ปรากฏการณ์ลิงตัวที่ร้อย

โดย Logos เมื่อ 2 February 2011 เวลา 0:15 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4459

ปรากฏการณ์ลิงตัวที่ร้อย กล่าวถึงจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

แม้จะเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ หรือเป็นนวัตกรรมใหม่ในสังคม สมาชิกของสังคมก็ดูเหมือนจะเพิกเฉย จนกระทั่งมีคนทำเป็นจำนวนมากจนพอเกิดเป็นกระแส

มีเรื่องเล่าอยู่ว่า

ในป่าบนเกาะเล็กๆ ในญี่ปุ่นหลังสงครามโลก มีลิงพันธุ์พื้นเมืองอยู่ชนิดหนึ่ง เมื่อปี 2495 นักวิทยาศาสตร์เข้าไปสำรวจ และหยิบยื่นมะเขือเทศหวานให้แก่ลิงเหล่านี้ เผอิญมะเขือเทศตกลงทรายหมดเลย ลิงน่ะชอบรสชาติของมะเขือเทศ แต่ทรายรสชาติแย่มาก ลิงเด็กตัวหนึ่งเกิดค้นพบวิธีแก้ปัญหา คือนำมะเขือเทศที่เปื้อนทราย ไปล้างยังลำธารใกล้ๆ ก็ได้กินมะเขือเทศหวานฉ่ำ ลูกลิงตัวนี้จึงสอนแม่ของเธอ บรรดาเพื่อนเล่นก็ได้เรียนวิธีการนี้ด้วย แล้วก็ไปสอนบรรดาแม่ของตัวอีกต่อหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตานักวิทยาศาสตร์ผู้เฝ้าสังเกตอยู่

ผ่านไปหลายปี ลูกลิงต่างเรียนรู้วิธีกินมะเขือเทศที่อร่อยถูกปากกันหมด แต่ลิงแก่ที่ไม่ยอมเลียนแบบ ก็ยังคงกินมะเขือเทศปนทรายต่อไป หกปีต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ตอนนั้นมีลิงที่เรียนรู้วิธีการล้างมะเขือเทศอยู่จำนวนเท่าไหร่ไม่ทราบแน่ สมมุติว่า 99 ตัวก็แล้วกัน แต่พอมีลิงตัวที่ 100 เรียนรู้่ว่าการล้างมะเขือเทศทำให้มะเขือเทศอร่อยกว่า ลิงทุกตัวในฝูงต่างล้างมะเขือเทศก่อนกินกันทั้งนั้น แม้แต่ตัวที่เคยเห็นวิธีการแต่ไม่เคยล้าง ก็กลับมาล้างด้วย

การที่ลิงตัวที่ 100 เรียนรู้การล้างมะเขือเทศ นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมลิง ไม่เฉพาะแค่ล้างมะเขือเทศเป็นนิสัยเท่านั้น แต่ความรู้อันนี้ ยังกระจายข้ามเกาะไปด้วย โดยลิงในเกาะอื่นๆ และที่เกาะใหญ่ของญี่ปุ่น ก็เริ่มล้างมะเขือเทศด้วย

ในเชิงสังคมวิทยา เขาอธิบายว่าเมื่อสมาชิกในสังคมเกิดความตระหนักรู้ใหม่ขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง (ระดับมวลวิกฤต) ความรู้นี้จะแพร่กระจายอย่างไฟลามทุ่ง…แต่ถ้าความรู้ใหม่นี้ ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ มันก็จะเป็นความรู้พิเศษของผู้สูงส่งอยู่ต่อไป หากความรู้นี้แพร่กระจายออกสู่คนจำนวนมาก ก็จะกลายเป็นความตระหนักรู้สาธารณะ

หนังสือ The Hundredth Monkey ฉบับเต็ม

« « Prev : วอลเปเปอร์ถุงขนมแก้หนาว

Next : IPv4 หมดแล้ว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 February 2011 เวลา 12:59

    ทฤษฎีนี้ผมเอามาใช้ในงานพัฒนาเหมือนกัน และปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เกิดในเมืองไทย และที่ไหนๆเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้สรุปบทเรียนกันเท่านั้น
    บทเรียนนี้ในดงหลวงที่เกิดขึ้นคือ

    ก่อนที่พี่น้องจะไทโซ่จะเข้าป่าไปร่วทมกับ พคท.ประมาณปี 2503 และมากที่สุดในประมาณปี 2517 และออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยประมาณปี 2527-2529 นั้น ดงหลวงไม่เคยมีการปลูกมันสำปะหลัง  เมื่อชาวบ้านออกจากป่าก็มาเริ่มชีวิตใหม่ สร้างครอบครัวทำมาหากินกันใหม่ แล้วก็มีคนหนึ่งเอามันสำปะหลังมาปลูก ชาวบ้านก็หัวเราะใส่ เอาพืชอะไรมาปลูก  แต่ผลการปลูกมันขายได้ โรคภัยก็ไม่มี ปลูกแล้วให้เทวดาเลี้ยง ก็ได้เงินใช้เมื่อถึงเวลาเก็บผลผลิตที่ชาวบ้านเรียก “กู้มันสำปะหลัง” ปีที่สองมีคนเอาอย่างสองสามคน ปีที่สาม มีคนเอาอย่างเพิ่มอีกเล็กน้อย พอปีที่ 5 เป็นต้นไป ไม่ต้องพูดถึงแล้ว ปรากฏการณ์ลิงตัวที่ร้อยเกิดขึ้นทันที ทั้งดงหลวงหักล้างถางพงปลูกมันสำปะหลังกันทุกครัวเรือน ที่เราเรียก critical mass

    จริงๆพร้อมกับมันสำปะหลัง หรือก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ชาวบ้านเอาปอกระเจามาปลูกก่อน แต่ปอนัน้มีขั้นตอนมากมาย และต้องการแหล่งน้ำแช่ปอก่อนลอกเอาเปลือกออกตากแห้งแล้วขาย แหล่งน้ำเน่าเสียส่งกลิ้นเหม็น แหล่งน้ำที่วัวควายลงเล่น กินได้ ก็ไม่ได้ คนที่เคยอาศัยอาบน้ำก็ไม่ได้ การลอกปอต้องใช้มือลอก มือก็เหม็น ปวดบวม ชาวบ้านจึงเลิกปลูกปอมาเอามันสำปะหลัง

    หลักการ critical mass หรือ ลิงตัวที่ร้อยนี้ นักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา แม้กระทั่งนักปลุกระดมมวลชนก็เอาไปใช้กัน แล้วแต่ว่าจะเอาไปใช้ในกระบวนวิธีเพื่อประโยชน์แบบไหน …?

    ผมมองในแง่เพื่อประโยชน์การพัฒนาสังคมนั้น น้อยคนที่จะเรียนรู้หลักการนี้และเอาไปใช้ จริงๆผมพยายามสรุปว่า องค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลวงนั้นอะไรเป็น key factor และหากเอาไปใช้ก็ควรจะสร้าง องค์ประกอบนั้น เช่นที่ผมสรุปเองว่า ผู้นำกิจกรรมต้องเก่ง ดี มีคุณธรรม มีบารมี กิจกรรมนั้นๆต้องสร้างประโยชน์ สอดคล้องกับวัฒนธรรม อุปนิสัยของคนในชุมชนจริงๆ   เช่น การสร้างโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ดงหลวง ผมคาดหวังจะให้เกิด critical mass ที่ชาวบ้านทั้งหมดแห่กันมาใช้ประโยชน์พื้นที่รับน้ำชลประทาน แต่ ผิดหวัง ไม่มีลิงตัวที่ร้อย แม้แต่ลิงตัวที่ 50 ก็ไม่มี เราผิดพลาดตรงที่ กิจกรรม contract farming นั้นไม่เหมาะกับเกษตรกรที่นั่น ไม่ถูก ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เทคโนโลยี่ซับซ้อนเกินไป เลยไม่มี criticall mass แต่เราก็ค้นพบว่า พืชที่เคยเกิด critical mass ที่ดงหลวงมาก่อนแล้วนั่นแหละน่าที่จะใช่ คือ มันสำปะหลัง แต่เราเน้นการเพิ่มผลผลิต โดยใช้เทคนิคที่ง่ายสำหรับชาวบ้าน เช่น ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ เติมน้ำลงไปบ้าง ก็เพิ่มผลผลิตเป็น 3-5 เท่า

    ผมเชื่อว่า หากเราเรียนรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบนี้แล้วเอามาปรับใช้ในกิจกรรมทางสังคมที่มีประโยชน์ก็จะสร้างคุณค่ามหาศาลทีเดียวครับ

    ส่วน critical mass ทางการเมืองนั้น ยังไม่มีใครวิเคราะห์ในมุมมองนี้บ้างครับ

  • #2 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 February 2011 เวลา 16:34

    อ่านบันทึกนี้ครั้งแรกก็นึกถึงการให้พรตอนญาติโยมใส่บาตร กล่าวคือ ธรรมเนียมภาคใต้นั้น จะไม่ให้พรเป็นภาษาบาลีตอนญาติโยมใส่บาตร โดยจะมาให้ที่วัดหลังจากฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว… แต่ธรรมเนียมภาคเหนือนั้น จะให้พรเป็นภาษาบาลีหลังจากญาติโยมใส่บาตร…

    ต่อมา ก็มีพระภาคเหนือมาอยู่ภาคใต้ และก็ให้พรเป็นภาษาบาลีตามธรรมเนียมเดิม ปรากฏว่าญาติโยมชอบใจ เป็นที่ติดอกติดใจอย่างยิ่ง พระภาคใต้บางรูปจึงเอาอย่างบ้าง… ต่อมา พระรุ่นใหม่ๆ จึงเอาอย่างเพราะเห็นพระรุ่นเก่าๆ ให้พร…

    ก็ยังมีพระรุ่นเก่าเกินไป คือ รุ่นอาตมานี้แหละ (…………) ที่ยังไม่ให้พรเป็นภาษาบาลี ดังนั้น จึงกลายเป็นความขัดแย้ง กลายเป็นพระส่วนน้อยที่ไม่ให้พรเป็นภาษาบาลีในบรรดาพระที่ออกบิณบาตในตอนเช้า (เพราะพระรุ่นเก่าเกินไประดับอาตมามักจะไม่ค่อยออกบิณบาต) ซึ่งอาตมาก็สังเกตอยู่ ถ้าพระรุ่นเก่าเกินไปรูปอื่นๆ ระดับอาตมาก็มักจะไม่ให้พรเช่นเดียวกัน ท่านเหล่านั้นยังคงรักษาธรรมเนียมใต้เก่าๆ ไว้ พยายามชี้แจงญาติโยม แต่ญาติโยมชอบใจ จะทำอย่างไร

    สรุปว่า ทุกเช้าที่ออกบิณบาต จะเกิดความขัดแย้งและสับสนภายในใจกับเรื่องนีัตลอด…

    เจริญพร

  • #3 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 February 2011 เวลา 19:14

    เผอิญ ความรู้ ที่เลว มันลามทุ่งไวกว่าความรู้ที่ดีนิ่สิครับ :-(

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 February 2011 เวลา 22:06
    หว่า… ตอบไม่ถูกเลยครับ
  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 February 2011 เวลา 13:10

    นึกขึ้นได้ว่า เคยมีผู้รู้ให้กรณีตัวอย่างทางการเมืองในไทยว่า ช่วงที่ คนกรุงเทพฯ favor ท่านพลตรีจำลองศรีเมือง และท่านลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม.นั้น ผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ท่านจำลองได้คะแนนถล่มทลาย ท่านผู้รู้วิเคราะห์ว่าเป็นปรากฎการณ์ ลิงตัวที่ร้อยเหมือนกัน เมื่อมีการแข่งขัน ถึงจุดหนึ่งคนกรุงเทพฯ ก็มาเทคะแนนให้ท่านจำลอง  หากเราวิเคราะห์ลึกๆต่อปรากฎการณ์เช่นนี้ ก็อาจจะนำไปพิจารณาใช้ในงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆได้ เช่นการทำประชาสัมพันธ์  การรณรงค์ ต่างๆเป็นต้น เพียงแต่ว่านักวิชาการสาขาที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นมาทำการวิเคราะห์เรื่องราวแบบนี้  หรือมีแล้วแต่ผมไม่ทราบก็เป็นได้ครับ

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 February 2011 เวลา 19:39
    ยิ่งเวลาที่คนต้องการความเปลี่ยนแปลง ก็ยิ่งเกิดง่ายครับ แต่คนที่ไหลไปตามกระแสรู้ว่าต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่มักไม่ค่อยหาคำตอบและฉันทามติว่าเปลี่ยนเป็นอะไร เปลี่ยนแล้วจะได้ตามที่ต้องการหรือไม่

    “คนใน” รู้อย่างหนึ่ง “คนนอก” รู้สึกอีกอย่างหนึ่ง คนนอกไม่เหมือนกับคนใน รู้สึกไม่เหมือนกับรู้ครับ น่าจะคุยกัน และฟังกันมากๆ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.56181192398071 sec
Sidebar: 0.52718615531921 sec