปีสึนามิ
อ่าน: 5199เรื่องนี้เขียนไว้ในเฟสบุ๊ค แต่เกรงว่าจะสูญหายกลายเป็นเม็ดทรายในมหาสมุทร จึงขอนำมาไว้ที่นี่
—-
เก้าปีแล้วสินะ แผลเป็นไม่เคยเลือนหาย บางอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดไป
เมืองไทยปรับปรุงขึ้นบ้าง แต่ยังมีลักษณะ reactive มากกว่า pro-active
[๑ ปีสึนามิ กับ "ตฤณ ตัณฑเศรษฐี"] สมาคมผู้ดูแบเว็บไทย
เว็บพลังจิตคัดลอกเก็บไว้
ขอบคุณสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยที่สนใจมาสัมภาษณ์เมื่อแปดปีก่อนครับ ถ้าไม่มีการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ผมอาจจะทำรายละเอียดบางอย่างตกหล่นไปกับกาลเวลา และตามความเสื่อมของร่างกายผม
เรื่องตลกที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง คือ Oxfam (NGO ขนาดยักษ์ของอังกฤษ) ดันมาขอให้ผมช่วย เขาทึ่งกับเว็บที่ผมทำ ตอนนั้นผมใช้ alta vista babel fish translator แปลเว็บที่ทำเป็นภาษาอังกฤษเป็น 12 ภาษา มันแปลไม่ดีนักหรอกนะครับ แต่ก็ยังพอเดาความได้ไม่ยาก โดยเฉพาะขั้นตอนการขอรับศพหรือรับตัวผู้ประสบภัย ตลอดจนข่าวคราวความคืบหน้าซึ่งแปลสดจากข่าวในทีวีเป็นภาษาอังกฤษ(และ12ภาษา) อย่าไปนึกว่า “ฝรั่ง” ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีทุกคน เว็บที่ทำขึ้นอันดับหนึ่งใน page rank ของ Google โดยไม่ต้องทำ SEO
ที่มันตลกคือประเทศที่ภูมิใจว่ามีความรู้เทคโนโลยีสูงร่ำรวยมั่งมี ดันต้องมาขอให้ประเทศที่อยู่อีกสุดขอบโลกหนึ่งช่วยเหลือ เราไม่มีอย่างเขาหรอก แต่มีใจ สมอง และสติครับตอนนั้น ปภ.เพิ่งตั้งจากการรวมส่วนราชการจากหลายที่ ยังรวมกันไม่ติดก็เกิดเหตุเสียก่อน ส่วน ศภช.นั้นตั้งหลังจากเหตุสึนามิ เราผ่านเหตุการณ์สึนามิมาได้(อย่างทุลักทุเลแต่ก็ดีกว่าทุกประเทศ)ด้วยความเข้มแข็งของอาสาสมัครและท้องถิ่น
(ในความรู้สึกส่วนตัว) สึนามิเกิดเดือนกว่าก่อนการเลือกตั้งใหญ่ จึงเหมือนกลายเป็นเวทีหาเสียงไปกลายๆ เหมือนกัน ที่ปวดหัวที่สุดคือกระบวนการ DVI ของ Interpol
มีวีรบุรุษวีรสตรีเกิดขึ้นมากมาย ทุกท่านรู้ตัวดีโดยไม่จำเป็นต้องออกสื่อสมัยนั้น ผมยังไม่แข็งแรง เพราะ “สโตรคเล็ก” สามปีก่อนหน้านั้น ประกอบกับเป็นซีอีโอบริษัทจดทะเบียน (ใน ตลท.) ด้วย ทิ้งสำนักงานไปไกลๆ นานๆ ไม่ได้ จึงไม่ได้ลงไปช่วย ณ ที่เกิดเหตุ
แต่ว่าถึงช่วยในพื้นที่ไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ก็ยังมีเรื่องที่พอทำได้จากระยะไกลด้วยความรู้และกำลังที่มีอยู่ อะไรไม่รู้ก็เรียนรู้ซะ เขียน PHP ไม่เป็นก็หัดเขียน ไม่มีเครื่องมือทำ data mining ก็หาเอา
การไม่ลงไปในพื้นที่ มีข้อดีที่ว่ามีสติแจ่มใส ไม่หดหู่หรือเมาหมัด ทำให้มองปัญหาและทางออกได้ชัดเจนมากขึ้น การมีผู้ช่วยหลายคน จำเป็นที่จะต้องแบ่งกำลังมาทำเรื่องการจัดการซึ่งผู้จัดการก็จำเป็นต้องเข้าใจบริบทอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดต่างๆรู้สึกทึ่งกับข้อมูลของศูนย์นเรนทรในเวลานั้น ทำได้เร็ว มีข้อมูลสำคัญครบถ้วน ตรงประเด็น เจ็ดวันเลิกเลย (เพราะไม่ใช่เหตุด่วนฉุกเฉินอีกต่อไป)
phuketitcity ซึ่งเป็นต้นแบบของเมืองอิเล็คทรอนิกส์ก็ทำได้ดีมาก
เป็นครั้งแรกที่รู้จักกับ PTSD มีกรณีศึกษาที่คนนอกพื้นที่ไปรื้อฟื้นให้ผู้รอดชีวิตเล่าถึงความสูญเสียใหม่อีกครั้งหนึ่ง (นัยว่าพยายามจะช่วยเหลือให้ตรงประเด็น) แต่การทำเช่นนี้เหมือนกับผู้ประสบภัยต้องสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำอีก ญาติที่ตาย ตายแล้วตายอีก หมดตัวแล้ว หมดตัวอีก การจัดงานรำลึกสึนามิเพื่อการท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าเจตนาจะช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ แต่ลืมผลข้างเคียงต่อผู้ประสบภัยไปหรือไม่
« « Prev : กราบพระศพสมเด็จพระสังฆราช
Next : โรงเรียนกนกศิลป์พิทยาคม 25 มค 2557 » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ครบรอบเก้าปีสึนามิ"