เครื่องอบข้าว

อ่าน: 9245

เมื่อคืนจะเขียนเรื่องนี้ในบันทึกที่แล้ว แต่ง่วงเกินไป ประกอบกับยังคิดไม่รอบคอบ เนื่องจากผมเป็นคนเมืองมาตั้งแต่เกิด ไม่เข้าใจบริบทของการทำนาอย่างแท้จริง เพียงแต่รู้สึกได้ถึงความเดือดร้อน — มาวันนี้ ก็ยังไม่เข้าใจ+คิดไม่รอบคอบอยู่ดี แต่มีความเห็นของพี่บางทราย (ลูกชาวนาตัวจริงและทำงานพัฒนากับชาวบ้านหลายท้องถิ่นมาตั้งแต่จบมหาวิทยาลัยจนเกษียณอายุ และยังทำต่อ) มาบอกว่าคิดไม่ผิดทางนัก ก็เลยตัดสินใจเขียนต่อครับ

อีกเหตุหนึ่งที่ไม่เขียนเรื่องเครื่องอบข้าว ก็เพราะไม่รู้จะเอาเครื่องอบข้าวเข้าไปในพื้นที่อุทกภัยได้อย่างไร มาวันนี้คิดตกแล้วว่าถ้ายุ้งฉางจมน้ำด้วย ก็ไม่มีที่เก็บข้าวอยู่ดีหรือข้าวเปียกจนเกินเยียวยา ดังนั้นก็ตั้งสมมติฐานไว้เลยว่า มีที่แห้งเก็บข้าว จะได้ไม่ต้องเอาเครื่องอบข้าว ลงแพหรือเรือท้องแบน ตามไปอบข้าวที่ยุ้งฉางที่จมน้ำอยู่ พื้นที่น้ำท่วม มีความชื้นสัมพัทธ์ 100% อยู่ดี ถึงอบไปก็จะชื้นใหม่อย่างรวดเร็ว

เดิมทีคิดจะใช้เกลียวของอาร์คิมิดีส ที่ปลายต่ำใส่ข้าวชื้น และจุดเตา เอาความร้อนใส่ไปในท่อ ความร้อนลอยขึ้นสูงไปออกปลายบน จะไม่อบอวลจนข้าวไหม้ หมุนๆๆๆๆ ข้าวที่มาโผล่ข้างบนจะชื้นน้อยลง แต่ถ้ายังชื้นอยู่ ก็ปล่อยข้าวลงไปข้างล่างตามทางลาด เอาไปขึ้นเกลียวที่สอง ที่สาม … ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนความชื้นเหลือน้อยพอที่จะส่งไปจำนำข้าว

มาคิดอีกที สมมุติเอาข้าวมาอบหนึ่งตัน ต้องหมุนเกลียวเพื่อยกน้ำหนัก คิดเป็นงานเหมือนกับยกน้ำหนักหนึ่งตันจะระดับพื้นข้างล่าง ขึ้นมาสู่ระดับปลายบนของท่อนะครับ แล้วเกิดผ่านท่อครั้งเดียวยังไล่ความชื้นออกได้ไม่พอ จะต้องส่งผ่านท่ออย่างนี้หลายๆ ท่อ ก็เท่ากับว่าต้องยกน้ำหนักหลายตัน โอย… อย่างนี้จะหมุนท่อไหวเหรอ

โชคดีที่เวลาชาวนาเอาข้าวเปลือกมาอบ ก็มักจะมาด้วยรถ(อีแต๋น) เราใช้ล้อรถขึ้นเพลามาหมุนเกลียวได้ ทดให้เครื่องเดินเบาหมุนเกลียวอย่างช้าๆ ส่วนค่าพลังงานเพื่อหมุน+ค่าใช้จ่ายในการขนส่งและโกย ชาวนาออกเอง ทำเอง ไม่ต้องจ่ายค่าหัวคิวให้ใคร

ส่วนความร้อนก็ตั้งเตาอั้งโล่เลย ง่ายดีครับ ถ้าเป็น gasifer ก็จะดีเนื่องจากปริมาณไม้เท่ากันจะเผาได้นานกว่า แต่คงหาไม้แห้งได้ยากในภาวะอย่างนี้ จะใช้ความร้อนเหลือทิ้ง (co-generation) หรือแแสงแดดซึ่งเป็นความร้อนที่ได้มาฟรี แต่หาไม่ได้กลางทุ่งที่ฝนตก ดังนั้น ทำอะไรง่ายๆ นี่ละครับ เหมาะแล้ว

ในส่วนของเกลียว ก็ตัดโลหะเป็นรูปวงแหวน หลายๆ วง แต่ละวงคือหนึ่งรอบเกลียว (หนึ่งชั้น)

จากนั้นก็เอาไปบิดให้งอในบล็อค อัดให้โค้ง แล้วเอามาเชื่อมต่อกันเป็นกลียวรอบแกน หมุนแกนดูความไม่สม่ำเสมอ แล้วขัดแต่งจนเรียบ

เพราะว่าเราต้องการให้เกลียวหมุนช้าๆ เพื่อที่เมล็ดข้าว จะได้พลิกไปมาในเกลียว รับความร้อนได้นานหน่อย ดังนั้นแทนที่จะหมุนแกนของเกลียว เราหมุนปลอกข้างนอกจะดีกว่า (รัศมีกว้างกว่า เมื่อหมุนด้วยสานพาน ก็จะหมุนช้ากว่า) ดังนั้น เกลียวของเรา ก็ “ติดกาว” กับท่อเหล็กที่ใช้เป็นปลอกข้างนอกครับ

เสร็จแล้ว

เราเอาเกลียววางเอียงๆ ก็จะขนข้าวจากที่ต่ำกว่าทางปลายท่อ ขึ้นไปปล่อยออกทางปลายท่อด้านสูงได้ด้วยการหมุนท่อ

อาจารย์วิบุล วงศ์ภูวรักษ์ @wwibul เตือนสติคนที่บ้านน้ำยังไม่ท่วม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกรุงเทพ) ไว้อย่างน่าสนใจ ผมคิดว่ามีค่าเกินกว่าจะปล่อยให้หายไปในทวิตเตอร์ครับ จึงเอาข้อความมาต่อกันดังนี้

คนที่อยู่ในกรุงเทพ อย่าประมาทเรื่องน้ำท่วม จะมากจะน้อยก็เตรียมตัวให้พร้อม น้ำมากที่อื่นยังไงก็ต้องผ่านมา เตรียมพื้นฐานรับมือน้ำท่วม คือ อาหาร น้ำดื่ม เงินสด แบตเตอรี่สำรอง โดยควรถือว่าตนเองเจอไฟฟ้าดับไว้ก่อน เมื่อไหร่คนทั้งเมืองแน่ใจว่า ท่วมแน่ ถึงเวลานั้น ควรนอนกับบ้าน รับรอง ไม่มีอะไรเหลือให้ซื้อ ผมเคยเจอช่วงน้ำท่วม มีเงินสดติดตัวน้อยมากเพราะประมาทว่า ATM อยู่ใกล้ เจอน้ำท่วมแล้วไฟดับ อึ้งไปเลย แล้วเคยมีครั้งหนึ่ง แน่ใจพร้อมคนทั้งเมืองว่าท่วมแน่ ออกไปห้าง โห ยังกะดีแทคแจกไอแพด 2 ฟรีทีละสองหมื่นเครื่องเลยวุ้ย ชั้นโล่งเชียว

นอกจากประสบการณ์ของอาจารย์วิบุลแล้ว เพื่อนผมอยู่หาดใหญ่เหมือนกัน บ้านอยู่เยื้องกับโมเดิร์นเทรดแห่งหนึ่ง จึงไม่ซื้ออะไรตุนไว้ เพราะคิดว่าเพียงแต่ข้ามถนน จะซื้ออะไรก็ซื้อได้ ปรากฏว่าเวลาน้ำมา กลับข้ามถนนไม่ได้! เมื่อปลอดภัยจนข้ามถนนได้ ก็ไม่มีอะไรเหลือให้ซื้อแล้ว!! ไฟดับน้ำประปาไม่มี!!! โห…อะไรจะรันทดขนาดนั้น

คนฉลาด ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นได้ครับ ว่าแต่ตอนนี้ ท่านทำอะไรไปแล้วบ้าง หรือว่าจะรอความช่วยเหลือ

« « Prev : ข้าวชื้น

Next : รางวัล » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 September 2011 เวลา 16:45

    นี่ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ ง่าย ดัดแปลงได้โดยช่างในท้องถิ่น ปกติช่างท้องถิ่นก็ชอบดัดแปลงอะไรต่อมิอะไรอยู่แล้ว หากเอาวิชาการไปกำกับก็น่าที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวคิดเหล่านี้หน่วยงานที่ควรแสวงหาความรู้เพื่อเอาไปคิดต่อเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านคือ อบต. เทศบสล สำนักงานส่งเสริมการเกษตรอำเภอ และจังหวัด หรือไม่จำกัดหน่วยงานใครมีกำลัง ใครสนใจ ใครอยากช่วยชาวบ้าน ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้นแหละครับ

    ตนที่น่าจะดีใจมากที่สุดน่าที่จะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เพราะการช่วยเหลือแบบนี้ ได้คะแนนเนื้อๆไปเลย

    น่าสนใจไอร้อน (จากอะไรก็ได้ที่ราคาถูกที่สุด) มาอบข้าว
    การวัดความชื้นข้าว ชาวบ้านนั้นไม่มีความรู้ เจ๊กมาวัดเท่าไหร่ ก็เท่านั้น จริงไม่จริง ใช่ไม่ใช่ ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง คำพูดอะไรก็เท่านั้น นี่คือจุดอ่อนของชาวบ้านที่ ซื่อ เชื่อว่าเขาไม่โกง

    ขอเลยเถิดไปถึงเรื่องการตีราคาข้าว
    - วัดความชื้น ชื้นมากชื้นน้อย ชาวบ้านไม่รู้ดังกล่าว
    - สมัยก่อนผมเห็น เจ๊ก ซื้อข้าว จะเอาไม้บดมาบด โโยชาวบ้านจะบอกว่า จะขายข้าวในยุ้งนี้ เจ๊ก จะปีนขึ้นไปเอง แล้วล้วงมือไปที่กองข้าว ลึกๆ กำข้าวมากำหนึ่ง แล้วเอสกองลงที่ไม้กระดานเรียบๆ บางครั้งเขาก็เตรียมมาเอง บางครั้งก็ใช้ไม้กระดานที่ชาวบ้านมีอยู่โดยทั่วไป แล้วก็เอาไม้บดที่เป็นเสมือนเครื่องมือหากินประจำตำแหน่งเขา เอามาบด ข้าว บดไปบดมา ดูปริมาณข้าวที่เปลือกหลุดไป ดูปริมาณข้าวที่หัก ดูสีข้าว ดูความยาวของเมล็ดข้าว ดูความสวยความใสของเมล็ดข้าว แล้วก็ให้ราคา โโยคิดที่ “เกวียนละ…” ชาวบ้านก็แค่ต่อรองนิดหน่อย ผู้มีน้ำหนักให้ราคาก็คือเจ็กคนที่บดข้าวนั่น คนนี้มือเซียนจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญมากๆ มีประสบการณ์สูงมาก คนคนนี้จะประจำตามโรงสีข้าวต่างๆ
    - จะเห็นได้ว่าชาวนาโบราณนั้น ขึ้นกับพ่อค้า จริงๆ อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คนวิเศษชัยชาญ ท่านทำปริญญาเอกที่ Princeton เรื่องข้าวในภาคกลางนี่เอง จึงรู้เรื่องข้าวดีมากท่านหนึ่ง แม้ไม่เคยทำนาเลยก็ตาม

    ทีนี้ข้าวจะหักมากหักน้อย จะได้ราคามากราคาน้อยก็ขึ้นกับความชื้นที่ คอน กล่าวถึง ความชื้นมาก หักมากราคาต่ำฮวบเลย ชาวนาร้องให้เลย เพราะบ่อยครั้งที่ราคาข้าวที่ขายทั้งหมดก็ไม่คุ้มราคาปุ๋ย หรือต้นทุนที่ลงไป การช่วยลดความชื้นเป็นขบวนการท้ายๆของการผลิตที่ช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น

    บางทีมันก็แค้นกับโชคชะตา ทำมาสามสี่เดือนแทบล้มตาย พอมาเก็บเกี่ยวน้ำท่วม ฝนตก ข้าวเปลือกชื้นหมด และชาวนาเดี๋ยวนี้ เก็บเกี่ยวเสร็จก็ขายเลยเพราะต้องการเงินไปใช้หนี้สิน และใช้จ่ายอื่นๆที่จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว

    เครื่องมือขจัดความชื้น หรือเครื่องอบข้าวจึงมีส่วนช่วยชาวนาได้มากครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.2583780288696 sec
Sidebar: 0.70190215110779 sec