พลวัตของการบรรเทาทุกข์
อ่าน: 3463เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าบ้านเราจะโดนหรือไม่ สิ่งที่จะตามมาคือภาวะข้าวยากหมากแพง (ทุพพิกภัย) ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจจะมีโรคระบาดตามมาด้วยครับ แต่ปัจจุบันนี้ การสาธารณสุขของเราดีขึ้นมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีทั้งการเตรียมตัวล่วงหน้า การป้องกัน การรักษา และการระดมกำลังควบคุมการระบาด ฯลฯ
เป็นห่วงอยู่อย่างเดียว คือการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกินกำลังของจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ที่มีอยู่ — จากการสำรวจเมื่อปี 2547 ไทยมีผู้ป่วย PTSD สูงที่สุดในโลก (สึนามิ? จะจากอะไรก็ช่าง สถิติโลกอันนี้ไม่น่าครองหรอกครับ)
เมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้น จะมีผู้ประสบภัยมากมาย ที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตไปในแบบที่เคยทำมาได้ จะต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะฟื้นฟูวิถีชีวิตกลับมา ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือและกำลังใจเป็นอย่างมาก
นิยามของภัยพิบัตินั้น หมายถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ ที่เกินกำลังการจัดการของท้องถิ่น จำเป็นต้องมีการร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะจากในประเทศหรือต่างประเทศ
ลำดับของการช่วยเหลือ ต่างคนอาจจะคิดไปต่างๆ กัน สำหรับผมแล้ว จัดลำดับความสำคัญดังนี้ (คิดไม่เหมือนกันก็ไม่เป็นไร)
- พื้นที่เสี่ยงภัย/อันตราย+เข้าถึงเพื่อช่วยเหลือได้ยาก น่าจะพิจารณาอพยพชาวบ้านออกมาครับ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๘ และ ๒๙ ของ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๒๘ เมื่อเกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ใด และการที่ผู้ใดอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นจะก่อให้เกิดภยันตรายหรือกีดขวางต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ให้ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ และเจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายมีอำนาจสั่งอพยพผู้ซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้นออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะเท่าที่จำเป็นแก่การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
มาตรา ๒๙ เมื่อเกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ใดและการอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดๆ ในพื้นที่นั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการกลางผู้อำนวยการจังหวัด ผู้อำนวยการอำเภอ และผู้อำนวยการท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการอำเภอ จะประกาศห้ามมิให้บุคคลใด ๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้ประกาศดังกล่าวให้กำหนดระยะเวลาการห้ามและเขตพื้นที่ที่ห้ามตามที่จำเป็นไว้ด้วย
- เมื่อชีวิตปลอดภัยแล้ว ผู้ประสบภัยต้องอยู่ได้ด้วย ปัจจัยสี่ต้องบริบูรณ์ การส่งปัจจัยสี่เข้าไปช่วยในขณะชาวบ้านยังอยู่ในพื้นที่อันตราย มักจะขนของได้ลำบาก เนื่องจากเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ระบบโทรคมนาคมเพื่อประสานงานมักจะใช้ไม่ได้ ดังนั้นก็ควรจะมีจุดกึ่งกลางระหว่างความปลอดภัย ผู้ประสบภัย และความช่วยเหลือ; ไม่ว่าจะอพยพชาวบ้านออกมาหรือไม่ การส่งปัจจัยสี่ยังต้องทำต่อเนื่องนะครับ ไม่ใช่แจกถุงยังชีพแล้วจบ ถุงยังชีพช่วยให้อยู่ได้กี่วัน แล้วหลังจากนั้นชาวบ้านจะทำอย่างไรครับ คือถ้าเขาช่วยตัวเองได้ ก็ไม่ต้องการถุงยังชีพหรอกนะครับ
- เงินกู้ก็คงจำเป็นเหมือนกัน ไม่อยากสนับสนุนให้กู้หรอกครับ แต่ในเมื่อหมดเนื้อหมดตัวกัน แล้วจะเอากำลังที่ไหนมาพลิกฟื้นชีวิตและชุมชนล่ะครับ เครื่องมือทำมาหากิน สวน ถูกสายน้ำทำลายไปหมด พวกนี้ใช้ทุนรอนเหมือนกัน — คิดไม่ออก เก็บไว้ก่อน
- มองในมุมหนึ่ง ก็อาจเป็นโอกาสเหมือนกันที่จะนำความรู้ลงไปให้ชาวบ้าน ซึ่งเดิมอาจจะทำอาชีพอยู่ด้วยความที่ทำสืบต่อกันมา เป็นโอกาสที่โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย (ในท้องถิ่น) จะได้ใกล้ชิดชาวบ้านยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา หากสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งความรู้ คราวนี้ล่ะครับ จะได้เห็นกันชัดๆ ว่าความรู้ที่สั่งสอนลูกหลานไทยนั้น มีประโยชน์ขนาดไหน เป็นโอกาสที่สถานบันการศึกษา จะได้เรียนรู้ความเป็นจริงเกี่ยวกับพื้นที่ จะได้โอกาสตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ว่าตรงกับความเป็นจริงขนาดไหน — ถ้าตรงก็ดี ถ้าเก่าไปหรือตกหล่นตรงไหนก็ต้องแก้ไข เพราะข้อมูลจากงานวิจัย นำไปใช้วางแผน ซึ่งหากข้อมูลไม่ตรง ก็จะวางแผนผิด
- น่าคิดมากว่าความช่วยเหลือจากพื้นที่ใกล้เคียงเทียบกับจากที่อื่นไกลๆ นั้น คิดเป็นสัดส่วนอย่างไร — เรื่องของน้ำใจนั้น มากล้นอยู่แล้วครับ — แต่ถ้าหากความช่วยเหลือจากที่อื่นเป็นสัดส่วนที่มากกว่า (อาจเป็นเพราะพื้นที่ใกล้ๆ นั้น เป็นพื้นที่ประสบภัยเช่นกัน) ก็แสดงว่าต้นทุนการขนส่งความช่วยเหลือแพงมาก ซึ่งทำให้กำลังในการช่วยเหลือชาวบ้านลดลง ถ้าใช้รถไฟขนของได้ น่าจะดีกว่าเอารถบรรทุกวิ่งทางไกลๆ ครับ
- ผมคิดว่ามีความเข้าใจผิดในเรื่องของการสื่อสารมากมายเหลือเกิน เรามักคิดว่าพูดคุยกันได้ก็พอแล้ว ในสถานการณ์อย่างนี้ ไม่พอนะครับ การพูดคุยมักไม่มีมิติของเวลา สมมุติขอความช่วยเหลือมาในเวลา t กว่าจะคุยกันเสร็จ แล้วผู้รับข้อความไปประสานความช่วยเหลือต่อไปไม่รู้กี่ทอด ถึงเวลา t+n สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปแล้ว เช่นความช่วยเหลือที่เพิ่งขอไป อาจจะมีเข้ามาแล้ว ทีนี้พอประสานความช่วยเหลือได้ ส่งของลงไปจึงซ้ำกัน การส่งข่าวบนทวิตเตอร์ที่ไม่มีการระบุเวลา แล้วรีทวิตไปมา (แทนที่จะชวน follower มาตาม #hashtag) สามารถสร้างความสับสนแบบนี้ได้เหมือนกัน ข้อความสำคัญ ถูกกลบไปอย่างรวดเร็ว เฟสบุ๊คยิ่งไปกันใหญ่ กระโดดไปกระโดดมา บางทีหายไปเลย คนอ่านมักไม่สังเกตว่าข่าวสารนั้นใหม่แค่ไหน มีอะไรใหม่กว่านั้นหรือไม่หรอกครับ — การสื่อสารที่ดีนั้น ผู้ส่งสารและผู้รับสารต้องเข้าใจอย่างเดียวกันครับ (ไม่ว่าจะส่งต่อไปกี่ทอด) ระบบข้อมูลที่มีอยู่นั้น ไม่ต่างกับตอนสึนามิเลย ซ้ำซ้อน ทำให้ไม่เห็นภาพใหญ่ที่แท้จริง ระบบการประสานงาน ยังเป็นวิทยุ/โทรศัพท์เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว
การบรรเทาทุกข์ เป็นไปเพื่อช่วยเหลือและมีเป้าหมายอยู่ที่ผู้ประสบภัย เมื่อทำแล้วใครจะเห็นหรือไม่เห็น ก็ไม่สำคัญหรอกครับ คนทำรู้อยู่แก่ใจเองว่าทำอะไร ทำให้โปร่งใสตรงไปตรงมา เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริจาค
- ๏ อันว่าความกรุณาปราณี
- จะมีใครบังคับก็หาไม่
- หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ
- จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
- เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ
- แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล
- เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น
- เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณา
- ประดุจทรงวราภรณ์สุนทรสวัสดิ์
- เรืองจรัสยิ่งมกุฏสุดสง่า
- พระแสงทรงดำรงซึ่งอาชญา
- เหนือประชาพสกนิกร
- ประดับพระวรเดชวิเศษฤทธิ์
- ที่สถิตอานุภาพสโมสร
- แต่การุณยธรรมสุนทร
- งามงอนกว่าพระแสงอันแรงฤทธิ์
- เสถียรในหฤทัยพระราชา
- เป็นคุณของเทวาผู้มหิทธ์
- และราชาเทียมเทพอมฤต
- ยามบพิตรเผยแผ่พระกรุณา
- เวนิสวาณิช — พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
« « Prev : เหตุเกิดที่กรุงชิง-นบพิตำ
Next : อีกแว๊บหนึ่งที่เต้นท์อาสาดุสิต » »
ความคิดเห็นสำหรับ "พลวัตของการบรรเทาทุกข์"