แก่นของความน่าเชื่อถือ

โดย Logos เมื่อ 14 January 2009 เวลา 0:14 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 7412

ความน่่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่มอบหมาย/แต่งตั้งให้ไม่ได้ จะต้องสร้างขึ้นมาด้วยเอง แล้วก็ไม่ขึ้นกับว่าตัวเราจะคิดอย่างไรด้วย เพราะความเชื่อถือนั้นเกิดกับคนอื่น ไม่ใช่สิ่งที่เราบอกไปแล้วคนอื่นจะเกิดความรู้สึกตามนั้น จึงใช้การประชาสัมพันธ์ไม่ได้

ความน่าเชื่อถือ (Credibility) เกิดจาก บุคลิก (Character) และความสามารถ (Competence) ซึ่งแบ่งได้เป็นแก่นสี่อย่าง คือ

  1. ความซื่อตรง (Integrity) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และคนเป็นจำนวนมากให้น้ำหนักเมื่อจะประเมินความน่าเชื่อถือใคร — ความซื่อตรงเปรียบเหมือนรากของต้นไม้ ซึ่งเป็นรากฐานของทุกอย่าง

    สำหรับคนเป็นจำนวนมาก ความซื่อตรงหมายถึงความซื่อสัตย์ ซึ่งที่จริงแล้วความซื่อตรง รวมความซื่อสัตย์ไว้ แต่ยังมีความหมายกว้างไกลไปกว่านั้นมาก เช่นความชัดเจน การรักษาคำพูด การกระทำอันไม่เป็นอีแอบ ความกล้าหาญที่จะยืนหยัดอยู่บนจุดยืนที่ชัดเจน ฯลฯ

    ในยุคสมัยที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉาบฉวยนี้ หาคนซื่อตรงได้ยากกว่าหาคนเก่งมากมายนัก

    ความซื่อตรงเป็นเรื่องที่อ่านได้ยาก (เหมือนรากที่อยู่ใต้ดิน มองไม่เห็น) แต่มักให้ความสำคัญกันสูง ดังนั้นเมื่อเราพบว่าคนที่เราคิดว่ามี Integrity ที่ดีไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริง ก็เลยรู้สึกรับไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง

    เรากลับไม่ได้ย้อนดูตัวเองเลยว่าตัวเรานั่นล่ะที่อ่านผิด แล้วดันไปโทษคนอื่น

  2. เจตจำนง​ (Intent) เป็นจุดเริ่มต้นของแรงจูงใจ (Motive) วาระซ่อนเร้น (Agenda) และผลของการกระทำต่างๆ

    เรามักให้ความเชื่อถือกับคนที่มีเจตจำนงตรงไปตรงมาได้ง่ายกว่าพวกเขี้ยวลากดิน ร้อยเล่ห์ ยอกย้อนได้มาก

    ทำไมล่ะ ก็เพราะว่าคนที่มี Integrity และ Intent ที่ดีเหล่านี้ ทำเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายรวมถึงตัวเราด้วย แล้วเขาก็ไม่มั่ว ไม่ได้ก็บอกว่าไม่ได้ (แต่มันก็อยู่ที่เราด้วย ว่าฟังที่เขาบอกมาหรือไม่)

    เจตจำนงเป็นเหมือนลำต้นของต้นไม้ ที่ส่งสารอาหารและน้ำจากรากไปยังทุกๆ ส่วนของต้นไม้

    There are no moral shortcuts in the game of business — or life. There are, basically, three kinds of people: the unsuccessful, the temporary successful, and those who become and remain successful. The difference is character.

    Jon Huntsman, ประธานกรรมการ Huntsman Chemical

  3. ความสามารถและศักยภาพ (Capabilities) ซึ่งประกอบด้วยความพิเศษเฉพาะตัว เช่นพรสวรรค์ ทัศนคติ ทักษะ ความรู้ หรือแม้แต่สไตล์; ความสามารถและศักยภาพ คือสิ่งที่จะเปลี่ยนวัตถุดิบ/องค์ประกอบที่ดี ให้เป็นผลลัพท์ที่ดี เปรียบเหมือนกิ่งก้านของต้นไม้ ซึ่งถ้าไม่มี ก็ไม่มีใบ ไม่มีดอก ไม่มีผล

  4. ผลลัพท์ (Results) หมายถึงประสิทธิผล ถ้าในอดีตเราไม่เคยทำอะไรได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ จะไปให้ใครเค้ามาเชื่อถือ การพล่ามไปเรื่อยๆ โดยไม่มีผลลัพท์ออกมา ในเมืองไทยรู้กันว่าเป็นคุณสมบัติของนักการเมือง แต่ฝรั่งเรียกว่าขี้วัว

Integrity กับ Intent เป็นแก่นสำคัญของบุคลิก (Character); ส่วน Capabilities และ Results เป็นแก่นของความสามารถ (Competence)

ถ้าพูดอะไรแล้วคนอื่นไม่ค่อยเชื่อ ทำอะไรแล้วคนอื่นไม่ค่อยเชื่อน้ำยา ลองประเมินตัวเองในแก่นทั้งสี่นี้ดูสิครับ

« « Prev : เชื่อใจ

Next : ขึ้นบ้านใหม่ “มูลนิธิ OpenCARE” » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 LJ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 January 2009 เวลา 1:27

    เป็นบันทึกที่ดีมาก ชอบ : )

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 January 2009 เวลา 6:25

    สินเชื้อ ความเชื่อ ถ้าเห็นว่าดีว่าชอบก็ถือไว้

  • #3 แหวนเพชร ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 January 2009 เวลา 8:19

    ขอบคุณครับ

  • #4 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 January 2009 เวลา 12:16

    นี่แหละก่อนที่จะไปเชื่อถือ หรือไว้วางใจใครนั้น เราควรที่จะเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน ว่าเรามีความน่าไว้วางใจได้มากน้อยแค่ไหน โดยวิธีการสำรวจความน่าเชื่อถือ แบบแนวคิดทางตะวันตก หรือของตะวันออกก็ได้ค่ะ ถ้าเรายังไม่สามารถไว้วางใจตัวเราเองได้ แล้วจะให้ใครเขามาไว้วางใจเราได้ ความรู้จักตัวตนของตัวเอง แล้วพยายามยอมรับข้อผิดพลาดข้อจำกัด แล้วปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นกุศลกับตัวเองมากค่ะ สิ่งที่ตามมาที่หลังคือการกระทำกรรมคือสิ่งที่ส่อเจตนาเมือ สร้างกรรมดี ซื่อตรง สม่ำเสมอมันก็เป็นธรรมชาติ ย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติได้ค่ะ

  • #5 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 January 2009 เวลา 14:32

    ชอบใจบันทึกนี้ แวะเวียนเข้ามาหลายครั้งแล้ว…

    ลองสำรวจตัวเอง ก็คงจะเข้าข้างตัวเองเป็นธรรมดา รู้สึกว่าสถานภาพปัจจุบันจะมีครบทุกข้อ (ถ้า ๒๐ ปี ก่อน ไม่แน่ 5 5 5…) แต่ผลสะท้อนกลับรู้สึกว่ายังน้อย (คงจะหวังมากเกินไปมั้ง ! )

    คำสอนทางพระพุทธศาสนาในเรื่องความน่าเชื่อถือที่ตรงประเด็นที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่อง ปมาณิกา แปลว่า การถือเป็นประมาณ มี ๔ ประการ กล่าวคือ

    • รูปัปปมาณิกา การถือเอารูปร่างหรือบุคคลิกเป็นประมาณ (สวย หล่อ)
    • โฆสัปปมาณิกา การถือเอาน้ำเสียงเป็นประมาณ (นักร้อง โฆษก ดีเจ ที่เสียงไพเราะ แม้รูปจะไม่หล่อไม่สวย)
    • ลูขัปปมาณิกา การถือเอาปอนๆ เป็นประมาณ (คนที่แต่งตัวและเป็นอยู่เรียบๆ ง่ายๆ ธรรมดาๆ จนเกินปกติ อาจเป็นที่นิยมชมชอบสำหรับใครบางคน)
    • ธัมมัปปมาณิกา การถือเอาธรรมเป็นประมาณ (มีคุณธรรม ความดี ความถูกต้อง ความสำเร็จ)

    ลองนำแนวคิดนี้มาเทียบกับที่คุณโยมนำมาเล่าไว้ จะเห็นได้ว่า ๔ ประการตามที่คุณโยมยกมานั้น อาจสงเคราะห์เข้าแต่เพียงในธัมมัปปมาณิกาเท่านั้น…

    อีกอย่างหนึ่ง บรรดาปมาณิกาเหล่านี้ รูปร่างขึ้นก่อนเพราะเห็นได้ง่าย… เสียงตามมาเพราะเพียงเอ่ยปากพูดออกมาก็สัมผัสได้… ปอนๆ ก็จัดไว้สำหรับบางคนเท่านั้น… ส่วนธรรมอยู่ท้ายสุดเพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ยากสัมผัสได้ยาก…

    เอวํ ก็มีโดยประการฉะนี้
    เจริญพร

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 January 2009 เวลา 17:03
    มีแบบทดสอบความน่าเชื่อถือที่ http://www.whotrustsyou.com/ ครับ

    ก่อนอื่น เค้าให้ประเมินตัวเองก่อน พอทำเสร็จ ก็จะมี email template ให้แจ้งผู้อื่น ก๊อบปี้ URL ในอีเมลมาใช้ก็พอ เหมือนอย่างลิงก์ในความเห็นอันนี้

    หลังจากเราเอาลิงก์ (URL) ให้คนอื่นไป เมื่อมีเพื่อนอย่างน้อยสองคนประเมินเราเข้ามา เราจะเห็นคะแนนที่เพื่อนประเมินมา โดยไม่เห็นว่าใครประเมินไว้เท่าไหร่

    ในขณะที่เขียนนี้ มีเพื่อนประเมินผมมา 5 คน คะแนนเฉลี่ยออกมาเท่ากับที่ผมประเมินตัวเองเป๊ะเลย


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.22139501571655 sec
Sidebar: 0.34142398834229 sec