บทชวนรักชาติ
อ่าน: 4474เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง | ควรคำนึงถึงชาติศาสนา |
ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา | ในหมู่ประชาชาวไทย |
แม้ใครตั้งจิตคิดรักตัว | จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน |
ควรจะร้อนอกร้อนใจ | เพื่อให้พรั่งพร้อมทั่วตน |
ชาติใดไร้รักสมัคสมาน | จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล |
แม้ชาติย่อยยับอับจน | บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร |
ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง | คงจะต้องบังคับขับไส |
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป | ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย |
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ | จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย |
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย | ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา |
เพราะฉะนั้นชวนกันสวามิภักดิ์ | จงรักร่วมชาติศาสนา |
ยอมตายไม่เสียดายชีวา | เพื่อรักษาอิสระคณะไทย |
สมานสามัคคีให้ดีอยู่ | จะสู้ศึกศัตรูทั้งหลายได้ |
ควรคิดจำนงจงใจ | เป็นไทยจนสิ้นดินฟ้า |
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
พุทธศักราช ๒๔๕๔ |
ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ วันเสาร์ ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
… เมื่อวานก็พูดถึงการสวนสนาม ที่พูดกับทหารว่าต้องสามัคคี คำว่าสามัคคีนี่ รู้สึกว่าเป็นคำที่ค่อนข้างจะน่าเบื่อ เพราะว่าพูดทุกครั้ง วันนี้ก็ต้องมาพูดเรื่องสามัคคี สามัคคีคือ การช่วยกันร่วมมือกันแล้วก็ไม่ทะเลาะกันมากเกินไป ไอ้ทะเลาะกันนี้คนก็บอกว่า แต่ละคนมีสิทธิ์ทะเลาะ แต่ละคนมีสิทธิ์มีความคิดของตัว แล้วก็ต้องทะเลาะกันถึงจะสร้างสรรค์จริง เพราะว่าในหมู่คณะก็ตาม ในองค์การองค์กรหรือสมาคมประกอบด้วยคนต่างๆ ในสังคมประกอบด้วยคนต่างๆ ในประเทศชาติก็ประกอบด้วยคนต่างๆ ถ้าทุกคนพูดเหมือนกัน สัมมนาไม่ต้องสัมมนากัน ไม่ต้องประชุมกัน ไม่ต้องชี้แจงทุกคนคิดเหมือนกันทำเหมือนกัน น่าเบื่อ อันนี้ซิน่าเบื่อ ทุกคนเหมือนกันไม่มีอ้วนไม่มีผอมเหมือนกันหมด มันจะน่าดูไหม ก็เขามีสิทธิ์ของเขา และเขาก็มีความสุขของเขาได้
ฉะนั้นสามัคคีหรือ การปรองดองกันนั้น ไม่ได้หมายความว่า คนที่บอกอย่างหนึ่งแล้ว อีกคนหนึ่งก็พูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีต่างกัน แต่ว่าต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันก็ต้องสอดคล้องกัน ไม่อย่างนั้นพัง เรามานึกถึงทางวิศวกรรมอย่างรถยนต์คันหนึ่ง ทุกส่วนของรถยนต์ต้องทำงานสอดคล้องกัน ถ้าไม่สอดคล้องกัน รถพัง และไม่ได้ผลของการใช้รถยนต์ ถ้าล้อหน้า หมุนเดินหน้าล้อหลังหมุนถอยหลัง มันไปไม่ได้ ต้องให้หมุนสอดคล้องกัน อย่างพวงมาลัยต้องหมุนสอดคล้องกับล้อถึงจะเหมาะสม ทุกส่วนก็มีหน้าที่ของกันและกัน เครื่องยนต์ก็หมุนความเร็วเท่านั้น ล้อก็หมุนความเร็วเท่านั้น ถ้าเครื่องยนต์กับล้อหมุนความเร็วเท่ากัน ก็จะทำให้รถไม่มีกำลัง อย่างเวลาไปก่อนต้องใส่เกียร์หนึ่ง ก็ต้องทดขึ้น เครื่องก็ต้องหมุนเร็วกว่าล้อ ไม่อย่างนั้นไม่มีแรง ก็มีความแตกต่างกันในหน้าที่ มีความแตกต่างกันในทิศทาง
คนก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าคนหนึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีหน้าที่เหมือนกัน แต่ก็ต้องสอดคล้องกันเพื่อให้งานส่วนรวมนั้นดำเนินไป ถ้าอยู่ในหมู่คณะเดียวกัน ก็จะต้องสอดคล้องกันให้งานนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าหากว่า มาทะเลาะกันมาเถียงกันโดยหลักหรือพื้นความคิด แตกต่างกัน ก็คุยกันไม่ได้ พูดกันไม่ได้ อย่ามาพูดกันดีกว่าเพราะว่าถ้าทัศนะของ คนอย่างหนึ่ง และทัศนะของอีกคนอีกอย่างหนึ่ง โดยที่ไม่พยายามปรองดอง โดยที่ไม่พยายามปรองดอง ไม่พยายามหาทางออกที่เหมาะสม มาพูดยิ่งพูดยิ่งยุ่ง ยิ่งทำให้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ดูแล้วเสียขวัญ มันเข้ากันไม่ได้ มันคนละเรื่อง อย่างที่เขาพูดว่าพูดคนละเรื่องเดียวกัน ไอ้คำพูดคนละเรื่องเดียวกันนี้เหมือน มันจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่มันพูดคนละเรื่อง มันไม่มีทางออกไม่มีผล พูดอย่างนี้ก็คงพอเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ไม่ใช่หมายถึงเรื่องอะไร แต่หมายถึง เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ท่านถึงหัวเราะ หัวร่อหมายถึงท่านเองก็รู้ ว่าการเถียงกันอย่างข้างๆคูๆ อันนี้ไม่ดี เดี๋ยวนี้ข้างคูทำคูแล้วก็ต้องระบายน้ำออก เพราะถ้าขุดคูกลางถนนมันก็ไปไม่ได้ ไม่ถูก ฉะนั้นอันนี้ก็คงพอเข้าใจไม่ต้องพูด ให้ยืดยาวเกินไป แต่ว่า ความสามัคคีหรือความปรองดองนั้นก็ให้เหตุว่าอันไหน ควรจะพูด อันไหนไม่ควรจะพูด พูดไปแล้วให้ยอมรับว่าพูดอย่างนั้น ไม่ถูกก็บอกว่า ไม่ถูก ไม่ต้องมาหัวชนฝาว่าถูกๆๆ ลงท้ายตัวเองก็รู้ว่าไม่ถูก อันนี้เป็นเรื่อง ที่จะต้องเอ่ยขึ้นมา เพราะว่าถ้าอย่างนี้นานๆไป สังคมเราพัง ประเทศก็พัง คนที่รักชาติก็ไม่อยากให้ประเทศพัง คนที่ไม่รักชาติเขาก็ไม่ทุกข์ แต่ลงท้ายก็ทุกข์เอง เพราะไม่มีชาติอยู่ ไปที่เมืองอื่นเขาเหยียดหยามเรา…
Next : กระโถน » »
1 ความคิดเห็น
ความรักชาติควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และต้องกระทำอย่างต่อนื่อง
ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดูด้วยค่ะ