โลกที่ปราศจากอินเทอร์เน็ต

อ่าน: 4300

เมื่อวานอ่านรีวิวหนังสือ Armageddon Science: The Science of Mass Destruction ก็น่าตื่นเต้นดีครับ ผู้เขียน Brian Clegg เป็นนักฟิสิกส์ เขียนรายการออกมาหลายอย่างที่มีความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ (ในมุมมองของเขา) ว่าโลกแบบที่เรารู้จัก จะไปไม่รอด เช่น

  1. นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเฉลียวฉลาด แต่ขาดสามัญสำนึกเรื่องความปลอดภัย
  2. Large Hadron Collider (LHC) เครื่องเร่งอนุภาคความเร็วสูงที่พยายามจะจำลองสภาพการเกิดบิ๊กแบง เพื่อศึกษาอนุภาคพื้นฐาน อาจสร้างบิ๊กแบงหรือหลุมดำขนาดเล็กๆ ที่หลุดจากการควบคุมแล้วทำลายล้างทุกสิ่งรอบตัว หรือการระเบิดของซูเปอร์โนวาในอวกาศอันไกลโพ้น ซึ่งเรามองไม่เห็นเพราะแสงเดินทางมาเร็วเท่ากับความเร็วแสงเท่านั้น อันหลังนี่ ถ้าเจอเข้าก็เป็นแจ็คพอตแตกคือไม่รู้ตัวเลยล่ะครับ
  3. การทำลายล้างทางนิวเคลียร์
  4. สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง โลกร้อน ยุคน้ำแข็ง อากาศเป็นพิษ พายุรุนแรง แห้งแล้งยาวนาน ฯลฯ
  5. เชื้อโรคล้างโลก พื้นที่ที่มนุษย์ไม่เคยไป วันนี้กลับอยู่ไม่ “ไกล” เหมือนเคย เช่นป่าอเมซอนถูกบุกรุกเข้าไปเรื่อยๆ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ธารน้ำแข็งละลาย อากาศที่ถูกน้ำแข็งจับไว้หลายแสนปี ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศอีกครั้งหนึ่ง
  6. Gray Goo หุ่นยนต์จิ๋ว (nanobot) ที่สร้างตัวเองได้ หลุดจากการควบคุมแล้วไม่หยุดสร้างตัวเอง จนในที่สุดก็ทำลายทุกอย่างไร
  7. INFORMATION MELTDOWN

โดยรวมผมไม่ได้มองหนังสือนี้เป็นคำทำนาย แต่ก็น่าสังเกตว่าเกือบทั้งหมดนี้มนุษย์ทำ จะด้วยความไม่รู้ ความประมาท ความโง่ หรืออารมณ์ก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดผลใหญ่หลวง [Butterfly effect] [Tragedy of the anticommons] [การรับมือสิ่งท้าทายอุบัติใหม่] ผมมองเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เตือนว่าจุดใดเสี่ยง แล้วจะ “ทำ” อะไรกับมัน

บันทึกนี้ หยิบมาเฉพาะข้อ 7 นะครับ

รัฐประหารปี 2535 อินเทอร์เน็ตมีใช้แล้วแต่อยู่ในวงที่แคบมาก และสถานการณ์ในเมืองไทยก็ออกไปทางช่องทางนี้แหละ; รัฐประหารปี 2549 อินเทอร์เน็ตมีใช้แพร่หลาย เกิดอะไรขึ้นรู้ไหมครับ เว็บไซต์ชื่อดังหลายแห่ง เกิด down ขึ้นมาพร้อมๆ กันหมด สาเหตุง่ายมากครับ logfile เต็ม (เกิน 2 GB) แค่ rotate log หรือลบทิ้งแล้ว restart web server ใหม่ก็หาย — ใครจะคิดอย่างไร ผมไม่ทราบหรอกครับ ผมคิดว่ามีอาการของ information warfare เพราะเว็บเจ๊งหลายตัวพร้อมๆ กันอย่างผิดปกติมาก แต่ไม่ยืนยันว่าใช่หรือไม่ เพราะไม่ได้มีโอกาสตรวจ logfile ของลูกค้า

ตอนนั้นผมทำงานอยู่กับ ISP ซึ่งแก้ไขเรื่องนี้ได้เร็วเพราะมีประสบการณ์มาจากเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งมีคนจากทั่วโลกแห่เข้ามาดูข้อมูลในเมืองไทยจนแบนด์วิธระหว่างประเทศคับคั่งไปหมด และ logfile เต็มเร็วเหมือนกัน (เว็บเกี่ยวกับสึนามิที่ผมทำ ขึ้น Pagerank อันดับหนึ่งโดยไม่รู้ตัวเลย จนกระทั่ง @iwhale โทรมาบอก)

เรื่องนี้ก็(คง)ยังเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีการป้องกันที่ดีพอ ถ้ามีการ attack จะใช้เวลาเร็วขนาดไหนกว่าจะรู้ตัว บรรดา data center ต่างๆ มีการป้องกันตัวเองดีขนาดไหน สมกับที่ลูกค้าไว้เนื้อเชื่อใจหรือไม่ เราป้องกันตัวเองจาก cyberterrorist ได้ดีแค่ไหน [บทเรียนเกี่ยวกับการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวด]

หลายปีก่อน เกิดแผ่นดินไหวแถวไต้หวัน อินเทอร์เน็ตคลานเป็นเต่าอยู่เป็นเดือน ความเสี่ยงยังมีเหมือนเดิมครับ สถานเคเบิลใต้น้ำที่ปลายเกาะไต้หวัน ก็ยังตั้งอยู่ในเขตเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวเหมือนเดิม เคเบิลใต้น้ำก็ยังวางอยู่ก้นทะเล ณ.จุดเดิม เราทำอะไรนอกจากอธิษฐานว่าไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกบ้าง

แต่เรื่องเคเบิลนั้น ดูไปก็ยังเป็นเรื่องไกลตัวนะครับ หลายปีที่ผ่านมา มีความวุ่นวายทางการเมืองหลายครั้ง ผมเกิดเสียวแทนธุรกิจที่อยู่ในเมือง ตามตึกสูงต่างๆ ว่าข้อมูลสำคัญ ทำการสำรอง (แบ็คอัพ) กันบ้างหรือเปล่า ติดไวรัส/ติดหนอนอินเทอร์เน็ตกันมาคนละกี่ครั้งแล้ว ป้องกันตัวเองอย่างไร แล้วข้อมูลที่สำรองไว้ เก็บไว้ในสถานที่ที่เดียวกันหรือส่งไปเก็บไว้นอกสถานที่ (ป้องกันไฟไหม้ตึกแล้วหายเกลี้ยงหมด)

จุดดับบนดวงอาทิตย์ ก่อให้เกิดการรบกวนทางไฟฟ้า โลกเคยโดนหนักๆ มาหลายครั้งแล้ว แต่ในสมัยนั้น ผลเสียหายยังไม่มาก ในปัจจุบันที่คนสมัยใหม่พึ่งพาไฟฟ้า แล้วระบบไฟฟ้าก็เชื่อมต่อกันเป็นกริดหมดแล้ว หากเกิดปัญหาขึ้นจุดหนึ่ง ก็จะลากจุดอื่นๆ ให้ล้มลงตามไปด้วย เมืองไทยไม่มีระบบไฟฟ้าล้มเหลวทั้งระบบมานานจนจำไม่ได้แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ แล้วหากเกิดขึ้นจะทำอย่างไรครับ

มีอีกเรื่องหนึ่ง คือในหลายประเทศ จำนวนโทรศัพท์มือถือต่อหัวของประชากร มีค่าเกิน 1 แล้ว หมายความว่าจำนวนโทรศัพท์มือถือมีมากกว่าจำนวนประชากร เมื่อจำนวนโทรศัพท์มือถือ(แบบฉลาด)มีมากขึ้น ก็จะทำให้ IPv4 แบบที่เรายังใช้กันอยู่ หมดเร็วขึ้น อาจเป็นปีหน้าหรือปีโน้นก็ได้ ไม่ว่าช้าหรือเร็ว IPv4 หมดแน่ครับ

แต่ทั่วโลกก็เจอปัญหาเดียวกัน คือจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านอันยาวนาน ที่อินเทอร์เน็ตจะมีทั้ง IPv4 และ IPv6 ปนกัน

การที่จะบอกให้ทุกคนเปลี่ยนเป็น IPv6 ทั้งหมด พูดง่ายแต่คงเกิดยาก ดังนั้นก็จะต้องมีเครื่องมือแปล เช่น Happy Eyeballs หรือ NAT64 หรือจะเป็นอย่างอื่น [After IPv4, How Will the Internet Function?]

คำถามสำคัญคือ แล้ววันนี้ทำอะไรไปแล้วหรือยัง เครื่องมือนี้มีกำลังเพียงพอหรือไม่ หรือว่าจะต้องรอจนเดือดร้อนกันก่อน จึงจะลงมือครับ

« « Prev : บ่อน้ำทะเลร้อน

Next : พลังงาน: เอาจริงแบบเล่นๆ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 December 2010 เวลา 7:15

    แหม เป็นเรื่องไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตาแท้ๆ
    แต่เรื่องนี้น่ากลัวกว่านั้นอีก ไปนอนในโลงแล้ว ก็ยังไม่รู้ชะตา
    วิทยาการล้วนมีข้อจำกัดทั้งนั้น แต่ผู้ใช้ต่างเป็น เฮียเฉย เจ๊เฉย กันหมด
    เข้าทำนอง>> หากแมวขาดหนูแล้วแมวจะรู้สึก!!!

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 December 2010 เวลา 17:12
    ฮาๆๆๆๆ หัวเราะอย่างไม่มีเหตุผลครับ

    ไม่รู้ว่าเป็นยังไง ผมอยากมี wikipedia มาเก็บไว้ส่วนตัวจังเลย ช่วงวันหยุดยาวๆ อย่างนี้ แบนด์วิธต่างประเทศว่างดีครับ

  • #3 ลานซักล้าง » IPv4 หมดแล้ว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 February 2011 เวลา 16:24

    [...] และตามนโยบายของ ICANN ซึ่งดูแลความเป็นไปของการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมด เมื่อเหลือ IP address อยู่น้อยแล้ว IANA จะต้องแจกจ่ายก้อนสุดท้ายไปยังศูนย์ภูมิภาคทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นศูนย์ภูมิภาคทั้งห้า คือ ARIN (ทวีปอเมริกาเหนือ) LACNIC (ละตินอเมริกา) RIPE (ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเซียกลาง) AFRNIC (อัฟริกา) และ APNIC (เอเซีย-แปซิฟิค) ก็จะได้รับการจัดสรร IP address ก้อนสุดท้าย ศูนย์ละหนึ่งก้อน /8 ซึ่งถ้าหมดแล้ว ก็จะไม่มี IPV4 ให้อีก (มีทางออกอื่น แต่ไม่สะดวกเหมือน IPv4) — เรื่องนี้ เคยเขียนเตือนไว้ใน [โลกที่ปราศจากอินเทอร์เน็ต] [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.33930611610413 sec
Sidebar: 0.16789603233337 sec