ในพื้นที่ประสบภัย มองหาอะไรดี

โดย Logos เมื่อ 24 July 2011 เวลา 4:25 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 2896

การทำอะไรไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง การคิดแทนชาวบ้านโดยคิดแบบคนเมือง การให้โดยไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องการหรือไม่ ทั้งหมดนี้ เริ่มจากอคติ+มานะ และเป็นมิจฉาทิฐิ แต่ว่าการลงมือทำสิ่งที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรนะครับ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าสิ่งที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์นั้น เมื่อทำไปแล้วเบียดเบียนใครหรือไม่ ก่อประโยชน์จริงหรือไม่ เกิดประโยชน์สมดังความตั้งใจหรือไม่… คือว่าถ้าทำกับไม่ทำมีผลเท่ากัน ไม่ทำจะประหยัดกว่าและไม่เพิ่มเอนโทรปีด้วยครับ

เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ ผมคิดว่าน่าจะมี app ในมือถือจำพวกสมาร์ตโฟนคอยช่วยครับ

แน่นอนล่ะ ไม่ใช่ว่าทุกคนมี (หรือควรมี) แต่การที่จะบอกว่าทุกคนไม่มีนั้น ก็คงไม่จริงเช่นกันหรอกครับ ถึงชาวบ้านในพื้นที่จะไม่มี คนที่ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ ก็อาจจะมีติดไปบ้าง

  1. ใช้มือถือที่ระบุตำแหน่งได้ ทั้งนี้เป็นเพราะเวลาระบุพื้นที่ประสบภัยมา ข้อมูลมักจะไม่ละเอียดพอ ถ้ามี GPS (หรือ aGPS) ยังพอระบุบริเวณได้ เมื่อได้บริเวณที่ประสบภัย เอามาทาบกับแผนที่ความสูง แม้จำไม่ละเอียด ก็ยังพอมองเห็นทางน้ำไหล และถนนที่ใกล้ที่สุดที่เข้าสู่พื้นที่ได้
  2. ขั้นตอนของข้อมูล
    • อ่านค่าพิกัด GPS
    • (ถ่ายรูป) ถ้าทำ geo-tagging ได้ ก็ทำเสียเลย จะได้รู้ว่ารูปถ่ายเมื่อไร ตรงไหน
    • ระดับน้ำ ผ่านมาหลายครั้ง ข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อ ทั้งไม่ละเอียดพอ ไม่มีมิติขอเวลา ไม่มีพิกัด และไม่มีระดับน้ำที่ถูกต้อง — ลองย้อนกลับไปดู จะพบว่าเป็นการรายงานในทำนองว่า เมื่อวานนี้ พื้นที่ตำบลxxx น้ำท่วมสูง 2 เมตร ทั้งที่ถ่ายรูปมา น้ำท่วมแค่เข่าเด็ก… ข้อมูลแบบนี้มีปัญหาหลายอย่างครับ (ก) สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว “เมื่อวานนี้” ไม่ละเอียดพอ (ข) “ตำบล” กว้างเกินไป แต่ละตำบลอาจมีเป็นสิบหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านก็ห่างกันเป็นกิโลเมตร อย่างนี้ไม่ละเอียดพอ (ค) น้ำท่วม 2 เมตร ที่ไหนๆ ก็ 2 เมตรนั้นไม่ถูกต้อง ถ้ากะระดับของน้ำท่วมไม่ได้ อย่าลงไปวัดเองเนื่องจากมีอันตราย ให้ลองใช้สเกล ท่วมแค่เข่า/ครึ่งล้อรถ=50 ซม. ท่วมแค่เอว/ท่วมหลังมอเตอร์ไซค์/ท่วมฝากระโปรงรถยนต์=1 ม. ท่วมแค่อก=1.5 ม. ท่วมบ้านชั้นล่าง=2 ม. ท่วมบ้านชั้นสอง=4 ม. ฯลฯ จำไว้ว่าท่วมสองเมตรน่ะท่วมมิดหัวนะครับ นอกเสียจากหัวยีราฟ
  3. บรรยายสถานการณ์อย่างกระชับ
  4. ชื่อและวิธีติดต่อผู้ประสานงานในพื้นที่ประสบภัย

ข้อมูลเหล่านี้ พิมพ์เก็บเอาไว้ในมือถือ เมื่อออกมาจากพื้นที่ประสบภัยแล้ว รีบปรับปรุงข้อมูลอีกทีให้ถูกต้อง+กระชับ แล้วจึงค่อยต่อเน็ตเพื่ออัพโหลดข้อมูล — เวลาอยู่ในพื้นที่ประสบภัย ต้องระวังตัวตลอดเวลา อย่าหมกมุ่นกับมือถือเกินความจำเป็น

ในส่วนของข้อมูล เราพอจะเอามาแยกแยะได้เป็น (1) เวลาขณะที่ไปพบเห็นสถานการณ์​ (2) พิกัด (3) รูป (4) ระดับของภัย (5) สถานการณ์อย่างกระชับ (6) การติดต่อกับผู้ประสานงานในพื้นที่

ถ้าได้ตามนี้ ข้าวของที่ส่งไปช่วย ก็จะตรงตามความต้องการมากขึ้น ไม่มากไปจนเป็นภาระ ไม่น้อยไปจนต้องแย่งกันแล้วชุมชนแตกแยก; ข้อ (6) สำคัญมาก เพื่อที่จะได้ส่งวิธีการแสวงเครื่องที่พอจะบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง ระหว่างที่ความช่วยเหลือหลักยังไปไม่ถึง

… เรื่องอย่างนี้ ต้องเตรียมการล่วงหน้านะครับ จะรอให้เกิดภัยแล้วจึงเตรียม ไม่ทันการแน่ …

« « Prev : ร่วมใจปลูกป่าหลังคาโคราช

Next : สถานการณ์ SHTF » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ในพื้นที่ประสบภัย มองหาอะไรดี"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.10451102256775 sec
Sidebar: 0.13136506080627 sec