เหตุเกิดที่กรุงชิง-นบพิตำ
อ่าน: 4782กรุงชิงมีสภาพเป็นที่ราบผืนเล็กที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงทุกทิศทาง เคยเป็นฐานการก่อความไม่สงบมาก่อนเนื่องจากเข้าถึงได้ลำบาก — นบพิตำเป็นที่ราบสุดท้ายก่อนเข้าไปกรุงชิง โดยต้องเลาะไปตามโตรกเขา ซึ่งมีทางน้ำไหลอยู่
ขอให้พิจารณากรุงชิงก่อนนะครับ เกิดฝนตกหนักในปริมาณเกินวันละ 100 มม. 6 วันติดต่อกันโดยไม่หยุด (NASA อ้างว่ารวมประมาณ 1,200 มม.) ถ้ายืนอยู่ที่ราบ น้ำฝนปริมาณนี้ยังท่วมเข่า-น่อง-เอว-อก เลยนะครับ แต่ภูมิประเทศของกรุงชิง มีที่ราบเล็กๆอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยภูเขาทั้งด้านเหนือและด้านใต้ เมื่อฝนตก ฝนไม่ได้ตกเฉพาะในที่ราบ แต่ตกบนเขาด้วยปริมาณที่พอๆ กัน ซึ่งน้ำฝนที่ตกบนเขา ก็ต้องไหลลงมาที่ต่ำด้วยแรงดึงดูดเป็นธรรมดา
ถ้าประมาณว่าที่ราบของกรุงชิงเป็นหนึ่งส่วน พื้นที่ภูเขาทางด้านเหนือ ซึ่งรับน้ำฝนที่เทน้ำลงมาที่ราบกรุงชิงเป็นหนึ่งส่วน ทางใต้มีอีกหนึ่งส่วน ปริมาณน้ำที่ที่ราบของกรุงชิงรับ กลายเป็นสามเท่า; ที่ขอบบนของแผนที่ ฉลองก็น่าจะมีอาการเดียวกันครับ
เมื่อน้ำท่วมกรุงชิงแล้ว ทางระบายน้ำตามธรรมชาติ ก็คือคลองเส้นเล็กๆ อันคดเคี้ยวเพียงไม่กี่เส้น ซึ่งไม่พอหรอกครับ น้ำที่ถล่มกรุงชิง ไหลไปตามคลองกลายตามโตรกเขา เป็นน้ำป่าไปยังนบพิตำซึ่งตั้งขวางอยู่ - กรุงชิงเจอปริมาณน้ำฝน เจอดินโคลนถล่ม การติดต่อสื่อสารยากลำบาก ออกมาขอความช่วยเหลือก็ยาก; นบพิตำเจอน้ำป่าจากกรุงชิงถล่มด้วยความรุนแรง น้ำป่ามา สะพานข้ามคลองจะเหลือหรือครับ…และแล้วภัยพิบัติก็เกิดขึ้น
การระบายน้ำด้วยคลองคดเคี้ยว ทำได้ช้า แถมด้วยปริมาณน้ำฝนซึ่งตกในแต่ละพื้นที่อีก น้ำจึงลดได้ช้ามาก
จริงอยู่ที่ปริมาณน้ำฝนครั้งนี้ มากมายผิดปกติ แต่เมื่อผิดปกติได้ครั้งหนึ่ง ก็ผิดปกติซ้ำได้ หรือจะไปผิดปกติที่อื่นก็ได้
มีข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งว่าภูมิประเทศที่ตั้งถิ่นฐาน มีความเสี่ยงตามธรรมชาติที่ควรจะรู้ล่วงหน้า พื้นที่อื่นในเมืองไทยที่มีภูเขาล้อมรอบ ตั้งอยู่ใกล้ทางน้ำ ก็มีความเสี่ยงแบบเดียวกันครับ จะต้องหาทางเตรียมรับมือเอาไว้ล่วงหน้า อย่าไปภูมิใจเลยว่ามีรีสอร์ตอันสวยงาม อากาศดีเลยครับ โดนเข้าครั้งเดียว อาจหมดตัวได้นะครับ
มนุษย์ต้านทางภัยธรรมชาติไม่ไหว แต่ยังพอเลือกถิิ่นฐานอาชีพสภาพแวดล้อมได้ เข้าใจความเชื่อมโยงของธรรมชาติ แล้วเลือกอย่างฉลาดเถิดครับ
Next : พลวัตของการบรรเทาทุกข์ » »
2 ความคิดเห็น
อ่านไปก็คิดไป…
เกิดมาได้ยินคำว่า “น้ำป่า” เมื่อไหร่ก็จำไม่ได้ แต่ไม่เคยเจอเลย จินตนาการแล้ว ก็พอจะคาดหมายได้ว่าน่ากลัว…
สมัยก่อนกรุงชิงและนบพิตำ ก็คงจะมีน้ำป่าเกิดขึ้นแล้ว แต่สภาพแวดล้อมในสมัยก่อนต่างจากปัจจุบัน คนสมัยก่อนมีวิธีรับมือกับน้ำป่าในสมัยก่อน … เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป การรับมือแบบสมัยก่อนก็ต้องเปลี่ยนไป…
มาเทียบเคียงหาดใหญ่ เมืองที่เคยอยู่ สามสิบปีก่อนตอนยังเป็นวัยรุ่น ไม่ไกลจากสี่แยกน้ำพุ เป็นที่ลุ่ม คนพายเรือปลูกผักบุ้ง เรียกกันว่านาผักบุ้ง บางส่วนที่ลึกๆ ก็กว่าสองเมตร… เดียวนี้ เป็นตึกสิบกว่าชั้น…
เมื่อครู่ฟังโยมในงานคุยกันเรื่องน้ำท่วมว่า ครั้งนี้ หาดใหญ่ขึ้นธงเหลืองแล้ว แต่ก็ไม่ท่วม…
การที่มีระบบธงเตือนภัยหาดใหญ่ เป็นต้น ก็คือวิธีการอย่างหนึ่งที่สร้างขึ้นมา เป็นการปรับตัวหลังจากน้ำท่วมหาดใหญ่และเสียหายหนักหลายครั้ง…
อ่านบันทึกนี้ ก็ได้ความคิดขึ้นมาอย่างนี้… คนมีค่าน้อย ต้องใช้คนจำนวนหนึ่งเสียสละ เพื่อเป็นบทเรียน ซึ่งก็เป็นอย่างนี้ ครั้งแล้วครั้งเล่า…
เจริญพร
[...] คลิก เหตุเกิดที่กรุงชิง-นบพิตำ จึงทำให้สะพานฟัง เส้นทางตัดขาด [...]