เสกสรรค์ ประเสริฐกุล…’แพ้ชนะถึงที่สุดแล้วก็เป็นสุญญตา’

โดย Logos เมื่อ 22 September 2008 เวลา 0:08 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 11862

ในงาน เปิดประตู…สวนโมกข์กรุงเทพฯ นั้น ผมมีโอกาสได้ดูบางตอนจากปาฐกถาของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มีที่สะดุดใจอยู่หลายตอนครับ พยายามหาเรื่องเกี่ยวกับปาฐกถานี้มาสัปดาห์หนึ่งแล้ว เพิ่งเจอที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจครับ

ความรักบ้านรักเมืองไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างเดียว บางครั้งการยอมแพ้กลับเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่า แสดงความรักบ้านรักเมืองได้มากกว่า

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : พรชัย จันทโสก : รายงาน

คงไม่บ่อยครั้งนักที่ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสถานการณ์การเมืองขณะนี้ และที่ผ่านมาดูเหมือนจะเก็บเนื้อเก็บตัวไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ ความยัดแย้งที่ถาโถมอยู่ทุกวันนี้สักเท่าไร

แต่ล่าสุดในงาน เปิดประตู…สวนโมกข์กรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2551 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ อันถือเป็นวันรวมปราชญ์เมธีระดับประเทศและลูกศิษย์ลูกหาท่านพุทธทาส อินทปัญโญ โดยภายในงานมีปาฐกถาเกียรติยศชุด พุทธธรรมนำไทยพ้นวิกฤติ นำโดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี), ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พร้อมด้วย ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย และอานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้ปรารภเปิดปาฐกถา

แม้ว่า ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จะออกตัวก่อนว่าการปาฐกถาหัวข้อเรื่อง อำนาจแห่งความว่าง-ความว่างแห่งอำนาจ นี้ประเด็นหลักมุ่งเรื่องธรรมะ ไม่ยุ่งการเมือง แต่เอาเข้าจริงๆ หลายประเด็นกลับเป็นเรื่องที่นักการเมืองเองต้องนำไปขบคิด เพราะอย่างน้อยก็เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การพูดถึงหลักธรรมไม่ได้หมายความว่าต้องตัดเรื่องทางโลกทิ้งไป เพราะธรรมะโอบอุ้มโลกทั้งโลกไว้แล้วในฐานะกฎเกณฑ์ที่ดำรงอยู่โดยธรรมชาติ เราจะเข้าใจธรรมะได้ก็โดยผ่านการพิจารณาประสบการณ์ทางโลกเป็นสำคัญ ‘ปรมัตถ์สัจจะ’ กับ ‘สมมุติสัจจะ’ แม้จะเป็นความจริงต่างระดับแต่ก็เกี่ยวโยงกัน ดังนั้น ที่ผมกล่าวว่าจะต้องพูดเรื่องธรรมะเท่านั้น จึงไม่ได้หมายถึงการตัดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ออกไป หากหมายถึงการพิจารณาเรื่องราวทั้งหลายประดามีโดยผ่านมุมมองของหลักธรรม” ดร.เสกสรรค์ กล่าว

จากนั้นได้ยกหลัก ธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาสที่เคยกล่าวไว้ว่า ‘ธรรมะที่ลึกที่สุดคือเรื่อง สุญญตา หรือ ความว่าง นอกนั้นเป็นเรื่องตื้นเขิน’

“ถามว่า ‘ความว่าง’ หรือ ‘สุญญตาธรรม’ คืออะไร? ผมจะขออนุญาตทบทวนสั้นๆ ดังนี้ว่าความว่างในภาษาธรรมไม่ได้หมายถึงความว่างเปล่าโล่งเตียนไม่มีอะไร เลยตามที่เข้าใจกันในภาษาสามัญ หากหมายถึงสภาพความจริงที่สรรพสิ่งในโลกล้วนอิงอาศัยกัน เกิดอยู่และมีอยู่ ด้วยเหตุนี้แต่ละสิ่งจึงปราศจากแก่นสารในตัวเอง (self-nature) หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือไม่มีอัตลักษณ์แยกต่างกัน (separate identity)

การไม่มีแก่นสารในตัวเองภาษาสันสกฤตเรียกว่าไม่มี ‘สวภาวะ’ แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งทั้งหลายในโลกไม่มีอยู่จริง หากมีอยู่โดยสัมพัทธ์และสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ไม่มีสิ่งใดอุบัติขึ้นได้โดยอิสระ”

กล่าวอีกแบบนัยยะหนึ่งสุญญตาหมายถึงสภาพความเป็นจริงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัย และหมายถึงความจริงแบบองค์รวมมากกว่าความจริงแบบแยกส่วน หลายคงจะนึกออกทันทีว่าหลักธรรมเรื่องความว่างนั้นเกี่ยวโยงกับคำสอนของ พระพุทธองค์เรื่อง อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท จนแทบเป็นเนื้อเดียวกัน

พร้อมทั้งอธิบายว่า “การที่คนมองไม่เห็นสุญญตา ทำให้ชอบแบ่งโลกออกเป็นคู่ขัดแย้งต่างๆ ชอบบัญญัติลงไปว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนั้นชั่ว สิ่งนี้สวยสิ่งนั้นอัปลักษณ์ สิ่งนี้บริสุทธิ์สิ่งนี้มีมลทิน ฯลฯ การมองโลกแบบ ‘ทวิภาวะ’ เช่นนี้แท้จริงแล้วมักผูกโยงอยู่กับ ‘อัตตา’ ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันขัดแย้งอยู่เนืองๆ เพราะต่างฝ่ายต่างอยากกำหนดความเป็นไปของโลกด้วยปัจจัยเดียวคือตัวเอง และโทษผู้อื่นเป็นต้นเหตุโดดๆ แบบไม่มีที่มาที่ไป

แต่กฎแห่งความว่างเป็นกฎเหล็ก ละเมิดแล้วก็มีแต่หาทุกข์ใส่ตัว ตรงนี้เองคืออำนาจแห่งความว่าง…อำนาจแห่ง ‘พระเจ้าอิทัปปัจจยตา’

ความจริงของโลกคือภาวะแยกเป็นคู่ๆ แบบขาวล้วนดำล้วนนั้น เป็นแค่เรื่องสมมุติ เป็นบัญญัติทางโลกที่อาจทำได้กระทั่งมีประโยชน์ หากอยู่ในระดับพอเหมาะพอสมไม่ยึดติด อีกทั้งรู้เท่าทันมัน แต่ถ้าใครก็ตามพาทัศนะเช่นนี้เตลิดไปอย่างไร้ขอบเขต สุดท้ายย่อมติดกับอยู่กับความขัดแย้งชนิดหาทางออกไม่ได้ ทั้งขัดแย้งในตัวเองและขัดแย้งกับผู้อื่น”

ด้วยเหตุนี้ การหยั่งเห็นความว่างจึงเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับหลักธรรมสำคัญอีกเรื่อง หนึ่งซึ่งได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา หรือที่เราเรียกกันว่าทางสายกลางนั่นเอง

“ธรรมข้อนี้ไม่ได้หมายถึงทางที่อยู่ตรงกลางระหว่างทางสองสาย ไม่ได้หมายถึงทรรศนะไม่เลือกข้างเพื่อเอาตัวรอด และยิ่งไม่ใช่หมายถึงการหาประชามติจากคนกลางๆ ที่ไม่ได้เป็นคู่ความขัดแย้ง กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด ‘มัชฌิมาปฏิปทา’ หมายถึง การถอนอุปาทานจากความคิดสุดโต่งทั้งปวง หมายถึงการมองเห็นสมมุติของทวิภาวะ เห็นความไม่จริงของบัญญัติต่างๆ ที่ผู้คนมักยกอ้างมาขัดแย้งกัน

ยกตัวอย่างเช่นในเวลานี้ พี่น้องชาวไทยเราจำนวนหนึ่งกำลังถูกพัดพาให้ไปยึดถือบัญญัติว่าอะไรเป็น ประชาธิปไตย อะไรไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเถียงกันเอาเป็นเอาตายโดยลืมไปว่าทั้งหมดเป็นแค่ ‘สมมุติสัจจะ’ เป็นความจริงสัมพัทธ์ที่ขึ้นต่อนานาปัจจัยและไม่มีอันใดเที่ยงแท้ถาวร อย่างนี้เรียกว่าติดกับอยู่ในทวิภาวะซึ่งเป็นบ่วงทุกข์อันหนักหน่วง และคงเปลื้องทุกข์ไม่ได้ถ้าไม่ถอนตัวกลับมาสู่มัชฌิมาปฏิปทา”

นักวิชาการด้านพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้เขียนไว้ว่า ‘จิตที่ติดอยู่ในข่ายความคิดนั้นเป็นความหลง ภาษาพระเรียก สัญญาวิปลาส ซึ่งไม่ได้หมายถึงอาการบ้า แต่หมายถึงการยึดติดความคิดบางอย่างที่เนื่องกับอัตตา เป็นการสนับสนุนอัตตาในระดับเหตุผล’

“เนื่องจากผมอยู่ในแวดวงปัญญาชนมานาน เคยเห็นคน ‘คลอดลูก’ เป็นความคิดมามาก อีกทั้งหวงความคิดของตนราวลูกในอุทร ใครแตะไม่ได้ ใครค้านไม่ได้ ผมเองก็เคยหลงอยู่ในกับดักเช่นนี้ เคยออกอาการสัญญาวิปลาสอยู่พักใหญ่เหมือนกัน จะเห็นได้ว่าความคิดสุดโต่งว่าจะมาจากขั้วไหน ล้วนหนีไม่พ้นเรื่องของอัตตา ตราบใดที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลยึดถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ยอมถอนอุปาทานจากทวิภาวะ ความขัดแย้งก็จะดำเนินไปสู่ความรุนแรง เกิดเป็นความทุกข์ในรูปใดรูปหนึ่งจนได้ จะว่าไปนี่ก็นับเป็นการแสดงอำนาจอีกแบบหนึ่งของสุญญตาที่ลงโทษลงทัณฑ์ผู้ ละเมิดกฎ”

ในวิถีสู่ความหลุดพ้นตามหลัก ธรรมนั้น อันดับแรกของมรรคมีองค์ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) เรื่องนี้หากนำมาศึกษาประกอบกับหลักธรรมเรื่องสุญญตา ปฏิจจสมุปบาท และมัชฌิมาปฏิปทา ก็จะสรุปได้ไม่ยากว่าสัมมาทิฏฐิคือการก้าวพ้นทิฏฐิ (ความเห็นหรือทฤษฎี) นั่นเอง

“อันที่จริงการก้าวพ้นทิฏฐิหรือทัศนะเป็นเรื่องเดียวกับการก้าวพ้นทวิภาวะ ดังท่านจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ การติดค้างอยู่ในทวิภาวะในบ้านเราทำให้มีการผลิตทัศนะความคิดเห็นออกมาอย่าง มากมายเหลือเชื่อ มีผู้แสดงถ้อยแถลงแข่งกันอย่างต่อเนื่องนับเป็นร้อยวัน ซึ่งถ้ายังออกจากความขัดแย้งไม่ได้ การสร้างทฤษฎี(ทิฏฐิ)โจมตีฝ่ายตรงข้ามก็คงจะดำเนินต่อไปอีก ดังนั้นใครก็ตามที่อยากจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง คงต้องขอให้คู่กรณีหยุดพูดหรือหยุดผลิตความคิดเห็นสักพักหนึ่งก่อน อันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นก้าวแรกที่จะออกจากสัญญาวิปลาส”

การหยั่งถึงความว่างจะทำได้ยากยิ่ง หากไม่มีการหยุดพูดหยุดโต้แย้งกัน…“ความเงียบ บ่อยครั้งไม่ได้หมายความว่าเป็นการสยบยอม หรือไม่มีวิจารณญาณ หากเป็นการตั้งมั่นอยู่ในสัมมาสติ เพื่อพิจารณาความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่นในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติการเมืองอยู่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังครองตนอยู่ในความนิ่งเงียบ แต่ความเงียบเช่นนี้แท้จริงแล้วอาจดังกึกก้องเหมือนฟ้าคำราม ผู้ใดอ่านสัญญาณไม่ออก กระทำการผลีผลามย่ามใจ ก็เท่ากับหาทุกข์ใส่ตัว”

จากการที่ตั้งหัวข้อปาฐกถา อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ นั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นสำนวนแม้แต่น้อย หากดึงมาจากเนื้อหาความเป็นไปของโลกที่เกี่ยวโยงกันอย่างแท้จริง แต่ปัญหามีอยู่ว่าถ้าผู้ปกครองหรือผู้ถืออำนาจการเมืองหยั่งไม่ถึงสุญญตา แห่งอำนาจแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

“เรื่องนี้ถ้าจะให้ผมตอบอย่างกำปั้นทุบดินก็คงต้องบอกว่าผู้กุมอำนาจท่านนั้นคงจะ อยู่ได้ไม่นาน ไม่ช้าก็เร็วก็คงถูกกฎเหล็กแห่งอิทัปปัจจยตาเล่นงานเอาจนเสียผู้เสียคนไป”

ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยสอนไว้ว่า การเมืองต้องไม่แยกออกจากธรรมะและนักการเมืองที่แท้จริงจะต้องเป็นนักการ เมืองโพธิสัตว์หรือนักการเมืองของพระเจ้า (อิทัปปัจจยตา) ซึ่งมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น หายใจเป็นประโยชน์ของผู้อื่น

“ในเมื่ออำนาจเป็นปรากฏการณ์แห่งความว่าง ผู้กุมอำนาจก็ควรหยั่งถึงความว่างในดวงจิตของตนด้วย ใครก็ตามที่นำอัตตาตัวตนขึ้นสู่เวทีอำนาจ ใครก็ตามที่นำผลประโยชน์ส่วนตัวขึ้นสู่เวทีอำนาจ และยืนยันผลประโยชน์ของตัวเองเป็นเอก ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ หรือสรรเสริญ ท้ายที่สุดแล้วก็จะไปไม่รอดทั้งสิ้น เพราะกฎแห่งอำนาจเป็นกฎเดียวกับอิทัปปัจจยตา

ถึงตรงนี้ ผมคงต้องอธิบายเล็กน้อยว่าการต้านอำนาจนั้นถือเป็นการแสดงอำนาจชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ต้องอยู่ภายใต้กฎอิทัปปัจจยตาเช่นกัน มีสภาพเป็นความว่างเช่นเดียวกัน ดังนั้นใครก็ตามที่คิดจะตั้งศูนย์อำนาจใหม่หรือต่อต้านอำนาจเก่า ควรจะต้องรู้ว่าอำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอิงอาศัยนานาปัจจัย อำนาจไม่ได้บรรจุอยู่ในอาคารสถานที่ การยึดอำนาจรัฐไม่ได้เกิดจากการยึดตัวอาคารหากจะต้องยึดครองที่หัวใจคน”

ถ้าเข้าใจอำนาจแห่งความว่างและเข้าถึงความว่างแห่งอำนาจ ก็จะรู้ว่าการขัดแย้งทางการเมืองล้อมรอบสมมุติสัจจะนั้น ควรจะมีขอบเขตอยู่ตรงไหนและอาศัยวิธีการเช่นใด

“ถ้าเราหยั่งถึงอิทัปปัจจยตา (หรือปฏิจจสมุปบาท) ก็จะมองเห็นว่าความรักบ้านรักเมืองไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยชัยชนะเหนือคู่ แข่งอย่างเดียว บางครั้งการยอมแพ้กลับเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่า แสดงความรักบ้านรักเมืองได้มากกว่า เหมือนมารดาพร้อมยกบุตรให้ผู้อื่นในยามที่ตัวเองดูแลปกป้องไม่ได้ แพ้ชนะถึงที่สุดแล้วก็เป็นสุญญตา ไม่มีความจริงยอมรับ มีแต่เราเองไปบัญญัติมันขึ้นมา

ถ้าพูดกันตามหลักรัฐศาสตร์ อำนาจนั้นเปลี่ยนมือได้เสมอ ถ้าผู้ปกครองไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้อยู่ใต้การปกครองได้ หรือมีวิกฤติฉันทานุมัติอย่างต่อเนื่อง แต่เปลี่ยนแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวเสมอไป มันขึ้นอยู่กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงว่ามีปัญญาญาณมากน้อยเพียงใด คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน หากสังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกันในทิศทางการเปลี่ยนแปลง การล้มลงของระบอบเก่าหรืออำนาจเก่าก็รังแต่จะนำไปสู่สภาพกลียุคและ อนาธิปไตย”

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บางครั้งอำนาจใหม่กลับฆ่าคนเสียยิ่งกว่าอำนาจเก่าที่ล่มสลายเนื่องจากทิฏฐิ ที่ยึดติดในการเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องการรอคอยให้ผู้คนเห็นด้วย เรื่องเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วในหลายประเทศ ซึ่งควรถือเป็นบทเรียน

“ดังนั้น ในทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส ระบอบการเมืองแบบไหนยังไม่สำคัญเท่ากับว่ามีธรรมะหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีธรรมะ ถึงอย่างไรก็สร้างสันติสุขให้บังเกิดมิได้ และท่านถือว่าภาวะไร้สันติภาพเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดของมนุษย์ การไม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขนับเป็นเคราะห์กรรมอย่างยิ่งของแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้ ความพยายามที่จะรักษาระบอบการเมืองก็ดี ความพยายามที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองก็ดี จึงไม่อาจสำเร็จได้ด้วยความชัง ไม่อาจใช้โลภะ โทสะ โมหะ มาขับเคลื่อน เราจะสร้างสังคมที่สันติสุขได้อย่างไร หากวิธีการขัดแย้งกับจุดหมายเสียตั้งแต่ต้น สำหรับชาวพุทธแล้วมรรควิถีมีค่าเท่ากับจุดหมายปลายทาง”

ก่อนที่ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จะกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า…

“วันนี้ ผมได้เอ่ยถึงปรมัตถ์สัจจะไว้ในแทบทุกวรรคตอน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นปรมัตถ์สัจจะ แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับปรมัตถ์ธรรมมากกว่า และเช่นเดียวกับความคิดเห็นของผู้คนในเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดที่ผมพูดมาจึงเป็นแค่สมมุติเท่านั้นเอง”

« « Prev : “หมาผมหาย” (ไม่ใช่ของผมหรอกครับ)

Next : ธนาคารชุมชนกุดกะเสียน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 September 2008 เวลา 0:22

    “กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด ‘มัชฌิมาปฏิปทา’ หมายถึง การถอนอุปาทานจากความคิดสุดโต่งทั้งปวง หมายถึงการมองเห็นสมมุติของทวิภาวะ เห็นความไม่จริงของบัญญัติต่างๆ ที่ผู้คนมักยกอ้างมาขัดแย้งกัน”

    “เราจะสร้างสังคมที่สันติสุขได้อย่างไร หากวิธีการขัดแย้งกับจุดหมายเสียตั้งแต่ต้น สำหรับชาวพุทธแล้วมรรควิถีมีค่าเท่ากับจุดหมายปลายทาง”

    เป็นความจริงแท้ที่สอนใจ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 September 2008 เวลา 2:16

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.85912895202637 sec
Sidebar: 0.54479694366455 sec