IPv4 หมดแล้ว
อินเทอร์เน็ตทำงานด้วยการเชื่อมต่อจาก IP address อันหนึ่ง ไปสู่อีกอันหนึ่ง เป็นเหมือนบ้านเลขที่ ที่จะบอกว่าส่งจากไหนไปไหน และจะส่งผลลัพท์กลับมาอย่างไร ถ้าไม่มี IP address อินเทอร์เน็ตทำงานไม่ได้ครับ
IANA เป็นองค์กรกลางที่คอยดูแลรักษาหมายเลขต่างๆ ที่ยังทำให้อินเทอร์เน็ตทำงานอยู่ได้ รวมทั้ง IP address ด้วย โดย IANA แจ้งว่าได้แจกจ่าย IP address บล็อคใหญ่ (/8) ซึ่งเหลืออยู่ 7 ก้อนให้แก่ APNIC (ศูนย์ดูแลระดับภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก) จำนวนสองก้อน จึงเหลือ /8 อยู่ห้าก้อน
และตามนโยบายของ ICANN ซึ่งดูแลความเป็นไปของการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมด เมื่อเหลือ IP address อยู่น้อยแล้ว IANA จะต้องแจกจ่ายก้อนสุดท้ายไปยังศูนย์ภูมิภาคทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นศูนย์ภูมิภาคทั้งห้า คือ ARIN (ทวีปอเมริกาเหนือ) LACNIC (ละตินอเมริกา) RIPE (ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเซียกลาง) AFRNIC (อัฟริกา) และ APNIC (เอเซีย-แปซิฟิค) ก็จะได้รับการจัดสรร IP address ก้อนสุดท้าย ศูนย์ละหนึ่งก้อน /8 ซึ่งถ้าหมดแล้ว ก็จะไม่มี IPV4 ให้อีก (มีทางออกอื่น แต่ไม่สะดวกเหมือน IPv4) — เรื่องนี้ เคยเขียนเตือนไว้ใน [โลกที่ปราศจากอินเทอร์เน็ต]
ดูเหมือนว่า APNIC ที่เมืองไทยอยู่ด้วยนี้ จะได้รับ IP address ใหม่มาสามก้อน แต่ถ้าดูให้ดีแล้ว ขอบเขตของ APNIC มีประเทศที่พลเมืองล้นหลามเกินพันล้านคนคือ จีน และอินเดีย และยังมีประเทศที่มีพลเมืองขนาดเกินร้อยล้านคนอีกหลายประเทศ คือ อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ญี่ปุ่น แถมด้วยประเทศที่มีประชากรเข้าใกล้ร้อยล้านคนอีกไม่น้อย เช่น ฟิลลิปปินส์ เวียดนาม ไทย… เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยคุยกับศาสตราจารย์จากจีนซึ่งดูแลแผนของประเทศ เขาบอกว่าแค่เดินตามแผน แค่เชื่อมต่อมหาวิทยาลัยของจีนเข้าสู่อินเทอร์เน็ตทั้งหมด IP address ในเวลานั้นก็มีไม่พอแล้ว
ด้วยจำนวนประชากร ตลอดจน “การพัฒนา” ในประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาค IP address ที่ APNIC ได้มา ก็น่าจะหมดไปอย่างรวดเร็วกว่าศูนย์อื่นๆ
ในเมืองไทย มีความพยายามจะผลักดันให้เปลี่ยนไปใช้ IPv6 มานานแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ไม่ขยับไปไหน
Geoff Huston หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ APNIC (ซึ่ง APNIC เองก็ผลักดันให้ใช้ IPv6) พูดเอาไว้น่าฟังว่า “IPv6 sucks”
คำพูดนี้ถ้าผมพูด คงไม่มีความหมายอะไรแม้จะจริงก็ตาม แต่ถ้าเจฟพูด เป็นเรื่องใหญ่ครับ… ผู้บริหารเครือข่าย IP คงเข้าใจดี แต่ถ้าสนใจ ถึงจะไม่รู้ว่าเขาเป็นใครและทำอะไรมาแล้วบ้างตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็ตามไปอ่านในลิงก์ข้างบนเองก็แล้วกัน
คำว่า IPv4 หมดแล้ว หมายความว่าขอใหม่ไม่ได้แล้ว (ขอ APNIC ได้ แต่เมื่อ APNIC หมดแล้ว ก็หมดเลย ผมเชื่อว่าผู้ให้บริการในทุกประเทศกำลังแห่ขอกันอยู่) คำนี้ไม่ได้หมายความว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะล่มสลาย เพียงแต่การขยายตัว จะต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ จะไปเรื่อยๆ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเหมือนเดิมไม่ได้ ผู้ให้บริการน่าจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคบ้าง จัดเตรียม capacity ให้เพียงพอ และเตรียมรับผลกระทบล่วงหน้า
ดังนั้นวงการอินเทอร์เน็ตก็จะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงที่พยายามหลีกเลี่ยงมานานแล้ว
- แบ็คโบนของบรรดาผู้ให้บริการ จะต้องรองรับ dual stack ทั้ง IPv4 และ IPv6
- เซอร์เวอร์ต่างๆ คงจะใช้ dual stack เหมือนกัน
- DNS ต้องแก้ไข
- บรรดาไคลแอนท์ (คอมพิวเตอร์ที่ต่อกับเน็ต) น่าจะต้องเปลี่ยนไปใช้ private IP ผ่าน proxy ซึ่งหากไม่ได้เตรียมการไว้เป็นอย่างดี จะทำให้เน็ตช้าลงมาก (และการเซ็นเซอร์จะง่ายขึ้น!!!)
- เน็ตจะช้าลง มากน้อยแล้วแต่ลักษณะการใช้งาน ถ้าเป็นพวก video streaming ส่งข้อมูลปริมาณมากๆ คงไม่ช้าลงเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นงาน interactive เช่น ssh/telnet คงจะช้าลงมากเพราะ IPv6 มี overhead สูงสำหรับ payload เล็กๆ
- โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสมาร์ทโฟน คงจะต้องใช้ IPv6 ให้ตรงตามมาตรฐานเสียที
- IPv4 address จะกลายเป็นของที่มีราคา เซอร์เวอร์น่าจะย้ายไปอยู่ตาม data center มากกว่าจะกระจัดกระจายกันอยู่ตามองค์กรต่างๆ
« « Prev : ปรากฏการณ์ลิงตัวที่ร้อย
Next : เที่ยวงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2554 » »
2 ความคิดเห็น
สะแตนดาร์ดใหม่ๆมันออกมาเร็วจริงๆ แล้วข้อมูลที่ผมเก็บไว้ใน soft floppy ขนาด 5-1/4 นิ้ว แต่ปีมะโว้ ด้วย CPM ใน radio shack TRS-80 เนี่ย มันจะ retrieve คืนได้ที่ไหน …เฮ้อ.จารึกขอมโบราณยังอ่านได้จนวันนี้ มันมั่นคงกว่ากันเยอะเลยนะครับ
ส่วน floppy 5¼ นิ้ว อาจจะยังมีคอมพิวเตอร์โบราณ(มาก)ที่อ่านได้ครับ แต่ควรรีบหาก่อนจะถูกโละทิ้งไปตามสมัยนิยม ทีนี้มันมีปัญหาคือดิสก์ 8 นิ้ว มีฟอร์แมตเหมือนกันหมด แต่ดิสก์ขนาด 5¼ นิ้วนั้นแตกต่างกัน ก็ต้องพยายามหาโปรแกรมที่อ่านได้ ลองดู CP/M FAQ ตรง Q9 กับ Q12 นะครับ