หลบภัย (4) — หลังภัยใหญ่
อ่าน: 4488ถึงชีวิตไม่เที่ยงตามธรรมชาติ ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตไม่มีค่า
ก่อนจะมีภัย ควรมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง พยายามแก้ไขบรรเทาไม่ให้เกิดภัยร้ายแรง แต่หากภัยนั้นเกินกำลัง ก็หลบไปตั้งหลักก่อน… อาการที่ยืนนิ่งอยู่บนรางรถไฟในขณะที่รถไฟกำลังพุ่งมาหา หรือการยืนอยู่ท่ามกลางสนามรบนั้น ไม่ใช่การไม่อินังขังขอบหรือหลุดพ้นปล่อยวางได้หมดแล้วทุกสิ่งหรอกนะครับ
บันทึกนี้พูดถึงที่หลบภัยและวิถีชีวิตหลังจากที่ภัยขนาดใหญ่ผ่านพ้นไป แม้เงินตราอาจไม่มีค่า (เงินอาจจะมีค่าเหมือนเดิม แต่หาซื้ออะไรไม่ได้) แม้การขนส่งจะมีอย่างจำกัด แม้ความสะดวกสบายอย่างที่เคยเป็นมาจะไม่มีอีกต่อไป แม้สิ่งที่สะสมไว้จะหายไปหมด แต่ยังมีความรู้อยู่กับตัวคน มีโอกาสฟื้นฟูหรือสร้างใหม่ให้ดีกว่าเก่า…
ไปๆ มาๆ อาจจะคล้ายกับพิภพเทอร์มินัสในสถาบันสถาปนาก็ได้ เป็นนิคมการเกษตร มีแรงงาน มีความรู้ แต่แทบไม่มีโลหะที่นำมาใช้ได้ อาจจะคล้ายกับโลกในกรณีที่โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายไปหมด — เป็นโลกหลังภัยร้ายแรง แต่ไม่ถึงระดับเลวร้ายเสียทีเดียว
คำว่าระดับเลวร้ายนี้ แต่ละคนตีความหมายไม่เหมือนกัน สำหรับผม ตีความว่าเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในโลก ก่อนที่จะมีเผ่าพันธุ์มนุษย์ และเป็นไปตามกฏของไตรลักษณ์
สัญชาตญาณแห่งการเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่กำเนิด จะดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ ก็มีมาอยู่แล้ว — ชีวิตมีความยืดหยุ่น ชีวิตปรับตัวได้(บ้าง) ชีวิตที่ปรับตัวไม่ได้เลยจะดำรงต่อไปได้ลำบาก และมักจะไม่สามารถผ่านการคัดสรรโดยธรรมชาติไปได้ — ในระหว่างที่หลบภัย ก็ต้องปรับตัวเยอะครับ
ถามว่าถ้ารอด แล้วอย่างไรต่อ… อันนี้น่าคิด
คงเป็นความรับผิดชอบต่อบรรพบุรุษหรือต่อเผ่าพันธุ์เช่นกัน ว่าสิ่งดีที่มีอยู่ก็จะต้องถ่ายทอดให้รุ่นต่อไป — ส่วนสิ่งที่ไม่ดีแต่ดันถ่ายทอด กลับเป็นความไม่รับผิดชอบต่อเผ่าพันธุ์
ภัยใหญ่ที่ร้ายแรงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่การไม่เกิดบ่อยไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดขึ้น ความเสี่ยงยังมีอยู่เหมือนเดิม
เวลามีคนเตือน เราก็มักจะเข้าไม่ถึงแก่นของคำเตือน: มันไม่ใช่เรื่องจริงหรือไม่จริง ทำไมถึงเกิด จะเกิดเมื่อไหร่ เกิดตรงไหน ผู้พยากรณ์ท่านใดแม่น จะมีความเสียหายอะไร
คำเตือนเป็นประเด็นที่ทำให้ฉุกคิด คนเราแต่ละคนพิจารณาได้เองว่าจะเชื่อหรือไม่ เชื่อแค่ไหน ฉุกคิดหาทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า เช่น
solar flares, รังสีคอสมิค, รูรั่วใน magnetosphere ฯลฯ จะทำให้ผิวโลกรับรังสีจากอวกาศในปริมาณที่มากขึ้น ต้องหาที่กำบัง หากรังสีมีพลังงานสูง จะต้องมีเกราะปกป้องซึ่งได้เคยเขียนไว้แล้ว และถ้ารังสีแรง เซลของพืช+สัตว์อาจตายหรือผ่าเหล่า อยากกินอะไรก็เอาลงไปหลบด้วย
ถ้าเป็นภูเขาไฟระเบิดแบบมหาวินาศ หรือถล่มกันด้วยระเบิดนิวเคลียร์ เถ้าถ่านปกคลุมบรรยากาศทำให้โลกสลัวลง เกิดพายุรุนแรงพัดจากแผ่นดินไปมหาสมุทร พืชสังเคราะห์แสงไม่ได้ การเกษตรเสียหายหมด อาหารจะขาดแคลน
ถ้าเศรษฐกิจล่มสลาย น้ำมันไม่มีขาย (หรือแพงจนซื้อไม่ไหว) การขนส่งหยุดชงักหมด อาหารที่เคยซื้อก็ซื้อไม่ได้ ทีนี้จะกินอะไรกัน
ถ้าเป็นสงครามโลก สงครามกลางเมือง ก็ต้องมีที่หลบจนผู้ร่วมในสงครามหายบ้าเสียก่อน ฯลฯ
ข้อความข้างบนผมเขียนมั่วครับ ไม่ใช่การพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่การชี้แนะว่าจะต้องทำอะไร
เพียงแต่อยากให้มองไปรอบๆ และทำในสิ่งที่สมควรทำ ถ้าคิดว่าดีและไม่ได้เป็นการเบียดเบียนใคร ก็ทำไปเลยครับ ถ้าไม่เห็นสมควร ก็ไม่ต้องทำ; แต่จะคิดเฉพาะตอนเริ่มต้น โดยไม่คิดถึงตอนจบไม่ได้หรอกนะครับ
เมื่อภัยผ่านพ้นไป ปัญหาคือแล้วมันเหลืออะไรบ้าง วันนั้นล่ะครับ จะได้รู้กันว่าประสบการณ์+ความรู้ มีค่าที่แท้จริงอยู่เท่าไร และเรารู้จักและเข้าใจโลกรอบตัวแค่ไหน
« « Prev : หลบภัย (3) — ฮวงจุ้ย
Next : เตามือถือประสิทธิภาพสูง » »
2 ความคิดเห็น
เรื่องภัยพิบัติ ถ้าย้อนรอยถอยหลังไป ก็จะเห็นการดิ้นรช่วยตนเองเป็นระยะๆ
เช่น ยุคใช้แรงงานสัตว์ ก็แบบหนึ่ง มาใช้แรงเครื่องยนต์ก็อีกแบบหนึ่ง
เป็นความรู้แต่ละยุคแต่ละชุด
ถ้ามีการถอดรหัสไว้ก็อาจจะนำมาใช้คราวจำเป็นได้
แต่ถ้าให้หลบเข้าฮวงจุ้ย ขอคิดดูก่อน กลัวผีหลอก อิอิ