นาฬิกาแดด
น้ำจะท่วม ในชั่วโมงนี้ สิ่งที่ควรเตรียมแล้วยังไม่ได้เตรียม ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้วล่ะครับ
ระหว่างรอความช่วยเหลือ ให้นึกถึงความปลอดภัยของตนเองและครอบครัวก่อน อย่าทำตนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ซึ่งอาจจะได้อยู่เฝ้าจริงๆ ติดตามข่าวสารกันหน่อย จากสภาพแห้งๆ เปลี่ยนเป็นท่วมมิดหัวได้ในวันเดียว หน่วยงานทางปกครอง ควรจะประสานเครือข่ายเฝ้าระวังทางด้านต้นน้ำ ทำกันเป็นทอดๆ ไป ขอให้ช่วยเตือนบ้านเรือนทางใต้น้ำด้วย หากเขตของท่านน้ำท่วม ก็เมตตาเขตที่อยู่ใต้น้ำด้วย แจ้งสถานการณ์เขาไปโดยด่วนเพื่อที่จะเตรียมพร้อม
แล้วเมื่อได้รับคำเตือนมา หากยังไม่ได้เตรียมการใดๆ ไว้ ก็ควรจะเตรียมอพยพนะครับ ขนข้าวของขึ้นที่สูงแล้่วย้ายผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็ก ไปสู่ที่ปลอดภัยก่อน (ว่าแต่รู้และกำหนดกันหรือยังว่าสถานที่ปลอดภัยอยู่ตรงไหน จะไปตามหากันตรงไหน)
ทีนี้เวลาอพยพไปอยู่ที่สูงกันแล้ว สิ่งที่คุ้นเคย ก็หาไม่เจอหรอกครับ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร แต่ผมนึกถึงนาฬิกาแดด
ถ้าหากเชื่อว่าการโคจรของเทหวัตถุเป็นไปตามกฏเกณฑ์ทางฟิสิกส์ ก็ใช้โปรแกรมนี้คำนวณได้ครับ แต่ถ้าหากเชื่อว่าทางโคจรของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าเปลี่ยนไปมาแบบขึ้นและตกบนภูเขาผิดลูก ก็ข้ามบันทึกนี้ไปเลย
นาฬิกาแดดขึ้นกับพิกัดเส้นรุ้ง-เส้นแวงของตำแหน่งที่จะสร้างนาฬิกา ทั้งนี้เพราะพระอาทิตย์ที่โคจรข้ามท้องฟ้า เปลี่ยนแปลงไปทุกวันทีละน้อย [อธิบายด้วยคณิตศาสตร์]
นาฬิกาแดดของเราจะประกอบไปด้วยวงรีหนึ่งวง และเส้นตรงซึ่งชี้ในแนวเหนือ-ใต้ครับ วิธีการทำ มาจาก instructables ซึ่งเส้นตรงนี้เป็นเส้นที่วางตำแหน่งของเสา เพื่อให้เงาของเสาไปพาดกับวงรีตามตำแหน่งต่างๆ ซึ่งกำหนดไว้บอกเวลาแทนหน้าปัดนาฬิกา
จะต้องไม่ลืมว่าเวลาจากนาฬิกาแดด เป็นเวลาของท้องถิ่นที่แท้จริง ขึ้นกับตำแหน่งที่ตั้งของนาฬิกาแดด (เส้นรุ้งเส้นแวง) เวลาจะต่างกับเวลามาตรฐานประเทศไทย (ที่เส้นแวงที่ 105° E ที่อุบลราชธานี) เล็กน้อย ซึ่งทิศตะวันตกที่สุดของเมืองไทย ริมแม่น้ำสาละวินที่ 97.4° E จะอ่านค่าได้ต่างกับเวลามาตรฐานประเทศไทยประมาณครึ่งชั่วโมง (บวกค่า (105-เส้นแวง)x24×60/360 มีหน่วยเป็นนาทีกลับเข้าไปกับเวลาที่อ่านได้จากนาฬิกาแดด)
ทิศเหนือ-ใต้ซึ่งจะต้องกำหนดแนวให้ถูกต้องนั้น มีความสำคัญ ทิศเหนือไม่ใช่ทิศเหนือแม่เหล็ก แต่เป็นทิศเหนือที่เป็นแกนหมุนของโลก ถ้าใช้เข็มทิศหาทิศเหนือ จะต้องปรับทิศนิดหน่อยเนื่องจากทิศเหนือแม่เห็นกับทิศเหนือจริงนั้นไม่ตรงกัน สำหรับผมแล้วใช้โปรแกรม Google Sky Map ในโทรศัพท์มือถือส่องเอา ก็ง่ายดีครับ
เมื่อกำหนดแนวเหนือใต้ (เส้นสีฟ้าจางในรูปข้างล่าง) ได้แล้ว เราจะเริ่มวาดวงรีเป็นหน้าปัดนาฬิกา โดยลากเส้นยาวตั้งฉากกับแกนเหนือใต้ ใช้โปรแกรมคำนวณตำแหน่งของจุดโฟกัสของวงรีและจุดบนหน้าปัดนาฬิกา วาดวงรี และกำหนดจุดของตัวเลขบอกเวลา ปักหมุดสองอันที่จุดโฟกัส ใช้เชือกความยาวเป็นสองเท่าของ (ระยะระหว่างจุดโฟกัส+ระยะระหว่างจุดโฟกัสไปยังขอบวงรีในแนวเดียวกัน) ลากเส้นไปโดยให้เชือกขึงตึงอยู่ตลอดเวลา
จากนั้น ก็วัดระยะกำหนดจุดที่เป็นตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกา ตามผลการคำนวณจากโปรแกรม
เรากลับมาที่เส้นแนวเหนือใต้ วัดระยะกำหนด “เดือน” ไว้บนนั้น
วิธีใช้ ก็ไปยืนตรง”เดือน”บนเส้นแนวเหนือใต้ แล้วดูว่าเงาพาดลงที่ไหนบนหน้าปัด
ก็จะได้นาฬิกาแดด แบบที่เด็กทำได้ครับ (ผู้ใหญ่คงไม่ทำเพราะ “เหตุผล” เยอะเกินไป)
ตัวอย่าง: โรงเรียนมงคลวิทยา อ.เมือง จ.ลำพูน บริเวณถนนหน้าเสาธง เส้นรุ้ง 18.58°N เส้นแวง 98.99856°E
ถ้าหากว่าต้องการจะรู้ว่าตำแหน่งใดๆ มีพิกัดเท่าไรโดยไม่มี GPS ก็สามารถเปิด Google Maps Labs Enable “LatLng Tooltip” เอาไว้ก่อน จากนั้นค้นหาตำแหน่งที่ต้องการจะทราบพิกัด (ซูมได้ แพนได้) เมื่อพบตำแหน่งนั้นแล้ว เลื่อนเมาส์ไปวางบนตำแหน่ง แล้วกด SHIFT บนคีย์บอร์ด ก็จะได้ค่าพิกัดในรูปแบบของ “เส้นแวง,เส้นรุ้ง”
3 ความคิดเห็น
ขอบคุณค่า ช่วงนี้สนามหน้าเสาธงนำ้เจิ่งนอง ฝนเทหนักและนานติดๆกัน. เลยกลายเป็นสนามพลอดรักของฝูงเขียดหลายสิบตัว แถมวางไข่ไว้ด้วย รอลุ้นอยู่ว่าจะทันได้ออกมาเป็นเขียดน้อยไหม เดี๋ยวรอพื้นแห้งค่อยลองค่ะ
แต่พิกัดถึงผิดเพี้ยนไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเงาของเสา(หัวเด็ก) ใหญ่บึ้มอยู่แล้ว
แกนโลก ทำมุมกับแกนแกนอาทิตย์ +/- 23.5 องศา ในเวลาหนึ่งปี เอามาคำนวณหาความยาวเส้นเงา และมุมเงาไม่ยาก เรขาคณิตพื้นๆ ระดับมัธยม จากนั้นเทียบบัญญัติไตรยางค์ออกมาเป็นเวลา
ผมเคยสอนเด็ก “อ้จฉริยะ” ที่มาเข้าค่าย เตรียมไปออกแข่งโอลิมปิกส์วิชาการ เคยเอาโจทย์นี้ไปให้พวกเขาคิดคำนวณกัน สนุกดี
อัจฉริยะในที่นี้หมายถึงสอบได้เกรดดี สี่จุดศูนย์ๆ อิอิ