ตาข่ายคลุมฟ้า
อ่าน: 3581คิดต่อจากบันทึกเรื่องอนุสนธิจากแผ่นดินไหวในเฮติ ผมก็หาทางที่จะ restore ระบบสื่อสารขึ้นมา อย่างน้อยก็สำหรับการกู้ภัยครับ
ที่จริงเรื่องนี้ ใช้วิทยุเครื่องแดงหรือเครื่องดำ ก็เหมาะดี แต่ถ้าต่อเน็ตได้ ก็จะได้ข้อมูลที่ไม่ผิดพลาด ได้แผนที่ ส่วนรูปและวิดีโอเข้าส่วนกลาง ทำให้การวางแผนและดำเนินการ สะดวกขึ้นมาก
ก็อกแรก: คิดว่าจะเอาเครื่องทวนสัญญาณ wi-fi ใส่บันลูนปล่อยขึ้นฟ้า แต่ผูกไว้กับพื้นไม่ให้สูงเกิน 30-50 เมตรครับ ใช้เสาอากาศบีมสัญญาณลงพื้น เมื่อไม่มีสัญญาณแพร่กระจายออกไปทุกทิศทาง ก็จะได้กำลังส่งในทิศทางที่ต้องการเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว และยิ่งเมื่อมีสถานีทวนสัญญาณลอยอยู่สูง ปราศจากสิ่งปลูกสร้างรบกวน ก็น่าจะมี coverage ที่ไกลขึ้น เมื่อลมแรงหรือฝนตกก็ดึงเอาบันลูนลงมา แบตหมดก็เช่นกัน
ในส่วน gateway ที่พื้นนั้น รับสัญญาณ wi-fi จากบนฟ้า สามารถเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม (หรือ land line ถ้าไม่เจ๊งไปเสียแล้ว) เข้าอินเทอร์เน็ตได้
ก็อกสอง: wi-fi repeater ต่อเป็น mesh ได้ ให้ relay สัญญาณผ่าน air interface ก็จะมี coverage ที่กว้าง โดยผูกบันลูนไว้เป็นทอดๆ ถ้าจะให้ดี repeater ควรมี dual radio อันหนึ่งใช้คุยกับพื้นดิน อีกอันหนึ่งเอาไว้ทวนสัญญาณกับบันลูนอื่นๆ
ก็อกสาม: ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น เช่นอบต. อบจ. เทศบาล หรือหน่วยงานใดที่มีการเก็บภาษีบำรุงท้องที่หรือค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ที่จะจัดโครงสร้างพื้นฐาน ให้กับคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น; สามารถเอาความคิดแบบข้างบนไปใช้ได้ แต่แนะว่าไม่ควรทำ gateway เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง
วันนี้อินเทอร์เน็ตไทยรวมศูนย์ที่กรุงเทพ เป็น single point of failure ถ้ามีบริการท้องถิ่นแบบนี้ เรียน e-learning จากเครื่องแม่ข่ายของโรงเรียน โดยไม่ต้องวิ่งอ้อมกรุงเทพ ผู้บริโภคจะเห็นราคาและความหลากหลายของสินค้าในท้องถิ่นมากขึ้น “ตลาด” ทำงานดีขึ้นเพราะผู้บริโภคมีข้อมูล ฯลฯ
« « Prev : อนุสนธิจากแผ่นดินไหวในเฮติ
Next : เมื่อมองไม่เห็นปัญหา ย่อมแก้ไขไม่ได้ » »
8 ความคิดเห็น
Good idea จริงๆตอนนี้ลมฟ้าอากาศชักแปรปรวนไปใหญ่ ทั่วโลกเลย เตรียมพร้อมไว้ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ ขอสนับสนุนๆ เตรียมพร้อมไว้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะขอสับสนุนๆมีอะไรขึ้นจะช่วยคนได้มากค่ะ
เรื่องเทคนิคอย่างนี้สงสัยอบต.จะเข้าไม่ถึงนะคะ ความเป็นไปได้ในเรื่องงบประมาณนะไม่ยากหรอกน้องเอ๋ย เมื่อเขาเข้าใจในเหตุและผลที่จะเกิดขึ้น ที่ว่ายากนั้นอยู่ตรงที่ทำยังไงให้เขาเข้าใจเทคโนโลยีและมีที่เข้าใจช่วยลงมือทำให้เห็น เดินคู่ไปทำความเข้าใจในแต่ละก้าวย่างที่เดินเพื่อเตรียมความพร้อม
ในระบบของการกู้ภัยฉุกเฉินที่ทำกันอยู่ หลายๆแห่งก้าวเดินเพราะสาธารณสุขเข้าไปทำการเชื่อมประสานหรือไม่ก็ทำให้ดู หรือไม่ก็ชวนมาฝึกมาสัมผัสซะเป็นส่วนใหญ่ เรื่องสื่อสารกันในระหว่างภาวะฉุกเฉินก็เช่นเดียวกัน
ไอเดียในแต่ละก็อกนั้นอ่านแล้วดูเหมือนทำง่าย แต่ถ้าให้ฝ่ายของงานสาธารณสุขอ่านด้วยแล้วมันงงๆๆๆๆ พอมีงง คนก็ไม่กล้าไปสานความคิดให้เกิดการต่อยอด
ณ วันนี้ เท่าที่รู้มาก็ไม่เห็นกระทรวงไหนเป็นหัวหอกให้ในเรื่องนี้ ทำทีไรเรื่องเลี้ยวมาลงให้สาธารณสุขทำทุกทีไปซะนี่ ที่จังหวัด ผวจ.นั่งเป็นประธานในเรื่องของการจัดการภาวะฉุกเฉิน มีมท.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะ สาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งของทีมคกก. ทุกๆส่วนไม่มองไปถึงเรื่องการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติเพื่อคนไทยสักเท่าไร พูดกันแต่จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเชื่อใจและมาเที่ยว ยังไม่มีใครที่พูดออกมาให้เห็นวิสัยทัศน์ในเรื่องเหล่านี้สักคน
ถ้าเป็นไปได้ เอาไอเดียไปขายในเวทีที่สามารถชี้ทิศและสั่งการลงมาในพื้นที่ให้หน่อยก็จะดีไม่น้อย คนพื้นที่จะได้ขยับตัวและมองปัญหาแล้วจัดการระบบไปพร้อมกัน สิ่งที่หวังก็จะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ตามที่หวังทั้ง 3 ก็อกในที่สุด
#2 เรื่องนี้ก็ไม่ยากหรอกนะครับพี่
เหมือนทำโจทย์เลข บางคนรู้สึกสยดสยองตั้งแต่ได้ยินคำว่า “เลข” แล้ว บางคนทำได้เพราะเคยเรียนวิธีทำมา บางคนพลิกแพลงหาทางออกได้เอง ส่วนบางคนลอกเพื่อนเลย บางคนต่อให้สอนห้ารอบก็ทำไม่ได้ — คนเราแตกต่างกัน อบต.ส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมามาก่อน อาจจะไม่ชำนาญเรื่องนี้ แต่ยังไงก็ต้องประกวดราคาจัดซื้อครับ สำหรับคนที่รู้ว่าเอาอะไรต่อกับอะไรอย่างไรแล้ว มันก็ไม่มีอะไรหรอกครับ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการภัยพิบัติเสมอ; แต่ก็เป็นประเด็นเดิมครับ คือไม่มีใครรู้เรื่องอะไรทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ ทีนี้มันไม่ค่อยจะเวิร์คด้วยระบบราชการ ซึ่งมีการสั่งการแบบ top-down โดยผู้บังคับบัญชาที่อยู่ไกลจากเหตุการณ์ เข้าใจข้อจำกัดของพื้นที่น้อยมาก และต่างกรม ต่างก็มี “นาย” กันคนละคน
ระบบแบบนี้ ก็ไม่ผิดหรอกครับ ถ้าทุกคนเห็นความทุกข์ยากของผู้ประสบภัยเป็นเป้าหมายเดียวกัน มีลมหายใจเดียวกัน ต่างคนต่างกระทำการในอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อบรรเทาทุกข์ภู้ประสบภัย (เป้าหมายร่วม) มากกว่าการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน (ตัวเอง)
ช่วยไปขายไอเดียให้เกิดการชี้ทิศในกระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมป้องกันโรค และกรมการแพทย์) หน่อยดิ เชื่อว่าจะมีการผลักดันต่อยอดในการทำให้เกิดผลได้ง่ายกว่ากระทรวงอื่น ขอเพียงแค่ทำให้เข้าใจ ไหนๆก็ไหนๆแล้วที่เรื่องอุบัติภัย สาธารณสุขทำงานเป็นหัวหอกเชื่อมโยงเรื่อยมาอยู่แล้ว มีนายคนละคนก็ไม่เป็นไร ลงสู่ภูมิภาคขอให้มท.รับรู้ว่ามอบต่อให้เป็นงานมอบหมายผวจ.ก็ใช้ได้แล้ว ไปได้โลดอยู่
เรื่องนี้ละที่เหมาะกับLogos จะคิดๆทำๆให้ทะลุ
มาเชียร์สุด ๆ ครับ….พูดมานานแล้วครับ….กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย……ปากก็พูดว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่เวลาทำ……..555
อ่านไอเดียของคุณโยมก็นึกแว๊บขึ้นมา ทำนองเดียวกับหลายปีก่อน ที่อ่านของอาจารย์ธวัชชัย…. กล่าวคือ อ่านไอเดียของอาจารย์ธวัชชัย ก็อยากจะให้ท่านเป็น รมต.ไอซีที ไปเลย… เมื่อมาอ่านของคุณโยม ก็อยากจะให้เป็น นายกฯ ไปเลย เช่นเดียวกัน…
เมื่อวานซืน นักเรียนประถมหน้าวัด กลับจากโรงเรียนก็แบกกระเป๋าหนังสือเลยมาหายายซึ่งนั่งอยู่ในวัด ลองดูกระเป๋าของเธอ หนักจริงๆ น่าจะเกินห้ากิโล รู้สึกสงสารเด็ก… เมื่อคืนคุยกับหลวงพี่เรื่องนี้อีกครั้ง บางประเทศใกล้ๆ บ้านเรา เปลี่ยนจากสมุดหนังสือมาเป็นโน้ตบุคแล้ว… ก็วิจารณ์เรื่องนี้ ทางการได้ประโยชน์เรื่องการพิมพ์หนังสือ ถ้าเปลี่ยนมาใช้โน้ตบุค นอกจากผู้เสียประโยคแล้ว บริษัทด้านโน้ตบุคก็จะได้ประโยชน์ แล้วนักการเมืองก็จะเข้าไปเกี่ยวข้อง…..
เจริญพร
[...] [ตาข่ายคลุมฟ้า] [...]