เตรียมพร้อมรับภัย
อ่าน: 3040เมื่อวันสองวันก่อน ฟังข่าวว่า อบต.แห่งหนึ่งได้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยการเข้าไปดูคำเตือนที่เว็บของราชการแห่งหนึ่ง แล้วจัดเตรียมถุงยังชีพเอาไว้ล่วงหน้า… ฟังแล้วจะเป็นลม ผมว่านี่ไม่ใช่การเตรียมพร้อมที่ควรจะเตรียมนะครับ ไม่มีการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อป้องกันเลย เหมือนรอให้เกิดภัยขึ้น แล้วลุ้นว่าชาวบ้านจะรอดเพื่อรับถุง
การรู้ล่วงหน้าว่าภัยอะไรจะมาเมื่อไหร่ ไม่มีความหมายอะไร หากยังไม่รู้ว่าควรจะทำอะไร มีทางเลือกอะไร และเตรียมทางออกอะไรไว้บ้าง
ถ้าผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน คงทำแตกต่างออกไป ดังนี้:
- เรียกประชุมชาวบ้าน
- ร่วมกันหาพื้นที่ปลอดภัย ว่าในกรณีที่เกิดภัยใหญ่ขึ้น ทุกคน ทุกครอบครัว ควรจะอพยพไปไหน เช่นถ้าภัยจากน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ปลอดภัยควรเป็นที่สูง อันมีเส้นทางอพยพที่ไม่ผ่านหุบหรือร่องน้ำต่างๆ มีทางที่ความช่วยเหลือจากภายนอกจะเข้ามาได้
- จัดเตรียมระบบสื่อสารสำรอง ระบบไฟฟ้าสำรอง อาหารสำรอง เอาไว้ที่พื้นที่ปลอดภัยของชุมชน จะเป็นศาลาประชาคม โรงเรียน วัด หรืออะไรก็ได้ที่เสี่ยงน้อยกว่าอยู่กับบ้าน
- ประสานกับ กำนัน อบต. อบจ. จังหวัด (อย่างน้อย ปภ. และ สพฐ.1669) แจ้งว่าพื้นที่ปลอดภัยที่ชาวบ้านจะอพยพไปอยู่นั้น อยู่ตรงไหน มีกี่คน ถ้าหากส่งความช่วยเหลือมา ให้มาตรงนี้ก่อน
- ประกาศเตือนภัยให้ลูกบ้านรู้
- ถ้ายังว่างอยู่ จึงจัดถุงยังชีพ
ถ้าเป็น อบต. ให้ทำข้อ 0 ก่อน คือเชิญกำนันมาเป็นประธาน (ประธานไม่ต้องพูดเปิด เสียเวลา) ขอให้กำนันเชิญผู้ใหญ่บ้านมาประชุม ให้ไปทำข้างบนทุกข้อ
ถุงยังชีพมีประโยชน์นะครับ แต่เหมาะกับภัยระยะสั้นๆ ถ้าคิดว่าจะต้องอพยพยาวเกินสามวัน ต้องเตรียมการมากกว่านั้น เตรียมในระดับที่ว่าเงินไม่มีความหมาย (ไม่มีอะไรขายหรือเงินหมด) น้ำมันไม่มี ไฟฟ้าไม่มี น้ำประปาไม่มี หนีออกจาความคุ้นเคย แล้วดูว่าจะรอดได้อย่างไร
การรู้ล่วงหน้าเพื่อจะหนีได้ทันนั้น อาจจะเป็นเพียงการย้ายจากความยากลำบากในที่หนึ่ง ไปสู่ความยากลำบากในอีกที่หนึ่งก็ได้
« « Prev : jDrones
Next : แบบร่างเตาเผาดิน เผาอิฐ » »
2 ความคิดเห็น
หลังจากจัดการเรื่องเตือนภัยไปแล้ว
สมาชิกในหมู่บ้าน ควรมาทำเรื่องสู้ภัย เผชิญภัย ในศักยภาพของตนเอง
ช่วยกันคิด วางแผนการสู้ภัยล่วงหน้า ตั้งแต่บัดนี้
ทำอะไรได้บ้าง ควรทำอะไรกันบ้าง จำลองสถานการณ์สัก3-4คืนดีไหม
จับเข่าคุยกันบ่อยๆ อีกหน่อยข้อมูลก็บานปลาย จะได้เอามาสะสาง
ทำให้เกิดความตระหนักในการที่จะปักหลักสู้กับปัญหาแบบพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด
ถ้าทำอย่างนี้ ถุงยังชีพจะเป็นเหมือนขนมอร่อยแจกงานวันเด็ก เท่านั้นๆ
ในอดีต ยามเกิดศึกสงคราม ชาวบ้านชาวเมืองมีการเตรียมรับปัญหาอย่างไร
น่าสนใจไปค้นมาพิเคราะห์ บางทีอาจจะเป็นลายแทงบ่งบอกถึงวิธีเก่าๆเอามาปรับใหม่ๆ อิ