พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

โดย Logos เมื่อ 6 February 2009 เวลา 0:06 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3351

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย” ในงานสัมมนา CFO มืออาชีพ ว่า วิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่สุดในรอบศตวรรษที่ 21

หนังสือพิมพ์พาดหัวตัวเบ้อเริ่ม “จีดีพี -4% แย่ที่สุดในโลก” — อันนี้ก็เป็นไปตามบทบาทของหนังสือพิมพ์นะครับ คือแค่ชี้ไปเฉยๆ

การที่เศรษฐกิจไม่ดีนั้น เป็นที่รู้กันอยู่ แม้ขนาดเศรษฐกิจไทย จะไม่ได้ใหญ่โตเลยเมื่อเทียบในระดับโลก แต่ก็ยังใหญ่เกินกว่าใครจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปได้ดังใจ *แม้แต่รัฐบาล*

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะต้องอาศัยทุกองคาพยพของระบบเศรษฐกิจ

เหมือนกับมีน้ำในอ่างเป็นเศรษฐกิจของเรา เวลากวนน้ำที่อยู่ในอ่าง น้ำก็จะผสมปนเปกันไปหมด การที่จะทำให้น้ำในอ่างหมุนวน ทุกอณูของน้ำในอ่างก็ต้องเคลื่อนที่ จะวนอยู่เฉพาะส่วนของรัฐไม่ได้

GDP = การใช้จ่ายในภาคเอกชน + การลงทุนใหม่ + ค่าใช้จ่ายของรัฐ + (การส่งออก − การนำเข้า) หรือ
GDP = C + I + G + (X − M)

มีน้ำไหลเข้าเปรียบเหมือนเงินที่ไหลเข้าประเทศ ใช้สัญลักษณ์ X (คนต่างชาติเที่ยวไทย เงินที่เข้ามาลงทุน การส่งสินค้าออก ฯลฯ) และน้ำที่รั่วออกจากอ่างเปรียบเหมือนเงินที่ไหลออกนอกประเทศ ใช้สัญลักษณ์​ M (คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ ฝรั่งส่งกำไรจากการเข้ามาลงทุนกลับไป การซื้อวัตถุดิบและสินค้าจากต่างประเทศ​ ฯลฯ)

เพื่อความสะดวกในการอธิบาย: ถ้าทั้ง X และ M นับเฉพาะสินค้า/ไม่รวมบริการเช่นการท่องเที่ยว X-M ก็เรียกว่าดุลย์การค้า แต่ถ้านับรวมทั้งสินค้าและบริการ X-M ก็เรียกว่าดุลย์บัญชีเดินสะพัด

แต่ส่วน C I และ G นั้น เป็นสิ่งที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศของเรานะครับ

จากข้อมูลล่าสุดที่มี [ดู sheet ชื่อ Table1] GDP นับจาก 4Q07-3Q08 มีค่ารวม 9.155 ล้านล้านบาท แต่เป็นค่าใช้จ่ายของรัฐ (G) 1.058 ล้านล้านบาท หรือ 11.56% ของ GDP แถมยังมีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายประจำ เช่นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง ฯลฯ จึงเหลือกำลังที่จะไปพยุงเศรษฐกิจไม่มาก อาจจะ 5-6% ของ GDP หรือไม่ถึงด้วยซ้ำไป

แต่การใช้จ่ายในภาคเอกชน (C) เช่นซื้อหาอาหาร จ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าเทอมลูก ผ่อนบ้าน ซื้อของฝาก บริจาคเงินสร้างศาสนสถาน หรืออะไรก็ตามที่มีการจ่ายเงินออกไปแล้วเงินนั้นไม่ออกนอกประเทศ กลับมีค่าถึง 4.908 ล้านล้านบาท หรือ 53.61% ของ GDP; อาจจะมากกว่างบลงทุนของรัฐถึง 10 เท่า

ส่วนการส่งออกสินค้าและบริการ (X) มีค่า 6.996 ล้านล้านบาท หักด้วยการนำเข้าสินค้าและบริการ (M) อีก 6.593 ล้านล้านบาท — เหมือนกับเราส่งออกได้มาก แต่ก็สั่งวัตถุดิบเข้ามามาก — เหลือเป็นค่าสุทธิเพียง 4 แสนล้านบาท หรือ 4.4% ของ GDP แล้วยิ่งตอนนี้ ส่งออกมีปัญหา (แม้จะลดการนำเข้าได้ เพราะผลิตแล้วขายไม่ได้ จึงลดการนำเข้าวัตถุดิบ)

การโบ้ยให้รัฐพลิกฟื้นเศรษฐกิจ จึงเป็นความคาดหวังที่เลื่อนลอย อีกทั้งรัฐจ่ายเงินไม่คล่องด้วยกระบวนการงบประมาณ ซึ่งมีกฏหมายกำกับอยู่ และระบบราชการซึ่งมีกฏระเบียบมากติดขัดไปหมด; ถ้าเศรษฐกิจไทยจะพลิกฟื้นได้ ก็น่าจะเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับหลายๆ เรื่องแล้วครับ — ถ้าขืนยังคิดอย่างเดิม/ทำอย่างเดิม จะให้ผลมันแตกต่างกันออกไปได้อย่างไร

ผมทราบดีที่มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านเห็นว่า GDP ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในโลก ซึ่งผมก็เห็นด้วยครับ บันทึกนี้เพียงแต่ใช้สมการของ GDP มาอธิบายไม่ให้เราคาดหวังกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วผมก็ไม่ได้พยายามจะแสดงภาพเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจหรอกนะครับ ถ้าท่านอธิบายได้ดีกว่าก็ขอเชิญให้วิทยาทาน (ถ้าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็น่าจะให้ความรู้เป็นวิทยาทานอยู่แล้วโดยไม่ต้องเชิญหรอกนะครับ)

ตัวที่ผลักดันเศรษฐกิจตัวที่ใหญ่ที่สุดคือการใช้จ่ายในภาคเอกชน (C) ซึ่งถ้ามีเงินแล้วไม่ใช้จ่ายนี่ล่ะ น่ากลัว; แต่ว่าถ้าสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบสุข ใครล่ะครับจะใช้จ่าย — ดังนั้นความเชื่อมั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ผมจึงเห็นว่าทุกคนควรอดทน/อดกลั้น ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบโดยเร็วที่สุด ใครถูกใครผิดอย่างไรจัดการอย่างโปร่งใสไปตามกฏหมาย — แก้ไขเรื่องการตกงาน เพื่อให้คนมีรายได้ เมื่อตกงานแล้ว ก็ยอมรับเสียว่าไม่เหมือนเดิม ไม่เฉพาะฝั่งรายได้ แต่รวมถึงงานด้วย ถ้ามีอะไรพอทำได้ก็อย่าเลือกมากนักเลยครับ มีรายได้น้อยก็ยังดีกว่าไม่มีรายได้

ถ้าไม่มีอะไรทำจริงๆ ปลูกต้นไม้ก็ได้ครับ — ปลูกต้นไม้ วัดเป็น GDP ไม่ได้ แต่ก็เป็นการเปลี่ยนดินเป็นทุนไว้ให้ลูกหลานนะครับ

« « Prev : ภารกิจทั้งลับและไม่ลับ ที่สวนป่า มหาชีวาลัยอีสาน

Next : นาถกรณธรรม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 February 2009 เวลา 21:36

    อ่านไปคิดไป ก็นึกถึงวัด เพราะเป็นคนอยู่วัด (5 5 5…)

    “กิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ (ผ้าป่า กฐิน ฯลฯ) และ ที่ก่อให้เกิดรายจ่าย (การก่อสร้าง ฯลฯ) มีผลกระทบต่อ GDP อย่างไร ?”

    ถ้ามองระดับมหัพภาค น่าจะมีผลกระทบอยู่บ้าง ซึ่งไม่ทราบว่านักเศรษฐศาสตร์เคยนำจุดนี้มาคิดบ้างหรือไม่…

    มีโอกาส อาจจะเขียนบันทึกเรื่องนี้

    ส่วนคุณโยม และท่านอื่นๆ มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร ?

    เจริญพร

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 February 2009 เวลา 23:27
    เมื่อเงินย้ายที่ GDP เพิ่มขึ้นครับ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.11799001693726 sec
Sidebar: 0.234708070755 sec